สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หั่นประมาณการ GDP ทั้งปี 2566 เหลือโต 3.5% จาก 3.6% หากไม่มีการชุมนุมรุนแรง เตือนหากงบปี 2567 ล่าช้า 9 เดือน อาจกระทบเศรษฐกิจ 0.07%
วันนี้ (26 กรกฎาคม) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทย ประจำเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0% ถึง 4.0%) ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ 2.6% ต่อปี เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 164.2% ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 243.8% จากปี 2565
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.5% ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวที่ -0.8%
เปิดเหตุผลคลังหั่นประมาณการณ์ GDP ปี 2566
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ 3.5% ยังต่ำกว่าประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่ 3.6% โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอธิบายว่า การปรับประมาณการดังกล่าวลงเป็นผลมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น่าจะต่ำกว่าที่การคาดการณ์ไว้ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเข้าประเทศได้ตามเป้าทั้งปีนี้ที่ 29.5 ล้านคน แต่เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยเปลี่ยนไปจากเดิม โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ชาวจีนลดลง เป็นต้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ โดย สศค. ได้ปรับลดคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 1.25 ล้านล้านบาท จาก 1.33 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวตามการฟื้นตัวที่อ่อนแรงของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมทั้ง GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาขยายตัว 2.7% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
พรชัยยังระบุอีกว่า สมมติฐานที่ 3.5% นี้ยังไม่รวมกรณีหากเกิดการชุมนุมทางการเมืองรุนแรง
สศค. เตือนหากงบปี 2567 ล่าช้า 9 เดือน อาจกระทบเศรษฐกิจ 0.07%
สำหรับประเด็นเรื่องความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าจะกระทบการลงทุนภาครัฐในปี 2566 ที่น่าจะขยายตัวที่ 2.2% เท่านั้น ชะลอตัวจากคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ 2.6%
นอกจากนี้ พรชัยยังยืนยันว่า สศค. สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังมองว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ไม่น่าล่าช้าเกิน 6 เดือน หรือ 6 เดือนยังเป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด (Worst Case Scenario) อยู่
อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.งบประมาณ ล่าช้าถึง 9 เดือน (3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ) อาจกระทบกับ GDP ปี 2567 ที่ 0.07% ในกรณีฐาน (Baseline Scenario)
นอกจากนี้ หากหลังจากวันที่ 1 ตุลาคมไปแล้ว สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน หรือมีความเป็นไปได้ว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ ล่าช้านานกว่า 6 เดือน สศค. อาจมีการหารือกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์เพิ่มเติม
พรชัยยังชี้แจงอีกว่า ตามกรอบงบประมาณปี 2567 จะยังไม่มีงบลงทุนโครงการใหม่ของภาครัฐ แต่จะยังมีกรอบงบลงทุนผูกพันที่สามารถเบิกจ่ายได้ราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบปี 2566 ที่ขณะนี้ยอดลงทุนผูกพัน 9 เดือนอยู่ที่กว่า 1.3 แสนล้านบาท สะท้อนว่าการล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 อาจไม่ส่งผลกระทบมากนักในส่วนของงบลงทุนผูกพันจากรัฐ