×

เตือนประชาชนเดินเท้าเปล่าตามพื้นดิน-ชายหาด ระวังโรคตัวอ่อนพยาธิไชตามผิวหนัง

05.02.2018
  • LOADING...

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังตัวอ่อนพยาธิไชตามผิวหนัง เผยเป็นตัวอ่อนพยาธิปากขอของสุนัขและแมวอาศัยในดิน ตัวอ่อนพยาธินี้จะไชเข้าไปในเท้าคนที่เดินเท้าเปล่า แล้วชอนไชเคลื่อนที่ไปตามผิวหนังกำพร้าเท่านั้นโดยไม่ไชเข้าเส้นเลือด ลักษณะจะเกิดเป็นรอยนูนแดงเป็นทางเดินของตัวอ่อนพยาธิ  แนะให้หลีกเลี่ยงพื้นดินที่ชื้นแฉะ ไม่ควรเดินเท้าเปล่าตามพื้นดินและพื้นทรายตามชายหาด และให้ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิ

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลเกี่ยวกับตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนังนั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนพยาธิปากขอของสัตว์ เช่น สุนัข, แมว, แพะ, แกะ, ม้า, สุกร, โค หรือพยาธิเส้นด้ายของสัตว์ โดยตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอ จะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น หรือชั้นหนังกำพร้า เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน แต่เนื่องจากคนไม่ใช่พาหะที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้

 

ดังนั้น ตัวอ่อนพยาธิจึงไปตามผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเพื่อหาทางออกจากร่างกายคน ตัวอ่อนพยาธิจะตายเองใน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าตัวอ่อนพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกัน โรคนี้พบมากในภูมิภาคร้อนชื้นและอบอุ่น เช่น ประเทศแถบอเมริกาตอนใต้ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ บราซิล แถบชายหาดทะเลแคริบเบียน แถบอากาศกึ่งร้อนชื้นอบอุ่นทั่วโลก ประเทศแอฟริกาตอนใต้ เอเชียตอนใต้ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ประเทศอินโดนีเซีย บอร์เนียว มาเลเซีย

 

การติดต่อ คนจะติดโรคโดยบังเอิญจากการที่ตัวอ่อนพยาธิที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินชื้นแฉะแล้วไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่า หรืออาจจะติดตามตัวทาก หรือเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทรายตามชายหาด และสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบางๆ ของเด็กได้  

 

สำหรับการเกิดโรคนั้น ตัวอ่อนพยาธิจะหลั่งเอนไซม์เพื่อไชผ่านผิวหนังปกติ ผิวหนังที่เป็นแผล หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ และอีก 2-3 วันจะเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะอักเสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่ จากนั้นผู้ป่วยจะเกิดผื่น โดยตอนแรกเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง เมื่อตัวอ่อนพยาธิไชเข้าไปจะเห็นรอยแผล เป็นผื่นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร คดเคี้ยวไปมา ซึ่งผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 เซนติเมตร ตัวอ่อนของพยาธิจะเคลื่อนที่วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร

 

ผื่นมักพบบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือ มือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้นได้ อาการร่วมที่สำคัญคือมีอาการคันมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

 

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคดังกล่าว โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นดินที่ชื้นแฉะ ไม่ควรเดินเท้าเปล่าตามพื้นดินหรือพื้นทราย เช่น ตามชายหาด ให้สวมรองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินบนพื้นดินและรีบล้างเท้าทำความสะอาดทุกครั้งหลังเดินชายหาด สวมถุงมือทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนพยาธิไชเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงให้ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิ

 

ที่สำคัญขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสุขอนามัยของตนเอง ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และก่อนออกจากห้องน้ำ นอกจากนี้ขอให้เจ้าของสุนัขและแมวนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจรักษาโรคหนอนพยาธิในสัตว์ที่สามารถแพร่โรคสู่คนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ตัวอ่อนพยาธิจากสัตว์ลงในพื้นดิน

 

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0 2590 3180 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X