ขบวนหุ่นสะท้อนสังคม (จุฬาฯ) และขบวนหุ่นล้อการเมือง (มธ.) ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาอย่างใกล้ชิด
ไฮไลต์ของหุ่นล้อสังคม-การเมือง คือหุ่นรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 2 สถาบันร่วมกันทำขึ้น
สีสันที่ซ่อนอยู่คือรอยแยกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อถูกฉีกออกก็พบชายคนหนึ่งปรากฏแทนที่
หุ่นตัวนี้ถูกเคลื่อนเหยียบอยู่บนป้ายผ้าสีแดง พร้อมข้อความ
นายกคนนอก
ม.272
ส.ว.ลากตั้ง
บทเฉพาะกาล ม.269
ศาลเล่นการเมือง
ม.144
พรรคทหาร
ยุทธศาสตร์ 20 ปี
มาตรา 65
เรียกเสียงปรบมือให้กับนิสิต-นักศึกษา และศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบันดังลั่นสนั่นสนาม
ขณะที่ขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนจับตาไปที่หุ่นยักษ์นนทก ซึ่งที่ข้อมือถูกพันผ้าไว้ แต่เมื่อถอดผ้าออกมาก็ปรากฏข้อความว่า ‘คืนเพื่อนแล้ว’
นอกจากนี้ ในฝั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมี หุ่นตาชั่ง เอียงไปทางด้านหนึ่ง ให้กับคนที่ชื่อ นายข้า-นามสกุล ราชการ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นตึกโรงพยาบาล กลับต้องเป็นภาระของชายผมยาวชุดดำคนหนึ่งแบกรับ
หุ่นรถไฟที่ล้อเลียนการใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และหุ่นม้วนแผ่นดิน สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทรัพยากรถูกรวบไปโดยนายทุน
ต้องยอมรับว่าแทบทุกสายตาจับจ้องไปที่ขบวนหุ่นล้อการเมืองของฝั่งธรรมศาสตร์ แต่ปรากฏว่าปีนี้ฝั่งจุฬาฯ ไม่น้อยหน้า มีหุ่นล้อผู้มีอำนาจให้ได้แสบๆ คันๆ กันไม่น้อย
หุ่นชายร่างใหญ่สวมเสื้อฮาวาย สวมแหวน และนาฬิกามากกว่า 1 เรือน นั่งอยู่บนฐานที่มีภาพรถถังและเรือดำน้ำ สะท้อนการล้อเลียนผู้มีอำนาจได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อว่าเป็นใคร
และนี่คือไฮไลต์ของขบวนล้อสังคมการเมืองในปีนี้ ที่ไม่มีการตรวจยึดป้ายผ้า หรือ ห้ามหุ่นตัวใดเข้าสู่สนามเหมือนหลายปีที่ผ่านมา