×

ตำรวจ ปคบ. ส่งมอบสำนวนคดี​ดารุมะ ซูชิ 15,000 แผ่นให้พนักงานอัยการ พร้อมพิจารณาความผิดส่วนนอกประเทศเพิ่ม

โดย THE STANDARD TEAM
01.09.2022
  • LOADING...
ดารุมะ ซูชิ

วันนี้ (1 กันยายน) ที่​สำนักงานอัยการสูงสุด​ ถนนรัชดาภิเษก​ พ.ต.ท. ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำส่งสำนวนคดี ดารุมะ ซูชิ จำนวน 7 ลัง ต่อพนักงานอัยการ ซึ่งคดีดังกล่าวมีผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด และ เมธา ชลิงสุข อายุ 39 ปี โดยมี อิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคอีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รับสำนวน

 

อิทธิพรกล่าวว่า สำนวนคดีดารุมะ ซูชิ มีผู้ต้องหา 2 ราย ในข้อหาร่วมกันโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพปริมาณ หรือสาระสำคัญอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือผู้อื่นโฆษณา หรือใช้ฉลากสินค้าที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ควรรู้ก่อนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ และร่วมกันฟอกเงิน มามอบให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนคดี 

 

ซึ่งในคดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 999 คน มีความเสียหายกว่า 42 ล้านบาท และยังมีคูปองที่ผู้ต้องหาขายแล้วประชาชนยังไม่ได้นำไปใช้อีกกว่า 129,000 ใบ เป็นวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 28 ล้านบาท ในส่วนของผู้ต้องหา ทางพนักงานสอบสวนได้นำไปฝากขังที่ศาลอาญาจะครบฝากขังครั้งสุดท้ายในวันที่ 14 กันยายนนี้ และพนักงานอัยการคงดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้นทันกำหนด 

 

แต่เนื่องจากคดีนี้มีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานอัยการคดีพิเศษคงต้องส่งสำนวนเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีคำสั่งตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสำนวนของคดีจำนวนมาก แต่พนักงานอัยการจะสามารถดำเนินการได้ทันกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

 

ด้านประยุทธกล่าวว่า ที่คดีนี้มีการทำผิดนอกราชอาณาจักร เนื่องจากมีการโอนเงินขณะกระทำผิดบางช่วงเกิดขึ้นต่างประเทศ หากมีการกระทำความผิดส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรก็อยู่ในอำนาจสอบสวนของอัยการสูงสุด ตาม ป.วิ.อาญา 20 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20) 

 

“คำว่าคดีนอกราชอาณาจักรมีทั้งการกระทำผิดที่อยู่ต่างประเทศทั้งหมดหรือทำอยู่ต่างประเทศบางส่วนแต่เชื่อมโยงการกระทำในต่างประเทศ สำหรับกรณีนี้ธุรกรรมด้านธุรกิจของดารุมะ ซูชิ เกิดในประเทศไทยทั้งหมด แต่มีผู้เสียหายโอนเงินบางช่วงให้เขาในขณะที่ตัวผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ แต่ธุรกรรมทั้งหมดไม่มีธุรกิจในต่างประเทศ ดังนั้น การกระทำเช่นนี้จึงเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร” ประยุทธกล่าว

 

ด้าน พ.ต.ท. ปริญญา กล่าวว่า สำนวนนี้พนักงานสอบสวนได้มีการรับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค จึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างดี เนื่องจากเป็นคดีที่พี่น้องประชาชนสื่อมวลชนให้ความสนใจจึงได้มีการทำอย่างรอบคอบ แต่อาจจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่นอกเหนือจากสิ่งที่พนักงานสอบสวนมองเห็น ทางพนักงานอัยการก็จะเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็อยู่ในกรอบของเวลาที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการได้ โดยสำนวนคดีในวันนี้มีทั้งหมด 47 แฟ้ม 15,000 กว่าแผ่น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X