×

โครงสร้างสังคมไทยไม่ได้เอื้อต่อการเป็นตำรวจที่ดี ถอดบทเรียนชีวิตอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กับอดีตพิทักษ์ 1 พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

01.10.2023
  • LOADING...
ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

HIGHLIGHTS

  • เราไม่สามารถทำให้ตำรวจทุกคนเป็นคนดีได้หมด ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสังคมที่ไม่ได้ลงทุนกับตำรวจมากพอ ที่เห็นชัดสุดคือเรื่องค่าตอบแทน
  • ตำรวจคือคู่ขัดแย้งในทุกยุคทุกสมัย ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางความคิดหรือทางการเมือง คนที่มาชุมนุมต่างก็คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามที่ตัวเองต้องการ แต่เมื่อไม่ได้รับพวกเขาก็จะหันกลับมาคาดหวังจากตำรวจ

THE STANDARD ชวนทำความรู้จัก พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 ผู้ที่เคยใช้นามเรียกขาน ‘พิทักษ์ 1’ 

 

พร้อมการตอบคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคนในสังคมว่า ทำไมตำรวจที่ดีถึงเป็นยาก เหตุใดถึงต้องเป็นตำรวจที่อยู่ฝั่งตรงข้ามประชาชนในทุกความขัดแย้ง 

 

พร้อมย้อนไปถึงประสบการณ์ และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ไม่เคยย่อท้อต่อมรสุม คลื่นลมแรงในการทำอาชีพนี้ ช่วงเวลาไหนที่ทำให้รู้จักอย่างลึกซึ้งกับคำว่ามีศักดิ์ศรีเพื่อดูแลชีวีประชาชน

 

 

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างไม่มีแผนการ รู้ตัวอีกทีก็ตกกระไดพลอยโจน

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์เล่าว่า ตอนเป็นเด็กไม่ได้มีอาชีพในฝัน เป็นเพียงเด็กต่างจังหวัดที่เกิดและโตอยู่ที่จังหวัดแพร่ ในทีแรกตัวเองก็ไม่คิดว่าจะมาเข้าเรียนที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาช่วง ป.6-ป.7 ทางบ้านมีญาติอยู่กรุงเทพฯ และตอนนั้นได้ยินคนบอกว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเข้ายาก ถ้าเข้าได้จะต้องเป็นคนที่เก่งมาก ตัวเองแค่คิดว่าอยากลองดูว่าจะยากสักเท่าไร 

 

แต่พอย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ จริงๆ ก็มีคนแนะนำว่าน่าจะเข้าอีกโรงเรียน คือโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตัวเองที่ไม่ได้ลงหลักปักใจอะไรก็เลยเปลี่ยนใจไปสอบเข้าโรงเรียนบดินทรฯ ซึ่งพอเข้าเรียนได้แล้วในยุคนั้นโรงเรียนบดินทรฯ ที่เป็นเหมือนโรงเรียนพี่น้องกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทุกคนที่เรียนบดินทรฯ ก็ใฝ่ฝันที่จะเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต่อ

 

ส่วนตัวก็ไม่ปฏิเสธว่ากระแสที่มีทำให้อยากเข้าเรียนเตรียมฯ ให้ได้เหมือนเพื่อน แต่จังหวะชีวิตช่วงใกล้ชั้น มส. 3 ได้ไปเล่นดนตรีกับเพื่อน และเพื่อนในวงคนนั้นซึ่งมีพ่อเป็นทหารอากาศ เขาก็อยากให้ลูกเป็นทหารอากาศ เพื่อนเองก็อยากมีเพื่อนไปสอบก็เลยซื้อใบสมัครพร้อมพาตนเองไปสอบเสร็จสรรพ

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์เล่าต่อว่า ยอมรับว่าตกกระไดพลอยโจนไปสอบ แต่ก็สอบเข้าเตรียมอุดมฯ ด้วย นั่นคือสอบทั้ง 2 ที่ และผ่านทั้ง 2 ที่ จากนั้นก็มาตัดสินใจว่าจะลองเข้าโรงเรียนเตรียมทหารไปประมาณ 1 สัปดาห์ แต่พอเข้าไปแล้วไม่กล้าที่จะออกมา เพราะกลัวจะหาว่าใจไม่สู้ก็เลยตกกระไดพลอยโจน เข้าโรงเรียนเตรียมทหารไป และสุดท้ายก็เลือกเหล่าตำรวจ

 

 

อาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หน้าที่คู่ขัดแย้งของสังคมทุกยุคทุกสมัย

 

เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่ตำรวจมักตกเป็นคู่ขัดแย้งของทุกฝ่าย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า มีส่วนจริง พร้อมอธิบายว่า เมื่อมีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน และพัฒนาไปถึงขั้นมีการชุมนุมประท้วง ประชาชนล้วนคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามที่ตัวเองต้องการ เช่น เหตุการณ์สมัยพฤษภาทมิฬ, 14 ตุลา หรือสมัยมีม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง

 

ท้ายสุดหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รัฐบาลไม่ยอมจำนน ไม่รับเงื่อนไข หรือลาออกตามใจม็อบ ม็อบก็จะกลับมาเล่นงานตำรวจ ด่าทอหาว่าเป็นขี้ข้ารัฐบาล ถามว่าตำรวจจะยืนฝั่งใด

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์เล่าต่อว่า ในสมัยม็อบกลุ่มพันธมิตร ตนเป็นรองผู้บังคับการฯ ที่มาช่วยดูแลควบคุมฝูงชน สุดท้ายก็โดนม็อบด่าสารพัด และยังโดนยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยจากเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเข้าไปล้อมรัฐสภา 

 

“เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ตำรวจเองก็ต้องทำตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ตามคำสั่งที่ถูกต้อง” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

เมื่อถามต่อว่า ภาระงานและหลายสิ่งที่เจอ เคยทำให้อยากเลิกทำอาชีพนี้หรือไม่

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ตอบในทันทีว่า ไม่ แต่ยอมรับว่าสมัยก่อนเข้ามาทำงานโดยไม่ชอบอาชีพตำรวจเลย แต่มาเริ่มรู้สึกชอบตอนเป็นผู้กำกับโรงพัก เริ่มอินกับการเป็นตำรวจตอนที่เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจ

 

พอเวลาเราเป็นหัวหน้าสถานีในนครบาล เรามีความรู้สึกว่าเรามีประโยชน์ เราได้เห็นปัญหาชาวบ้านเยอะมาก การที่เราเป็นหัวหน้าสถานีเราเปรียบเหมือนเป็น CEO เราแก้ปัญหาให้เขาได้แล้วก็เกิดความภูมิใจ ถ้าเราทำงานบริษัทเราก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้แน่ เรายอมรับว่ามีความคิดว่าเรามีประโยชน์กับคนได้ขนาดนี้เลยหรือ

 

วันนี้ถ้าให้คะแนนตัวเอง ถ้าพูดไม่โกหกก็ต้องให้ 10 คะแนน เพราะว่าที่ผ่านมาเราทำงานแบบไม่หยุดหย่อน ทำแบบมีไฟ ทำแบบที่เราเห็นประโยชน์ของการทำ

 

“เรามองว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทุกวันที่เราทำเรารู้สึกว่าเราสนุก มีความสุข เราไม่ได้คิดว่างานเป็นภาระ เรามองว่าภารกิจของเราเป็นโอกาสที่จะทำความดีในทุกๆ วัน เราไม่ต้องรอไปทำบุญที่วัด เราสามารถทำบุญได้ทุกวัน”  พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

 

ภาพลักษณ์และภาพจำบนเส้นทางอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

 

“มันไม่สามารถทำให้ตำรวจทุกคนเป็นคนดีได้หมด โครงสร้าง หลายๆ อย่าง สังคมเองไม่ได้ลงทุนกับตำรวจเยอะ เช่น การให้ค่าตอบแทน วันนี้ตำรวจก็มีเบี่ยงเบนไปหลายเรื่องพอเจอปัญหา” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวถึงปัญหาของการสะท้อนกลับจากสังคมไทยสู่เจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันว่า ในโลกโซเชียลถ้าตำรวจไม่หนักแน่นพอก็จะเครียด ในคอมเมนต์ การแสดงความคิดเห็นของประชาชน เราจะเห็นว่าชมตำรวจนิดเดียว ด่าเสียส่วนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจและยอมรับมัน อยู่กับมันให้ได้

 

สำหรับช่วงที่ประทับใจในการทำอาชีพนี้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์เล่าว่า มีตั้งแต่ตอนที่เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกวดขันเข้มข้นเรื่องยาเสพติด มีการประกาศสงครามยาเสพติด ปี 2546-2548 

 

ช่วงนั้นตนได้ทำงานกับชาวบ้าน กับผู้นำชุมชนอย่างเข้มแข็ง ได้เห็นแววตาเขา ที่เขาดีใจที่เราเข้าไปดูแลเขา หลายพื้นที่ที่เราไป พอเราจะย้าย เขาก็มาบอกไม่อยากให้ย้ายอย่างที่จังหวัดอำนาจเจริญ 

 

ต่อมาตอนเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือเป็น รอง ผบ.ตร. มีหลายช่วงที่รู้สึกดีใจที่ทำสำเร็จ เช่น ปัญหาเด็กแว้นเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน จนตอนนี้คนก็ไม่ค่อยพูดถึงแล้ว หรือว่าปัญหาเรื่องอุบัติเหตุในท้องถนน 7 วันอันตราย ตนก็มีส่วนตั้งแต่เป็นผู้ช่วยฯ จนมาถึงยุค ผบ.ตร. เป็น 5 ปีที่มุ่งมั่นแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง สร้างระบบฐานข้อมูล

 

ส่วนปัญหาเรื่องยาเสพติดก็ภูมิใจว่าได้แก้ปัญหากับชุมชน หลายหน่วยงานยอมรับว่าการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการลดผู้เสพให้ได้ จำนวนผู้เสพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเราเปลี่ยนผู้เสพ คืนคนดีสู่สังคมเมื่อไร มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

 

แต่เหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมถือว่าเป็นความทรงจำที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า มันเป็นช่วงที่หนักมาก ตำรวจเองก็จะอยู่ไม่ได้ในพื้นที่ 11 โรงพัก โดนน้ำท่วมไป 10 โรงพัก ลูกน้องเดือดร้อน แต่ก็ต้องช่วยเหลือประชาชน ประชาชนหลายพื้นที่ไฟดับ น้ำประปาหยุดจ่าย 

 

เราทำได้คือพายเรือเข้าไปอยู่กับพวกเขา ตอนนั้นเราย้ำกับลูกน้องว่า “อย่าทิ้งนะ อย่าถอดใจ” และเราก็บอกตัวเองด้วยว่าต้องไม่ถอดใจในตอนนั้น เคยมีพระท่านบอกว่าการช่วยเหลือคนเดือดร้อนเป็นบุญใหญ่ต้องทำเต็มที่ คำนี้เวลาเราท้อเมื่อไร มันหนักเมื่อไร เราก็จะย้ำกับตัวเอง และกระทั่งพอผ่านสถานการณ์นั้นมาแล้วเราเองก็ภูมิใจมาก

 

“เราทำทุกอย่างครบเลย นายก็จะมาตรวจ ทั้งนายกฯ ทั้ง ผบ. ทั้งรัฐมนตรีก็จะมาตรวจ เพราะพื้นที่ดอนเมืองมันใหญ่สุด เป็นพื้นที่ทางเหนือของกรุงเทพฯ เราก็รับเลย ตอนนั้นจำได้แต่ละวันแค่พอได้นอนตื่นมาก็ลุยทันที” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

 

ยุคที่คอลเซ็นเตอร์รุ่งเรือง และยุคที่ตำรวจจราจรปรับตัวมากที่สุด

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือว่ามีการแพร่ระบาดมากที่สุดเมื่ออ้างอิงจากรายงานการจับกุม หรือตัวอย่างคดีที่มีความเสียหายจำนวนมาก พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ตำรวจเองมีการปรับตัวไปมาก ขณะนี้เรามีฐานการแจ้งความออนไลน์ ทำให้เราสามารถเห็นปัญหาเกือบทั้งหมด 

 

ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าปัญหามันใหญ่แล้วความสูญเสียบางคนเสียจนหมดตัว ตำรวจเองพยายามขอความร่วมมือ พยายามถอดบทเรียน สร้างการมีส่วนร่วม ส่วนนี้ตนอยากจะเรียนให้ประชาชนรับทราบ ว่าปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพราะเข้าถึงได้ง่าย ทุกคนใช้มือถือ สมาร์ทโฟน แต่เราต้องเสียเวลาเรียนรู้สร้างภูมิคุ้มกันเหมือนกับที่เราต้องยอมฉีดวัคซีน

 

สำหรับอีกหนึ่งการปรับตัวของตำรวจที่เห็นได้ชัดเจนคือตำรวจจราจร ส่วนนี้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า จราจรถือเป็นจุดอ่อนของตำรวจ ตำรวจจะโดนด่าก็เรื่องจราจรว่าชอบไปจับ ชอบหวังค่าปรับ ชอบกลั่นแกล้ง ตนพยายามคิดในแง่บวกว่าจราจรถ้าไม่ทำอะไรเลย ไม่จับอะไรเลย พวกผิดกฎหมายก็จะเต็มท้องถนน ทั้งเมา ทั้งพวกที่ขับรถให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นก็ต้องพบกันครึ่งทาง แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับได้ นั่นก็คือตำรวจจราจรต้องมีความเป็นสุภาพบุรุษจราจร

 

สุภาพบุรุษจราจรคือ มีบุคลิกภาพดี ยิ้มแย้ม ไม่ใช่ว่าทำหน้าดุ ต้องมีมาตรฐาน มีความอ่อนน้อม จุดประสงค์การปรับทั้งหมดก็คือให้มีหัวใจของ Service Mind 

 

“เราอย่าเห็นประชาชนเป็นเหยื่อ เขาผิดมาคุณจะไปจับเขาเพื่อหวังรางวัลมันไม่ใช่ คุณต้องเห็นประชาชนเป็นเหมือนญาติพี่น้องที่คุณจะหวังดี ตักเตือนเขา”

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนตัวยังมีอีกหลายโครงการที่อยากจะให้สานต่อ ซึ่งส่วนมากเป็นโครงการที่จะส่งเสริมขวัญกำลังใจของกำลังพลให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มที่ เช่น โครงการทำดีมีรางวัลที่เห็นตำรวจทำดีในโลกโซเชียล ถ้าอยู่ใกล้ก็ให้มารับรางวัลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าอยู่ไกลก็ให้ผู้บัญชาการเรียกไปรับรางวัล เพื่อให้ตำรวจมีความรู้สึกว่า ถ้าทำดีแล้วมีคนชื่นชมสมควรได้รางวัล และโครงการตำรวจดีเด่นประจำปี ในปีนี้ 2566 จากตำรวจ 200,000 คน มอบรางวัลให้ 3,000 คน 

 

“ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องขับเคลื่อนด้วยทุกคน 200,000 คนถ้าเราทำให้เขามีกำลังใจที่ดี งานก็จะดีขึ้น ผมเชื่อว่าตำรวจเป็นอาชีพที่ทำงานตรากตรำ เมื่อทำงานหนักประสบการณ์ก็จะมาก ฉะนั้นถ้าเราพยายามให้รางวัล ให้แรงจูงใจให้เขามีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ผมเชื่อว่าจะทำให้การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนดีขึ้น” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

 

รางวัลที่ดีที่สุดของคนทำงานหนัก คือรางวัลที่ได้รับจากประชาชน

 

จริงๆ ส่วนตัวเคยรู้สึกดีใจในการเป็นตำรวจหลายครั้ง สมัยเป็นผู้บังคับการฯ อย่างตอนที่เป็นผู้การฯ อำนาจเจริญ ตัวเองก็ไม่ทราบว่าทำอะไรเยอะแยะ คิดว่าเราก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ แต่มีสื่อมวลชนท้องถิ่นมารวมตัววันที่เรากำลังจะหมดวาระงานขอร้องว่าให้อยู่ต่อ เขาก็ชื่นชมว่าเป็นผู้การฯ ที่ไม่เคยเจอ อยากให้อยู่ต่อ ตนรู้สึกดีใจมาก ภูมิใจมาก เพราะเขาใกล้ชิดเรา เขาชื่นชมเรา เขาไม่ได้เป็นตำรวจ เขาเป็นประชาชน

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์เล่าเหตุการณ์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วว่า ตอนนั้นอยู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ไปร่วมงานเกษียณ เห็นคนลอดซุ้มกระบี่ เสี้ยวหนึ่งในใจคิดไปว่า ตัวเองจะเหลือเวลาอีกแค่ 10 ปี หลังจาก 10 ปีไปแล้วก็ยังได้บำนาญ ถ้าตัวเองเจ็บหรือป่วย พ่อแม่เจ็บป่วยก็ได้รักษาในโรงพยาบาล

 

“ผมมีเวลาทำงานแค่ 10 ปี เพราะฉะนั้นผมจะต้องทำให้สุดความสามารถ เพราะหลังจากเกษียณแล้วผมก็จะได้ประโยชน์จากหลวงอีกเยอะ ผมจะไม่มาเสียใจทีหลังว่าผมไม่ได้ทำอะไรเต็มที่ ตั้งแต่นั้นมาผมก็ทำสุดตัว” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

ชีวิตหลังเกษียณ หลักคิดยิ่งใหญ่จากพุทธศาสนา

เมื่อถามว่าจะกลับมาช่วยงานข้าราชการตำรวจอีกหรือไม่ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า หลังจากนี้ถ้าใครอยากขอคำปรึกษาอะไรก็ยินดี แต่หากจะให้มาทำงานแบบจริงจังเหมืองรับราชการก็คงไม่แล้ว เพราะก็ต้องยอมรับกับตัวเองว่าเราต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่มาทำ 

 

เราเชื่อเรื่องบุญ เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเราเชื่อแบบนี้เราก็จะรู้สึกว่าเราโชคดีที่เป็นตำรวจ ถ้าเรามองในแง่เราแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทุกวันเราก็จะได้บุญ แล้วก็รู้สึกว่าโชคดีจังเลย มีเงินเดือนด้วยได้บุญด้วยเราก็รู้สึกมีความสุข

 

เมื่อเราไปอยู่ที่ไหนเห็นตำรวจบางคนที่ไม่มีทัศนคติเหมือนเรา เกเร ชอบรังแก ชอบกินเหล้าขาดเข้าเวรยาม เราก็จะเอาพวกนี้มาอบรม ส่วนตัวเรามองว่าธรรมะเป็นสัจธรรม ถ้าใครมีโอกาสได้เรียนรู้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นมงคลของชีวิต พอมีธรรมะการทำงานก็จะไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะเรามองว่าการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนเป็นการทำบุญโดยที่ไม่ต้องรอวันหยุดไปวัด

 

“สุดท้ายนี้อยากให้ตำรวจทุกคนมีหลักคิดว่า มันเป็นโอกาสที่ดีที่เราเป็นตำรวจ ได้สร้างประโยชน์ช่วยเหลือประชาชน จะทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนความมุ่งมั่นในการทำงาน ขยันขึ้น” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์กว่า 2 ชั่วโมง เราได้ฟังเรื่องราวและเรื่องเล่ามากมาย ตะกอนความคิดและหลักชีวิตในการทำงาน เราตั้งใจที่จะถามคำถามพื้นฐานที่ว่า นิยามตำรวจไทยคืออะไร ซึ่ง พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ตอบไว้ว่า

 

“ตำรวจไทย คำนิยามของผมคือ เป็นอาชีพที่ทำงานหนัก เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประชาชน ประชาชนอาจมองภาพลักษณ์ตำรวจไม่ค่อยจะดี แต่ผมเชื่อว่าถ้ามาสัมผัสจริงๆ ตำรวจดีๆ มีเยอะ เป็นตำรวจที่น่ารัก ทุกอาชีพมีทั้งดีและไม่ดี

 

ผู้ใต้บังคับบัญชาของผมทำงานหนัก มีเวลาให้ครอบครัวน้อย ผมอยากให้เข้าใจ บางทีเขาอาจมีบางส่วนที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คนที่เสียสละ คนที่ต้องถูกยิงตายมีเยอะมากแต่ละวัน อยากให้เห็นใจตำรวจมากขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising