×

ถึงเวลา ‘บิ๊กคอร์ป’ ลงสนาม Data Center หลังความต้องการในไทยพุ่ง-ทุนนอกเล็งใช้เป็น Hub แทนสิงคโปร์

12.02.2022
  • LOADING...
ถึงเวลา ‘บิ๊กคอร์ป’ ลงสนาม Data Center หลังความต้องการในไทยพุ่ง-ทุนนอกเล็งใช้เป็น Hub แทนสิงคโปร์

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • กรณีที่ GULF จับมือกับ AIS และ Singtel ร่วมทุนทำธุรกิจ Data Center ในไทย จุดกระแส Data Center ในไทยให้บูมขึ้นอีกครั้ง
  • ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าธุรกิจระดับโลกจะไหลเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในฐานะ Data Center Hub ของอาเซียนแทนที่สิงคโปร์ 
  • ในฝั่งของความต้องการในประเทศ ผลวิจัยระบุว่ามีความต้องการใช้ Data Center ในไทยขยายตัวอย่างน้อย 10-15% หรือราว 200 เมกะวัตต์ต่อปี

ธุรกิจ Data Center ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่กำลังกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ได้เข้าลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาธุรกิจ (Joint Development Agreement: JDA) กับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจ Data Center ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากตลาดต่างประเทศ 

 

นโยบายสิงคโปร์เข้มขึ้น คือจุดเริ่มต้น

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของดีลระหว่าง GULF, ADVANC และ Singtel มาจากการเข้มกฎของทางรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะจำกัดการขยายธุรกิจ Data Center โดยเฉพาะ Tier 1-2 และ Tier 3 บางส่วน เนื่องจากสภาพแวดล้อมและทรัพยากรในประเทศสิงคโปร์ไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของ Data Center กลุ่มดังกล่าว อีกทั้งยังมีเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก หรือราว 10% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ 

 

“เรื่องนี้น่าจะเป็นตัวจุดกระแสให้ Data Center ในไทยกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง และได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มองเห็นความคุ้มค่าด้านการลงทุน และลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ เนื่องจากธุรกิจ Data Center ในสิงคโปร์ค่อนข้างใหญ่ หรือคิดเป็น 60% ของธุรกิจภาคเอกชน ต่างพากันขยายธุรกิจ Data Center ออกสู่ต่างประเทศ” พิสุทธิ์กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH 

 

การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของสิงคโปร์ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้ได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยเคสแรกที่เกิดขึ้นและทำให้เห็นสัญญาณชัดเจนคือเคสที่ Singtel มาร่วมทุนทำธุรกิจในไทยกับ GULF และ ADVANC

 

คาดดึง ‘ธุรกิจระดับโลก’ เข้าสู่ประเทศไทย

Data Center ของ GULF, ADVANC และ Singtel นั้น ถูกคาดหวังว่าจะเรียกกระแสเงินลงทุนและรายได้จากต่างประเทศได้อย่างมาก โดยเฉพาะจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ระดับโลก (Hyperscalers) ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะมาจากการเชื่อมต่อฐานลูกค้าเดิมของ Singtel ซึ่งมีประสบการณ์และความชำนาญในด้านเทคโนโลยีและมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก โดยลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่น่าจะมาใช้บริการ Data Center ในไทย คือกลุ่มเทค เช่น Alphabet, Meta, Amazon

 

ในเบื้องต้น วงการนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดีล GULF, ADVANC และ Singtel น่าจะประกาศลงทุนและเริ่มก่อสร้าง Data Center เฟส 1 ก่อน เพื่อประเมินรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสม จากนั้นค่อยขยายการลงทุนสู่เฟสต่อๆ ไป โดยในเฟส 1 ถูกคาดการณ์ว่าจะมีขนาดการลงทุน 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 2-3 พันล้านบาท (1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาท) 

 

ความต้องการในไทยโตอย่างน้อย 10-15% ต่อปี

ฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น IoT, Big Data, E-Business และอื่นๆ จะเป็นปัจจัยหนุนต่ออุปสงค์ของบริการ Data Center และระบบ Cloud ไปอีกหลายปีต่อจากนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจด้านดิจิทัลจะคิดเป็น 25% ของ GDP ของประเทศไทย ภายในปี 2570 และภายในปี 2567 ตลาด Data Center ใน ASEAN อาจมีมูลค่าสูงถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.78 แสนล้านบาท

 

ด้านพิสุทธิ์กล่าวเพิ่มว่า ความต้องการใช้บริการ Data Center ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีในระดับ 10-15% เป็นอย่างต่ำ หรือคิดเป็นความต้องการใช้กำลังไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ โดยมาจากความต้องการของภาคธุรกิจ SMEs, Start up และธุรกิจขนาดกลางที่เปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เท่าทันกระแสดิจิทัลที่เป็นกระแสหลักในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก 

 

สอดคล้องกับ ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่กล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในไทยกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างมากในภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับในภาคผู้บริโภคทั่วไปก็ต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสารเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้จากการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร 5G ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ให้บริการก็ให้ความสำคัญในการพัฒนา 5G มากขึ้นเช่นกัน 

 

“ความต้องการของภาคธุรกิจและผู้บริโภค สะท้อนถึงการเติบโตของความต้องการใช้ Data Center อย่างมาก และมองว่าตลาดในประเทศไทยเติบโตขึ้นทุกปี ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและจากภาคเอกชน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่รายอื่นๆ มองเห็นโอกาสนี้และเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด” ศุภชัยกล่าว

 

เชื่อร่างใหม่ของ ‘TRUE-DTAC’ ศึกษาตลาด

ศุภชัยกล่าวเพิ่มว่า ผู้ประกอบการกลุ่ม Telco ล้วนมีธุรกิจ Data Center ของตัวเองอยู่แล้วโดยอยู่ใน Scale ของการใช้ภายในองค์กร แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เชื่อว่ากลุ่ม Telco จะเพิ่มไซส์ธุรกิจนี้ให้กลายเป็นอีกขาของรายได้ 

 

“สำหรับบริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมกันของ TRUE และ DTAC นั้น เชื่อว่ามีความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านธุรกิจ Data Center และน่าจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ ส่วนจะได้คำตอบหรือกลยุทธ์อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาตลาดด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบัน TRUE และ DTAC กำลังให้น้ำหนักไปที่การทำ Due Diligence ซึ่งคาดว่าจะได้แล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้” ศุภชัยกล่าว

 

อานิสงส์ทางอ้อมช่วยขยาย Ecosystem

พิสุทธิ์กล่าวเพิ่มว่า หากประเทศไทยสามารถพัฒนาและกลายเป็น Data Center Hub ของอาเซียนแทนที่สิงคโปร์ได้ จะทำให้ Ecosystem ของธุรกิจนี้ใหญ่ขึ้น โดยธุรกิจที่จะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการเติบโตของ Data Center ประกอบด้วย 

 

  1. กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงผู้ให้บริการรับออกแบบอาคาร กลุ่มวางฐานรากและเสาเข็ม กลุ่มผู้ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมขั้นสูง โดยจะมีทุนใหม่ๆ มาลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทยเพิ่ม 

 

  1. ธุรกิจที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation เนื่องจากภาคธุรกิจในไทย โดยเฉพาะ SMEs จะเน้นการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น การที่ประเทศไทยมีบริการ Data Center รองรับความต้องการ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำได้สะดวกขึ้น 

 

  1. กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน โดยได้รับอานิสงส์จากความพร้อมของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาบริการได้อย่างคล่องตัว 

 

สำรวจตลาด Data Center ไทย พบผู้ให้บริการหลากหลาย

THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจตลาด Data Center ในไทย พบว่ามีผู้เล่นที่หลากหลาย ขณะที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ทำธุรกิจ Data Center ส่วนใหญ่จะมีฐานลูกค้ารายกลาง-เล็ก และให้บริการเสริมธุรกิจเดิม เช่น INSET, ITEL, INET, PROEN, WHA และ Fraser (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ) 

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ของไทยที่ไม่ใช่ บจ. คือ CSL ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center รายใหญ่ในไทย มีศูนย์ให้บริการทั้งหมด 11 แห่ง ใน 9 โลเคชัน ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึง True IDC ที่มี Data Center 5 แห่ง ที่รองรับความต้องการในพื้นที่กลางกรุงเทพฯ และประเทศเมียนมา และรัฐวิสาหกิจอย่าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ที่ถือเป็นผู้ให้บริการ Data Center รายใหญ่ของประเทศเช่นกัน โดยให้บริการหน่วยงานรัฐเป็นหลัก 

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรายใหญ่จากต่างประเทศ อย่าง NTT ที่ให้บริการ Data Center ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งไทย

 

ทำความรู้จัก ‘Data Center’ คืออะไรกันแน่?

Data Center คือสถานที่ที่ใช้ในการวาง Server, อุปกรณ์สื่อสารจำพวก Network, ระบบ Storage เป็นต้น 

 

ในธุรกิจ Data Center โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ต้องมีคือสถานที่สำหรับก่อสร้างเป็นอาคารที่เหมาะสม ทั้งในแง่มุมของพื้นที่ อุณหภูมิ การระบายความร้อน และความปลอดภัยอื่นๆ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นที่ที่สะดวกต่อการรับและจ่ายกระแสไฟฟ้าและจัดเก็บ ที่สำคัญที่สุดต้องมี Human Resource ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบโครงสร้างพื้นด้าน IT

 

ในยุคบุกเบิก Data Center เริ่มต้นจากการเป็นส่วนหนึ่งในอาคารสำนักงาน แต่พบกับข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น พื้นที่ไม่เหมาะสม ความปลอดภัยต่อพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมีต่ำ และขอบเขตให้บริการจำกัด ส่งผลให้ในระยะถัดมา Data Center จึงถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นที่หรือสถานที่เฉพาะ หรือ Stand Alone

 

ในปัจจุบันสามารถแบ่ง Data Center ออกเป็น 4 Tiers โดย Tier 1 เป็น Tier ที่ Basic ที่สุดของ Data Center ความเสียหายและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบไปทั้งอุปกรณ์และระบบของ Data Center ขณะ Maintenance ระบบหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหายต่างๆ Data Center จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดย Tier 1 จะมี Uptime 99.671% และ Maximum Downtime 1,729 นาที หรือ 28 ชั่วโมง 48 นาที/ปี

 

Tier 2 เป็น Tier ที่มีอุปกรณ์สำรองบางส่วนในระบบไฟฟ้า มีระบบระบายอากาศและระบบทำความเย็น (Partial Redundant) ไม่ได้เป็นแบบ Fully Redundant เพราะไม่ครอบคลุมระบบทั้งหมด ข้อมูลข้างต้นคือสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาหากเทียบกับ Tier 1 โดยมี Uptime 99.741% และ Maximum Downtime 1361.3 นาที หรือ 22 ชั่วโมง 41 นาที 18 วินาที/ปี

 

Tier 3 เป็น Tier ที่รวมคุณสมบัติทั้งหมดของ Tier 1 และ Tier 2 แต่ในการซ่อมแซมอุปกรณ์หรือ Maintenance จะไม่กระทบกับการทำงานของ Data Center โดยมี Uptime 99.982% และ Maximum Downtime 94.6 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 34 นาที 36 วินาที/ปี

 

Tier 4 เป็น Tier สูงสุดของมาตรฐาน Data Center มีระบบที่เป็น Fully Redundant มีอุปกรณ์ที่จำเป็นแยก 2 ชุดโดยชัดเจน โดยมี Uptime 99.995% และ Maximum Downtime 26.3 นาที หรือ 26 นาที 18 วินาที/ปี

 

ก่อนหน้านี้ ผู้เล่นหลักในธุรกิจ Data Center ส่วนใหญ่จะมีมาจากกลุ่มธุรกิจด้าน IT Service แต่ในระยะ 3 ปีมานี้ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและพัฒนาสำนักงานให้เช่า เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว และต้องการใช้ Data Center เป็นบริการเสริมให้กับลูกค้า สร้างความพรีเมียมเชิงธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลสำคัญคือกลุ่มนิคมฯ และสำนักงานให้เช่าขาดบุคลากรระดับผู้ชำนาญการด้าน IT ทำให้ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ หลายแห่งจึงไม่สามารถพัฒนาธุรกิจ Data Center ขึ้นมาเป็น Core Business ได้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising