×

เหงา รถติด บ้านไกล ขี้เกียจอ่าน การฟัง ‘พอดแคสต์’ ช่วยคุณได้

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • บารัก โอบามา เคยเป็นแขกรับเชิญให้รายการ WTF With Marc Maron มาแล้ว แดเนียล เครก ก็เคยมาให้สัมภาษณ์ใน The Nerdist เกี่ยวกับคาแรกเตอร์เจมส์ บอนด์ ของเขา
  • พอดแคสต์ไม่จำเป็นจะต้องฟังบนไอพอด หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Apple เท่านั้น และพอดแคสต์ก็ไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอสารแบบ ‘broadcast’ ที่มีจุดประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้รับสารโดยกว้างที่สุด นั่นทำให้พอดแคสต์สามารถจำกัดกลุ่มผู้ฟังขนาดเล็ก-ใหญ่ได้ตามใจชอบ
  • ที่สำคัญก็คือความ ‘on-demand’ หรือความตามสั่งของการฟัง นั่นคือเราสามารถฟัง ‘พอดแคสต์’ เวลาไหน และที่ไหนก็ได้
  • มีผลสำรวจที่ระบุว่าสัดส่วนของคนฟังพอดแคสต์นั้นฟังจากคอมพิวเตอร์มากที่สุด รองลงมาคือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพอดแคสต์ก็มีให้ดาวน์โหลดได้หลายวิธี ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน Podcast ในไอโฟน หรือไอพอด และผ่านแอปพลิเคชันฟรีอื่นๆ เช่น Spotify, Podcast Addict, Podbean, Stitcher Radio, TuneIn Radio และ Podcast Player

     ในช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสไปฝึกงานในนิวยอร์ก ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการวิ่งซื้อของรอบเมืองตามที่เจ้านายสั่ง แต่บางครั้งก็พอจะมีเวลาได้นั่งทำงานอยู่ในห้องสตูดิโอด้วยเหมือนกัน ในห้องจะมีพนักงานแผนกต่างๆ นั่งรวมกันแบบ shared-space ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ซึ่งนอกจากการตกแต่งออฟฟิศที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากรูปในพินเทอเรสต์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศของไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองใหญ่และความเป็นออฟฟิศสมัยใหม่ได้อย่างดีก็คือ ‘เสียง’

     เสียงพูดภาษาอังกฤษที่ออกมาจากลำโพงคอมพิวเตอร์ เหมือนดีเจอารมณ์ดีที่กำลังเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความน่าสนใจ ตัดกับจิงเกิลเพลงประกอบแบบรายการทีวี และเสียงแขกรับเชิญคนอื่นๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาสร้างสีสันผ่าน ‘เสียง’ ของพวกเขา

     อาจเป็นเพราะทุกคนไม่สามารถโฟกัสกับ ‘ภาพ’ หรือ ‘วิดีโอ’ ในขณะทำงานได้ ก็ต้องอาศัย ‘พอดแคสต์’ ที่นำเสนอเรื่องราวได้ในการสร้างความบันเทิงและความเพลิดเพลินในเวลางานนี่ล่ะ  

     การฟัง ‘Podcast’ หรือ ‘พอดแคสต์’ จึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในที่ทำงานของเมืองใหญ่ แต่สำหรับคนไทยอย่างเรา ‘พอดแคสต์’ อาจจะไม่แพร่หลายเท่าไรนัก แนะนำว่าถ้าอยากลองฟังดูก็พอมีให้เลือกฟังอยู่บ้าง ทั้งยังเป็นการเติมความเก๋ให้กับชีวิตขึ้นมาแบบไม่ต้องลงทุนสักบาท แถมยังได้ประโยชน์ตามมาอีกมากมายจากการฟังเจ้า ‘Podcast’ นี้ด้วย

 

 

Who

     ก่อนจะแนะนำพอดแคสต์อย่างเป็นทางการ THE STANDARD ขอแนะนำรายชื่อคนดังที่ทำพอดแคสต์เอาไว้ เผื่อว่ากระแสของพอดแคสต์จะติดตลาดในไทยขึ้นมาบ้าง

     ตั้งแต่ปี 2016 ศิลปิน ดารา เซเลบริตี้มากมายหันมาทำพอดแคสต์ของตัวเอง ทั้งแอนนา ฟาริส กับพอดแคสต์แนะนำเรื่องความสัมพันธ์สไตล์ของเธอ ‘Anna Faris Is Unqualified’ (www.unqualified.com) หรืออย่างนักแสดงหนุ่ม อเล็ก บอลด์วิน กับ ‘Here’s The Thing’ (www.wnyc.org/shows/heresthething) แม้กระทั่งแรปเปอร์อย่าง Snoop Dogg กับ ‘Snoop Dogg’s GGN Podcast’ ที่สัมภาษณ์คำถามแปลกๆ กับเพื่อนดาราดัง หรือพอดแคสต์ของ โคลอี้ คาร์เดเชียน, Ice Cube และ Lil Dicky เป็นต้น

     จะเห็นได้ว่าเมื่อพอดแคสต์ประสบความสำเร็จ แขกรับเชิญที่มาร่วมโชว์ก็ล้วนอยู่ในระดับพีกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบารัก โอบามา ที่เคยเป็นแขกรับเชิญให้รายการ WTF With Marc Maron มาแล้ว แดเนียล เครก ก็เคยมาให้สัมภาษณ์ใน The Nerdist เกี่ยวกับคาแรกเตอร์เจมส์ บอนด์ ของเขา รวมไปถึงไอดอลสาวสายเฟมินิสต์ของหลายๆ คนอย่างโซเฟีย อมอรูโซ เจ้าของผลงานหนังสือ Girlboss ที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ใน Netflix มาแล้ว (ถูกยกเลิกหลังจากจบซีซันแรก) โซเฟียทำพอดแคสต์สัมภาษณ์ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน ศิลปิน ซึ่งเธอเคยสัมภาษณ์ทั้งนักร้องสาว Yuna, คอร์ตนีย์ เลิฟ, แอนน์ ฟูเลนไวเดอร์ บรรณาธิการนิตยสาร Marie Claire USA และดาราตัวแม่อย่างชาร์ลีซ เทอรอน

     ความหลากหลายของเนื้อหาพอดแคสต์เหล่านี้ส่งผลต่อกลุ่มผู้ฟัง โดยมีผลการสำรวจว่าผู้ฟังพอดแคสต์ชาวอเมริกันมีช่วงอายุที่ค่อนข้างกว้าง คือตั้งแต่ 18-54 ปี

 

 

What

     ใครๆ ก็ฟังพอดแคสต์ สรุปแล้วมันคืออะไรกันแน่?

     ความหมายของ ‘พอดแคสต์’ อาจจะคล้ายๆ ‘internet radio on-demand’ หรือ ‘วิทยุออนไลน์แบบเลือกได้’ เพราะพอดแคสต์คือรายการที่นำเสนอผ่านเสียงเป็นหลัก (ภายหลังมีการนำเสนอพอดแคสต์แบบวิดีโอด้วย) และมีหลากหลายรายการที่ครอบคลุมเรื่องราวแทบจะทุกเรื่องบนโลก ตั้งแต่วงการเพลง วิทยาศาสตร์ ศิลปินดารา ประวัติศาสตร์ เรื่องผี ปรัชญา ไปจนถึงรายการตลกแบบแทบจะไม่มีสาระเลยก็มีเหมือนกัน (แต่ฟังแล้วบันเทิงสุดๆ)

     คำว่า ‘Podcast’ ถูกใช้ครั้งแรกโดยเบน แฮมเมอร์สเลย์ (Ben Hammersley) ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ปี 2004 โดยที่เขาพยายามจะหาคำศัพท์ที่จะใช้เรียก ‘สื่อ’ ตัวใหม่นี้ คำว่า ‘Pod’ มาจากตัว iPod ของ Apple ส่วน ‘Cast’ มาจากคำว่า ‘broadcast’ หรือ ‘ออกอากาศ’ ในภาษาไทย  

     พอดแคสต์ไม่จำเป็นจะต้องฟังบนไอพอด หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Apple เท่านั้น และพอดแคสต์ก็ไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอสารแบบ ‘broadcast’ ที่มีจุดประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้รับสารโดยกว้างที่สุด นั่นทำให้พอดแคสต์สามารถจำกัดกลุ่มผู้ฟังขนาดเล็ก-ใหญ่ได้ตามใจชอบ เราเลยมีโอกาสได้ฟังพอดแคสต์ที่เล่าเรื่องเจ๋งๆ ในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงตามที่สนใจ โดยที่ผู้จัดทำก็ไม่ต้องมาจากบริษัทกระจายเสียงใดๆ เลย และที่สำคัญก็คือความ ‘on-demand’ หรือความตามสั่งของการฟังพอดแคสต์ นั่นคือเราสามารถฟัง ‘พอดแคสต์’ เวลาไหนและที่ไหนก็ได้

 

 

Where

     ‘ที่ไหนก็ได้’ และจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดก็ได้เช่นเดียวกัน

     มีผลสำรวจที่ระบุว่า สัดส่วนของคนฟังพอดแคสต์นั้นฟังจากคอมพิวเตอร์มากที่สุด รองลงมาคือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพอดแคสต์ก็มีให้ดาวน์โหลดได้หลายวิธี ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน Podcast ในไอโฟน หรือไอพอด และผ่านแอปพลิเคชันฟรีอื่นๆ เช่น Spotify, Podcast Addict, Podbean, Stitcher Radio, TuneIn Radio และ Podcast Player

     โดย ‘สถานที่’ ที่เราจะเจอพอดแคสต์ได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งคนฟังและคนทำพอดแคสต์อย่างแพร่หลายที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น วัฒนธรรมพอดแคสต์ก็กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทั้งอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา สเปน ออสเตรเลีย บราซิล และประเทศใกล้ๆ อย่างจีนและอินเดีย ก็มีพอดแคสต์เช่นกัน ปัจจุบันทั่วโลกใบนี้มีพอดแคสต์มากกว่า 285,000 รายการ และมีกว่า 100 ภาษา

 

 

When

     เวลาไหนก็ได้

     แต่เวลานี้เราควรเปิดใจลองฟังพอดแคสต์ดูบ้าง หลายบริษัทในต่างประเทศเริ่มเห็นช่องทางการโฆษณาผ่านพอดแคสต์ที่มีผู้ฟังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง หลักฐานชัดๆ จาก Edison Research ที่รวบรวมผลสำรวจเกี่ยวกับพอดแคสต์มาให้เราดู โดยนับตั้งแต่ปี 2006 ที่มีคนฟังพอดแคสต์เพียง 11% และล่าสุดก็เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 2017 และยังสรุปว่าผู้ฟังพอดแคสต์จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะในเวลาเพียง 1 ปี ก็มีผู้ฟังเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24%

     โดยการฟังพอดแคสต์ยังติดอันดับ 3 ของสื่อประเภทเสียงที่คนอเมริกันวัย 13-34 ปีฟังมากที่สุดผ่านสมาร์ตโฟน (สูงกว่าวิทยุ) จากอินโฟกราฟิกด้านล่าง เราจะเห็นว่าสถิติการฟังพอดแคสต์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ข้อมูลจาก www.edisonresearch.com/wp-content/uploads/2017/04/Podcast-Consumer-2017.pdf)

 

 

Why

     มีเหตุผลมากมายที่เราควรลองฟังพอดแคสต์

     นอกจากการฟังพอดแคสต์จะเป็นทางเลือกใหม่ที่สะดวกและน่าสนใจของการเสพเนื้อหาแล้ว ยังมีบทความที่รวบรวมประโยชน์ของการฟังพอดแคสต์ ทั้งความรู้ในแขนงต่างๆ ที่เราจะได้รับ โดยที่ไม่กินเวลาขณะทำงานอื่นเลย ทั้งยังทำให้หลายชั่วโมงที่สูญเสียไประหว่างเดินทางกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เมื่อเราหันมาฟังพอดแคสต์ รวมทั้งการตระหนักรู้เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

     ประโยชน์ข้อหนึ่งที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ Buzzdrama คือการฟังพอดแคสต์เปรียบเสมือน ‘Brain Gym’ หรือการฝึกออกกำลังสมอง เพราะต่างจากการรับสารในรูปแบบอื่นๆ ที่เรามักทำเป็นประจำอย่างการอ่านบทความ (ซึ่งส่วนใหญ่คือการ ‘อ่านหัวข้อบทความ’ และ ‘ดูรูปประกอบ’ มากกว่า) การดูซีรีส์ หรือการดูยูทูบ เพราะการฟังสารผ่านพอดแคสต์นั้นเราต้อง ‘ฟัง’ เพียงอย่างเดียว ไม่มีสารในรูปแบบภาพ (visual) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สมองต้องใช้สมาธิในการจดจ่อกับเสียงเท่านั้น และใช้จินตนาการในการสร้างภาพในหัวให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ได้ยิน  

     ทั้งหลายทั้งปวง ข้อดีอันดับหนึ่งเลยคือมันฟรี!

 

 

รายการพอดแคสต์ยอดนิยม

     นิตยสาร Esquire ได้ทำการจัดอันดับพอดแคสต์ที่ดีที่สุดในปี 2017 สำหรับแฟนพอดแคสต์ หรือคนที่อยากลองฟังพอดแคสต์ โดยที่ติดอันดับก็มี ‘Pod Save America’ พอดแคสต์พูดคุยเรื่องการเมืองแบบฟังง่าย ตลก และทันข่าวสาร หรือพอดแคสต์เชิงทอล์กโชว์ Terrible, Thanks For Askingสัมภาษณ์คนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาในชีวิตด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ‘How Are You?’ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวเหล่านั้นก็สร้างกำลังใจและให้บทเรียนที่ดีกับผู้ฟัง

     นอกจากนี้ยังมีพอดแคสต์แนวโหดอย่าง ‘Homecoming’ ที่นำเสนอเรื่องสั้นแนวจิตวิทยาสยองขวัญในรูปแบบคล้ายๆ กับละครวิทยุ การันตีความสนุกจากบริษัทที่ผลิตรายการพอดแคสต์มากมายอย่าง Gimlet แถมยังได้รับเกียรติจากดาราซีรีส์ตลกตลอดกาลเรื่อง Friends อย่าง เดวิด ชวิมเมอร์ มาร่วมจัดรายการด้วย

 

 

     ไม่ใช่ว่าในไทยจะไม่มีพอดแคสต์กับเขาเลย เพราะจริงๆ แล้วก็มีพอดแคสต์ภาษาไทยให้ฟังกันอยู่บ้าง อย่าง Get Talks, Just ดู It, WiTcast, ยูธูป และ Omnivore ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการสื่อหรือเป็นนักเขียนกันอยู่แล้ว อย่าง Omnivore จัดโดยหนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา และแชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ทั้งสองนำประเด็นที่น่าสนใจรอบตัวมาปอกเปลือก เจาะทะลุไปถึงที่มาที่ไป ความหมายทั้งเชิงวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา อาจจะดูยาก แต่ฟังเพลินมาก และได้ประโยชน์มากด้วยเช่นกัน เพราะมีเหมือนกันที่ฟังอยู่เพลินๆ แต่รู้สึกตัวอีกทีเราก็กลายเป็นคนที่รู้เรื่องตำนานของเทพฮิดเดนพีเพิลในประเทศไอซ์แลนด์ไปเรียบร้อยแล้ว

     ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา คงสรุปได้ว่า ‘พอดแคสต์’ กำลังจะเป็นที่นิยมต่อไปในอนาคต และเราจะได้ฟังคอนเทนต์ใหม่ๆ จากหลากหลายรายการที่น่าสนใจ ตรงกับความสนใจของทุกกลุ่มผู้ฟัง แถมยังเจ๋งตรงที่การฟัง ‘พอดแคสต์’ เป็นการใช้หู ‘ฟัง’ แท้ๆ แต่เรากลับช่วยให้เราได้เปิดตา ‘พบ’ ประสบการณ์ใหม่ที่สร้างความบันเทิง แรงบันดาลใจ และได้ประโยชน์กับตัวเอง!

FYI
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X