×

Palette อัลบั้มใหม่ของ IU นักร้องสาวที่พิสูจน์ตัวเองจนมีวันนี้

14.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในอัลบั้มนี้ไอยูแต่งเพลงเองหลายเพลง แถมมีนักร้องหนุ่มๆ มาช่วยลงเสียงอีกสองคน คนแรกคือจีดรากอน จากวง Bigbang อีกหนุ่มคือโอฮยอก จาก Hyukoh วงอินดี้เกาหลีที่เพลงดีมากๆ
  • ถ้าใครเคยฟังเพลงของไอยูมาพอประมาณก็อาจจะเคยได้ยินเธอร้องมาแทบทุกแบบ ตั้งแต่น่ารักสดใส เสียงเต็มปกติ หรือดิวาองค์ลง ร้องโน้ตสูงๆ ยาวๆ หลายตัวติดกัน ไม่ก็ออกไปสายมิวสิคัลแจ๊ซหรืออาร์แอนด์บีไปเลย แน่นอนว่าเสียงเธอเป็นจุดเด่นที่สุดของอัลบั้มนี้
  • เพลง Palette พูดถึงกระบวนการเติบโตของตัวเธอเองจากสมัยก่อนมาจนถึงตอนนี้ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป เข้าใจทั้งตัวเองและวงการเพลงได้มากขึ้น (และน่าจะ ‘ช่างแม่ง’ ได้มากขึ้นด้วย)

 

     ประกาศตัวก่อนนะครับว่าผมเป็น Uaena (แฟนคลับของไอยู) ดังนั้นน่าจะมีลำเอียงกันบ้างกับการเขียนถึงอัลบั้มนี้ และคงจะมีข้อมูลของไอยูมาเล่ามากกว่าเขียนแห้งๆ จากการฟังอย่างเดียว

 

     ไอยู หรือ อีจีอึน นักร้องสาวจากเกาหลีใต้คนนี้ฝ่าฟันมาจนถึงอัลบั้มที่ 4 แล้ว ด้วยวัยเพียง 24 ปีในขณะนั้น (หรือ 25 ปี ถ้านับแบบเกาหลี) จากนักร้องสาวโนเนมที่ไปออกรายการโชว์ร้องเพลงแล้วโดนแฟนๆ กลุ่มบอยแบนด์ตะโกนด่าว่า ‘ยัยอ้วน’

 

 

     จนถึงวันที่ดังเป็นพลุแตกจากเพลง Good Day (2010) และทำให้เธอได้ไปร่วมงานกับคนเก่งๆ นับไม่ถ้วน เลยเถิดไปเป็นนักแสดงให้กับซีรีส์ดังๆ อีกหลายเรื่อง ในที่สุดไอยูก็มีอัลบั้มสุดยอดอย่าง Modern Times (2013) ที่ผมคิดว่าเป็นมาสเตอร์พีซของตัวเธอเอง

      และถึงแม้ว่าจะเกิดมาจากสายไอดอล แต่ถ้าจัดกลุ่มจริงๆ ตอนนี้ไอยูถือได้ว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ตัวจริงคนหนึ่งในสายป๊อปของเกาหลีเลยทีเดียว

 

เพลง Good Day จากอีพีอัลบั้ม Real (2010)

 

     ไอยูกลับมากับอัลบั้มชื่อ Palette (2017) ที่เจ้าตัวบอกว่าเลือกชื่อนี้เพราะชอบจานสีมากๆ มากเสียจนเวลาวาดรูปเธอจะชอบสีต่างๆ ที่ผสมปนๆ เหลืออยู่ในจานสี มากกว่ารูปที่วาดไปเสียอีก

 

 

     ในอัลบั้มนี้ไอยูแต่งเพลงเองหลายเพลง ทั้งเนื้อร้องและทำนองก็มีการ collaboration กับนักแต่งเพลงอีกมากมาย แถมมีนักร้องหนุ่มๆ มาช่วยละเลงสีลงเสียงอีก 2 คน ซึ่งเป็นแนวอาวุธหนักทั้งคู่ คนแรกคือจีดรากอน จากวง Bigbang มาช่วยแรปในเพลงไตเติลแทร็กอย่าง Palette อีกหนุ่มคือโอฮยอก จาก Hyukoh วงอินดี้เกาหลีที่เพลงดีมากๆ (และกำลังจะมาแสดงที่บ้านเรา อย่าพลาดเลยนะ) มาร้องคู่กับไอยูในเพลง Can’t Love You Anymore ซึ่งทั้งสองเพลงที่มีแขกรับเชิญนี้ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของอัลบั้ม

 

เพลง Palette Feat.G-Dragon จากอัลบั้ม Palette (2017)

 

     เมื่อได้ฟังครบทั้ง 10 เพลง ถ้าให้เทียบเป็นจานสีอย่างที่เธอว่า อัลบั้ม Palette ก็คงเป็นจานสีที่สวย มีสีหลากหลาย สดใสบ้าง หม่นๆ บ้าง ไม่พาสเทลจัดจ้าน แต่ก็มีส่วนสีจืดๆ ฝืดๆ รวมอยู่ด้วย ในขณะเดียวกัน ความเป็นจานสีก็ออกจะเลอะเทอะ มีความไม่กลมกลืน และมีการแบ่งเป็นส่วนๆ อยู่ในตัว

     ถึงแม้จะมีความแตกต่าง แต่ทุกๆ เพลงในอัลบั้มมีสิ่งสำคัญที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือการยึดโยงไว้ด้วยเสียงร้องและการ delivery ขั้นเทพของไอยู ซึ่งถ้าใครเคยฟังเพลงของเธอมาพอประมาณก็อาจจะเคยได้ยินไอยูร้องมาแทบทุกแบบ ตั้งแต่น่ารักสดใส เสียงเต็มปกติ หรือดิวาองค์ลง ร้องโน้ตสูงๆ ยาวๆ หลายตัวติดกัน ไม่ก็ออกไปสายมิวสิคัลแจ๊ซหรืออาร์แอนด์บีไปเลย แน่นอนว่าเสียงเธอเป็นจุดเด่นที่สุดของอัลบั้มนี้ เด่นดีจริงๆ จนบางครั้งผมแอบจินตนาการว่า อยากให้มีประกวดร้องเพลงที่จับเอาไอยูมาเจอน้องเพลง ต้องตา จากวง Plastic Plastic ที่ผมคิดว่าเสียงดีสูสี แบบสู้กันได้แน่ๆ

 

เพลง Dlwlrma จากอัลบั้ม Palette (2017)

 

     อัลบั้มนี้ไม่ยาวเลย 10 เพลงในเวลา 39 นาทีเท่านั้น ผมอยากบรรยายอารมณ์ของอัลบั้มนี้ว่าเหมือนถูกผลักไปๆ มาๆ จากมุมหนึ่งไปอีกมุมของห้องที่ไม่กว้างมาก แต่ก็ยังเป็นมุมที่สีสันชัดเจน เปิดอัลบั้มมาด้วยเพลงป๊อปสดใสๆ จังหวะสนุกสนาน เปียโนรัวๆ อย่างเพลง Dlwlrma ชื่อเพลงนี้เอามาจากอินสตาแกรมของไอยู อันได้มาจากการพิมพ์คำว่า ‘อีจิกึม’ โดยไม่กดเปลี่ยนภาษาบนคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นการเล่นคำจากชื่อตัวเอง จากคำว่า ‘อึน’ ที่แปลว่าเงิน เป็นคำว่า ‘กึม’ ที่แปลว่าทอง เพลงนี้คือสีที่สดใสที่สุดแล้วในอัลบั้มนี้

     ต่อจากเพลงสดใส เรามาเจอเพลงแนวสโลว์กรู๊ฟอย่าง Palette ที่พูดถึงกระบวนการเติบโตของตัวเองจากสมัยก่อนมาจนถึงตอนนี้ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป เธอเข้าใจทั้งตัวเองและวงการเพลงได้มากขึ้น ทั้งยังรู้แล้วว่าเราจะไม่มีวันเข้าใจอะไรได้ทุกอย่าง (และน่าจะ ‘ช่างแม่ง’ ได้มากขึ้นด้วย) ซึ่งไอยูมีการอ้างถึงคอรินน์ ไบลีย์ เร (Corinne Bailey Rae) ศิลปินคนโปรดของเธอด้วยว่า ยังไงก็ยังชอบเพลงของคอรินน์อยู่เหมือนเดิม แม้ว่าตัวเธอเองจะโตขึ้นก็ตาม ส่วนเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มก็มีทั้งอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปตื๊ดๆ เบาๆ โยกได้เพลินๆ ประมาณเพลงของน้องอิ๊งค์ วรันธร ไม่มีอะไรโหดร้ายหรือเต้นไฟแลบมาให้ตกใจแต่อย่างใด

 

เพลง Ending Scene จากอัลบั้ม Palette (2017)

 

     ถ้าเราเดินลุยจานสีทางเสียงของไอยูต่อไปก็จะเจอเพลงที่ผมชอบสุดในอัลบั้มนี้คือ Ending Scene เสียงร้องสำเนียงแสนเศร้าคลอไปกับเสียงเปียโน มีเครื่องสายเสริมเข้ามาในจังหวะสำคัญเพื่อส่งเสียงร้องและดึงอารมณ์เพลงให้เต็มตื้น ถ้าคุณกำลังจะกดฟังเพลงนี้ผ่านทาง Apple Music หรือสตรีมมิงต่างๆ ผมขอให้เปลี่ยนใจแล้วไปฟังในยูทูบแทน เพราะมิวสิกวิดีโอเพลงนี้มีซับไตเติลภาษาอังกฤษให้อ่านตามกันได้ ถึงแม้ชื่อเพลงอาจพอเดาได้ว่าน้ำตาท่วมจอแน่ๆ แต่ผมคิดว่าถ้าคุณเข้าใจว่าเพลงนี้พูดถึงอะไร ก็น่าจะซาบซึ้งได้มากกว่าการฟังเฉยๆ

 

 

     เมื่อก่อนผมไม่เคยเชื่อเพลงช้าๆ บัลลาด ปาดน้ำตา ร้องอารมณ์เศร้าๆ แบบนี้ของเพลงเกาหลีเลยนะ แต่พอลองเปิดใจฟังก็พอเข้าใจได้ว่าเขาต้องการส่งสาส์น ส่งอารมณ์อย่างเต็มที่ ขนาดที่ว่าเราเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ฟังแค่เสียงร้องและทำนองยังรับรู้ได้ว่าเพลงนี้มันเศร้าขนาดไหน แต่ใช่ว่าเพลงช้าเศร้าเต็มสูตรแบบนี้จะดีเสมอไป ในอีกมุมมันกลายเป็นจุดอ่อนของอัลบั้มนี้เช่นกัน เพราะเมื่อมีมากเกินไปก็จะกลายเป็นส่วนที่สีมันจืดๆ ฝืดๆ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น

 

เพลง Through The Night จากอัลบั้ม Palette (2017)

 

     อัลบั้มนี้มี 10 เพลง และตั้งแต่เพลงที่ 7-10 คุณจะไม่เจอเพลงเร็วเลย นั่นทำให้ครึ่งหลังของอัลบั้มดูอ่อนแรงไปสักหน่อย ถึงจะมีเพลงที่ตัดเป็นซิงเกิลอย่าง Through The Night ที่พอมีจังหวะจะโคนมาประคอง รวมทั้งเพลงช้าดีๆ อย่าง Dear Name ที่มีท่อนจบแบบโหมโรงหน่อยๆ มาช่วยปิดอัลบั้ม แต่พอดีผมเป็นคนที่ชอบให้อัลบั้มปิดแบบ on a high มีพลังล้นๆ มากกว่า เลยมองว่าอัลบั้มมันปิดแบบเหนื่อยๆ เนือยๆ ไปหน่อย

 

 

     ก็คงพอสรุปได้ว่าจานสีอัลบั้มนี้ประสบผลพอสมควรตามที่เจ้าของอัลบั้มอยากให้เป็น เพลงฟังง่าย สบายๆ ไม่มีอะไรหนวกหู ถึงแม้จะเสียดาย อยากให้อัลบั้มมัน ‘ตื่นเต้น’ กว่านี้หน่อยก่อนจบ แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความดีงามลงไปสักเท่าไร

     สำหรับใครที่ไม่เคยฟังเพลงของไอยู ผมว่าการได้ทดลองฟังในยุคสตรีมมิงแบบไม่เสียสตางค์ก็เป็นเรื่องดี อย่างน้อยลองเปิดใจฟังเสียงร้องเทพๆ ของเธอดู ยิ่งถ้าได้ดูมิวสิกวิดีโอประกอบไปด้วยก็คงเลื่อนฟังเพลงต่อๆ ไปได้ไม่ยาก และมีมากพอให้เปิดฟังวนไปได้ทั้งวัน

     ส่วนผมคงกดฟังอัลบั้มนี้เรื่อยๆ ตามสมควร ถ้าชัฟเฟิลมาโดนก็คงไม่กดข้าม

     แต่ตอนนี้ชักอยากกลับไปฟัง Modern Times อัลบั้มมาสเตอร์พีซของเธอเสียแล้ว

FYI

I and U become one by music. คือที่มาของชื่อ IU

Discography:

     Growing Up (2009)
     Last Fantasy (2011)
     Modern Times (2013)
     Palette (2017)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X