วันนี้ (17 ธันวาคม) ที่อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนจเรตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมแถลงความคืบหน้าการรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์เพื่อเฉลี่ยทรัพย์มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท คืนให้ผู้เสียหาย 1,500 คน ในคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือ Hybrid Scam (คดีเซาเซียน)
สืบเนื่องมาจากช่วงเดือนกันยายน 2565 มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพที่ติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยพูดคุยสร้างความสนิทสนม หลังจากนั้นชักชวนให้โอนเงินเพื่อลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน Streaming จนสูญเงินไปหลายล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ายอดเงินถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารของ สฤษฎ์ กับพวกอีกหลายราย แล้วถูกโอนต่อเป็นทอดไปยังผู้รับประโยชน์ชาวจีนและบริษัทแห่งหนึ่งของจีน
ต่อมาเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ทำการสอบสวนขยายผลจนพบว่าคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมากประมาณ 1,351 ราย รูปแบบคดีเป็นลักษณะขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ความเสียหายในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 2,201 ล้านบาท
บช.สอท. จึงได้ดำเนินคดีอาญาที่ 80/2566 สฤษฎ์ กับพวก ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน พร้อมสืบสวนเส้นทางการเงินจนได้พยานหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าว และต่อมาคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ปปง. มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทำความผิดชั่วคราว
ประกอบด้วยโฉนดที่ดิน คอนโดหรู และเงินฝากในบัญชีธนาคาร รวมทั้งโครงการคฤหาสน์หรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาบนที่ดินประมาณ 30 ไร่ ติดถนนสนามบินน้ำ ที่คาดว่ามีราคาเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท จนถึง 700 ล้านบาทต่อหลัง รวมยึดและอายัดทรัพย์สิน 52 รายการ มูลค่า 2,561,188,503.70 บาท
โดยสำนักงาน ปปง. มีประกาศให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว โดยกำหนดให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากคดีนี้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ภายใน 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2567
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า แผนประทุษกรรมดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับคดีความที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยมิจฉาชีพจะเลือกผู้เสียหายเพื่อทำการหลอกลวง มีทั้งการหลอกให้รัก หลอกให้ซื้อสินค้า และหลอกให้ลงทุน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้กับผู้คนร้าย เครือข่ายดังกล่าวจะมีการกระจายทันทีในรูปแบบต่างๆ ทั้งนำไปลงทุนซื้อทรัพย์สิน แปลงสกุลเงินเป็นดิจิทัลให้ยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในกรณีนี้เช่นกันเมื่อทำสำเร็จแล้วกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นชาวไทยจะนำไปซื้อทรัพย์สินและนำเงินส่วนหนึ่งส่งต่อให้บริษัทจีนกลุ่มชาวจีน
หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะติดตามต่อว่าในเครือข่ายดังกล่าวยังมีผู้ต้องหาและทรัพย์สินส่วนไหนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ อีกทั้งประสานไปยังประเทศของกลุ่มผู้ต้องหาต่างชาติเพื่อพิจารณาในเรื่องของการออกหมายจับ หากเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกันก็จะมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการตรวจสอบบริษัทที่เปิดโดยคนไทยว่าเข้าข่ายลักษณะเป็นนอมินีให้กับกลุ่มทุนจีนด้วยหรือไม่
ในส่วนของการเฉลี่ยคืนทรัพย์สิน เทพสุกล่าวว่า ในคดีดังกล่าว ผู้เสียหายแต่ละคนสูญเสียทรัพย์สินไม่เท่ากัน การจะเฉลี่ยคืนได้ต้องผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลความเสียหาย รวมถึงพิจารณาจำนวนผู้เสียหายจากคดีความทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องผ่านกระบวนการของศาลแพ่งที่จะต้องพิจารณาคดีความผิด
สำหรับทรัพย์สินในคดีนี้ที่ส่วนมากเป็นอสังหาริมทรัพย์และของแบรนด์เนมก็จะต้องผ่านการขายทอดทรัพย์สินของกลางสู่ท้องตลาดก่อนจึงจะนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายได้ ซึ่งในทางทฤษฎีที่ยอดผู้เสียหายและจำนวนความเสียหายน้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่ได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถคืนทรัพย์สินจากการกระทำความผิดได้ครบ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงเชิงทฤษฎีเท่านั้น ส่วนระยะเวลาต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการของศาลด้วยเช่นกัน