×

ทำความรู้จัก THE STANDARD Podcast เพื่อนคนใหม่ที่จะช่วยเปิดโลกด้วยการฟัง!

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • การฟังพอดแคสต์เปรียบได้กับการเลือกอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน
  • มันเปิดหูเปิดตาเรามากๆ เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนเลย แล้วมันจะว้าว! เพราะเขาเล่าให้เราฟังจากปาก จนได้คอนเซปต์ว่า Eye-Opening ซึ่งกลายมาเป็นสโกแลนว่า ‘Eye-Opening For Your Ears-เปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดโลก’
  • พอดแคสต์มีข้อดีตรงที่เราให้เวลาเขาได้เต็มที่ ไม่ได้จำกัดแค่ 15 หรือ 30 นาทีแบบรายการโทรทัศน์หรือฟอร์แมตต์อื่นๆ พอมีเวลาเต็มที่ เขาก็มีเวลาได้เล่า เราอยากรู้อะไรก็ถามเข้าไป ซึ่งมันสนุกทุกตอนจริงๆ

     เปิดตัว THE STANDARD Podcast อย่างเป็นทางการวันแรก ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วเราควรไปทำความรู้จักกับทีมงานที่ตั้งใจในการสร้างสรรค์สื่อใหม่ โดยในวันนี้ บิ๊ก-ภูมิชาย บุญสินสุข ผู้อำนวยการพอดแคสต์ THE STANDARD จะมาเล่าเรื่องราวให้เราฟังด้วยเสียงของเขาเอง

 

อาจจะเป็นคำถามที่โดนถามบ่อยมากถึงมากที่สุดในช่วงนี้ แต่อยากให้เล่าให้ฟังกับหูอีกสักทีว่าทำไมเราต้องฟัง ‘พอดแคสต์’

 

 

     จริงๆ พอดแคสต์เมืองนอกมีมานานแล้ว เจ้าใหญ่ๆ ก็เป็นสถานีวิทยุมาก่อน อย่าง NPR หรือ WNYC ซึ่งพอดแคสต์จำนวนมากของเขาก็เป็นรายการที่อยู่บนวิทยุอยู่แล้ว และมีการทำรายการเพื่อเป็นพอดแคสต์แยกออกไปอีก อย่าง How I Built This ของ NPR ที่เราชอบฟังมาก หรือรายการ Freakonomics ของ WNYC ที่ฟังไปกราบไป

 

     คือก่อนหน้านี้ Freakonomics เริ่มจากการเป็นหนังสือ มีแปลเป็นภาษาไทยด้วย และมันเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่ประเด็นดีมากๆ แต่ยากเกินไปสำหรับเรา ทีนี้พอเขาเอามาทำเป็นพอดแคสต์ มันกลายเป็นเมสเสจที่ย่อยมาให้แล้ว เหมือนมนุษย์คุยกับมนุษย์น่ะ เราได้ฟังคนที่เขารู้เรื่องจริงๆ มาเล่าให้ฟัง ซึ่งรายการนี้เป็นรายการแรกๆ ที่ฟังแล้วรู้สึกว่าเจ๋ง นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดในแง่ว่าพอดแคสต์ทำหน้าที่ของมันอย่างไร

 

 

     คนดังหลายคนก็มาจัดพอดแคสต์กัน อย่าง อเล็ก บอลด์วิน (Alec Baldwin) นี่ดังมากเลยนะ รายการเขาชื่อ Here’s The Thing หรือพอดแคสต์ของ แอนนา ฟาริส ชื่อ Anna Faris is Unqualified ด้วยความที่เขาบิ๊กเนมมาก ทำให้ได้เกสต์หลายคนที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมา ซึ่งรายการจากสถานีวิทยุกับที่คนดังมาจัดจะแตกต่างกันที่รูปแบบหรือกระบวนการ อย่างคนที่ทำสถานีวิทยุเขาจะรู้ว่ารูปแบบรายการต้องมีจิงเกิล มีเสียงเอฟเฟกต์ฟิ้วฟ้าว มีสปอตคั่นรายการ แต่รายการคนดัง เขาแค่เอาไมโครโฟนคุณภาพดีไปตั้ง แล้วเชิญเพื่อนๆ เอลิสต์หรือเซเลบริตี้ฮอลลีวูดมาคุยกันไป แต่ก็ได้ความสนุกสนาน แล้วรู้สึกสบายๆ กว่ารายการจากฝั่งวิทยุที่มีฟอร์แมตมากกว่า

 

 

     หรือสำนักพิมพ์ในต่างประเทศเขาก็จะมีรายการพอดแคสต์เหมือนกัน อย่างสำนักพิมพ์เพนกวิน เขาจะเอาบรรณาธิการมาคุยกับนักเขียนดังๆ คุยกันอย่างลงลึกเรื่องหนังสือ คนอ่านหนังสือคงฟิน เพราะเขาพูดกันในภาษาที่นักอ่านจะฟินมาก มันเหมือนว่าพอดแคสต์เกิดมาเพื่อรับใช้เนื้อหาและกลุ่มคนบางกลุ่มมากๆ

     อีกอย่างความ evergreen ของพอดแคสต์เนี่ยเหมือนกับพ็อกเก็ตบุ๊กเลย มันไทม์เลส มีหลายครั้งมากที่เราไปเจอพอดแคสต์บางเรื่องระหว่างหาข้อมูล บางทีเป็นพอดแคสต์ที่ผ่านมา 2-3 ปีแล้ว แต่ข้อมูลยังใช้การได้อยู่ ซึ่งพอดแคสต์มีข้อดีตรงนี้ มันรอเราอยู่เสมอ จะฟังเมื่อไรก็แล้วแต่เรา การฟังพอดแคสต์เลยเปรียบได้กับการเลือกอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน

 

จากแวดวงพอดแคสต์ต่างประเทศกลับมาที่ไทยเราบ้าง อยากรู้ว่าความคึกคักของวงการพอดแคสต์บ้านเราเป็นอย่างไร มีรายการไหนที่ควรไปลองฟัง

     พอดแคสต์ไทยยังมีน้อย ที่อยากแนะนำก็อย่างเช่น Omnivore, WitCast, Get Talks ที่ฟังแล้วรู้เลยว่าพวกเขาก็น่าจะเป็นคนที่ฟังพอดแคสต์จริงๆ เขาคงเหมือนเรา คือฟังของต่างประเทศแล้วอยากให้มีรายการดีๆ ของไทยบ้าง

 

 

Omnivore เป็นรายการของพี่หนุ่ม โตมร กับ แชมป์ ทีปกร  (โตมร ศุขปรีชา และ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) เรารู้สึกว่าเขาตั้งใจ ฟังแล้วปลาบปลื้มนะ เพราะทุกครั้งเขาจะไม่มีการคุยอะไรก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่เขาทำการบ้าน สมมติว่ารายการตอนหนึ่งมี 4 เบรก เขารู้ว่าแต่ละเบรกจะพูดเรื่องอะไร แล้วประเด็นที่พูดก็ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้ เหมาะมากกับการเป็นรายการของพี่หนุ่มกับแชมป์ เพราะเขาเป็นนักคิดนักเขียนและนำเสนอเรื่องเหล่านี้จริงๆ เห็นความตั้งใจแล้วเราก็อยากให้มีพอดแคสต์แบบนี้เยอะๆ

 

 

Get Talks เป็นแชนแนลในอีกวิธีคิดหนึ่งเลย ทีแรก Get Talks จะมีรายการเดียวตามชื่อเลย ซึ่งเป็นรายการของแซมกับยู (พลสัน นกน่วม และ กตัญญู สว่างศรี) คือการเอาไมโครโฟนมาตั้งแล้วก็พูดยาวๆ เลยครับ กันเองมาก บางรายการในแชนแนลนี้ 2 ชั่วโมงก็มี 4 ชั่วโมงก็มี แล้วเขาสนุกกับการทำมันจริงๆ ด้วยความที่เป็นคนทำคอนเทนต์อยู่แล้ว เขาจะรู้วิธีการคิดคอนเทนต์ ครีเอทีฟรายการ แล้วก็มีรายการอื่นๆ ตามมาอย่าง เสาเสาเสา ว่าด้วยเรื่องสถาปัตย์ รายการ ยูธูป พอดแคสต์เรื่องผีทุกวันพุธ ซึ่งเป็นรายการที่คนชอบเยอะมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นรายการยาวมาก แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะพอดแคสต์จะหาคนฟังของมันเจอเสมอ ซึ่งเขาทำได้ดีมาก และประสบความสำเร็จมากๆ

 

     

Wit Cast รายการที่มาก่อนกาลมากๆ น่าจะเป็นพอดแคสต์เจ้าแรกๆ ของไทย  ดำเนินรายการโดย แทนไท ประเสริฐกุล, อาบัน สามัญชน, ป๋องแป๋ง Mister Tompkin มันชัดเจนมากว่าถ้าชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ต้องฟังรายการนี้ เรื่องนี้เป็นจุดเด่นของพอดแคสต์ เพราะมันเป็นรายการที่พูดเรื่องที่เราชอบ แล้วขอให้ได้เจอกับกลุ่มคนฟังที่ชอบเรื่องที่เราพูดเหมือนกัน เท่านี้จบ มันค่อนข้าง niche market แต่ก็เป็นเฉพาะกลุ่มที่ลงลึก ชอบในเรื่องแบบเดียวกัน แล้วจะอยู่ด้วยกันไปยาวๆ

 

 

     ใหม่มาแรงอีกเจ้าคือ FounderCast ครับ โฮสต์สองคนคือคุณเก่งและคุณแบงค์เขาจะไปพูดคุยกับผู้ประกอบการยุคใหม่ของไทย เข้าไปดูเว็บเขาแล้วก็ โห นี่คือพอดแคสต์ในมาตรฐานคุณภาพที่เราอยากให้มีเยอะๆ อยากฟังรายการที่ใส่ใจในการผลิตแบบนี้อีกเยอะๆ และฟังแล้วได้ความรู้มากเลยนะ สนุกด้วย

 

กลับมาที่พอดแคสต์ของ THE STANDARD ต่อไปนี้เราจะได้ฟังอะไรกันบ้าง

     พอดแคสต์ของเราคอนเซปต์มาทีหลัง หลังจากที่ได้อัดรายการไปบ้างแล้ว พอเรามาไล่ฟัง สิ่งหนึ่งที่รู้สึกเลยคือมันเปิดหูเปิดตามากๆ เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนเลย แล้วมันจะว้าว! เพราะเขาเล่าให้ฟังจากปาก จนเราได้คอนเซปต์ว่า Eye-Opening ซึ่งกลายมาเป็นสโกแลนว่า ‘Eye-Opening For Your Ears’ แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘เปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดโลก’ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนฟังพอดแคสต์จะรู้สึกเมื่อได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน จะมีอารมณ์ “โห จริงเหรอนี่ เพิ่งรู้” เต็มไปหมด

 

 

กระทั่งคนที่ทำรายการเองก็คิดแบบนี้ แปลว่ามันตื่นเต้นกว่าที่คิดเอาไว้มากทีเดียว

     เกสต์แต่ละคนที่มาคุยกับเรา เขาจะมีโลกของเขา และมีความเฉพาะทางของเขาสูงมากๆ อย่างเช่นรายการ The Secret Sauce ที่เราคิดมาจากแค่ว่า เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (ผู้ดำเนินรายการ) เคยเขียนหนังสือ จุลินทรีย์แห่งความสำเร็จ เรารู้สึกว่าเคนทำได้ดีในการเล่าเรื่องแบรนด์และสกัดออกมาว่าเคล็ดลับคืออะไร ซึ่งรายการนี้จะสกัดสิ่งที่แบรนด์นั้นมี สิ่งที่เป็นเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ จากนั้นเราก็มาลงลึกไปว่า ขอเป็นไทยแบรนด์อย่างเดียว และเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ช้ำมาก คนยังไม่ได้พูดถึงเยอะนัก

     แล้วความที่เป็นพอดแคสต์ มันมีข้อดีตรงที่เขามีเวลาเต็มที่ ไม่ได้จำกัดแค่ 15 หรือ 30 นาทีแบบรายการโทรทัศน์หรือฟอร์แมตต์อื่นๆ พอมีเวลาเต็มที่ เขาก็มีเวลาได้เล่า เราอยากรู้อะไรก็ถามเข้าไป ซึ่งมันสนุกทุกตอนจริงๆ

     หน้าที่ของเราคือตัดเล็มให้มันกระชับขึ้น ช่วยเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้ฟังง่ายขึ้น แล้วเนื้อหาที่เกินไปเยอะๆ ซึ่งบางครั้งไม่เกี่ยวกับเรื่อง เราก็ตัดออก แล้วทำเป็นส่วน unheard ไว้ต่างหาก เพราะฉะนั้นแต่ละตอนความยาวจะไม่เท่ากันเลย ส่วนใหญ่รายการของเราก็อยู่ที่ประมาณไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเราว่าสัดส่วนที่ดีที่สุดคือประมาณ 30-40 นาทีจะเหมาะสุด

 

ความที่เคยทำสำนักพิมพ์หรือทำงานกับตัวหนังสือมาก่อน พอมาทำพอดแคสต์ วิธีการเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

     จริงๆ แล้วผมว่าการทำพอดแคสต์ใช้ทักษะเดียวกับการทำพ็อกเก็ตบุ๊กเลยนะครับ คือคิดอะไรเป็นกลุ่มเนื้อหา อย่างรายการ The Secret Sauce ที่เล่าให้ฟัง ก็เหมือนว่าเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม แต่ละตอนคือแขกรับเชิญที่แตกต่างกันไป เราก็พยายามทำให้เรื่องราวเป็นไปในทางเดียวกัน ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของมันคืออะไร คนอ่านก็ต้องชัด คนฟังก็ต้องชัด ใช้สกิลเดียวกันเลย แค่เปลี่ยนจากตัวหนังสือเป็นเสียง

 

ในเฟสแรก THE STANDARD Podcast จะมีทั้งหมด 7 รายการต่อสัปดาห์ รายละเอียดแต่ละรายการเป็นอย่างไรบ้าง

 

 

     วันจันทร์จะเป็นรายการเกี่ยวกับการเงิน The Money Case by the Money Coach ซึ่งเราใช้เคสที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง พี่หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (The Money Coach) จะจับเคสต่างๆ มารวมเล่าเป็นหมวดหมู่ อย่างเช่น หนี้ที่ไม่น่าเชื่อ ชาตินี้ไม่มีวันจน หรือแชร์ลูกโซ่ไม่มีวันตาย ซึ่งมันสนุกเพราะเป็นเรื่องจริงที่พี่เขาเจอมากับตัว หรือมีคนมาปรึกษาปัญหาเหล่านี้จริงๆ

 

 

     วันอังคาร The Secret Sauce เป็นรายการที่ยิ่งทำยิ่งเปิดหูเปิดตาเรา แล้วมันดีมากทุกตอน ช่วงท้ายรายการ เคน นครินทร์ จะมาช่วยออกความเห็นว่าความสำเร็จของแต่ละแบรนด์เกิดจากอะไร เราจะได้ฟังเคล็ดลับที่เอาไปปรับใช้ได้ อย่างเทปแรกๆ เราเชิญแบรนด์ที่ไม่ค่อยได้ฟังที่ไหน ก็คือแบรนด์แมลงอบกรอบไฮโซ และแบรนด์สุริยาหีบศพ

     ซึ่งเอาจริงๆ แบรนด์อย่างสุริยาหีบศพเขาโกลบอลมากเลยนะ เริ่มจากการที่เขาขายโลงอย่างเดียว แล้วสิ่งที่เรารู้สึกว่ามัน eye-opening มากๆ คือที่บ้านเขา รุ่นอากงอาม่าไม่มีใครเห็นด้วยเลย เพราะว่ามันเป็นธุรกิจอัปมงคล รุ่นพ่อเขาก็ไฟต์มาตลอด ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มี one stop service คุณพ่อเขาก็ทำเป็นเจ้าแรกมาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะรู้ว่าลูกค้าไม่ได้อยากซื้อแค่โลง แต่ต้องการบริการอื่น ดอกไม้แบบไหน จัดงานอย่างไร มันเลยกลายเป็นความแตกต่าง และตอนนี้คู่แข่งสำคัญของเขาเลยคือวัด เขาก็คิดอีก ในเมื่อสู้ไม่ได้ก็รับมาเป็นเพื่อน ก็ไปติดต่อร่วมมือกับวัดเลย จนกลายเป็นพาร์ตเนอร์กัน ซึ่งทุกอย่างมันเป็นการ eye-opening มากๆ เพราะนี่คือสิ่งที่เราจะไม่ได้รู้เลยถ้าไม่ได้ฟังเจ้าของกิจการเล่าให้ฟังกับปากอย่างนี้

 

 

     วันพุธ นักเรียนนอก เป็นรายการที่เล่าเรื่องโดยนักเรียนนอกจากทุกมุมโลก ดำเนินรายการโดย เฟี้ยต-ธัชนนท์ จารุพัชนี มันคือการรวมสองสิ่งสำคัญต่อวัยค้นหา หนึ่ง สิ่งที่เราต้องทำ คือการเรียน และสอง สิ่งที่เราอยากทำ คือการเที่ยว จริงๆ มันคือการเดินทางไปเรียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่ง ท้ายที่สุดทุกคนจะรู้ว่าต้องกลับบ้าน มันจึงเป็นช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับชีวิตพวกเขา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน พวกเขาก็ยังเป็นนักเรียนนอกอยู่

     มันมีประเทศประหลาด มีวิชาประหลาดเยอะมาก ต่อให้เป็นประเทศเบสิกอย่างอเมริกาหรืออังกฤษ แต่ด้วยหลักสูตรหรือการเลือกเรียน มันมีอะไรที่แปลกออกไป อย่าง แจน ณิชมน ไปเรียนด็อกเตอร์ด้านการดูแลบริหารมรดกโลก แล้วเขาทำธีสิสเรื่องการส่งต่อองค์ความรู้ช่างไม้ญี่ปุ่น คือเก๋ว่ะ แค่ฟังหัวข้อเราก็อยากรู้แล้วว่าเรียนอะไร โดยหัวใจแล้วทุกคนจะมีอยู่ 3-4 เรื่องหลักๆ คือการเรียน เพื่อน ความรัก ไปรับจ็อบอะไรบ้าง ทุกคนมีเรื่องประมาณนี้หมด แต่รายละเอียดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

 

     วันพุธมีอีกรายการคือ We Need To Talk รายการทอล์กโชว์ภาษาอังกฤษโดย โบ-สาวิตรี สุทธิชานนท์ (โบ AF5) มันเริ่มจากความคิดว่าคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษดีๆ มีอยู่เยอะ แต่บ้านเราไม่ค่อยทำคอนเทนต์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อคนไทยด้วยกัน อย่างเช่น ถ้าเราอยากดู อยากฟังรายการภาษาอังกฤษ มันมีของต่างประเทศให้ดูเยอะ อย่างไปดู Netflix ฟัง NPR แต่ว่ามันไม่ใช่คอนเทนต์โลคัลของเรา

     เราเลยเชิญเกสต์แต่ละคนซึ่งเป็นเซเลบทั้งหมดเลย เป็นคอนเทนต์โลคัลที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งรายการ คอนเซปต์ของรายการเราจะตั้งคำถามว่า เรื่องที่เราต้องคุยกับคุณคืออะไร ซึ่งมันก็จะเทเลอร์เมดไปตามเกสต์แต่ละคน อย่าง ณัฐ ศักดาทร ที่มาเป็นเกสต์ ‘ฮาร์เวิร์ด ซิกซ์แพ็ก แฟนคลับ’ เราต้องคุยกัน 3 เรื่องนี้แน่ๆ

     อย่างวันนี้เรามีอัดรายการกับพี่น้อย วงพรู คุยกันไปชั่วโมงกว่า เกินเวลาไปเยอะเลย แต่มันทำให้เรารู้ว่าบางเรื่องเล่าเรื่องเดียวกัน แต่เป็นภาษาอังกฤษกับภาษาไทยแล้วมันคนละฟีล สมมติง่ายๆ อย่างคุยเรื่องแฟน เรื่องเซ็กซ์ บางทีถามเป็นภาษาไทยเราไม่กล้าเล่านะ แต่พอเป็นภาษาอังกฤษ มันรู้สึกสเต็ปออกไปอีกหน่อย เขาจะกล้าพูด ดังนั้นในบางเรื่อง คุณจะไม่มีวันได้ยินเขาเล่าเป็นภาษาไทยเลย

 

 

     วันพฤหัสบดีก็มีสองรายการนะครับ รายการ เทยเท่ แท็กไลน์มันคือเทยไทยที่ทำอะไรเท่ๆ ซึ่งโคตรสนุก เอาง่ายๆ ภาษาตุ๊ดฟังสนุกมาก เราอยากฟังภาษาเหล่านี้ในคอนเทนต์อื่นๆ ซึ่งคอนเทนต์ที่ดีที่สุดคือสิ่งที่เขามีแพสชันกับมัน แล้วภาษาตุ๊ดมันมีไดนามิก มันมีศัพท์แสงที่ทำให้แซ่บ ปรากฏว่าสิ่งที่เราได้มาอย่างอีพีของเทยสัตวแพทย์ ที่ทำงานสัตวแพทย์และเคยไปเป็นหมออาสาในเนปาล คือเท่มาก แต่มาเล่าแล้วสนุกมาก เขาเล่าด้วยภาษาของเขา ด้วยความพราวด์ที่จะเล่าให้ฟัง หรือเทยที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน 28 วันบนฝั่ง ไปแต่งหญิงเดินสายประกวดอีก 28 วันบนแท่นเป็น medic หรือเทยมาราธอนที่วิ่งเทรลโดยการทาปากแดงและสวมปีกเหมือนนางแบบ Victoria’s Secret ประเด็นคือคนเหล่านี้ต่อให้เอาความเป็นเทยออกไป เรื่องของสิ่งที่เขาทำก็ยังน่าสนใจและฟังสนุกอยู่ดี มันเท่ตรงนี้ แล้วพลัสภาษาตุ๊ดเข้าไปอีก ลองคิดดูว่าจะฟังแซ่บแค่ไหน

     โฮสต์ของรายการคือ ออม-นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ เราคิดว่าผู้หญิงอารมณ์ชะนีเพื่อนสาวจะคอนเนกต์กับเทยได้ดีกว่า

     อีกรายการ Good Questions! เป็นการไปแจมกับ pantip.com ในการเป็นคอนเทนต์พาร์ตเนอร์ ซึ่งเราจะเลือกคำถามจากกระทู้พันทิปที่หาคำตอบได้จริง หรือบางทีเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างเช่น มีคนมาถามว่า ล้างจานแล้วต้องเช็ดไหม ซึ่งมันอาจจะมีองค์ความรู้บางอย่างแฝงอยู่ในนั้น มีหลายครั้งมากที่เราอ่านพันทิปแล้วเจอคำถามที่แม่งดีว่ะ แล้วพอเราเข้าไปอ่านคอมเมนต์ข้างในจะเกิดเหตุการณ์สองอย่าง หนึ่ง มีคนเก่งๆ มาช่วยกันตอบ กับสอง ออกทะเลกันไป ดราม่ากันไปเรื่อยๆ โดยที่คนถามเขายังไม่ได้คำตอบอะไรเลย เราก็จะเสียดาย

     คำถามเหล่านั้นเราจะมาสืบค้นต่อโดยไปหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ หรือบางทีจะเก็บเสียงของคนทั่วไปในกรณีที่เป็นคำตอบเฉพาะตัว เป็นคำถาม vox pop อย่างเช่นคำถามว่า ซ่อนเงินเมียที่ไหนดี

 

 

     จบที่คืนวันอาทิตย์กับรายการ Multiple Eargasms โดย แพท บุญสินสุข

     เป็นรายการไลฟ์โชว์ เล่นเพลงของตัวเองสดๆ ในเวอร์ชันที่แตกต่างจากออริจินัล และเล่นเพลงคัฟเวอร์แบบเมดเลย์ แล้วเราจะมาคุยกันว่าทำไมเลือก 3 เพลงนี้ คอมโบนี้เกิดจากอะไร มันโชว์รสนิยมของเขา คอนเซปต์ก็ตามชื่อรายการเลยครับ นั่นคือฟินแล้วฟินอีก

     คนฟังจะได้ฟินจากการฟังศิลปินที่เขาชอบมาเล่นเพลงสดๆ แล้วยังคุยกันแต่เรื่องฟินๆ ทางดนตรี เป็นรายการที่เหมาะกับมิวสิกเลิฟเวอร์จริงๆ เพลงของใครในอดีตที่ทำให้ฟินสุดๆ คอนเสิร์ตครั้งไหนที่ไปดูแล้วฟินแล้วฟินอีก มันมีคำพูดที่ว่า “นักดนตรีมีความฟินบางอย่างที่คนนอกจะไม่รู้สึก อย่างเบื้องหลังกว่าจะได้คำคำนี้ในเพลงมา โอ้ย กูเข้าใจๆ ว่ามันหมายความว่าอย่างไร” นี่เลยเป็นรายการที่เหมาะกับมิวสิกเลิฟเวอร์จริงๆ ฟังแล้วฟินจริง

     ทุกๆ รายการ นอกจากการฟังกับหูแล้ว ที่ www.thestandard.co/podcast เราจะมีส่วนที่เป็น shownotes คัดเฉพาะไฮไลต์ของแต่ละตอน แล้วเราจะใส่ time index บอกเวลาเอาไว้ว่าท่อนไหนอยู่นาทีที่เท่าไร ให้เขาตามไปฟังได้ด้วย หรือทำเป็นบูลเลตให้อ่านง่าย และเล่าสรุปให้สั้นๆ ที่ทำแบบนี้เพราะเรารู้ว่าคนฟังพอดแคสต์เขาไม่อยากอ่านไง!

FYI
  • จุลินทรีย์แห่งความสำเร็จ เขียนโดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ สำนักพิมพ์ a book godaypoets.com/all-writer/secretigd
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X