×

ดนุพรชี้ ไทยควรทำคัมภีร์รับมือภัยพิบัติ เผยรัฐบาลกำลังพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2025
  • LOADING...

วันนี้ (3 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 29 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ดนุพร ปุณณกันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ประเทศไทยควรมีแนวทางรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอให้จัดทำคู่มือปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า ‘Cell Broadcast’

 

ดนุพรกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งพาดผ่านหลายจังหวัดของเมียนมา ส่งผลให้กรุงเทพมหานครได้รับแรงสั่นสะเทือน อาคารสูงหลายแห่งเกิดการสั่นไหว ประชาชนตื่นตระหนกและต้องอพยพออกจากที่พัก โดยเหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเขตจตุจักร พังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก โดยขณะนี้หลายหน่วยงานยังคงระดมกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 

ดนุพรกล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่สิ่งที่สามารถควบคุมได้ และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเท่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหลายครั้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้ถึงแมกนิจูด 7.5 และอาจส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานคร

 

จากประสบการณ์ของประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ พบว่าล้วนมีมาตรการรับมือแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านกฎหมาย เทคโนโลยีการก่อสร้าง และระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งมีระบบ Earthquake Early Warning (EEW) ที่ติดตั้งเซนเซอร์หลายพันจุดในบริเวณใกล้รอยเลื่อน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ระบบจะประมวลผลข้อมูลจุดศูนย์กลาง ระดับความรุนแรง และคาดการณ์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านสื่อหลายช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Cell Broadcast ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาให้ใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้

 

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังมีมาตรการฝึกซ้อมและให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาเป็นแนวทาง แม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่บนแนวรอยเลื่อนหลัก แต่ก็ควรมีมาตรการรับมือและเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนอย่างจริงจัง

 

ดนุพรยังกล่าวถึงการถกเถียงในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยในปัจจุบัน โดยชี้ว่า ระบบ Cell Broadcast ที่รัฐบาลกำลังพัฒนาอยู่จะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือในเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวควรพัฒนาสู่ระบบ Virtual Cell Broadcast ซึ่งสามารถแสดงป๊อปอัพแจ้งเตือนบนหน้าจอมือถือโดยไม่ขึ้นกับสถานะเสียงโทรศัพท์ ระบบนี้สามารถใช้งานได้ในเหตุการณ์หลากหลาย เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ไฟป่า หรือดินถล่ม

 

ท้ายที่สุด ดนุพรเสนอให้รัฐบาลจัดทำคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย โครงสร้าง การให้ความรู้ การปลูกจิตสำนึก และการวางแผนเผชิญเหตุ โดยระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแผนฉุกเฉินที่ชัดเจนว่าควรดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ

 

“ควรที่จะมีคัมภีร์ไว้ให้กับทุกหน่วยงาน วันนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงเมื่อไร จะอยู่ครบวาระหรือไม่ ระบบต่างๆ นั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยเพื่อช่วยเหลือชีวิตประชาชนในระยะยาว” ดนุพรกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising