×

เอกลักษณ์ทางดนตรีของผู้ชายมีหนวด เต๋อ-เรวัต พุทธินันท์ และเฟรดดี เมอร์คูรี

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • จุดเด่นนอกเหนือจากหนวดที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เรวัตยังมีวิธีการเขียนเพลงที่แยบยล เสียงร้องแหบเสน่ห์ ทั้งยังมีความสามารถในการเลือกเฟ้นศิลปินที่พูดได้ว่าเลือกคนไหนมา คนนั้นคือตัวจริง
  • เต๋อ เรวัต เขียนเพลงที่มีนัยสำคัญไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว, ดอกไม้พลาสติก, เจ้าสาวที่กลัวฝน, รักเธอมากกว่า, ตะกายดาว ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่มีแง่คิด และยังคงความเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้
  • เฟรดดีจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคเอดส์ ในปี 1991 หลังจากนั้นวง Queen ก็ไม่ได้รับความนิยมเหมือนในยุคที่เฟรดดียังอยู่อีกเลย แม้ว่าทางวงจะหานักร้องนำมาแทน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าความเป็นออริจินัลของเฟรดดีมิอาจลบล้างได้ง่ายๆ

     เอกลักษณ์ หรือ Identity หมายถึง จุดเด่นหรือลักษณะพิเศษที่มีเฉพาะบุคคล ซึ่งการที่ใครสักคนจะสร้างเอกลักษณ์ขึ้นมาเป็นสมบัติส่วนตัวนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไร บางคนก็เกิดมาพร้อมเอกลักษณ์เด่นที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร แต่บางคนพยายามแทบตาย กลับไม่สามารถสร้างความชัดเจน หรือทำยังไงไอ้คำว่าเอกลักษณ์ก็ยังไม่ปรากฏออกมาสักที

     ที่เกริ่นมาข้างต้นก็เพราะบังเอิญผมนั่งคิดอะไรเพลินๆ ขณะใช้เวลาทบทวนแทร็กต่างๆ ก่อนที่จะเข้าห้องอัดว่า ทำยังไงแทร็กพวกนี้ถึงจะออกมามีเอกลักษณ์มากที่สุด ซึ่งผมมักจะเรียกมันว่า ‘ออริจินัล’ (original) ถ้าแปลบ้านๆ ก็หมายถึง ทำยังไงให้เป็นของแท้ที่สุดนั่นแหละครับ ทีนี้พอความคิดมาสะดุดกับคำนี้ก็เลยเตลิดไปกันใหญ่ กลายเป็นว่านอกเหนือจากเอกลักษณ์ของเสียง การแต่งตัว การเดิน นอน นั่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราจะสรรหามาพูดกันนั้น มันมีเอกลักษณ์อะไรอีกไหมที่พูดถึงแล้วคนทั่วไปจะนึกถึงบุคคลนั้นพร้อมกัน

     แล้วคำว่า ‘หนวด’ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งตัว

     คนเเรกที่ผมอยากจะพูดถึงในบทความนี้คือ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงย่านอโศก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการดนตรีในบ้านเรา ส่วนอีกคนคือเฟรดดี เมอร์คูรี (Freddie Mercury) นักร้องนำวง Queen

 

 

เรวัต พุทธินันทน์

     เรวัตหัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ปี เขากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งวงดนตรีชื่อ Dark Eyes ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite ในพ.ศ. 2508-2509 พวกเขาเข้าประกวดในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พอเรวัตเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพ.ศ. 2510 เขาตั้งวง Yellow Red ร่วมกับเพื่อนๆ ชื่อวงตั้งตามสีเหลือง-แดงประจำมหาวิทยาลัย เพื่อนคนสำคัญในวงคือ ดนู ฮันตระกูล และจิรพรรณ อังศวานนท์

     จากนั้นเรวัตร่วมกับเพื่อนจากธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งวงดนตรี The Thanks รับเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ โดยเรวัตรับตำแหน่งร้องนำและคีย์บอร์ด โดยไปเป็นสมาชิกรับเชิญกับวง The Impossible ตามไนต์คลับต่างๆ

 

 

     หลังเรียนจบ เรวัตได้รับการชักชวนให้ร่วมวง The Impossible และเดินทางกับวงไปแสดงที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป ในตำแหน่งนักร้องนำและคีย์บอร์ด เมื่อวง The Impossible ประกาศยุบวงในพ.ศ. 2520 เขาได้ตั้งวง The Oriental Funk เล่นดนตรีฟังก์ร่วมกับวินัย พันธุรักษ์ หนึ่งในสมาชิกเก่าจากวง The Impossible โดยเล่นประจำอยู่ที่โรงแรมมณเฑียร และตระเวนเปิดการแสดงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้นเรวัตได้ศึกษาการเขียนเพลงและดนตรีเพิ่มเติมไปด้วย

     หลังจากจุดอิ่มตัวของวง The Oriental Funk ในปี 2526 เต๋อ เรวัต และไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เพื่อนจากจุฬาฯ ได้ร่วมกันก่อตั้งค่ายเพลงที่พลิกประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยคือ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เน้นผลิตงานที่เป็นออริจินัล ขายทั้งความสามารถและภาพพจน์ เปลี่ยนบทบาทยุคสมัยที่จากเดิมวงดนตรีจะนิยมเอาทำนองต่างประเทศมาใส่เนื้อภาษาไทย กลายเป็นการสร้างงานที่คิดใหม่ ทำใหม่ อาจจะมีการเลียนแบบทำนองต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็นับเป็นช่วงที่วงการเพลงไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ

 

เพลง เจ้าสาวที่กลัวฝน

 

     จุดเด่นนอกเหนือจากหนวดที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เรวัตยังมีวิธีการเขียนเพลงที่แยบยล และมีเสียงร้องแหบเสน่ห์ ทั้งยังมีพรสวรรค์ในการเลือกเฟ้นศิลปินที่พูดได้ว่าเลือกคนไหนมา คนนั้นคือตัวจริง นี่เป็นความสามารถที่ได้จากประสบการณ์โดยแท้ เพราะความที่เจ้าตัวผ่านงานมาหลายรูปแบบ หลายตำแหน่ง ทั้งยังออกทัวร์หลายๆ ประเทศ ทำให้มีมุมมองและฝีมือที่เรียกได้ว่าทะลุปรุโปร่ง

     ศิลปินที่มีชื่อเสียงจากมุมมองของเรวัตล้วนแต่เป็นศิลปินเบอร์ใหญ่แทบทั้งสิ้น อย่างเช่น ธงไชย แมคอินไตย์, นันทิดา แก้วบัวสาย, คริสติน่า อากีล่าร์, ฐิติมา สุตสุนทร, ใหม่ เจริญปุระ และวง Fly ศิลปินกลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในความดูแลก่อนจะอำลาวงการเพลงไทยอย่างไม่มีวันหวนกลับ

 

 

     เต๋อ เรวัต เขียนเพลงที่มีนัยสำคัญไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว, ดอกไม้พลาสติก, เจ้าสาวที่กลัวฝน, รักเธอมากกว่า, ตะกายดาว ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่มีแง่คิด และยังคงความเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้

     ผลงานสตูดิโออัลบั้ม 4 ชุดของเรวัต พุทธินันท์ ได้แก่ เต๋อ 1 (2526) มีเพลงฮิตอย่าง เจ้าสาวที่กลัวฝน, อยากรู้นัก อัลบั้ม เต๋อ 2 (2528) เพลงฮิตๆ อย่างเช่น ดอกไม้พลาสติก, มันแปลกดีนะ แต่เพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มนี้คือ บทเพลงเพื่อเด็ก อัลบั้ม เต๋อ 3 (2529) เพลงฮิตอย่างเช่น สองเราเท่ากัน, เมืองใหญ่เมืองนี้, ปากคน, คงจะมีสักวัน และอัลบั้มสุดท้าย ชอบก็บอกว่าชอบ (2530) อัลบั้มรวมเพลง โดยมี 2 เพลงที่เขียนขึ้นใหม่คือ ชอบก็บอกว่าชอบ และ อย่างน้อยก็คิดดี โดยเฉพาะเพลงหลังที่ผมประทับใจโดยส่วนตัว เพราะเพลงนี้มีอายุ 30 ขวบปีไปแล้ว แต่ยังคงความทันสมัยในเชิงโปรเกรสซีฟอย่างน่าทึ่ง (ขอแนะนำว่าควรลองฟัง) ได้ความอย่างไรบอกผมด้วยนะครับ

 

https://www.youtube.com/watch?v=x8MGKRXsurA

เพลง ชอบก็บอกว่าชอบ

 

เฟรดดี เมอร์คูรี

     อีกคนที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ เฟรดดี เมอคูรี (Freddie Mercury) นักร้องนำวง Queen วงร็อกจากเกาะอังกฤษ กลุ่มนักศึกษาศิลปะหัวก้าวหน้าที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวแง่คิดทางสังคม การเมือง การใช้ชีวิต การเปรียบเทียบ และการประชดประชัน

     แน่นอนว่าหลายคนในยุคนี้อาจไม่คุ้นหูกับชื่อวง Queen เท่าไรนัก เพราะหลังจากที่เฟรดดีจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคเอดส์ในปี 1991 จากนั้นวง Queen ก็ไม่ได้รับความนิยมเหมือนในยุคที่เฟรดดียังอยู่อีกเลย แม้ว่าทางวงจะหานักร้องนำมาแทน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าความเป็นออริจินัลของเฟรดดีมิอาจลบล้างได้ง่ายๆ

 

Photo: www.freddiemercury.com

 

     เพลงฮิตที่กลายมาเป็นตำนานชนิดที่เปิดแล้วใครไม่รู้จักอาจจะถูกพิพากษาด้วยหางตาคือ Bohemian Rhapsody (1975) เพลงแนวโอเปราร็อกที่มีไลน์การร้องประสานเสียงที่น่าทึ่ง ผู้คนต่างตีความหมายกันไปหลากหลาย บ้างก็ว่าสื่อตรงๆ ถึงนักโทษประหารที่สั่งเสียกับแม่ บ้างก็ว่าเฟรดดีแต่งเพลงนี้ตอนกำลังเมายา บ้างก็ว่าแต่งตอนสิ้นหวัง เพราะรู้ตัวว่าเป็นเอดส์ แต่จริงๆ ผู้แต่งต้องการสื่ออะไรไม่มีใครรู้ได้ และถึงอย่างนั้น เพลงนี้ถือเป็นสุดยอดประวัติศาสตร์ของวง Queen เลยทีเดียว

     เพลงนี้แบ่งออกเป็น 4 องก์ ตามลักษณะของละครเวทีที่เราเข้าใจกันนั่นล่ะครับ โดยในองก์ที่ 4 เป็นไคลแมกซ์ของโอเปราบทนี้ เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปด้วยการตัดพ้อต่อโชคชะตาชีวิตตัวเอง ในช่วงประสานเสียงกลางเพลงพูดถึงฉากที่เปรียบเปรยการทะเลาะกับความคิดของตนเอง มีคำที่ใช้สื่อสารถึงพระเจ้า และคำเปรียบเปรยถึงปีศาจ เหมือนคนที่สับสนอยู่ในภวังค์ และจบการตัดสินด้วยการเปลี่ยน time signature ของเพลงเป็น shuffle กระชากอารมณ์ให้กลับมาโยกหัว (เหมือนในฉากหนึ่งที่นำมาตัดเป็นทีเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Wayne ‘s World (1992) และจบลงด้วยท่อนเปียโนพร้อมกับโปรยคำร้องตอนจบว่า “Any Way The Wind Blows” เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า สุดท้ายแล้วชีวิตก็ต้องเดินต่อไป เอ็งกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนะเว้ย

     สาเหตุที่ยกตัวอย่างเพลงนี้ เพราะผมเคยนำเพลง Bohemian Rhapsody ไปประกวดดนตรีสตริงคอมโบของ Yamaha ซึ่งเป็นยุคที่วงแจ๊ซครองเวที และวงร็อกไม่ค่อยชนะ แต่การนำเพลงนี้มาใช้ประกวดในตอนนั้นมันได้ผล!

 

เพลง Bohemian Rhapsody

 

     ขณะที่เฟรดดียังมีชีวิตอยู่ เขาได้สร้างงานที่มีคุณค่าและเขียนเพลงฮิตไว้มากมาย อาทิ Somebody To Love (1976) ที่มีการประสานเสียงสวนกันไปมาตามสไตล์ของวง Don’t Stop Me Now (1979) พูดถึงยาเสพติดที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท โดยเปรียบเปรยสภาพความหลอนได้อย่างน่าทึ่ง Another One Bites The Dust (1980) เพลงที่เขียนโดยมือเบสของวง โดยที่ไมเคิล แจ็คสัน เป็นคนสำคัญที่โน้มน้าวให้วงปล่อยเป็นซิงเกิลแล้วฮิตไปทั่วโลก

     และอีกสองเพลงที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะปัจจุบันกลายเป็นเพลงอมตะไปแล้วคือ We Will Rock You (1977) เป็นเพลงที่เอาไว้เปิดบิลด์อารมณ์ โหมโรงชนิดที่เรียกว่าชุดใหญ่ไฟกะพรึบกะพรือ ปลุกใจกันขนานแท้ และเพลง We Are The Champion (1977) ที่เปิดให้กำลังใจและปลอบขวัญนักกีฬาทั่วโลก ซึ่งถ้าเพลงนี้ไม่ถูกเขียนขึ้นมา ผมก็ไม่รู้ว่าโลกใบนี้จะใช้เพลงอะไรที่เข้าข่ายมาปะทะได้อย่างสมศักดิ์ศรี และถ้าไม่มีเพลงนี้ แฟนบอลอังกฤษคงไม่ฟิน เพราะดูบอลจบแล้วไม่รู้จะร้องเพลงอะไร

 

Photo: www.freddiemercury.com

 

     นอกเหนือไปจาก ‘หนวด’ สิ่งสร้างเอกลักษณ์ทางกายภาพที่ทั้งสองคนมีเหมือนกันแล้ว ความสามารถและผลงานที่ทั้งสองคนสร้างไว้ยังส่งผลต่อวงการดนตรีอย่างมีนัยสำคัญ และอย่างสุดท้ายที่ทั้งสองคนเหมือนกัน ทั้งยังเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่ามันเร็วเกินไป คือการจากลาโลกใบนี้ไปก่อนวัยอันสมควร

     สิ่งที่ผมเสียดายคือพัฒนาการของวงการเพลงไทยและวงการเพลงโลกเดินช้าลง และมีนัยเปลี่ยนไปในบางมุม ถ้าวันนี้พวกเขาทั้งสองยังอยู่บนโลก อาณาจักรของเสียงเพลงและประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพวกเราคงจะมีอะไรสนุกๆ มีเป็นอารยะขัดขืนหน่อยๆ แต่อร่อยด้วยอรรถรสที่ดีทางหู ส่งสารให้ชาวโลกได้เพลิดเพลินและปรับใช้กับชีวิตต่อไป ยกระดับวงการเพลงให้มีอะไรแปลกใหม่ต่อยอดกันไปอีกอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X