วันนี้ (10 ส.ค.) เวลา 10.00 น. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ…แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561 ที่ห้องแถลงข่าวตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและใหญ่มีปริมาณน้ำเกิน 80% มากกว่า 60 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ให้ได้ และตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน
ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบัน ขณะนี้มี 8 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง, เขื่อนลำปาว, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนวชิราลงกรณ, เขื่อนปราณบุรี โดยมี 2 เขื่อนที่ปริมาณน้ำเกินกว่า 100% ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 103% และเขื่อนแก่งกระจาน 103% ซึ่ง สทนช. ได้กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมถึงเตรียมการช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำ
ส่วนระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอเมือง มีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 69 เซนติเมตร เนื่องจากมีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานมากขึ้น ประกอบกับมีน้ำที่ไหลจากเขื่อนแก่งกระจานผ่านทางระบายน้ำล้นแนวโน้มลดลง ขณะนี้สูงประมาณ 54 เซนติเมตร จากเมื่อวานนี้ 60 เซนติเมตร
ส่วนสภาพน้ำในอ่าง เขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง แต่จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้น ส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เพิ่มระดับอย่างรวดเร็วจากปริมาณฝนตกหนักที่ประเทศลาว ส่งผลให้ระดับน้ำที่แม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และมุกดาหาร สูงกว่าตลิ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จากการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบันพบว่า ระดับน้ำโขงเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2561 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์นี้ปริมาณฝนในประเทศไทยจะเริ่มลดลง
แต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยานยน จะมีร่องมรสุมพาดผ่านไทย และฝนจะตกเพิ่มขึ้นในช่วงนั้น และคาดว่าช่วงเดือนกันยายนจะมีพายุเข้าประมาณ 1-2 ลูกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยฤดูฝนจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนตุลาคม ยกเว้นภาคใต้ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่า เขื่อนขนาดใหญ่ทุกเขื่อนในไทยมีเครื่องมือวัดติดเข้าไปในตัวเขื่อน เพื่อตรวจวัดว่าเขื่อนยุบตัวลงไปตามเกณฑ์ในแต่ละช่วงเวลาหรือไม่ รวมถึงมีการเดินสำรวจดูด้วยตาเปล่า
ขณะที่เขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก แม้จะไม่มีเครื่องมือวัดติดตั้งในตัวเขื่อน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการสำรวจเขื่อนอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เขื่อนขนาดเล็กซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนสถานการณ์ที่เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำสูงสุด 737 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่เมื่อวาน (9 ส.ค.) เวลา 13.00 น.
โดยน้ำไหลผ่านสปิลเวย์ 95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมน้ำไหลออกจากเขื่อนแก่งกระจาน 190-210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนและสอบผ่าน
โดยน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานจะไหลมาถึงเขื่อนเพชรช่วง 14.00-15.00 น. วันนี้ โดยจะควบคุมปริมาณน้ำที่ออกจากเขื่อนเพชรให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
ล่าสุด สทนช. ได้ออกประกาศสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ฉบับที่ 3/2561 คาดการณ์ว่าปริมาณฝนบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม และยังคงมีน้ำจากต้นน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานในปริมาณที่ลดลง ทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ก็ยังคงมีระดับสูง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า