×

จีนกับการท้าชิงเจ้าเทคโนโลยีของโลก จนสหรัฐฯ มองเป็นภัยคุกคาม

27.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • สหรัฐฯ​ เริ่มต้นต้ังกำแพงภาษี 10% กับสินค้ามูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่นำเข้าจากจีน โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบจากข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป ประกอบกับระบุว่าจีนมักจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอๆ แน่นอนว่าจีนไม่ยอมอยู่เฉย และตั้งกำแพงภาษีใส่สหรัฐฯ เช่นกันจนนำไปสู่สงครามการค้าในครั้งนี้
  • ผู้สันทัดกรณีมองว่าสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ เริ่มเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนเป็นผลมาจากการที่จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วมากๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบีบให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้บริษัทจากจีนที่มาร่วม Joint Venture
  • เมื่อสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็ว สามารถสร้างชิปเซตที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำในด้านการผลิตมาก่อน สหรัฐฯ จึงกังวลว่าเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้อาจจะถูกจีนใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่น การสอดแนมข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในประเทศ
  • อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งจีนมองสงครามการค้าและกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งใส่พวกเขาเป็นเสมือนแรงกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้ประเทศและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคฯ ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมให้เร็วกว่าเดิมเพื่อเดินตามรอยโรดแมป Made in China 2025

หัวเว่ย (Huawei) แบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 14.6% ทำยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกทะลุ 200 ล้านเครื่องทั้งๆ ที่ยังไม่จบปีดี โดยมีเป้าหมายใหญ่สุดคือขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนโลกในอันดับ 1 ให้ได้ภายในปี 2019 แถมยังรับบทบาทสำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานสัญญาณ 5G ในหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กีปีต่อจากนี้

 

อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) อีคอมเมิร์ซที่ทรงพลังที่สุดเจ้าหนึ่งในตลาดโลก ณ​ เวลานี้ ฟันรายได้จากการขายสินค้าวันเทศกาลคนโสด (11/11) ที่ผ่านมาแค่วันเดียวเหนาะๆ 30,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท มากกว่ารายได้ทั้งปี 2017 ของอีเบย์ (eBay) ราว 3 เท่า แถมยังมีนวัตกรรมในบริษัทอีกมากมาย ไม่ว่าจะคลาวด์หรือฟินเทค ‘แอนท์ ไฟแนนเชียล’ (Ant Financial)

 

เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (Tencent Holdings Limited) เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบริษัทที่ทำกิจการมาแล้วกว่า 20 ปี ดำเนินธุรกิจในหลากหลายแขนง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล มีทั้งโซเชียลมีเดีย เกม ฟินเทค หรือบริการสตรีมมิงต่างๆ อยู่ในมือ

 

3 ยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างน่าจับตา ทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก จนอาจเปรียบเปรยเป็น ‘อาวุธสำคัญ’ ที่จีนจะใช้กรุยตลาดดูดเม็ดเงินจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในรายของหัวเว่ย

 

ยังไม่นับรวมบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลจากประเทศจีนที่มีอยู่มากมายและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจากผู้ใช้งานในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญกับยุทธศาสตร์ Made in China 2025 โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่ปี 2015 ที่มีเป้าหมายใหญ่ในการเป็นผู้นำโลกผ่านการใช้นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ไฮเทคเข้ามาขับเคลื่อน เร่งยกระดับภาคเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

 

 

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าจีนมีแต้มต่อเหนือชาติอื่นๆ ในทุกๆ ทาง ทั้งแรงงาน กำลังการผลิต ต้นทุนการผลิตที่มีราคาถูก วิทยาการที่ทันสมัย การเข้าเทกโอเวอร์บริษัทเทคฯ ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อใช้ทางลัดครอบครองเทคโนโลยี รวมไปถึงการมีหน่วยงานด้าน R&D ที่ล้ำหน้าด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด (ปีที่แล้วใช้งบประมาณในส่วนนี้กว่า 2.79 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 70.9% เมื่อเทียบกับปี 2012) สิ่งเหล่านี้คือข้อได้เปรียบที่จะทำให้จีนครองโลกได้ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย

 

ในมุมกลับกัน หลังเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เราได้เห็นทั้งสองประเทศตั้งกำแพงภาษีใส่กันไม่ยั้งในอัตราและข้อกำหนดที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า หากข้อพิพาทระหว่างทั้งคู่บานปลายไปมากกว่านี้ บริษัทเทคฯ จากจีนจะได้รับผลกระทบอย่างไร และจะเป็นไปได้ไหมที่ความขัดแย้งทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการที่สหรัฐฯ มองจีนเป็นเหมือน ‘ภัยคุกคามด้านเทคโนโลยี’ ของพวกเขา

 

 

สงครามการค้า ปมปัญหาที่ลุกลามใหญ่โต

“สงครามการค้าเป็นเรื่องที่โง่ที่สุดในโลก”

 

แม้คำกล่าวนี้ของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาจะเจ็บแสบ แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่หลายคนเห็นพ้องต้องกัน เนื่องจากหากมันเกิดขึ้นจริง ทุกประเทศทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าแน่นอน

 

ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศแผนขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากข้อปฏิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม และถือเป็นทางออกของปัญหาขาดดุลการค้า แต่สาเหตุนี้เองที่ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีจุดชนวนความบาดหมางกับต่างชาติ โดยหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือจีน

 

ในเวลาต่อมาทรัมป์ได้ตั้งกำแพงภาษี 10% กับสินค้ามูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่นำเข้าจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องจักร (มีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 25% หากหาข้อยุติไม่ได้) พร้อมให้เหตุผลว่าก็เพราะจีนนี่แหละที่ไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาก่อน แถมยังบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีจากการ Joint Venture ของบริษัทข้ามชาติจนทำให้สูญเสียโอกาสทางรายได้ไปอย่างมหาศาล

 

เมื่อถูกเล่นงานด้วยการตั้งกำแพงภาษี มีหรือที่จีนจะอยู่เฉย พญามังกรจึงเดินเกมตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 10% คืนเช่นกัน จนนำไปสู่สงครามการค้าที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมโอนอ่อนให้ใคร

 

นับจนถึงปัจจุบัน (ธันวาคม 2018) แม้เราจะยังคงไม่ได้ข้อสรุปจากสงครามการค้าที่เตรียมจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะทรัมป์และสีจิ้นผิงตกลงพร้อมใจพักรบชั่วคราว 90 วัน หลังพบกันในงานซัมมิต G20 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยในระหว่างนี้จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อสะสางหาทางออกทุกปัญหาที่เกิดขึ้น แต่คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือสิ่งที่ซุกอยู่ใต้พรมของ Trade War ครั้งนี้กันแน่

 

 

ใต้พรมสงครามการค้าคือ ‘ภัยคุกคาม’ และความต้องการแยกห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน

นอกจากปัญหาในเชิงการขาดดุลการค้า การกีดกันการค้าเสรี หรือทุนนิยมที่เป็นมุมมองของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว นักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีต่างสะท้อนความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเบื้องลึกเบื้องหลังความบาดหมางของทั้งคู่มีประเด็นที่ซ่อนอยู่พอสมควร

 

ต้องไม่ลืมว่าจีนถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่าพวกเขาใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องเชื้อเชิญให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ต้องมา Joint Venture ด้วย แถมยังบีบให้ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้พวกเขาอีก ที่สำคัญเมื่อเทคโนโลยีนั้นๆ ตกมาอยู่ในมือจีนแล้ว พวกเขากลับสามารถต่อยอดพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมไปได้ไกลกว่าเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็นผู้ริเริ่มเสียอีก

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความเห็นในประเด็นนี้ว่าสาเหตุที่ทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระอุขึ้นหลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็น ประการแรก สหรัฐฯ ไม่พอใจการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของจีน ส่วนประการถัดมาคือการสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกว่า ‘เทคโนโลยีจีนเริ่มเข้ามาท้าทายความมั่นคงในประเทศของตน’

 

“จีนพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว พวกเขายกระดับการพัฒนาได้เร็วมาก และมีหลายๆ เทคโนโลยีที่พัฒนาได้ทัดเทียมสหรัฐฯ แล้ว แต่ฝั่งสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนใช้วิธีการที่ไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้บริษัทจากสหรัฐฯ ต้องมา Joint Venture กับบริษัทของจีน และต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้พวกเขา

 

“นอกจากนี้แผน Made in China 2025 ของจีนยังมีสิ่งที่น่าสนใจ คือมันไม่ใช่แค่แผนการที่บอกว่าจีนจะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ แต่มันมีเงื่อนไขและเป้าหมายที่ชัดเจนเลยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องมีสัดส่วนที่มาจากบริษัทจีนเท่าไร แล้วเทคโนโลยีในลิสต์นโยบายฉบับดังกล่าวก็เป็นเทคโนโลยีอนาคตทั้งนั้น ฉะนั้นในมุมของสหรัฐฯ ก็จะรู้สึกว่าจีนที่พัฒนาเทคโนโลยีได้เร็ว ในอนาคตก็อาจจะเป็นผู้ถือครองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดได้”

 

 

หลักฐานสำคัญที่บอกว่าจีนไล่กวดสหรัฐฯ มาชนิดหายใจรดต้นคอคือตัวเลขจากการเปิดเผยของ UNIDO หน่วยงานศึกษาข้อมูลการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในกลุ่มสหประชาชาติ ที่พบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าในกลุ่ม Medium-High Tech ของสหรัฐฯ ในปี 2016 อยู่ที่สัดส่วน 63% ขณะที่เปรียบเทียบกับจีน พวกเขามีสัดส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่ 58% ถือว่าสูสีกันมากๆ

 

สำหรับยุทธศาสตร์ Made in China 2025 จีนตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องครองตลาดใน 10 ภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้ เช่น วางแผนผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้ได้ในสัดส่วน 70% ภายในปี 2025 หรือผลิต ‘ชิป’ สำหรับสมาร์ทโฟนให้ได้ 40%

 

อาร์มบอกต่อว่าเมื่อจีนตั้งตนจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งอนาคต จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในภายภาคหน้าจะเกิดขึ้นโดยไม่ผ่านจีน ที่สำคัญกระบวนการผลิตก็ยังจำเป็นจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จากบริษัทจีนอีก จุดนี้เองที่ทำให้นักวิชาการในสหรัฐฯ หลายคนกังวลว่าอาจจะเป็นภัยความมั่นคงของประเทศได้

 

“มันคือปัญหาการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ” เขาเล่าอีกว่า “เทคโนโลยีสมัยใหม่ค่อนข้างละเอียดอ่อน รายงานข่าวจาก Bloomberg เคยระบุว่าจีนฝังชิปขนาดเล็กมากๆ ใส่เข้าไปในอุปกรณ์ต่างๆ มันก็จะมีมิติด้านนี้รวมอยู่ด้วย หากมองย้อนกลับไปในสงครามการค้าเราจะมองได้หลายระดับ พื้นฐานคือสหรัฐฯ ต้องการต้านทานการผงาดขึ้นมาของจีน แต่ถ้ามองแบบเอ็กซ์ตรีมขึ้นไปอีกระดับ เป้าหมายระยะยาวก็คือสหรัฐฯ พยายามจะแยกห่วงโซ่การผลิตออกมาจากจีน เพราะจีนเปรียบเสมือนโรงงานโลก

 

“คำถามก็คือมันจะเป็นไปได้จริงหรือ เพราะจีนก็มีความพร้อมในแง่การผลิตมาก แถมห่วงโซ่การผลิตของพวกเขายังครบถ้วนสมบูรณ์ มีต้นทุนที่ถูก มีประสิทธิภาพมาก มันเลยมองได้ยากมากว่าจะเป็นไปได้จริงๆ (แยกห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน)”

 

 

ความเห็นของอาร์มในประเด็นนี้มองไม่ต่างจาก สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่บอกว่าความกังวลที่สหรัฐฯ มีต่อจีนคือการที่ชาติมหาอำนาจจากเอเชียรายนี้สามารถก้าวมาอยู่ในจุดเดียวกันกับที่พวกเขาเคยยืนมาก่อน สามารถพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีหลายๆ อย่างโดยใช้กระบวนการ Reverse Engineering (วิศวกรรมย้อนรอย) ซึ่งทำให้ได้นวัตกรรมที่แซงหน้าผู้คิดค้นได้ภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

 

“ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เป็นผู้นำในด้านการผลิตชิปเซตมาก่อน แต่จุดเปลี่ยนในช่วงหลังๆ มานี้คือจีนก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลผลิตชิปเซตเป็นของตัวเองได้ในระดับที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความน่ากลัวของพวกเขาในสายตาสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงกังวลใจว่าชิปเซตจากจีนอาจจะมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงนอกเหนือจากการทำงานในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ”

 

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานความมั่นคงของประเทศมักจะออกมาให้ข่าวห้ามไม่ให้ประชาชนใช้สินค้าจากหัวเว่ยหรือแซดทีอี (ZTE) อยู่เสมอๆ ทั้งยังชี้นำให้ประเทศกลุ่มพันธมิตรเลิกใช้อุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมจากหัวเว่ย เพราะมองว่าการที่ค่ายผู้พัฒนาสมาร์ทโฟนจากจีนรายนี้มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีนอาจจะเป็นช่องทางการใช้ประโยชน์เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เพื่อสอดแนมได้ (นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นออกมารับลูกทำตามคำแนะนำนี้ของสหรัฐฯ)

 

ต่อประเด็นนี้ หัวเว่ยได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าบริษัทของตนทราบถึงความตั้งใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามจะกีดกันการขยายตลาดของหัวเว่ย ทั้งๆ ที่ ณ ปัจจุบันแบรนด์หัวเว่ยได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านรายในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

 

เพราะหลายครั้งหลายคราวที่สหรัฐฯ กล่าวหาจีนหรือหัวเว่ยว่าสอดแนมหรือพยายามล้วงข้อมูลในประเทศของตนก็ดี พวกเขาไม่ได้มีหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวมากพอ ทำให้ประเด็นนี้ตกไป และบ่อยครั้งก็เป็นสหรัฐฯ เองด้วยซ้ำไปที่มักจะถูกกระแสโต้กลับจากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ที่ซัดว่าไม่ใช่เพราะตนหรอกหรือที่มักจะสอดแนมข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น กรณีของเฟซบุ๊กท่ีทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล

 

 

สืบศักดิ์มองว่าความกลัวที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ณ วันนี้ ในมุมมองฝั่งเทคโนโลยีคลับคล้ายกับนิยาม ‘กลัวผีตัวเองตามมาหลอกตัวเอง’ เพราะสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำด้านการผลิตชิปเซตมาก่อนย่อมรู้ดีว่านวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง จึงกลัวว่าสิ่งที่ตนอาจจะเคยทำกับประเทศอื่นไว้จะกลับมาตามหลอกหลอนพวกเขาเสียเอง

 

“เราไม่มีหลักฐานว่าบริษัทต่างๆ สอดแนมข้อมูลแต่ละประเทศจริงไหม ข่าวทำนองนี้ก็มีออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นปฏิบัติการสอดแนมเพื่อหาข้อมูล ก็ไม่มีข้อเท็จจริงมายืนยันความน่าเชื่อถือ และไม่มีฝ่ายไหนออกมายอมรับหรอก

 

“ส่วนการเสียเปรียบทางเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องการค้าและการเงินอีกต่อไป แต่มันจะรวมไปถึงความมั่นคง การปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรม โอกาสในการเพลี่ยงพล้ำด้านอื่นๆ ซึ่งมันจะมากกว่าแค่ตัวเงิน นี่คือสิ่งที่หลายๆ ประเทศกำลังกังวลกันอยู่”

 

 

พลิกสงครามการค้าเป็นสารกระตุ้นชั้นดี?

ในมุมมองแนวโน้มความน่าจะเกิดสงครามการค้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเราว่าหากสองสาเหตุการเกิด Trade War อย่างความไม่พอใจการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของจีนและความกังวลที่มีต่อเทคโนโลยีจีนยังไม่ถูกขจัดให้หมดไป ความขัดแย้งทางการค้าก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูงแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี เขามองว่าหากสงครามการค้าปะทุขึ้นมา จีนจะใช้อุปสรรคดังกล่าวถีบทะยานตัวเองให้ยกระดับนวัตกรรมต่างๆ ไปให้ไกลกว่าเดิม พร้อมลดระดับการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันก็คงกลับไปใช้โมเดลบีบให้บริษัทสหรัฐฯ มาร่วมทุนเพื่อถ่ายโอนเทคโนโลยีด้วยไม่ได้แล้ว

 

“ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ในจีนจะถูกมองเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาต้องเร่งยกระดับพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า ถ้าไปดูก็จะพบว่าบริษัทชั้นนำของจีนมีเป้าหมายในการผลิตชิปสำหรับใช้เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ เราจะเห็นว่ามีความพยายามเร่งลดระดับการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ทีนี้ก็คงต้องดูเป็นเรื่องๆ ไปว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน

 

“การพูดคุยในจีนทั้งรัฐบาลและภาคนโยบายจะมองการกดดันของสหรัฐฯ เป็นโอกาสยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ ผมมองว่ามันก็คงจะมีทั้งส่วนที่จีนสามารถเร่งยกระดับได้จริง และส่วนที่เขายังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีสหรัฐฯ อยู่ ฉะนั้นสุดท้ายก็คงจะเห็นว่าจีนยังคงประสบความสำเร็จในหลายๆ เรื่อง เพราะมีฐานเทคโนโลยีอยู่แล้วและสามารถต่อยอดได้เร็ว ขณะเดียวกันก็คงจะมีบางส่วนที่หากใช้วิธีการแบบเดิม พยายามบีบให้สหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ หรือไปซื้อบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติก็คงจะต้องสะดุดไป”

 

เหอจงหย่า หัวหน้าแผนกวิศวกร บริษัท Suzhou Osaitek Photoelectric Technology ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจอสัมผัสจากจีน เคยให้ความเห็นกับ CNN ไว้ว่าเมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้น วิกฤตดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้บริษัทจีนและรัฐบาลต้องเร่งยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศของตนมีการแข่งขันกันมากขึ้น รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้มากกว่าเดิม และยังบอกอีกด้วยว่า “วิกฤตจะจูงใจให้จีนพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าเก่า”

 

 

ขณะที่สืบศักดิ์มองว่าสงครามการค้าจะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนเจ็บหนักแน่นอน โดยเฉพาะในฝั่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนที่มีอันต้องถูกกีดกันการขยายตลาด ตัวอย่างเช่น บทบาทการเป็นผู้เล่นคนสำคัญในการจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่อาจถูกลดทอนบทบาทลง ส่วนสหรัฐฯ ก็อาจจะมีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น (ก่อนหน้านี้แจ็ค หม่า เคยประกาศชะลอแผนการจ้างงานพลเมืองสหรัฐฯ ล้านตำแหน่งไปแล้ว เนื่องจากสงครามการค้ายังไม่ได้ข้อยุติ)

 

มองให้ไกลกว่านั้น หากสงครามการค้าสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือลบ แล้วระยะยาวมันจะเขย่าหรือบิดรูปนโยบาย Made in China 2025 ให้ต่างจากเดิมได้หรือไม่

 

“ยังไงรัฐบาลจีนก็มองว่าการยกระดับเทคโนโลยีเป็นส่ิงที่พวกเขาต้องทำ ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ แต่มันอาจจะชะลอตัวลงและมีอุปสรรคมากขึ้น เพราะใช้วิธีที่รวดเร็วเหมือนสมัยเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทของสหรัฐฯ ไม่ได้อีกแล้ว” อาร์มให้ความเห็นต่อว่า “ถึงอย่างไรจีนก็คงไม่ล้มเลิก (แผนยกระดับเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรมไฮเทค) เนื่องจากหัวใจหลักของเขาคือต้องการยกระดับเทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของประเทศ ไม่อย่างนั้นก็ไปต่อลำบาก

 

“นอกจากนี้จีนยังต้องเปลี่ยนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจด้วย จากเดิมที่เคยเน้นการส่งออกก็ต้องมาเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น หรือจากเดิมที่เป็นลักษณะการส่งสินค้าราคาถูกออกไปต่างประเทศก็ต้องเปลี่ยนไปสู่การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเก่า”

 

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก The Telegraph ระบุว่าปี 2017 ที่ผ่านมา มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.9% ของ GDP ทั้งประเทศ ขณะที่บุคลากรที่ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลก็มีจำนวน 171 ล้านคน นับเป็นสัดส่วน 22% ของการจ้างงานในประเทศเลยทีเดียว

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีศักยภาพที่จะเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัลอีกมาก เหลือเพียงรอเวลาเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาวิ่งเข้าสู่เป้าหมาย Made in China 2025 ได้จริง

 

 

กรณีศึกษา เมิ่งหว่านโจว ‘ไพ่เด็ด’ ที่สหรัฐฯ หวังใช้ต่อรองกับจีน

ย้อนกลับไปในวันที่ 1 ธันวาคม ข่าวร้อนที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนมากที่สุด แถมยังเกี่ยวข้องกับสงครามการค้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหนีไม่พ้นกรณีการจับกุมตัว ‘เมิ่งหว่านโจว’ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน รองประธาน และบุตรสาวของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย วัย 46 ปี ในประเทศแคนาดา

 

เหตุผลในการจับกุมตัวครั้งนั้น สหรัฐฯ อ้างว่าเธอมีส่วนรู้เห็นกับการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ มีต่ออิหร่านด้วยการแอบจำหน่ายสินค้าให้พวกเขาอย่างลับๆ เมื่อปี 2013 แม้ว่าล่าสุดศาลจะตัดสินให้เธอได้รับการประกันตัวแล้ว แต่คำถามสำคัญก็คือเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้ว 5 ปี การที่เธอเพิ่งจะมาถูกจับในช่วงที่สหรัฐ​ฯ และจีนเริ่มไม่ลงรอยกันดูจะไม่เป็นเรื่องบังเอิญไปหน่อยหรือ

 

 

ในประเด็นน้ีสืบศักดิ์เชื่อว่าการจับกุมตัวบุคคลสำคัญในภาคธุรกิจจีนเช่นนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพบเห็นได้บ่อยสักเท่าไร ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ว่าเธออาจจะเป็นไพ่เด็ดที่สหรัฐฯ หวังใช้เพื่อต่อรองอะไรบางอย่างกับประเทศจีน

 

“สิ่งที่เขาแจ้งต่อสากลอาจจะเป็นประเด็นละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่สิ่งที่เขายื้อแย่งกันหลังฉาก ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเกมการต่อรองอะไรบางอย่าง ทั้งเรื่องการค้าหรือเรื่องที่ผู้นำทั้งสองประเทศรู้เห็นกันเป็นอย่างดี

 

“จุดสังเกตคือคดีนี้ค่อนข้างเงียบมาก รายละเอียดของเหตุการณ์เชิงลึกแทบจะไม่มีเลย ทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนอาจจะต่อรองกันอย่างลับๆ ประเด็นนี้ทุกคนก็คาดหมายไปในทางเดียวกันทั้งนั้น สำนักข่าวทั่วโลกหรือคนที่ตามข่าวก็พอจะเดาได้ว่าการจับบุคคลสำคัญระดับนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญและธรรมดาแน่นอน ก็ภาวนาให้เขาหาข้อยุติกันได้ เพราะในความเป็นจริงมันไม่ควรจะใช้วิธีนี้”

 

ด้านอาร์มมองไม่ต่างกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ เพราะหากว่ากันตามตรง หัวเว่ยในตอนนี้ก็เปรียบเสมือน ‘สัญลักษณ์เทคโนโลยีของประเทศจีน’

 

“สหรัฐฯ คงใช้จุดนี้มาเล่นเกมกดดันหรือต่อรองกับจีน ค่อนข้างชัดเจนเลยว่าพวกเขาต้องการขัดขาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ผมมองว่ามันเป็นทั้งการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์และการเพิ่มแต้มต่อรองกับจีนขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนทำธุรกิจไม่ชอบมาพากลด้วยการไปค้าขายกับอิหร่าน ซี่งละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของตน”

 

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วบทสรุปของคดีเมิ่งหว่านโจวจะออกมาในทิศทางใด ปฏิเสธไม่ได้แน่นอนว่าสงครามการค้า (ที่ยังไม่เกิดขึ้นดีด้วยซ้ำ) มีส่วนในการโหมเชื้อเพลิงให้หลายปัญหาที่เคยมีอยู่ก่อนแล้วลุกลามบานปลายหนักขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกันกับการที่พญามังกรเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวหน้ากว่าเจ้าตลาดเดิมย่อมทำให้ผู้มาก่อนร้อนใจเป็นธรรมดา

 

คงต้องจับตาดูให้ดีๆ ว่าสัญญาณเตือนสงครามการค้าโดยสองยักษ์ใหญ่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ ในปีหน้าจะชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนประเทศไทยเราจะได้รับผลกระทบในด้านใดบ้าง

 

เพราะขึ้นชื่อว่า ‘สงคราม’ ไม่มีฝ่ายใดที่ไม่สูญเสีย…

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising