×

วิเคราะห์ความสำเร็จของ RuPaul’s Drag Race เรียลิตี้ขวัญใจผู้ชมค่อนโลก

โดย Homesickalienn
23.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รูพอล (RuPaul) วนเวียนอยู่บนเส้นทางผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ นักดนตรีสมัครเล่น ตั้งแต่อายุ 21 ปี ก่อนจะเบนเข็มมาสู่วงการบันเทิง โดยเริ่มจากการเป็นหนึ่งในทีมนักเต้นระบำตามผับบาร์เมืองแอตแลนต้า
  • เขากลายเป็นแดร็กควีนคนแรกที่มีซิงเกิลขึ้น Billboard Hot 100, เป็นพรีเซนเตอร์เครื่องสำอาง MAC ในอเมริกา และยังติดโผ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก จากการจัดอันดับของนิตยสาร TIME ในปี 2017
  • รูพอลเริ่มทำรายการเรียลิตี้ RuPaul’s Drag Race ด้วยหวังที่จะผลักดันวงการแดร็กควีนให้มีสีสัน และนำเสนอความสามารถของแดร็กควีนที่คนทั่วไปมักมองข้าม
  • รายการมาพร้อมโปรดักชันขนาดกลาง ออกอากาศในช่องเคเบิลทีวีเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ได้คาดหวังว่าทางช่องจะต่อสัญญา แต่รายการกลับฮอตสุดๆ จนออกอากาศต่อเนื่องมาถึงซีซัน 10

RuPaul กับวง Nirvana และ Courtney Love ที่กำลังอุ้มลูกสาว Frances Bean Cobain

 

จริตจะก้านที่มาพร้อมการฟูลเทิร์น 360 องศา, เมกอัพบนใบหน้าที่นางเอกงิ้วยังต้องกราบ, มุกตลกที่ยิงรัวๆ ในทุกๆ 2 นาที ถี่ยิ่งกว่าหนังหม่ำ จ๊กมก, เศษขนนกที่นำมาดัดแปลงเป็นชุดราตรีเลิศหรู, การเป็นช่องทางแสดงความสามารถของบุคคลโดยปราศจากพรมแดนด้านเพศสภาพ ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุหลักที่ทำให้รายการเรียลิตี้โชว์นามว่า RuPaul’s Drag Race โด่งดังขึ้นมาเป็นหนึ่งในรายการทีวีที่น่าจับตามองที่สุดในปัจจุบัน

 

นิตยสาร TIME


จากรายการที่มาพร้อมโปรดักชันขนาดกลาง ที่ไม่ได้คาดหวังให้มีการต่อสัญญา ทั้งยังออกอากาศในช่องเคเบิลทีวีเฉพาะกลุ่ม (Logo TV – ซึ่งในขณะนั้นเน้นรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มรักร่วมเพศ หรือ LGBT) และเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเพียงแค่ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร ทำให้ RuPaul’s Drag Race กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่รายการเรียลิตี้โชว์ในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงตะวันตกที่มียอดผู้ชมสูงกว่า 1 ล้านคนต่อหนึ่งตอน พร้อมเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งยังได้ต่อสัญญาจนถึงซีซันที่ 10 ซึ่งกำลังจะเริ่มการถ่ายทำเพื่อออกอากาศทางช่อง VH1 เดือนมีนาคม ปีหน้า

 

ความสำเร็จทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ด้วยจังหวะที่เหมาะสม บวกกับประเด็นสังคมเรื่องสิทธิเสรีภาพเพศทางเลือก และแน่นอน ความบันเทิงแบบครบรสที่รายการนี้มอบให้ ทำให้ RuPaul’s Drag Race กลายเป็นขวัญใจผู้ชม รวมถึงนักวิจารณ์ พิสูจน์ได้จากรางวัลมากมาย ร่ายยาวตั้งแต่ MTV Movie & TV Awards, Primetime Creative Emmy Awards ไปจนถึง Critics’ Choice Television Award และการที่ชื่อของเจ้าของรายการอย่าง รูพอล ติดโผ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก จากการจัดอันดับของนิตยสาร TIME ในปี 2017 นี้

 

โฆษณา MAC Viva Glam

 

ใครคือ RuPaul?
ชื่อของ รูพอล อองเดร ชาร์ลส์ (RuPaul Andre Charles) อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนักสำหรับผู้เสพสื่อบันเทิงชาวไทย แต่ถ้าจะให้ว่ากันถึงการเป็นเสมือน ‘ตำนานที่ยังมีชีวิต’ ของวงการแดร็กควีนโลกแล้วนั้น เราก็คงสามารถเทียบ รูพอล ได้กับ นาโอมิ แคมป์เบลล์ (Naomi Campbell) กับการเป็นสุดยอดนางแบบดาวค้างฟ้า ที่ยืนหยัดในสายอาชีพมาตั้งแต่ต้นยุค 90s

 

รูพอล ในขณะนี้อายุ 56 ปี วนเวียนอยู่บนเส้นทางผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ นักดนตรีสมัครเล่น ตั้งแต่อายุ 21 ปี ก่อนจะเบนเข็มมาสู่วงการบันเทิง โดยเริ่มจากการเป็นหนึ่งในทีมนักเต้นระบำตามผับบาร์ในเมืองแอตแลนต้า ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาฝีมือจนได้ไปเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง Love Shack ของวง The B-52’s และทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ รูพอล เริ่มเป็นที่จดจำในวงกว้าง เนื่องจากเพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 3 บน Billboard Hot 100 ในปี 1989 อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของรูพอลในการเป็น ‘Drag Queen Superstar’ ถึงแม้ในขณะนั้นการให้การยอมรับในตัวสาวประเภทสองหรือบุคคลผู้แต่งกายข้ามเพศ อย่าง รูพอล ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายต้องตั้งคำถามอยู่ก็ตาม

 

https://youtu.be/Vw9LOrHU8JI


การเป็นแดร็กควีนผู้โลดแล่นอยู่ท่ามกลางแสงสีในฮอลลีวูดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ รูพอล ก็กลายเป็นแดร็กควีนคนแรกที่มีงานเพลงสตูดิโออัลบั้ม (ใช่ – นางดังจนถึงขั้นเริ่มผลิตผลงานเพลงออกสู่ตลาดแล้ว ณ ขณะนั้น) เพลง Supermodel (You Better Work) ชื่อเดียวกับอัลบั้มแรกของเธอขึ้นไปถึงอันดับ 45 บนชาร์ต Billboard Hot 100 ในปี 1993 และกลายเป็นหนึ่งในเพลงชาติของกลุ่ม LGBT ทุกวันนี้ พร้อมกันนั้น รูพอล ยังกลายเป็นแดร็กควีนคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นพรีเซนเตอร์ของเครื่องสำอาง MAC ในอเมริกา

 


มีเกิดขึ้น ก็ต้องมีดับไป แต่ไฉน เราจึงต้องยอม?
หลังจากอัลบั้มแรกในปี 1993 เธอออกผลงานตามมาอีก 2 อัลบั้ม Fox Lady (1996) และ Ho Ho Ho (1997) จนมาถึง Red Hot (2004) ผลงานสตูดิโออัลบั้มที่ 4 กระแสตอบรับค่อนข้าง ‘กริบ’ พอสมควร จนรูพอลต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกเหมือนโดน ‘หักหลัง’ จากเพื่อนๆ สื่อมวลชน ที่ไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้ผลงานของเธอเป็นที่รู้จักในกระแสหลักเท่าที่ควร

 

กลางปี 2008 รูพอล ได้ริเริ่มโครงการเรียลิตี้โชว์ RuPaul’s Drag Race ด้วยความหวังที่จะผลักดันวงการแดร็กควีนให้มีสีสัน นำเสนอความสามารถที่คนทั่วไปมักมองข้าม รวมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับเพศทางเลือกในสังคม ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ รายการทีวี RuPaul’s Drag Race ได้เดินทางมาถึงซีซันที่ 10 และไม่มีทีท่าว่ากระแสความนิยมจะลดลง มีแต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์นำมาฉายอย่างเป็นทางการ อย่างในบ้านเราก็มีข่าวลือหนาหูว่ามีผู้ผลิตรายการเจ้าใหญ่สนใจจะซื้อลิขสิทธิ์มาทำในเวอร์ชันภาษาไทย!

 


ในปัจจุบัน รายการ RuPaul’s Drag Race ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่มากกว่า 15 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมัน แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ เป็นข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดถึงความสำเร็จของรายการทีวีที่ ‘ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม’ และเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ว่า ‘อารมณ์ขัน’ เป็นเรื่องไร้พรมแดน ไร้การแบ่งแยก และเป็นเครื่องมืออันจะทำให้รายการใดรายการหนึ่ง ‘ปัง’ ได้ไม่ยาก หากได้รับจังหวะการออกอากาศที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี มีหลายครั้งที่สังคมมักพุ่งประเด็นว่าการเป็นแดร็กควีนนั้นต้องอยู่ในสถานะบุคคลที่ตลกโปกฮา บ้าๆ บอๆ แบบไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไรกับตนเอง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า RuPaul’s Drag Race มีจุดแข็งในการสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมด้วยบุคลิกของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ทางรายการก็ยังแสดงให้เห็นแง่มุมของความรู้ความสามารถ ความเคร่งเครียดและจริงจังในการแข่งขันเพื่อผลงานที่ดีที่สุด และที่สำคัญคือการเรียนรู้ตัวตน เคารพสถานภาพของตนเองและผู้อื่น เพื่อให้แดร็กควีนหยัดยืนในสังคมด้วยสิทธิอันพึงได้รับ โดยปราศจากพรมแดนทางด้านเพศสภาพใดๆ ก็ตาม

 

ผู้แข่งขัน RuPaul’s Drag Race ซีซัน 9

 

เห็นได้ชัดว่า RuPaul’s Drag Race เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันแสดงตัวตนอย่างเต็มที่ ผ่านการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อแข่งขันใน Runway Show ของแต่ละสัปดาห์ การร้องและเต้นตามบทเพลงเพื่อที่จะไม่ให้ตนเองถูกเด้งออกจากบ้านในช่วง Lip Sync For Your Life หรือการงัดความสามารถรอบด้านออกมาให้ได้มากที่สุดใน Mini Challenge ต่างๆ รวมถึงการที่ต้องทำตัวเองให้เฉิดฉายที่สุด เป๊ะที่สุด ปังที่สุด ตามคอนเซปต์ของผู้ชนะในรายการ ที่กำหนดมาแล้วว่าต้องประกอบไปด้วย ‘บุคลิกภาพอันเป็นเลิศ’ (charisma), ‘ลักษณะจำเพาะอันโดดเด่น’ (uniqueness), ‘ความกล้าแสดงออก’ (nerve) และ ‘ความสามารถ’ (talent) โดยทั้งหมดทั้งมวลรวมกันนั้น ทางรายการเลือกที่จะใช้อักษรย่ออย่างเก๋ไก๋ว่า ‘C.U.N.T.’ ซึ่งเราไม่สามารถแปลความหมายออกมาโต้งๆ ได้ในที่นี้จริงๆ!

 

 

Alyssa Edwards

 

แน่นอนว่าสำหรับผู้เข้าแข่งขันแทบจะทุกคน การได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งในแดร็กควีน ย่อมเปรียบเสมือนใบเบิกทางที่จะได้แจ้งเกิดในวงการต่างๆ หลังจากซีซันของตนเองนั้นได้จบลง ทั้งในฐานะเอ็นเตอร์เทนเนอร์ ศิลปินอิสระ หรือแม้กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนักธุรกิจ / เซเลบริตี้ผู้ทรงอิทธิพล และเป็นแรงบันดาลใจให้กับแฟนๆ แดร็กควีนรวมทั้งบุคคลทั่วไป ผู้ซึ่งกำลังค้นหาไฟที่ลุกโชนอยู่ในตัว

 

ตัวอย่างเช่น Alyssa Edwards จากซีซัน 5 และ All Stars ซีซัน 2 ที่ถึงแม้ตัวเธอเองจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในทั้งสองซีซัน แต่ด้วยมุกตลกแบบที่แทบจะหาคนต่อล้อต่อเถียงด้วยไม่ได้ ความสามารถในการร้องและเต้น รวมไปถึงบุคลิกที่ทำให้คนทั้งรักและหมั่นไส้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ทางผู้สร้าง RuPaul’s Drag Race ตัดสินใจผลิตรายการสำหรับออกอากาศออนไลน์ให้เธอโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ Haus of Edwards

 

นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอสอนเต้น Beyond Belief Dance Company ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทางด้านกระแสตอบรับ ผลประกอบการ และรางวัลสดุดีในเชิงธุรกิจ เป็นหนึ่งในเครื่องการันตีว่า ‘แดร็กควีน’ ไม่ได้มีเพียงแค่รองพื้นบนใบหน้าที่หนาเตอะ ลิปสติกที่ตั้งใจทาเลอะริมฝีปากเพื่อให้ความรู้สึกเกินหญิง และความสะดีดสะดิ้งตลกโปกฮา โดยหาได้มีสาระใดๆ ไม่

 

จากซ้ายไปขวา: Michelle Visage, RuPaul และ Carson Kressley คณะกรรมการ RuPaul’s Drag Race


หากจะพูดกันตามความเป็นจริง แทบทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการนี้ ล้วนมีความหลากหลายทางด้านประสบการณ์ว่าด้วยอุปสรรคในการดำเนินชีวิต, การโดนดูถูกเหยียดหยามจากผู้คนรอบข้าง,  การต่อสู้ด้วยความสามารถของตนเองเพื่อการยอมรับจากคนในสังคม, รวมถึงสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง อดทน สดใสร่าเริง แต่ไม่ไร้ซึ่งสติ อันทำให้พวกเธอเหล่านั้น เปรียบเสมือนตัวแทนของชาว LGBT ในทุกวัฒนธรรม เป็นโรลโมเดลให้กับหลายๆ คนที่มีความฝัน แต่ยังไม่สามารถก้าวเข้าไปถึงฝันนั้น

 

และทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ทำให้รายการ RuPaul’s Drag Race ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรียลิตี้ค้นหานางโชว์ผสมจำอวดหน้าม่าน แต่ยังเป็นขวัญใจนักวิจารณ์และผู้ชมครึ่งค่อนโลก ทั้งในแง่ของรอยยิ้ม พลังบวก และข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่คาดว่าน่าจะไปสะกิดต่อมอินเนอร์ของใครหลายๆ คนที่ยังค้นหาตัวตนไม่เจอ หรืออาจจะยังเบลอๆ เพราะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านบรรทัดฐานของสังคมบางอย่างที่ตื้นเขินได้ – ก็เป็นได้

‘Sashay Away

 

 

อ้างอิง:

FYI

     

ใน Episode 1 ของซีซัน 9 นั้น Lady Gaga (ผู้ซึ่งแน่นอน – เปรียบเสมือน ‘คุณแม่’ ในอุดมคติของแดร็กควีนหลายๆ คน) ได้ปลอมตัวเป็น ‘ตัวเธอเอง’ หลอกผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ นำมาซึ่งความเซอร์ไพรส์จนทำให้หนึ่งในแดร็กควีนต้องเสียน้ำตาเพราะตื้นตันใจ

 

     

สาว Ariana Grande ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการพิเศษใน Episode 6 ของซีซัน 7 พร้อมทั้งทิ้งท้ายเป็นคำหวานเอาไว้ว่า ‘นี่เป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน ไม่ได้โกหกด้วยนะ!’ โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแฟนตัวยงของรายการ และได้แต่เฝ้านับวันรอที่จะโดนเชิญมาเป็นแขกร่วมรายการเลยทีเดียว

 

 

นางฟ้า Victoria’s Secret อย่าง Gigi Hadid ก็เคยปรากฏตัวในรายการในฐานะกรรมการรับเชิญใน Episode 5 ของซีซัน 8 เป็นการตอกย้ำคอนเน็กชันที่สุดจะปังของรายการในแต่ละวงการได้อย่างดีเยี่ยม!

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising