×

ข้อมูลรั่ว หุ้นตก ปีชง Facebook กับก้าวต่อไปที่ต้องเร่งกู้ศรัทธา

18.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • ปี 2018 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กต้องผจญกับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบมาโดยตลอด ตั้งแต่การปรับอัลกอริทึมแบบใหม่จนถูกกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์กดดัน เนื่องจากยอดรีชและเอ็นเกจเมนต์ลดลงต่อเนื่อง ไปจนถึงกรณีข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ที่รั่วไหลรวมกันๆ ทั้งปีแตะหลัก 100 ล้านราย
  • กรณีกับ Cambridge Analytica ที่ส่งผลให้ข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านรายหลุดไปอยู่กับบุคคลอื่นถือว่าร้ายแรงที่สุด ทั้งยังทำให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องไปรายงานตัวต่อสภาคองเกรสเพื่อชี้แจงในประเด็นต่างๆ มาแล้ว
  • แม้จะเผชิญกับคำวิจารณ์ที่รุนแรง ส่วนรูปการณ์บริษัทจากมุมมองภายนอกก็ไม่สู้ดีสักเท่าไร แต่หากวัดเฉพาะตัวเลขรายได้และจำนวนผู้ใช้ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2018 ก็ต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊กยังคงทำผลงานได้ดีอยู่

คงไม่ผิดนักถ้าเราจะยกให้ปี 2018 ที่กำลังจะค่อยๆ ปิดฉากลงไปในไม่ช้าเป็นปีชงของบริษัท เฟซบุ๊ก (Facebook) เพราะตั้งแต่เปิดศักราชมา ข่าวไม่ดีของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ก็ไหลมาเทมาเป็นระลอก เรียกได้ว่าใน 365 วันของปีนี้ เราแทบจะได้ยินข่าวเสียๆ หายๆ ของพวกเขาเกือบทุกวัน

 

ไล่ตั้งแต่การปรับหน้านิวส์ฟีดส์แบบใหม่ที่เพจน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบล้มครืนกันเป็นแถบ ไปจนถึงประเด็นเดือดแห่งปี หลังข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้กว่า 87 ล้านรายรั่วไหลไปยังบริษัท Cambridge Analytica ร้อนถึงหัวเรือใหญ่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลตอบคำถามกรณีบกพร่อง ไม่สามารถปกป้องข้อมูลผู้ใช้ นี่ยังไม่นับรวมกรณีข้อมูลหลุดอื่นๆ ประปรายที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

 

ปัญหาไฟลามทุ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นชนวนเหตุลุกติดไปยังตัวผู้ใช้ แบรนด์ และสื่อสารมวลชนจำนวนมากทั่วโลก จนทุกฝ่ายเริ่มต้ังคำถามกับตัวเองว่าเฟซบุ๊กยังเป็นดินแดนโซเชียลที่น่าไว้ใจสำหรับพวกเขาอยู่อีกหรือไม่ ถึงขั้นที่พักหนึ่งเกิดกระแสปลุกระดมชวนกันโบกมือลาสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มนี้มาแล้ว

 

THE STANDARD รวบรวมประเด็นน่าสนใจที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้คุณเห็นว่าปีนี้เป็นปีที่หนักหน่วงและชงแค่ไหนสำหรับพวกเขา แล้วก้าวต่อไปของมาร์กและผองเพื่อนจะยังไหวอยู่หรือเปล่า

 

 

อัลกอริทึมจอมโหด หลักฐานที่ย้ำว่าอย่าหวังพึ่งแพลตฟอร์มเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 เฟซบุ๊กได้เริ่มทดสอบแยกหน้านิวส์ฟีดแบบใหม่กับผู้ใช้งานใน 6 ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา, โบลิเวีย, สโลวาเกีย, เซอร์เบีย, กัวเตมาลา และกัมพูชา เพื่อแยกฟีดส์การแสดงผลโพสต์จากเพจและโพสต์ของผู้ใช้งานออกจากกัน

 

ในตอนนั้นสื่อและแบรนด์หลายเจ้าเริ่มรู้สึกร้อนใจกันพอสมควร เพราะเกรงว่าเฟซบุ๊กอาจจะนำวิธีเดียวกันนี้มาปรับใช้กับทั้งแพลตฟอร์ม แล้วก็เป็นจริงตามคาด เพราะในเดือนมกราคมปีถัดมา เฟซบุ๊กได้ปรับอัลกอริทึมการแสดงผลของหน้านิวส์ฟีดแบบใหม่จริงๆ โดยอ้างว่าจุดประสงค์ของการปรับกลยุทธ์ในครั้งนี้คือต้องการให้ผู้ใช้งานได้เห็นโพสต์กันเองมากขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจหลักขององค์กร ‘Close Together’ ในการเชื่อมโยงผู้ใช้เข้าถึงกัน

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ทำให้สื่อเล็กสื่อใหญ่ คนทำคอนเทนต์ ไปจนถึงแบรนด์ที่มีเพจเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดกันอย่างหนัก เพราะแม้แต่คอนเทนต์วิดีโอที่เคยคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ก็ไปไม่รอดเช่นกัน (ผลสำรวจพบว่าเอ็นเกจเมนต์วิดีโอโดยรวมลดลงกว่า 48% ส่วนการแปะลิงก์คือรูปแบบโพสต์ที่มีเอ็นเกจเมนต์ลดลงถึง 70%)

 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ Buffer ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดูแลและจัดการโซเชียลมีเดีย ได้เปิดเผยข้อมูลหลังการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมนิวส์ฟีดเฟซบุ๊กแบบใหม่ที่เป็นรูปธรรมออกมา โดยพบว่าเพจต่างๆ ต้องแข่งกันเพิ่มจำนวนโพสต์มากขึ้น จากเดิมในปี 2017 ที่มีโพสต์กว่า 6.8 ล้านโพสต์ เพิ่มขึ้น 19% เป็น 8.1 ล้านโพสต์ในปี 2018 สวนทางกับเอ็นเกจเมนต์ที่หล่นวูบลงแบบน่าใจหายเกือบ 50% จากเอ็นเกจเมนต์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2017 ที่ประมาณ 22.9 ล้าน ลดลงเหลือ 12.8 ล้านในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018

 

เรื่องยิ่งร้อนกว่าเดิม เมื่อหนังสือพิมพ์ The Australian ยกเอาคำพูดในการประชุมแบบปิดระหว่าง แคมป์เบล บราวน์ หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรข่าวทั่วโลกของเฟซบุ๊ก กับสื่อในออสเตรเลียจำนวนกว่า 20 เจ้าขึ้นมาจุดประเด็น โดยอ้างว่าบราวน์ได้ประกาศลั่นเอาไว้ว่า ต่อจากนี้นโยบายเฟซบุ๊กจะไม่ให้ความสำคัญกับสื่ออีกต่อไป เพราะสื่อในเวลานี้ก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘ผู้ป่วยและธุรกิจที่กำลังจะตายลง’

 

แม้ในเวลาต่อมาเฟซบุ๊กจะออกมาแย้งว่าประเด็นที่ The Australian ยกขึ้นมากล่าวอ้างคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปพอสมควร เพราะตนหวังจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สื่อยังไปต่อได้ในโมเดลใหม่อย่างยั่งยืน แต่ดูเหมือนว่ามันจะสายเกินเยียวยาแล้ว และสื่อทั่วโลกเองก็รับลูกเล่นประเด็นนี้กันไปเป็นที่เรียบร้อย

 

ปัญหาอัลกอริทึมใหม่โดยเฟซบุ๊กจึงสะท้อนให้เห็นถึงภาพความซบเซาของคนทำสื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นหลักฐานที่ตอกย้ำว่าการหวังพึ่งทราฟฟิกสื่อจากเพียงช่องทางเดียวอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไร แต่การมีหลายๆ แพลตฟอร์มเพื่อเป็นทางเลือกสำรองต่างหากคือทางออกของปัญหานี้ที่ดีที่สุด เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเจ้าของแต่ละแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จะปรับเปลี่ยนนโยบายตามใจชอบของตัวเองไปในรูปแบบใดบ้าง

 

 

ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ 87 ล้านรายรั่วไหลไปยัง Cambridge Analytica จุดเริ่มต้นความเปราะบางของแพลตฟอร์ม

ถือเป็นกรณีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดแห่งปี ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเฟซบุ๊ก แต่นับรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก หลังมีรายงานข่าวในช่วงเดือนมีนาคมว่าข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 87 ล้านรายได้หลุดออกไปยังบริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อการเลือกตั้ง Cambridge Analytica

 

ที่จริงแล้วกรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 โดย ดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่านแอปฯ ทายใจ ‘This is your digitallife’ รวมถึงเพื่อนของผู้ใช้แอปฯ นี้บนเฟซบุ๊ก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เหยื่อที่ได้รับความเสียหายมีจำนวนมหาศาล

 

 

เรื่องนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงเป็นอย่างมากในวงกว้าง เพราะในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแล้ว การปล่อยให้เหตุการณ์ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นและทิ้งให้เวลาผ่านไปนานแรมปี ก่อนออกมาพูดความจริงในภายหลังเมื่อเรื่องซาลงกลับทำให้อะไรๆ แย่กว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กได้ทำลายความไว้เนื่อเชื่อใจที่ผู้ใช้มีให้ตนจนย่อยยับไม่เหลือชิ้นดี แม้จะเร่งแก้ไขระบบหลังบ้านทันทีที่ทราบเรื่องก็ตาม

 

 

ตัวมาร์กเองในฐานะซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กก็ถูกเล่นงานอย่างหนักไม่แพ้กัน เพราะแม้จะออกมาเปิดผนึกโพสต์แถลงการณ์ขอโทษผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมถึงร่อนจดหมายขอโทษบนหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว www.facebook.com/zuck/posts/10104712037900071 แต่เรื่องกลับเลยเถิดจนเจ้าตัวต้องไปขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสและวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา (อ่านย้อนหลังได้ที่ thestandard.co/mark-zuckerberg-testimony/ และ thestandard.co/mark-zuckerbergs-congressional-testimony-day-2/)

 

ซึ่งในการขึ้นให้การในครั้งนั้น มาร์กได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งยังยอมรับเป็นนัยว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้งานเฟซบุ๊กก็อาจจะถูกเก็บข้อมูลได้เหมือนกัน แถมบอกอีกด้วยว่าแม้แต่ตัวเขาเองในฐานะผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มก็อาจจะถูกล้วงข้อมูลไปด้วย

 

 

ถ้าคุณคิดว่ากรณี Cambridge Analytica ร้ายแรงแล้ว คุณคิดถูก! เพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าเฟซบุ๊กจะขยับตัวทำอะไรก็ตาม พวกเขาจะถูกจับตามากกว่าเดิมเป็นพิเศษ โดยตลอดทั้งปีหลังจั่วหัวด้วยเคสดังกล่าว เฟซบุ๊กก็ยังคงถูกเปิดโปงว่าทำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้รั่วไหลเสมอมา ไล่ตั้งแต่

 

  • มิถุนายน 2018: ตรวจพบบั๊กที่ทำให้โพสต์ส่วนตัว (Only Me) ของผู้ใช้กว่า 14 ล้านคนกลายเป็นโพสต์สาธารณะที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเห็นได้ (Public) แต่ยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาพร้อมแจ้งผู้ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว
  • มิถุนายน 2018: The New York Times เปิดประเด็นว่าเฟซบุ๊กร่วมมือกับค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดีไวซ์เจ้าต่างๆ รวม 60 รายเปิดช่องทางให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้และเพื่อนได้ โดยเฟซบุ๊กได้โต้กลับว่ากรณีนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
  • กันยายน 2018: ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางส่วนต้องล็อกอินเข้าบัญชีเฟซบุ๊กใหม่อีกครั้ง ภายหลังพบว่าเหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกับกรณีที่ข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านรายรั่วออกไปผ่านฟีเจอร์ View As ที่ใช้ตรวจเช็กว่าหน้าตาโปรไฟล์ของเราเป็นอย่างไรในมุมมองของผู้ใช้คนอื่นๆ หรือเพื่อนในเฟซบุ๊ก
  • ตุลาคม 2018: สืบเนื่องจากเหตุการณ์เดียวกันเมื่อเดือนกันยายนที่ข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านรายหลุดผ่านฟีเจอร์ View As เฟซบุ๊กได้ออกมาแถลงยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่ยืนยันยอดตัวเลขผู้ที่ได้รับความเสียหายว่ามีแค่ 30 ล้านรายเท่านั้น

 

ในจำนวนนี้ข้อมูลที่แฮกเกอร์ได้ไปประกอบด้วย ชื่อ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมลแอดเดรส, ประวัติการศึกษา, การทำงาน, สถานะความสัมพันธ์, 10 สถานที่ล่าสุดที่เช็กอิน, เพจหรือคนที่กดติดตาม, 15 รายชื่อล่าสุดที่เคยเสิร์ช และรายละเอียดของข้อมูลการติดต่อ เป็นต้น

  • พฤศจิกายน 2018: BBC รายงานว่ากลุ่มแฮกเกอร์ได้แฮกข้อความส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กอย่างน้อย 81,000 บัญชี และนำไปขายในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่ออาศัยอยู่ในรัสเซีย,​ ยูเครน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และอื่นๆ ส่วนข้อมูลที่ถูกขโมยมีทั้งข้อความรูปภาพ ข้อมูลส่วนตัว และกิจกรรมในวันหยุด
  • ธันวาคม 2018: บริษัท Six4Three ผู้พัฒนาบริการเสิร์ชภาพบิกินีบนเฟซบุ๊กที่เคยมีกรณีฟ้องร้องกันเมื่อปี 2014 ระบุว่าเฟซบุ๊กได้ทำข้อตกลง ‘White Lists’ ขึ้นมาในช่วงปี 2014-2015 เพื่อให้ผู้บริการอย่าง Netflix, Airbnb และ Lyft สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนผู้ใช้เป็นกรณีพิเศษผ่าน API รวมถึงแผนการของเฟซบุ๊กที่เคยหารือว่าจะขายข้อมูลผู้ใช้มูลค่า 10 เซนต์ แต่มาร์กและเฟซบุ๊กได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และย้ำว่าแพลตฟอร์มของตนไม่เคยขายข้อมูลผู้ใช้เพื่อนำเงินเข้ากระเป๋าสตางค์แน่นอน
  • ธันวาคม 2018: เฟซบุ๊กประกาศผ่านบล็อกว่าผู้ใช้จำนวน 6.8 ล้านคนได้ถูกเข้าถึงข้อมูลรูปถ่ายผ่านทางแอปพลิเคชัน 1,500 แอปฯ และบริษัทพัฒนาโปรแกรม 876 เจ้า ในช่วงระหว่างวันที่ 13-25 กันยายน 2018

 

แม้หลายครั้งที่เกิดปัญหากรณีข้อมูลผู้ใช้ในแพลตฟอร์มหลุดออกไป เฟซบุ๊กจะออกมาแถลงข้อมูลยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองทุกครั้ง พร้อมเปิดเผยแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วทันใจเสมอ แต่ดูเหมือนว่าลำพังการ Take Action แค่นี้ยังไม่พอ

 

 

ถึงแม้เฟซบุ๊กจะไม่ใช่บริษัทเพียงแค่รายเดียวที่สะเพร่าทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลในรอบปีที่ผ่านมา แต่ต้องไม่ลืมว่าการเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับ 1 การันตีด้วยยอดผู้ใช้งานทั่วโลกเฉลี่ยรวมกว่า 2,271 ล้านรายต่อเดือน (จากการเปิดเผยในไตรมาส 3/2018 ที่ผ่านมา) ก็มากเพียงพอจะทำให้พวกเขาต้องเป็นบรรทัดฐานในด้านการปกป้องผู้ใช้ได้ดีที่สุด

 

เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของเฟซบุ๊กเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไม่มีที่ใดบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ เพราะไม่ว่าข้อมูลใดก็ตามที่คุณนำเข้าระบบไปแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นก็คือข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดีๆ นี่เอง

 

 

หุ้นตกระเนระนาด และคำถามสำคัญ “มาร์กยังดีพอไหม”

ว่ากันว่าปี 2018 นี้ถือเป็นปีที่หนักที่สุดนับตั้งแต่กำเนิดเฟซบุ๊กเมื่อ 14 ปีที่แล้ว อะไรทำให้หลายคนกล่าวเช่นนั้น

 

นอกจากปัญหาการปรับอัลกอริทึมแบบใหม่จนทำให้บรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ทั่วโลกไม่พอใจ, การไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้ ไปจนถึงการตื่นตัวในการกำจัดเฟกนิวส์และบัญชีผู้ใช้งานปลอมที่ปลุกปั่นเฮตสปีช ซึ่งถูกมองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ผลพวงทั้งหมดในรอบปีที่ผ่านมาได้สะท้อนออกมาเป็นความย่ำแย่ในรูปแบบของ ‘หุ้น’ ที่ตกต่ำและดิ่งลงอย่างน่าใจหาย

 

ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม เคยมีรายงานข่าวที่เปิดเผยว่าหุ้นบริษัทเฟซบุ๊กตกลงไปกว่า 20% มีมูลค่าประมาณ 174.97 เหรียญสหรัฐต่อจุด เข้าขั้นย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2012 ที่มูลค่าหุ้นบริษัทเคยลดลงไปกว่า 11% แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หุ้นเฟซบุ๊กเพิ่งจะตกลงไปอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 131.55 เหรียญสหรัฐเท่านั้น นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าวิกฤตของเฟซบุ๊กครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไปแล้ว

 

 

เรื่องเดียวกันนี้ทำให้เกิดกระแสลือว่าบรรดานักลงทุนขาใหญ่ในเฟซบุ๊กกำลังหาวิธีการกดดันเพื่อเขี่ยให้มาร์กยอมลงจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัท เนื่องจากเห็นพ้องต้องกันถ้าต้องตัดเกรดผลงานในปีนี้ของเจ้าตัวและเฟซบุ๊ก ‘F’ อาจจะเป็นคะแนนที่ปรานีที่สุด

 

ถึงอย่างนั้นก็ดี คำกล่าวหาดังกล่าวอาจจะไม่ยุติธรรมกับมาร์กสักเท่าไร จริงอยู่ที่แม้เฟซบุ๊กจะต้องล้มลุกคลุกคลานดำผุดดำว่ายกับกระแสโจมตีเชิงลบจนแทบจะไม่ได้หายใจ แต่เมื่อวัดจากเพอร์ฟอร์มานซ์ด้านรายได้และจำนวนผู้ใช้งานที่เปิดเผยออกมาในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) ของบริษัทก็ยังต้องยอมรับว่าพวกเขายังทำได้ดีอยู่

 

จำนวนยอดผู้ใช้งานเฉลี่ยแบบรายเดือน

 

จากสไลด์จำนวนยอดผู้ใช้งานเฉลี่ยแบบรายเดือนในภาพด้านบน จะเห็นว่ายอดผู้ใช้งานมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในเกือบจะทุกภูมิภาค ยกเว้นทวีปยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กลดลงในหลักหน่วย

 

รายได้และช่องทางรายได้ของเฟซบุ๊ก

 

ส่วนผลประกอบการของบริษัทก็ยังดีต่อเนื่อง ไตรมาสที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีรายได้รวมกว่า 13,727 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 450,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากช่องทางโฆษณาสูงเฉลี่ยกว่า 98-99% ในแต่ละไตรมาส แม้สัดส่วนการเติบโตด้านรายได้โดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 ประจำปีนี้จะอยู่ที่ 3.74% เท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลงานโดยรวมของเฟซบุ๊กยังคงดีกว่าที่ใครหลายคนทำนายทายทักกันเอาไว้

 

สัดส่วนรายได้ของเฟซบุ๊กต่อผู้ใช้งานแต่ละคนตามแต่ละทวีป

 

ที่น่าสนใจคือสไลด์ข้างบนนี้ที่เผยให้เห็นว่าผู้ใช้งาน 1 คนของเฟซบุ๊กทั่วโลกจะสร้างรายได้เฉลี่ยให้กับพวกเขามากกว่าประมาณ 6.09 เหรียญสหรัฐต่อหัว คิดง่ายๆ เป็นเงินไทยจะพบว่าผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถทำเงินให้กับเฟซบุ๊กมากถึง 200 บาท

 

ยังเร็วไปที่จะให้ใครมาโค่นพวกเขาลงจากบัลลังก์ ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเฟซบุ๊กจะนิ่งนอนใจได้ เพราะแม้ปัญหาทั้งหมดอาจจะไม่ได้เขย่าบริษัทให้สั่นคลอนได้ภายในปีสองปี แต่ภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทเทคฯ ที่ล้มเหลวในเชิงการสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้ใช้งานโดยสิ้นเชิงจะยังคงติดตัวพวกเขาไปต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าจะไม่มีข่าวเสียๆ หายๆ กรณีข้อมูลรั่วไหลหลุดออกมาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ

 

ที่สุดแล้ว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะสามารถกอบกู้สถานการณ์ นำศรัทธาส่งมอบคืนให้กับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้หรือไม่ ปี 2019 เราคงจะได้เห็นกัน…

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising