×

เมื่อยักษ์ใหญ่ ‘Data Center’ ปักหมุดลงทุนไทย 1.9 แสนล้านบาท เราจะได้อะไรจากการมาครั้งนี้

04.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • MIT Technology Review Insights ประเมินว่า ข้อมูลขององค์กรธุรกิจต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 42% ในอีก 2 ปีข้างหน้า 
  • บริษัท AWS ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจ Data Center ภายใต้ Amazon.com มีแผนที่จะใช้เงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 15 ปี เพื่อตั้งฐาน Data Center ในไทย 
  • ไม่เพียงแค่ AWS แต่บริษัทด้าน Data Center อื่นๆ เช่น Singtel ก็ปักหมุดที่จะเข้ามาลงทุนในไทย 
  • ไทยมีโอกาสที่จะกลายเป็นศูนย์กลางด้าน Data Center ของภูมิภาค หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์จำกัดการขยายธุรกิจนี้ 
  • ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงขึ้น เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ต้องยอมรับว่าผู้ให้บริการ Data Center ขนาดกลางและเล็กอาจไม่สามารถแข่งขันได้โดยตรง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Data Center และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของธุรกิจในยุคดิจิทัล ข้อมูลจาก MIT Technology Review Insights คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ปริมาณข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 175 เซตตะไบต์ และในอีก 2 ปีข้างหน้า ข้อมูลขององค์กรทางธุรกิจต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 42% 

 

ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุน หรือใช้บริการ Data Center มากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีเป้าหมายที่จะยกระดับตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ยักษ์ใหญ่แห่ตั้งฐาน Data Center ในไทย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายคนคงจะทราบข่าวที่สองบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จับมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) ของสิงคโปร์ เพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจ Data Center ในไทย 

 

ไม่เพียงแค่นั้น Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Amazon.com ยังได้ประกาศที่จะทุ่มเงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทย 

 

ปราสาท กัลยาณรามัน รองประธานฝ่ายบริการโครงสร้างพื้นฐานของ AWS กล่าวว่า “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการที่หลากหลายและเชี่ยวชาญของ AWS เช่น Machine Learning การวิเคราะห์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ด้วยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ AWS ยังช่วยให้ลูกค้าภาครัฐสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองได้ดียิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเติบโตในระยะต่อไป รวมถึงสร้างธุรกิจและแข่งขันในระดับโลก”

 

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยเองก็ยินดีที่จะอ้าแขนรับผู้ให้บริการระดับโลกเหล่านี้ และเชื่อมั่นว่าการเข้ามาของธุรกิจ Data Center ระดับโลก จะเป็นโครงสร้างพื้นที่สำคัญที่จะช่วยให้เรากลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล

 

“รัฐบาลไทยยินดีที่ได้ร่วมมือกับ AWS ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ชั้นนำของโลก เพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ระดับโลกที่ปลอดภัยและยืดหยุ่นมาสู่ประเทศไทย การลงทุนของ AWS จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยสร้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงอีกด้วย” สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 

นอกจาก Singtel และ AWS ที่เข้ามาตั้งฐานให้บริการ Data Center ในไทย ยังมีบริษัทต่างชาติรายอื่นๆ เช่น STT GDC ซึ่งร่วมทุนกับ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เข้ามาตั้งฐานด้วยเช่นกัน

 

“ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก Data ตรงนี้ จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนใหม่ๆ ในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบายของภาครัฐสามารถปรับได้ แต่ต้องสมดุลและทันสมัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กลายเป็นธุรกิจ S-Curve ของประเทศ โดยมี Data Center เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อนำประเทศไปสู่น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่” ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าว

 

ไทยจะได้อะไรจากการเข้ามาของผู้เล่นระดับโลก?

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การเข้ามาตั้งฐาน Data Center ในไทยของบริษัทต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายจำกัดการขยายธุรกิจ Data Center ในประเทศ 

 

“ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เป็นฮับด้านนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ธุรกิจ Data Center ต้องการพื้นที่และใช้พลังงานไฟฟ้าสูง หรือราว 10% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศสิงคโปร์ ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องมองหาประเทศอื่นๆ เพื่อขยายฐานธุรกิจ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทยด้วย” 

 

การเข้ามาตั้งฐานธุรกิจของบริษัทระดับโลกเหล่านี้จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยเข้มแข็งขึ้น และเมื่อเรามีความพร้อมในด้านดิจิทัลแล้ว ก็จะช่วยดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก เช่น บริษัท Google, Facebook ให้สนใจที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ และช่วยให้เรามีโอกาสทางธุรกิจร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น 

 

นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ย่อมก่อให้เกิดการจ้างงานกับธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของระบบ บำรุงรักษา หรือก่อสร้าง 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องยอมรับคือ บริษัทในไทยที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจ Data Center อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้โดยตรง โดยจะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างออกไปเป็นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กในประเทศ ซึ่งต้องปรับธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน แต่อานิสงส์ที่จะได้รับคือ อุตสาหกรรมที่น่าจะพัฒนามากขึ้นหลังจากนี้ 

 

“หนึ่งในสิ่งที่ต้องติดตามคือ นโยบายของภาครัฐว่าจะเปิดเสรีธุรกิจนี้มากแค่ไหน รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แต่ยังคงไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ BOI หากมีการปลดล็อกเรื่องนี้ จะเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก” 

 

ในมุมของ ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า ธุรกิจ Data Center ภายใต้ความร่วมมือกับ ADVANC และ Singtel น่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงกลางปีหน้า และน่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 2024 โดยจะเริ่มต้นที่ขนาด 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะให้บริการทั้งธุรกิจในไทยและต่างประเทศ 

 

“แม้จะมีผู้เล่นเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น แต่เราไม่ได้กังวลว่าจะกระทบกับมาร์จิ้นของธุรกิจมากนัก สิ่งสำคัญคือการรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ไว้ให้ได้ ในมุมกลับกัน การเข้ามาของผู้เล่นระดับโลกก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ Data Localization Law เกิดขึ้นหรือไม่” 

 

โอกาสของพันธมิตรทางธุรกิจ

การเข้ามาของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง AWS ทำให้บริษัทที่เป็นพันธมิตรในไทยมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น เช่น ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) และผู้รวมระบบ (SI) เช่น เดลิเทค (DailiTech), G-Able, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), และทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (True IDC), 2C2P และเอมิตี้ (Amity)

 

“เราได้ร่วมมือกับ AWS ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภาครัฐของประเทศไทย” วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติกล่าว “ด้วยการใช้บริการและโครงสร้างพื้นฐานของ AWS เราได้ช่วยหน่วยงานรัฐบาล 14 แห่งในการสร้างรากฐานทางดิจิทัล เพื่อให้บริการพลเมืองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น และแก้ปัญหาความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคม”

 

นอกจากนี้ AWS ได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น เพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย ผ่านโปรแกรม AWS Activate ซึ่งช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าถึงคําแนะนําและการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของ AWS การสนับสนุนทางเทคนิค การให้คําปรึกษาทางธุรกิจ และโอกาสในการเข้าถึงเครดิตบริการของ AWS สูงสุด 100,000 ดอลลาร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

อีกทั้ง AWS ยังทํางานร่วมกับชุมชนผู้ร่วมทุน (Venture Capital Community) โครงการผลักดันและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Startup Accelerators and Incubators) เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตในระบบคลาวด์ในประเทศไทย และรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X