×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคดีคาร์บอมบ์สังหาร ‘ดาเรีย ดูกินา’ ลูกสาวพันธมิตรปูติน

23.08.2022
  • LOADING...
ดาเรีย ดูกินา

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ที่คนทั่วโลกต่างจับตา หลัง ‘ดาเรีย ดูกินา’ นักข่าวสาวชาวยูเครนวัย 29 ปี ถูกลอบสังหารจากเหตุคาร์บอมบ์ ความสูญเสียครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย เพราะเธอมิใช่นักข่าวธรรมดาทั่วไป แต่เป็นถึงบุตรสาวของ ‘อเล็กซานเดอร์ ดูกิน’ พันธมิตรผู้ใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาด้วยคำถามมากมายว่า ทำไมดูกินาถึงตกเป็นเป้าสังหาร เธอมีความสำคัญกับการเมืองรัสเซียอย่างไร และการลอบสังหารครั้งนี้จะโหมกระพือไฟสงครามให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ 

 

และนี่คือสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับคดีลอบสังหารจนถึงตอนนี้

 

ดาเรีย ดูกินา และ อเล็กซานเดอร์ ดูกิน คือใคร? 

 

  • ดาเรีย ดูกินา วัย 29 ปี เป็นบุตรสาวของอเล็กซานเดอร์ ดูกิน นักปรัชญาชาตินิยม และพันธมิตรผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

 

  • ต้องเท้าความกลับไปก่อนว่า อเล็กซานเดอร์ ดูกิน ผู้เป็นบิดานั้น เป็นนักเขียนและนักปรัชญาชาวรัสเซียผู้มีอุดมคติและแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง โดยเขาถูกขนานนามว่าเป็น ‘มันสมอง’ ของปูติน อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนการรวมชาติระหว่างรัสเซียกับยูเครนด้วย

 

  • ในปี 1997 ดูกินได้เขียนหนังสือชื่อ Foundations of Geopolitics หรือรากฐานของภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีการเผยแพร่แนวคิดของเขาเกี่ยวกับ ‘อารยธรรมยูเรเซียใหม่’ (Neo-Eurasian) โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลทวงคืนดินแดนที่เคยอยู่ในครอบครองของจักรวรรดิรัสเซียกลับคืนมา

 

  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งที่เขียนไว้บนหนังสือ Foundations of Geopolitics เมื่อหลายสิบปีก่อน เริ่มเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ ทั้งการแนะนำให้รัสเซียทำลายอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ และการเข้ายึดครองประเทศอื่นๆ ที่เขาเชื่อว่าควรเป็นดินแดนของรัสเซีย

 

  • หลังจากที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศได้สำเร็จในปี 2014 ดูกินได้สนับสนุนให้รัสเซียก่อสงครามกับยูเครน พร้อมผลักดันแนวคิดการสร้างจักรวรรดิรัสเซียใหม่ (Novorossiya) หรือการเข้ายึดชายฝั่งทะเลดำทั้งหมดที่จักรวรรดิรัสเซียเคยปกครองในช่วงศตวรรรษที่ 18 ซึ่งเป็นความฝันที่ปูตินพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลังมานี้ และเป็นแนวคิดที่กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งของรัสเซียยึดมั่นเป็นอย่างมาก

 

  • กลับมาที่ดูกินา เธอมีอาชีพเป็นนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากพ่ออย่างเต็มเปี่ยม โดยเธอเป็นหนึ่งในแกนนำผู้สนับสนุนการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเฉกเช่นเดียวกับบิดา 

 

  • นอกจากนี้ ดูกินายังเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของเว็บไซต์ United World International (UWI) ซึ่งถึงแม้จะเคลมตัวเองว่าเป็น ‘ศูนย์วิเคราะห์อิสระ’ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ทางการเมือง และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เป็นที่รู้กันดีว่า UWI เป็นเว็บไซต์ที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งเจ้าของเว็บไซต์คือ เยฟเกนี พรีโกซิน (Yevgeny Prigozhin) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของและผู้สนับสนุนทางการเงินของ Wagner Group บริษัททหารรับจ้างที่มีความเชื่อมโยงกับปูติน

 

  • ดูกินาถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรในเดือนมีนาคม หลังจากที่รัสเซียส่งทหารเข้าบุกโจมตียูเครน โดยให้เหตุผลว่าดูกินาเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของ UWI ซึ่งเผยแพร่คอนเทนต์ที่บิดเบือนข้อมูลหลายอย่าง รวมถึงบทความที่ระบุว่า ยูเครนจะต้องพินาศหากเข้าร่วมกับกองกำลัง NATO 

 

  • ต่อมาในเดือนเมษายน ดูกินาก็ถูกฝั่งอังกฤษคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุที่ว่าเธอเป็นโต้โผที่กระจายข้อมูลข่าวสารผิดๆ เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของกองกำลังรัสเซียในหลายแพลตฟอร์ม และถือเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย 

 

  • หลังจากที่เกิดสงคราม ดูกินาก็พยายามเผยแพร่แนวคิดที่ว่ามีระบอบนาซีในยูเครน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการทหารของรัสเซีย อีกทั้งยังกล่าวเย้ยหยันถึงกรณีที่ชาติตะวันตกพากันคว่ำบาตรเธอกับพ่อ และก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ เธอยังได้เดินทางไปยังเมืองมาริอูโปล และแคว้นโดเนตสก์ของยูเครนด้วย เพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนกองกำลังรัสเซียที่สามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวได้สำเร็จ

 

เหตุระเบิดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

  • เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 สิงหาคม) ดูกินาและบิดาได้เข้าร่วมงานเทศกาลแห่งหนึ่งใกล้กรุงมอสโก ซึ่งในตอนแรกทั้งคู่จะเดินทางออกจากสถานที่จัดงานด้วยรถคันเดียวกัน ก่อนที่ดูกินจะตัดสินใจแยกกันเดินทาง และเปลี่ยนรถกับบุตรสาวในช่วงนาทีสุดท้าย

 

  • หลังจากนั้น รถยนต์ของดูกินาก็เกิดระเบิดขึ้น ทำให้เธอเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที

 

  • ภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ทางเทเลแกรมแสดงให้เห็นว่า ดูกินจ้องมองจุดเกิดเหตุด้วยความช็อก ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าเก็บกู้ร่างของบุตรสาว และซากรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้เกรียม

 

  • จากการสืบสวนพบว่า ระเบิดถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ท้องรถยนต์ฝั่งคนขับ โดยรถยนต์คันที่ดูกินาขับนั้นจริงๆ แล้วเป็นของบิดา จึงทำให้ฝ่ายสืบสวนสันนิษฐานว่า แท้จริงแล้วคนร้ายน่าจะมุ่งเป้าโจมตีไปที่ดูกินมากกว่าที่จะเป็นดูกินา

 

ใครอยู่เบื้องหลังปมลอบสังหาร?

 

  • เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปที่ยูเครนทันที ขณะที่รัสเซียออกมาโจมตีทันทีว่า กองกำลังปฏิบัติการพิเศษยูเครนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุคาร์บอมบ์

 

  • หน่วยงานด้านความมั่นคงของทางการรัสเซียอย่าง FSB ที่เข้ามารับหน้าที่สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวระบุว่า มีหญิงชาวยูเครนคนหนึ่งพร้อมกับลูกสาวได้เดินทางมาอาศัยอยู่ในรัสเซียตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนร้ายที่ตั้งใจก่อคดีลอบสังหาร โดยวางแผนล่วงหน้ามาอย่างดี

 

  • หญิงรายนี้มาเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ที่เดียวกับดูกินามาประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยเธอได้แอบสอดแนมดูกินาอยู่เงียบๆ อีกทั้งยังพบว่าหญิงรายนี้แอบเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถถึง 3 ครั้งในระหว่างที่ซุ่มติดตามดูกินา โดยขณะนี้หญิงคนดังกล่าวหลบหนีไปยังเอสโตเนียแล้ว

 

  • อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งยูเครนออกมาปฏิเสธว่าทางการไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องดังกล่าว โดย มีคาอิโล โปโดลยาค (Mykhailo Podolyak) ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า “เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะเราไม่ใช่รัฐที่ชอบก่ออาชญากรรมเหมือนอย่างที่รัสเซียเป็น และเราก็ไม่ใช่รัฐก่อการร้ายด้วย”

 

  • ฝั่งยูเครนอ้างว่า เหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดมาจากการแก่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในรัสเซียเองมากกว่า

 

ปมสังหารครั้งนี้จะกระพือไฟสงครามให้ร้อนระอุกว่าเดิมหรือไม่?

 

  • ภายหลังเกิดเหตุ ดูกินผู้เป็นพ่อโพสต์ข้อความผ่านเทเลแกรมว่า “ดาเรีย ดูกินา ลูกสาวของผมถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมต่อหน้าต่อตาของผม เธอเป็นหญิงสาวออร์โธดอกซ์ที่งดงาม เป็นผู้รักชาติ เป็นผู้สื่อข่าวสงคราม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานสื่อโทรทัศน์ และเป็นนักปรัชญา”

 

  • “เราต้องการเพียงแค่ชัยชนะ ลูกสาวของผมสละชีวิตวัยสาวของเขาแด่พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นได้โปรด ขอเพียงแค่ให้เราทำมันได้สำเร็จ”

 

  • ขณะเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (22 สิงหาคม) รายการโทรทัศน์ของรัสเซียได้นำเสนอช่วงรายการพิเศษที่อุทิศให้กับดูกินา โดยแขกพิเศษของรายการกล่าวว่า การเสียชีวิตของเธอจะนำไปสู่การตอบโต้ที่ร้ายแรง พร้อมกล่าวด้วยว่า “หากการลอบสังหารดูกินาเกิดขึ้นเพราะต้องการข่มขู่รัสเซียแล้วละก็ (ผู้ก่อเหตุ) จะต้องเจอกับผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม”

 

  • หลังจากนั้น ภาพก็ตัดไปที่รูปปืนครกของกองกำลังรัสเซียในยูเครน ซึ่งมีข้อความเขียนไว้ว่า “นี่สำหรับดาเรีย!”  

 

  • อย่างไรก็ตาม เยคาเทรินา ชูลแมน (Yekaterina Shulman) นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซีย กล่าวว่า การที่นักวิจารณ์ที่สนับสนุนรัสเซียออกมาแสดงความโกรธแค้น และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับผู้ก่อเหตุนั้นดูน่าสงสัย โดยเธอกล่าวว่า “จากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น…ดูเหมือนว่าพวกเขารอให้เกิดอะไรแบบนี้อยู่แล้ว”

 

Ms Shulman says the outpouring of anger amongst pro-Kremlin commentators in response to the car bomb attack appears suspicious: “The reaction…was immediate. It looks as if they were waiting for something like this to happen.”

 

  • ชูลแมนกล่าวว่า สำหรับชาวรัสเซียโดยทั่วไปแล้ว การเสียชีวิตของดูกินานั้นมีผลกระทบต่อจิตใจผู้คนน้อยมาก เพราะเธอไม่ได้มีบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นเหมือนผู้เป็นพ่อ

 

Amongst ordinary Russians though, the killing of Darya Dugina – a very minor figure in Russia – will have made little impact, if any.

 

  • แต่ถึงเช่นนั้น ก็มีความเสี่ยงที่ยูเครนจะเจอกับการถล่มโจมตีที่รุนแรงกว่าเดิม ประกอบกับว่าวันพรุ่งนี้ (24 สิงหาคม) ยังตรงกับวันฉลองอิสรภาพจากสหภาพโซเวียตของยูเครนด้วย โดยกองทัพยูเครนเตือนว่า รัสเซียได้นำเรือรบและเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนำวิถีจำนวน 5 ลำออกไปในทะเลดำแล้ว

 

  • ทางการยูเครนได้สั่งห้ามประชาชนรวมตัวกันเฉลิมฉลองวันอิสรภาพในที่สาธารณะ เพราะหวั่นตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซียได้ ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟก็ได้ออกประกาศเตือนให้พลเมืองสหรัฐฯ เดินทางออกนอกประเทศทันทีหากทำได้

 

  • ชูลแมนทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าสุดท้ายใครจะเป็นผู้ที่ก่อเหตุครั้งนี้ แต่การสังหารที่เกิดขึ้นอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ปลุกความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน และอาจเป็นข้ออ้างให้ปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงดูมีความชอบธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ก็ไม่มีใครควรจะต้องเผชิญกับความสูญเสียเช่นนี้อีกแล้ว

 

ภาพ: Kirill Kudryavtsev / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X