กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า จากรายงานการตรวจสอบเรื่องการบิดเบือนค่าเงินล่าสุดไม่พบว่าประเทศใดมีการบืดเบือนค่าเงิน แต่จีน เวียดนาม และไต้หวัน เข้าเกณฑ์ล้มเหลวในการทำตามข้อตกลงประชาคมโลกด้านการงดใช้ค่าเงินในประเทศตนในการสร้างความได้เปรียบทางการค้า ขณะเดียวกันได้ขึ้นบัญชี 12 ประเทศที่ต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมถึงประเทศไทย
วานนี้ (3 ธันวาคม) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน โดยไม่มีประเทศใดที่ถูกสหรัฐฯ ระบุว่าจงใจบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อรักษาดุลการชำระเงินในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2021
รายงานระบุว่า เวียดนามและไต้หวันได้ละเมิดเกณฑ์ 3 ข้อของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ, ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลาง แต่ทั้ง 2 ประเทศก็ไม่ถูกระบุว่าเป็นประเทศที่จงใจปั่นค่าเงินแต่อย่างใด ขณะที่สหรัฐฯ จะยังคงดำเนินการร่วมกับประเทศดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหา
รายงานระบุว่า จีนมีลักษณะบ่งชี้หลายประการที่บ่งชี้ถึงการขัดขวางไม่ให้คู่ค้าได้รับความรู้อย่างเต็มที่เกี่ยวกับวิธีการจัดการสกุลเงินของตน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะติดตามกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านสกุลเงินของจีน
นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งถูกระบุว่าเป็นประเทศที่จงใจปั่นค่าเงินในปี 2020 ได้ถูกขึ้นบัญชีอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก และไทย
“กระทรวงการคลังกำลังทำงานอย่างไม่ลดละเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของโลกที่แข็งแกร่งและสมดุลมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนงานชาวอเมริกัน รวมถึงจะทำงานร่วมอย่างใกล้ชิดกับประเทศเศรษฐกิจหลักในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน” เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวผ่านแถลงการณ์
ทั้งนี้ การถูกจัดประเภทให้เป็นผู้แทรกเแซงค่าเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ นั้นไม่มีบทลงโทษใดๆ ในทันที แต่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องเจรจากับนานาประเทศเพื่อพยายามแก้ไขแนวทางปฏิบัติด้านสกุลเงิน และหากการเจรจาล้มเหลว ฝ่ายบริหารสามารถกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าได้
อ้างอิง: