วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) แถลงข่าวการประเมินสถานการณ์แนวชายแดน หลังรัฐบาลไทยมีมาตรการกดดันเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมตามแนวชายแดนว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางตำรวจไซเบอร์ได้รับการประสานจากผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ในการรับตัวชาวต่างชาติหลายสัญชาติที่ถูกผลักดันมาทางอำเภอพบพระ จังหวัดตาก จำนวน 260 คน
ซึ่งทั้งหมดได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่าทำงานอยู่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และส่วนมากให้การว่าสมัครใจไปด้วยตนเองทั้ง 260 คน เป็นชาวต่างชาติทั้งหมดไม่มีคนไทย ส่วนมากเป็นคนสัญชาติเอธิโอเปีย เคนยา และจีน จากการซักถามมี 1 คนเท่านั้นให้การว่าถูกหลอกไปเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF เข้าควบคุมอาคารแห่งหนึ่งในโครงการย่าไถ่ เมืองชเวโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี สามารถช่วยเหลือคนที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ประมาณ 2,000 คน และอยู่ระหว่างเตรียมส่งกลับมาทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะทำการสืบสวนสอบสวนข้อมูลของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริษัทใด มีการหลอกลวงประชาชนในประเทศใด มีผู้เสียหายเป็นชาวไทยหรือไม่ และจะพิจารณาข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องในการหลอกลวง
หลังรับตัวมาแล้ว ตำรวจไซเบอร์จะตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตัวมา และสอบถามประเด็นการทำงานที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน แต่จากข้อมูลเบื้องต้นส่วนมากผู้ที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมามุ่งหลอกลวงประชาชนของประเทศอื่นเป็นหลัก เช่น จีนและอินเดีย แต่หากพบว่ามีการหลอกลวงคนไทย ตำรวจไทยจะมีการดำเนินคดีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นก็จะส่งข้อมูลให้ประเทศที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหาเหยื่อต่อไป
“ตอนนี้ตำรวจไซเบอร์ยังมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือการลักลอบข้ามแดนไปทำงานในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมกันกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเฝ้าระวังการย้ายฐานปฏิบัติการไปพื้นที่อื่นตามแนวตะเข็บชายแดน ตอนนี้มีข่าวว่าจะมีการย้ายฐานปฏิบัติการจากตะวันตกไปที่ทางตะวันออก” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า การปราบปรามในห้วงระยะนี้ ส่งผลกระทบด้านดีในหลายเรื่อง และยังลดสถิติการแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ จากเดิมปีที่แล้วมีการแจ้งความอยู่ที่ 1,200 คดีต่อวัน ในเดือนมกราคม 2568 ลดลงเหลือ 1,100 คดีต่อวัน ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี