×

ทำความรู้จักกับโซโลอัลบั้มของ ‘น้อย วงพรู’ มากกว่า ‘เพลงป๊อป’ คือเชื่อมโยงกับผู้คน

12.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • น้อยเล่นดนตรีไม่เป็นแม้แต่ชิ้นเดียว เขาให้เหตุผลว่าขี้เกียจ และฝึกเล่นกีตาร์หรือเปียโนทีไรมักจะง่วงเสมอ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังสามารถคิดและแต่งเพลงในพาร์ตของดนตรีได้ด้วยวิธีการสื่อสารทางเสียง เขาจะเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีตามจังหวะและทำนองที่ตัวเองคิดได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงไวโอลิน ทรอมโบน เชลโล ฯลฯ ด้วยเครื่องอัดเสียงแบบพก ซึ่งยังเป็นรุ่นเก่าที่บันทึกผ่านเทปคาสเซตต์อยู่เลย!
  • น้อยได้รับอิทธิพลการแต่งเพลงมาจากนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะนักแต่งเพลงระดับตำนานอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ ที่สร้างผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของ สตีเวน สปีลเบิร์ก และผลงานทุกภาคของ Star Wars ฯลฯ อีกหนึ่งคนที่น้อยชอบคือ เอนนิโอ มอร์ริโคเน นักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์โด่งดังมากกว่ามากกว่า 500 เรื่อง

     เดินเข้าไปในตึกเก่าย่านภูเขาทอง ประเมินจากสายตาน่าจะอายุเกินกว่า 50 ปี ตอนนี้มันถูกบูรณะเสียใหม่จนกลับมาสวยงามและแข็งแรงอีกครั้ง นี่คือบ้านที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ซึ่งเขาใช้อยู่อาศัยมากว่า 5 ปีแล้ว ขณะที่ด้านในของอาคารก็เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านสไตล์ ‘แอนทีก’ ในแบบที่เต็มไปด้วยสไตล์เฉพาะตัว

     ใครที่พอจะรู้จักกับน้อยสักหน่อยจะทราบว่าเขาชื่นชอบ ‘ของเก่า’ ของโบราณร่วมสมัยเอามากๆ และเขามักจะให้สัมภาษณ์ตามสื่ออยู่บ่อยๆ ว่าตัวเองเกิดมาในช่วงเวลาที่ผิดพลาด

     “น้อยน่าจะเกิดมาเมื่อสักร้อยปีที่แล้วมากกว่า น้อยอยากมีชีวิตแบบในสมัยก่อน ไม่ใช่ในสมัยนี้ มันก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งให้น้อยอยากสร้างโรงแรมในย่านเมืองเก่า แล้วก็ย้ายจากสาทรมาอยู่ในแถบภูเขาทอง ในเมื่อมันยังไม่มีไทม์แมชชีน ถ้าอย่างนั้นน้อยก็ต้องใช้จินตนาการของตัวเอง และพาครอบครัวมาอยู่ในตึกร้อยปีแบบนี้” เขายิ้มบอกอย่างอารมณ์ดี

     “เหมือนเวลาทำหนังน่ะครับ แม้แต่สวิตช์ไฟก็ต้องใช่ บ้านเราใช้ ‘แชนเดอเลียร์’ น้อยอยากอยู่เหมือนกับคนในสมัยก่อน ในบ้านไม่มีไฟนีออนฝังตรงไหนสักที่เลย แต่ไม่ว่าเราจะอดทนยังไง อยากให้เหมือนสมัยก่อนยังไง แต่ก็ต้องมีแอร์นะ ไม่อย่างนั้นก็ร้อนตาย แต่เราก็พยายามสร้างอีกโลกหนึ่งสำหรับเรา โลกที่เราแฮปปี้ที่จะอยู่กับมัน” น้อยเล่าถึงอีกด้านของชีวิตในวันที่เขาเลือกจะนัดคุยกับ THE STANDARD (อีกครั้ง) ที่บ้านของตัวเอง ในขณะที่เขาเล่าถึงเรื่องความฝันและวิถีความเป็นอยู่ อีกเรื่องที่เราต้องคุยกับน้อยต่อคือความฝันทางด้านดนตรี ซึ่งอัลบั้มเดี่ยวที่ซุ่มทำมานานใกล้จะได้เวลาคลอดเต็มที ความจริงเขาคุยเรื่องงานดนตรีอัลบั้มใหม่กับเรามาหลายครั้งแล้ว ครั้งหนึ่งน้อยเคยทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่แน่เขาอาจจะใช้โถงชั้นล่างของบ้านทำเป็นคอนเสิร์ตเปิดตัวโซโลอัลบั้มของตัวเองในอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ เชื่อเถอะว่ามันจะเป็นคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแปลกตาอย่างแน่นอน

 

     (อ่านบทสัมภาษณ์ ตอนที่ 1 และ 2 ของน้อย วงพรู ได้ตรงนี้)

 

ตอนที่คุณเริ่มต้นคิดจะทำงานอัลบั้มเดี่ยว มันเริ่มต้นขึ้นตอนไหน นับตั้งแต่ตอนที่วงพรูคิดจะแยกวงเลยหรือเปล่า เพราะอย่างที่รู้ว่าตอนนั้นคุณมีเพลงอย่าง Empty แล้ว (อยู่ในอัลบั้มใหม่)

     คิดเลยฮะ เพราะน้อยรู้สึกว่ายังมีเพลงดีที่อยากให้คนฟัง เรายังมีอะไรที่อยากมอบให้แฟนเพลงมากกว่านี้ สิ่งที่น้อยพอจะมีพรสวรรค์คือการทำเพลงกับการดีไซน์ อย่างที่น้อยสร้างโรงแรม The Siam และกับงานแสดงบางอย่าง นอกนั้นน้อยก็ไม่เก่งอะไรอีกแล้ว น้อยคิดว่ามันน่าเสียดายมากถ้าเรามีพรสวรรค์ในเรื่องไหนแล้วไม่ยอมใช้ ซึ่งมันก็แล้วแต่คนคิดนะ บางคนอาจจะคิดว่าเราไม่เก่งก็ได้ (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยเรายังรู้สึกว่าตัวเองมีสิ่งที่ชอบทำ แล้วเราก็ทำมันได้โอเคในระดับหนึ่ง (คิด) แล้วเราก็มี ‘แฟนเบส’ ด้วย (fanbase) การมีแฟนเบสนี่มันยากนะฮะ

     การเป็นศิลปิน การไม่เหมือนใครเลยมันไม่ยากหรอก คือใครๆ ก็อาจจะสามารถหยิบกีตาร์มาร้องเพลงได้ แต่การดีดกีตาร์ ร้องเพลง ทำเพลงออกมาแล้วสามารถสร้าง fanbase หรือ follower ได้ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากจริงๆ น้อยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีตรงนี้ แล้วถ้าเกิดน้อยยังมีเพลงที่ดีในจิตใจ น้อยก็ยังอยากทำเพลงออกมาให้พวกเขาฟัง

     ฉะนั้นตั้งแต่ตอนที่วงพรูคุยกันเมื่อสิบปีก่อนว่าจะยุบวง ตอนนั้นน้อยก็คิดทันทีนะว่า ถ้าอย่างนั้นน้อยก็คงต้องเป็นนักร้องโซโลแล้ว (ศิลปินเดี่ยว) ซึ่งมันก็ยากด้วยนะฮะ

     อีกอย่างน้อยก็เข้าใจนะ เวลามีคนถามว่าพี่จะออกอัลบั้มอีกหรือเปล่า พอบอกว่า มีครับ แต่จะออกเป็นอัลบั้มเดี่ยว ก็จะมีคนบอกกลับว่า โธ่เอ๊ย ไม่ได้ออกอัลบั้มกับวงพรูแล้วเหรอ น่าเสียดายนะ (หัวเราะ)

     แต่ความจริงเพลงใหม่ในอัลบั้มโซโลก็ไม่ได้ต่างจากเพลงในสมัยเป็นวงพรูสักเท่าไรนะฮะ คือดนตรีอาจจะเปลี่ยนนิดหน่อย ส่วนเนื้อหาอาจจะผู้ใหญ่ขึ้น เพราะตอนนี้เราก็เป็นคุณพ่อแล้ว เรามีประสบการณ์มากขึ้น แต่อารมณ์ของเพลงมันก็ยังร้าวๆ เหมือนเดิม คือเพลงที่พูดเกี่ยวกับชีวิต การให้กำลังใจ การจะต้องหนี (escape) การมีความฝันที่จะหนีไปในที่ที่สวยงาม อัลบั้มนี้ก็มีหลายเพลงที่เกี่ยวกับตรงจุดนั้นนะฮะ

     แต่สิ่งที่มันยากและไม่สามารถจะทำได้เหมือนสมัยก่อนก็คือ การที่นักร้องเดี่ยวไม่สามารถจะสร้างพลังเหมือนร็อกแบนด์ได้เวลาอยู่บนเวที ผมว่าตรงนั้นมันยาก เคมีของคน 4 คนที่ต้องอยู่ด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน มีไฟแรงเท่ากันทุกเวที สิ่งเหล่านี้มันพิเศษจริงๆ และนานๆ ทีถึงจะได้เห็นศิลปินทำได้

     แต่การกลับมาร้องใหม่ น้อยก็มีวงใหม่ของน้อย ซึ่งวงเราในตอนนี้ก็พยายามกันที่สุดนะฮะ แต่เคมีเวลาเล่นดนตรีด้วยกันมันเป็นสิ่งที่อธิบายยาก แต่ในเวลาเดียวกันกับวงใหม่ เวลาที่เราเล่นเพลงฮิตๆ ของวงพรู น้อยก็ไม่ได้บอกนะว่าคุณจะต้องเล่นให้เหมือนสมัยก่อน เพราะการเล่นดนตรีมันไม่ควรจะเป็นการพยายามก๊อบปี้ให้เหมือนต้นฉบับ กีตาร์ก็ต้องเล่นให้เหมือนสุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) ไลน์เบสก็ต้องให้เหมือนยอด (ยอดเถา ยอดยิ่ง) กลองให้เหมือนคณิณ (คณิณญาณ จันทรสมา) ทุกวันนี้น้อยก็ชอบที่เห็นพวกเขาใส่อะไรใหม่ๆ ลงไปในเสียงเพลง… แต่เขาก็ยังต้องรักษาวิญญาณของมันนะ ดนตรีมันก็สามารถเล่นออกมาได้หลายแบบ เพียงแต่วิญญาณของเพลงนั้นจะต้องไม่หายไป… ซึ่งน้อยก็สนุกกับวงมากในตอนนี้

 

คุณมักจะเล่าเรื่องการแต่งเพลงด้วยตัวเอง ในเมื่อเล่นเครื่องดนตรีไม่เป็น แล้วคุณมีวิธีการแต่งเพลงอย่างไร

     เมื่อก่อนมันง่ายกว่าตอนนี้เยอะเลย เพราะเมื่อก่อนน้อยมีเพื่อนร่วมวงอีก 3 คน หน้าที่ของน้อยคือแค่คิดทำนองแล้วร้องให้สุกี้กับยอดฟัง แล้วเขาก็เอากีตาร์มาหาคอร์ด มาใส่ในทำนอง จากนั้นก็ซ้อมวงด้วยกัน ช่วยกันคิดว่าจะอะเรนจ์เพลงออกมายังไง เข้าห้องอัด พออัลบั้มออก น้อยก็เต็มที่กับการเพอร์ฟอร์ม

     แต่คราวนี้กับอัลบั้มโซโล น้อยต้องคิดเอง ต้องอะเรนจ์เองหมดเลย ซึ่งไม่ใช่แค่คิดทำนอง ความต่างอีกอย่างคือในอัลบั้มนี้มีเพลงออร์เคสตราเยอะมาก โดยเฉพาะเพลงที่น้อยร้องกับแม่ (กมลา สุโกศล) น้อยต้องคิดทั้งทำนอง โน้ตของไวโอลิน ทรอมโบน เชลโล ฯลฯ แยกเป็นชิ้นเลย อารมณ์เหมือนกับวาทยากรที่ออกแบบโครงสร้างทั้งหมดของเพลงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกับเพลงร็อก น้อยก็ต้องมีไอเดียว่าริฟฟ์กีตาร์จะเป็นประมาณไหน ทุกอย่างน้อยก็ต้องเริ่มต้นคิดด้วยตัวเองหมด ซึ่งก็ยากเหมือนกัน

     ช่วงแรกๆ น้อยพยายามมองหาโค-โปรดิวเซอร์ที่มีทฤษฎีดนตรี เพราะน้อยทำดนตรีเองไม่ได้ คือน้อยไม่ยอมหัดเล่นกีตาร์ (หัวเราะ) เราขี้เกียจไง เลยไม่ยอมหัดเล่นดนตรี

 

 

คนไม่ยอมหัดเล่นดนตรีนี่คิดไลน์ต่างๆ ของดนตรีออกมาอย่างไร เล่าให้เห็นภาพหน่อยได้ไหม

     คือเรามีไอเดียอยู่ในหัวหมดแล้วทั้งทำนอง เสียงกีตาร์ ไวโอลิน เชลโล ทรอมโบน ทรัมเป็ต ฯลฯ เพียงแต่เราเล่นดนตรีไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) ส่วนมากน้อยเลยจะมีเครื่องอัดเทปคาสเซตต์ไว้อัดทำนอง แล้วถ้าน้อยเกิดมีไอเดีย เสียงเชลโลควรจะเป็นแบบไหน น้อยก็จะกดปุ่มอัดเสียงแล้วร้องเป็นเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้น (น้อยสาธิตวิธีทำเสียงของทรัมเป็ต ไวโอลิน เป็นตัวอย่างให้ฟัง) คือแทนที่จะเล่นดนตรี แต่น้อยจะใช้วิธีอัดเสียงเก็บเอาไว้หมด

     น้อยได้รับอิทธิพลจากนักดนตรีที่ทำสกอร์ประกอบภาพยนตร์ ซึ่งคนที่ทำสกอร์ระดับสุดยอดอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ (ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่น Jaws,  Jurassic Park, E.T. the Extra-Terrestrial, Schindler’s List, Saving Private Ryan, Seven Years in Tibet, Star Wars, Superman, Harry Potter ฯลฯ) หรือ เอนนิโอ มอร์ริโคเน (นักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์โด่งดังมากกว่า 500 เรื่อง เช่น Cinema Paradiso, Once Upon a Time in the West, Once Upon a Time in America, The Mission, The Untouchables, The Good, the Bad and the Ugly, The Thing และงานหนังของ เควนติน ตารันติโน ทั้ง Kill Bill 1-2, Inglourious Basterds, Django Unchained) คนพวกนี้เขาเหมือนกับโมสาร์ตสมัยนี้นะฮะ ที่คอยเป็นคอนดักเตอร์คิดไลน์ดนตรีให้กับวงออร์เคสตรา เพียงแต่คนพวกนี้เขาเขียนโน้ตได้ แต่น้อยเขียนไม่ได้ (หัวเราะ) ซึ่งน้อยจะเคารพคนพวกนี้มาก

     คอนดักเตอร์เก่งๆ พวกนี้ เวลาจะแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เขาก็จะเริ่มต้นจากดูภาพหนังที่ผู้กำกับถ่ายมาให้ จากนั้นเขาก็จะเริ่มเขียนสกอร์เพลงให้เข้ากับภาพหรือเนื้อหาของหนัง ซึ่งก็คล้ายกับน้อยที่ทำดนตรีจากสตอรีของเพลง อย่างเพลงส่วนมากของวงพรูเองก็มักจะเป็นสตอรีเกี่ยวกับคนโน้นคนนี้ พอเรารู้เนื้อหาของเพลง เราก็จะนึกไอเดียดนตรี เอาเพลงประกอบใส่เข้าไปในนิทานหรือเนื้อหาที่น้อยคิดอยู่ในหัว

     แต่ในเมื่อน้อยเล่นดนตรีไม่ได้ เสียงทุกอย่างมันรวมกันอยู่ในเทปคาสเซตต์ ฉะนั้นก็ต้องมีใครสักคนมาช่วยน้อยในเรื่องดนตรีจริงๆ  

     ช่วงแรกๆ น้อยก็เลยพยายามมองหาโค-โปรดิวเซอร์ที่เล่นเครื่องดนตรีได้ทุกอย่าง เล่นเบสได้ เล่นกลองได้ เล่นคีย์บอร์ดได้ ซึ่งช่วงที่น้อยไปโชว์ที่นิวยอร์กในงาน ‘รามเกียรติ์ ตอน นางลอย นาฏกรรมแห่งรักแอนด์โรล’ ที่น้อยชกกับเสก (เสก โลโซ-เสกสรรค์ ศุขพิมาย) คนหนึ่งที่มาแจมในงานนั้นก็คือ โหน่ง-วิชญ วัฒนศัพท์ แห่ง The Photo Sticker Machine ซึ่งงานประจำของโหน่งในตอนนี้เขาก็ทำสกอร์หนังให้ค่าย GDH ให้ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง สำคัญที่สุดคือเขาสามารถเล่นเครื่องดนตรีทุกอย่างได้ (หัวเราะ)

     น้อยโชคดีมาก เพราะถ้าไม่มีโหน่ง น้อยคงไม่สามารถทำเพลงในอัลบั้มใหม่ให้ออกมาได้อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้

 

ตอนนี้เสร็จหมดแล้วใช่ไหม รู้สึกจะเหลือแค่มิกซ์เสียง

     มันใกล้เสร็จแล้วฮะ หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ ซึ่งกินระยะเวลามากกว่าสิบปี คือนานมาก ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนมิกซ์อัลบั้ม ซึ่งเสร็จไปบ้างแล้ว

     ล่าสุดน้อยเพิ่งเดินทางไปต่างประเทศมาสองอาทิตย์ เป็นช่วงที่น้อยทำมิกซ์แรกเสร็จไปแล้ว ไปอยู่ที่นั่นน้อยจะได้นั่งท่ามกลางอากาศหนาว ฟังเพลง ดื่มไวน์ อินกับผลงานตัวเอง (หัวเราะ) ก่อนที่มันจะแป้ก หรือไม่ก็สำเร็จ

     การทำเพลงมันก็สนุกตรงนี้นะ อย่างเวลาบางคนถามว่าทำมาตั้ง 7 ปี 10 ปี ไม่เบื่อบ้างเหรอ

     น้อยว่ามันเป็นช่วงที่มีความสุข เพราะว่าอัลบั้มมันยังไม่ออก ถ้าอัลบั้มปล่อยออกมาแล้วมันไม่เวิร์ก น้อยอาจจะเศร้า ฉะนั้นช่วงนี้น้อยยังลุ้นกับผลงานตัวเองอยู่ งั้นก็ฟังงานของตัวเองไป เพราะน้อยว่ามันก็เป็นเพลงที่เพราะดี (หัวเราะ) แต่ในเวลาเดียวกันตอนที่นั่งฟัง น้อยก็เริ่มโน้ตเก็บไว้เหมือนกันว่าตรงไหนที่ดี ตรงไหนยังไม่ใช่ หรือยังไม่เหมือนกับที่เราคิด แล้วหลังจากที่น้อยกลับมา น้อยก็เพิ่มเริ่มไฟนอลมิกซ์กันไปเมื่อช่วงตอนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา”

 

 

รูปแบบการทำงานนี้นี่ทำได้เฉพาะน้อย วงพรู เลยหรือเปล่า เพราะการจะทำงานอะไรแบบนี้ได้ คนที่ทำงานด้วยต้องเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจกันพอสมควรเลยนะ

     ศิลปินเดี่ยวมันมีหลายรูปแบบนะฮะ เหมือนอย่างที่น้อยรู้สึกกับการเป็นศิลปินว่าน้อยชอบร้องเพลงที่ตัวเองเขียน เพราะเวลาร้อง น้อยจะอินกับมันมาก ยิ่งเป็นวงร็อก น้อยรู้สึกว่าคุณต้องเขียนเพลงของคุณเอง แต่กับศิลปินเดี่ยว น้อยรู้สึกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเขียนเพลงของตัวเองก็ได้ อย่างพวกจัสติน ทิมเบอร์เลก หรือริฮานน่า ก็มีคนเขียนเพลงระดับโลกช่วยเขียนเพลงส่งมาให้ แล้วคุณก็จะเลือกเพลงที่ใช่จาก 100 เพลง จากนั้นก็จะมีโปรดิวเซอร์ระดับโลกทำเพลงให้คุณ มีคนเลือกหรือออกแบบเครื่องแต่งกายที่เก่งสุดยอดให้คุณ มีคนทำเอ็มวีที่เก่ง เพราะในระดับโลก ทุกอย่างมันเป็นเหมือนเครื่องยนต์ของรถเฟอร์รารีที่เฟอร์เฟกต์มาก มันไม่ควรที่จะพลาด แต่ในบ้านเรายังไม่ถึงระดับนั้น สำหรับน้อย น้อยค่อนข้างลุยเองมากกว่า เขียนเพลงเอง อะเรนจ์เพลงเอง เอ็มวีก็พยายามคิดไอเดียเอง การแต่งตัวก็แต่งในแบบที่น้อยอยากแต่ง (หัวเราะ) พอทุกอย่างมันออกมาจากหัวเราเกือบหมด โอกาสพลาดมันก็มีนะฮะ

     ส่วนที่ถามว่าสไตล์การทำงานแบบน้อยมีหรือเปล่า …I don’t know แต่มันก็เป็นเพราะว่าน้อยขี้เกียจด้วยแหละที่ไม่ยอมหัดเล่นดนตรี เพราะถ้าเป็นศิลปินคนอื่น เขาเล่นดนตรีเป็น รู้ทฤษฎีดนตรี เขาก็คงใช้คงใช้คอมพิวเตอร์ทำกันเองได้จากในห้องนอน แต่น้อยก็มัวแต่ขี้เกียจ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน อะไรก็ตาม ถ้าเกิดน้อยไม่อิน น้อยทำไม่ได้จริงๆ

 

ทำไมถึงไม่หัดเล่นกีตาร์ล่ะ

     ใช่ บางคนเขาก็บอกน้อยว่า ถ้ามีเพลงหนึ่งในอัลบั้มใหม่ ยกตัวอย่างเพลง ยังรอคอยเธอเสมอ ถ้าเอามาทำใหม่ เปลี่ยนจากเสียงกีตาร์เป็นเสียงเปียโนกับเสียงร้องของพี่แทน พอถึงเวลาพี่ก็ขึ้นเวทีแล้วแค่ร้องกับเปียโน โอ้โห มันจะเป็นลุคใหม่ของพี่ แล้วคนจะอินมาก มันจะต้องดูมีความเป็นศิลปินแท้ๆ หรือบางเพลงนะ ถ้าพี่ถือกีตาร์ขึ้นไปเล่นบนเวที มันจะเป็นอีกลุคหนึ่งที่สร้างการยอมรับไปอีกระดับเลยนะพี่! ซึ่งน้อยก็แบบ… กูก็รู้แหละว่ามันน่าจะดูเท่ และมันคงจะดูเป็นศิลปินมากเลย แต่ไม่เอาอะ (หัวเราะ) ไม่รู้เหมือนกัน พอหยิบกีตาร์หรือนั่งเล่นเปียโนทีไร น้อยก็จะเริ่มง่วงนอน มันไม่อิน ไม่ชอบ มันไม่สนุก

 

ในเมื่อไม่มีทักษะด้านดนตรี ถ้าอย่างนั้นข้อมูลหรือแรงบันดาลใจด้านดนตรีต่างๆ ที่อยู่ในหัวคุณเอามาจากไหนบ้าง

     นักดนตรีคนอื่นเขาก็เขียนทำนองกันนะฮะ แค่เขาหัดเล่นกีตาร์ เขาก็เลยทำได้เอง (หัวเราะ) คือไม่ใช่พยายามจะปกป้องตัวเอง แต่ความจริงมีศิลปินที่เป็นแบบน้อยอยู่เหมือนกันนะฮะ อย่างคนที่เขียนสกอร์ให้กับการ์ตูนหรือแอนิเมชันของวอลต์ ดิสนีย์ …มีอยู่คนหนึ่งที่ร้องอย่างเดียวแล้วมีคนมาคอยกดดนตรีให้ รู้สึกจะชื่อ อลัน เมนเคน (ตัวอย่างผลงานประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ การ์ตูน และแอนิเมชันอย่าง The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin, Newsies, Pocahontas, The Hunchback of Notre Dame, Hercules และล่าสุดเขาประพันธ์เพลงประกอบหนัง Beauty and the Beast เวอร์ชันเอ็มมา วัตสัน ด้วย)

     แต่ส่วนตัวน้อยมองว่าหนังเศร้าหรือให้กำลังใจมันจะมีพาวเวอร์มากกว่า อาจเป็นเพราะปกติน้อยเองก็ไม่ค่อยชอบดูหนังคอเมดีหรือหนังการ์ตูนสักเท่าไร

     น้อยว่าเวลาดูหนังแล้วร้องไห้ตามไปกับหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง มันรู้สึกพาวเวอร์ฟูลนะฮะ น้อยถึงชอบเขียนเพลงช้า เขียนเพลงที่เศร้า เพลงที่ซึ้ง น้อยไม่ชอบเขียนเพลงเร็ว หลายเพลงในอัลบั้มโซโลเลยออกไปทางออร์เคสตราเยอะ ซึ่งถ้าถามว่าอัลบั้มนี้โดดเด่นตรงไหน น้อยว่ามันคือเสียงออร์เคสตราและเสียงของสตริง

     ในอัลบั้มนี้มีอยู่ 4 เพลงที่น้อยจ้างนักดนตรีต่างประเทศเล่นให้ ซึ่งเขาเล่นได้ดีจริงๆ คือเล่นแบบควอร์เตตต์ (Quartette หมายถึงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 อย่าง 4 เสียง หรือมีผู้เล่น 4 คน) คือน้อยแต่งแค่เมนเมโลดี้ แล้วนักดนตรีเขาก็จะเริ่มแต่งฮาร์โมนีแต่ละอย่าง ซึ่งเพลงออกมาซึ้งจริงๆ แล้วเวลาเขามาร่วมตัวเล่นกัน ผมว่าในบ้านเรา เรื่องของสตริงเรายังสู้เขาไม่ได้ สตริงควอร์เต็ต (String Quartet ประกอบไปด้วยไวโอลิน 2 คัน วิโอลา 1 คัน และเชลโล 1 คัน) ซึ่ง 4 เพลงในอัลบั้มนี้ที่ทำออกมา น้อยก็คิดว่ามันไพเราะจริงๆ

 

 

คุณบอกว่าอยากทำอัลบั้มนี้ให้เป็นเพลงป๊อปที่มีคุณภาพ ตอนนี้คิดว่าได้อย่างใจแล้วขนาดไหน

     น้อยรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นศิลปินแจ๊ซ ร็อก อัลเทอร์เนทีฟ ฯลฯ พวกคนที่เป็นนักร้อง นักดนตรีที่เก่ง เขามักจะมีเซนส์ของความเป็น ‘ป๊อป’ นะฮะ ยกตัวอย่างวง Radiohead ผมว่าทอม ยอร์ก (ร้องนำ, กีตาร์ริทึม, เปียโน, อิเล็กทรอนิกส์) เขารู้ว่าตัวเองเขียนเพลงป๊อปเก่งมาก เขามีเซนส์ของป๊อป ซึ่งวงอัลเทอร์เนทีฟวงอื่นมักจะไม่มี นั่นเป็นสาเหตุที่ Radiohead ไปต่อได้ไกล เพราะเขาสามารถเขียนเพลงป๊อปที่เพราะและคนจับต้องได้ แต่กับอัลบั้มใหม่ๆ อาจจะฟังอยากหน่อย (หัวเราะ) น้อยเองก็พยายามให้ตัวเองมีเซนส์ของความเป็นป๊อป พยายามจะเขียนเพลงป๊อปที่ดี ที่ลึกหน่อย แต่ต้องไม่ให้มันหลอนไป ถึงแม้น้อยจะชอบเพลงหลอนนะฮะ ซึ่งเคยทำมาแล้ว แต่มันไม่ค่อยเวิร์ก

     น้อยมองว่าตอนนี้เพลงของน้อย mature ขึ้น มันมีบางเพลงที่ร้องแล้วเชื่อว่าคนสามารถยอมรับได้ อาจจะเพราะว่าน้อยอายุมากขึ้น มันก็ไม่ต่างกับที่แม่น้อยร้อง Live and Learn ที่ควรจะเป็นคนที่ผ่านชีวิตมาแล้วถึงจะร้องเพลงอะไรแบบนี้ได้ น้อยว่าเพลงในอัลบั้มนี้ก็เหมือนกันที่มีบางเพลงที่ลึกขึ้น คือตอนนี้น้อยเป็นแมนแล้ว ไม่ได้เป็นบอย แล้วน้อยว่าวิญญาณในตัวน้อยมันก็เปลี่ยนไป เพราะน้อยอายุมากขึ้น น้อยร้องเพลงดีขึ้นกว่าสมัยพรูชุดแรกด้วย

 

ในวันที่อายุมากขึ้น อัลบั้มนี้คุณต้องการจะบอกอะไร จะเล่าอะไรกับแฟนเบสของน้อย วงพรู

     ส่วนมากเพลงในอัลบั้มนี้ ธีมมันจะเกี่ยวกับคนคนหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Redemption หมายถึงคนที่เคยพลาดในชีวิตมาก่อนแล้วอยากได้รับโอกาสอีกสักครั้งหนึ่ง น้อยชอบคอนเซปต์นี้เพราะมันให้แรงบันดาลใจ ซึ่งส่วนมากพลังของแรงบันดาลใจที่มันแรงที่สุด มีพลังที่สุด มักจะเกิดขึ้นจากเรื่องราวของคนที่เคยล้มเหลวในชีวิต

     เขาอาจจะเคยพลาด เคยเป็นคนไม่ดีมาก่อน แต่เขากลับมาเป็นคนดี อยากฉุดตัวเองขึ้นมา ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนมากสังคมมักจะไม่ให้โอกาสกับเขาสักเท่าไร แม้แต่น้อยเองก็เคยพลาด …เวลาเราเห็นใครในอิมเมจหนึ่ง ภาพนั้นก็จะติดตัวไปตลอดเลย เรามักจะไม่ได้ให้คนที่พลาดกลับมามีที่ยืนได้ง่ายๆ ซึ่งมีอยู่หลายเพลงที่คนเขียนขึ้นมาจากมุมมองนั้น เกือบครึ่งอัลบั้ม

     คนเรามันก็ลำบากกับชีวิตในหลายรูปแบบนะครับ แต่รูปแบบนี้น้อยว่ามันเกี่ยวกับอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ครอบครัวเขา แต่มันเกี่ยวกับเพื่อน เกี่ยวกับสังคม ความจริงมันก็เชื่อมโยงได้กับคอนเซปต์เพลงที่น้อยเขียนมาตลอดกับพรู นั่นคือการ escape ที่จะหาอีกโลกหนึ่งที่คนยอมรับเรา ซึ่งก็สามารถเขียนถึงได้ในหลายรูปแบบนะครับ ทั้งความรัก ความผิดหวัง ความเศร้า การที่เราอยากจะอยู่อีกโลกหนึ่ง การเริ่มต้นใหม่ น้อยว่าเราทุกคนต่างก็เคยผ่านในชีวิต น้อยเองก็เคยอยากไปสู่อีกโลกหนึ่งซึ่งน้อยสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วก็กลับเป็นคนใหม่ได้ น้อยว่าหลายคนก็เคยพลาดแล้วรู้สึกว่าอยากไปอยู่อีกโลกหนึ่งเลย แล้วก็เริ่มต้นใหม่ …เรื่องราวที่อยากจะ ‘escape’ มันคือสิ่งที่ทัชชิ่งกับน้อยจริงๆ  

 

 

คุณลงทุนกับอัลบั้มนี้ด้วยเงินของตัวเองไปเยอะมากในหลักล้านบาทแล้ว การลงทุนให้กับผลงานและสิ่งที่ตัวเองรักอย่างนี้ คุณมองจุดของคุ้มค่าด้านการลงทุนในมุมไหนบ้าง สรุปแล้วเมื่ออัลบั้มปล่อยออกมา คุณคาดหวังอะไรจากมันบ้าง อะไรคือกำไร อะไรคือจุดที่จะขาดทุน

     คิดสิ มันก็กลับไปเรื่องตัวเพลงนะฮะ น้อยหวังอย่างเดียวคือขอให้เพลงมันคอนเนกต์กับคนได้ และขอให้คนคอนเนกต์กับเพลงของเราได้ (คิด) และในอีกแง่ ถ้าเพลงในอัลบั้มใหม่มันเริ่มรันต่อไปได้ เริ่มมีโชว์เข้ามา ในแง่ความคุ้มค่า น้อยก็อยากมีเวทีให้ปลดปล่อยอารมณ์ และยังสนุกกับงานตรงนี้ที่น้อยคิดถึง เพราะน้อยไม่ได้เล่น คอนเสิร์ตใหญ่ๆ มานานแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา 7-8 ปี น้อยก็ไปเป็นแขกรับเชิญให้คนโน้นคนนี้บ้าง แต่ถ้าร้องรวดเดียว 12 เพลงแบบนี้ไม่ค่อยมีสักเท่าไรเลย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนถามนะฮะว่าพี่น้อยรับโชว์หรือยัง แต่สมัยนั้นน้อยยังไม่อยากรับ เพราะมันยังไม่มีอะไรใหม่มานำเสนอกับคนดู เลยไม่รู้จะเล่นไปทำไม

     แต่กับช่วงนี้ที่น้อยกลับมาเล่น เพราะน้อยรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรใหม่ให้กับคนฟัง ถึงแม้จะเข้าใจว่าหลายคนก็อยากฟังเพลงเก่าของพรู (หัวเราะ) แค่อย่างน้อยกับตัวเราเอง เรายังรู้สึกมีค่ามากกว่าที่เรากำลังนำเสนออะไรใหม่อยู่ในโชว์นั้นด้วย ตอนนี้น้อยเลยอยากมีโอกาสที่จะได้โชว์มากขึ้น แต่คงไม่ได้รับงานขนาดทุกอาทิตย์ แบบนั้นร่างกายน้อยคงไม่ไหว (หัวเราะ) ตอนนี้แค่สองโชว์ต่อหนึ่งอาทิตย์น้อยก็แฮปปี้แล้วฮะ

 

สมมติว่าถ้ามีคนถามว่ายังจะเล่นดนตรี ทำไมยังต้องออกไปโชว์ ทำไมยังรับงานแสดง ในเมื่อก็มีธุรกิจโรงแรมเป็นของตัวเองแล้ว และการทำงานดนตรีในยุคนี้ก็มองหาจุดที่คุ้มค่ากับเงิน แรงกาย และแรงใจที่เสียไปได้ยากเหลือเกิน

     คือน้อยรู้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนนะฮะ น้อยรู้จักศิลปินหลายคนที่เขาต้องทำสิ่งนี้สิ่งเดียว หมายถึงเล่นดนตรีเป็นอาชีพ แล้วพอมันมาถึงยุคที่ขายอัลบั้มไม่ค่อยได้ ไม่มีทางออก นักดนตรีก็ตกงานกัน น้อยรู้ว่าเขาก็เหนื่อย น้อยเข้าใจว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่มีธุรกิจส่วนตัว แต่ที่ยังออกไปแสดงหนังบ้าง ยังทำงานเพลงอย่างตอนนี้บ้าง โอเค น้อยยอมรับว่าเวลามีเงินเข้ามันก็ดี เพียงแต่สิ่งที่ทำมันไม่ใช่เรื่องที่น้อยอยากจะเมกมันนี่หรอก

     อีกอย่าง น้อยค่อนข้างมุ่งมั่นตั้งใจกับอัลบั้มของตัวเองนะฮะ แล้วก็ยังอยากจะออกไปโชว์ เพราะมันก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่น้อยอยากค้นหา สิ่งแรกคือเหมือนน้อยได้ outlet หรือได้ระบายออก อย่างช่วงที่ไม่มีงานอัลบั้ม น้อยก็รับงานแสดง งานน้อยมันอาจจะไม่เยอะ ปีละเรื่องบ้าง หรือสองปีเรื่อง แต่อย่างน้อยมันก็มี outlet ให้เราได้ระบายออก มีที่ทางให้ได้ระบายอารมณ์ ซึ่งน้อยกลัวเหมือนกันนะว่าพออายุมากขึ้นแล้วจะไม่มีงานแสดงติดต่อเข้ามา เพราะก็ต้องยอมรับนะครับว่าเมืองไทยคือ it’s a young man’s game

 

 

คุณชอบทุกมุม ชอบทุกพาร์ตของตัวเองไหม

     จริงๆ น้อยโยงกับที่เมื่อกี้ถามว่าทำไมถึงยังต้องเล่นดนตรี ต้องรับงานแสดง ทั้งที่น้อยมีธุรกิจส่วนตัวที่มั่นคงแล้ว คือนอกจากการมีที่ทางไว้ปลดปล่อยอารมณ์ อย่างที่สองคือน้อยมองว่า ก็ตัวเรามีพรสวรรค์อยู่ตรงนี้ เวลาเกิดมา น้อยก็พยายามมองดูว่าพรสวรรค์ของตัวเองมีอะไรบ้างวะ น้อยไม่ใช่คนฉลาดพอที่จะเป็น businessman เรื่องตัวเลขน้อยไม่เก่งจริงๆ น้อยพูดไม่เก่งเลยด้วยซ้ำ พรสวรรค์น้อยอยู่ตรงด้านดีไซน์ น้อยว่าตัวเองเลือกของโบราณได้ค่อนข้างดีทีเดียว น้อยพอจะมีพรสวรรค์ด้านการทำเพลงและด้านการแสดงอยู่บ้าง เมื่อรู้ว่าพรสววรค์ของตัวเองอยู่ตรงไหน มันก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์

     แต่ถึงรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ตรงไหนก็ไม่ได้หมายความว่าทำแล้วทุกคนจะชอบเรานะครับ มันก็ต้องใช้เวลากว่าจะพิสูจน์ตัวเองในด้านเหล่านี้ อย่างน้อยอยากทำอัลบั้มใหม่ น้อยรู้ว่ายังมีเพลงที่อยู่ในใจ น้อยคิดว่าตัวเองยังเขียนเพลงได้ดี น้อยก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้น น้อยไม่รู้ว่าพระเจ้ามีอยู่จริงไหม แต่ในเมื่อมีสิ่งที่พระเจ้าหรือพ่อแม่ให้เรามา ถ้าเราไม่ใช้ มันก็เหมือน a waste of talent, a waste of… ซึ่งมันก็น่าเสียดาย

     แต่น้อยก็รู้ด้วยนะครับว่ามันยาก บางทีมันเป็นเรื่องของจิตใจหรือการมีคนสนับสนุน แต่เชื่อเถอะว่าถ้าคุณมีพลังจริง ถ้าคุณมีไฟจริงๆ ไม่ว่าทำอะไร คุณก็ทำได้ อย่างน้อยอยากทำอัลบั้ม แล้วคุณเองก็โชคดีด้วยที่ยังพอมีแฟนเบสที่รอคอยผลงานของคุณ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ทำสิวะ

     สุดท้ายแล้วนะ ที่น้อยยังอยากแสดงหนัง อยากทำงานเพลง เพราะมันเป็นวิถีทางเดียวที่จะสามารถคอนเนกต์กับคนไทยได้ เพราะความจริงน้อยเองก็เป็นลูกครึ่ง เติบโตมากับสังคมเด็กอินเตอร์ ในยุคหนึ่งน้อยมีแต่เพื่อนฝรั่ง เพื่อนคนไทยก็ไม่มี ทั้งที่น้อยรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นคนไทยมากกว่าคนอเมริกัน น้อยเลยไม่รู้จะคอนเนกต์กับคนตามท้องถนนยังไง ก็เลยรู้สึกผิดติดตัวมาเสมอว่าน้อยเป็นเด็กที่ครอบครัวมีสตางค์…

     อย่างตอนที่เริ่มต้นกับวงพรู น้อยก็โดนด่าตรงนี้เยอะเหมือนกันนะว่าเป็นเด็กบ้านมีสตางค์ เป็นเด็กไฮโซมาร้องเพลง เต้นบัลเลต์บนเวที ทุเรศฉิบหาย (หัวเราะ) สมัยนั้นโดนเยอะมาก โดนเขียนว่าร็อกมันต้องเป็นคนจากท้องถนน พวกนายไม่ใช่ร็อกจริงหรอก พอเจอแบบนั้นน้อยก็เจ็บนะ แต่ก็มองว่าร็อกมันเกี่ยวกับจิตใจมากกว่า เพียงแต่มุมของของคนในบ้านเราเขามองคนเป็นชั้นโน้นชั้นนี้มากเกินไป แต่โอเค ไม่เป็นไร น้อยก็แค่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าน้อยมีความรู้สึก และน้อยอินกับสิ่งที่ตัวเองทำจริงๆ แล้วพอเวลามันผ่านไป การที่น้อยยังไม่ได้หายสาบสูญไปไหน มันก็น่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว

     ทุกวันนี้เวลาที่น้อยร้องเพลงหรือไปแสดงหนังตามต่างจังหวัดเนี่ย กลายเป็นว่าคาแรกเตอร์ในหนังที่แสดงมันดังกว่าตัวน้อยอีก อย่างคาแรกเตอร์จากหนังเรื่อง อันธพาล บางคนเขาก็จะเรียกว่า ‘จ๊อด’ (จ๊อด เฮาดี้) ไม่ค่อยมีใครเรียกว่าน้อยสักเท่าไร แล้วบางคนเขาก็ชอบมาก อยากกอด นึกว่าน้อยเป็นจ๊อด ทั้งที่ความจริงน้อยก็ยิงใครไม่เป็นหรอก (หัวเราะ) แต่มันรู้สึกดี เหมือนเราเป็นเด็กแล้วอยากได้การยอมรับ

 

สุดท้ายกลายเป็นว่าเราคอนเนกต์กับผู้คนด้วยผลงาน

     ใช่ครับ กลายเป็นว่างานตรงนี้ที่ทำให้น้อยสามารถคอนเนกต์กับคนได้ เพราะถ้าไม่มีที่ทางตรงนี้ น้อยก็คงอยู่ที่ในโลกของการทำโรงแรม อยู่กับความลักซูรี ซึ่งน้อยจะไม่มีทางเข้าใจ ไม่มีทางคอนเนกต์กับผู้คนบนท้องถนนได้เลย

FYI
  • ในอัลบั้มเดี่ยวของน้อย วงพรู ที่ (คาดว่า) จะได้ฟังกันในช่วงปลายปีนี้ นอกจากพาร์ตของดนตรี เนื้อเพลงไทยที่ใช้เชื่อมโยงน้อยกับแฟนเพลงประกอบไปด้วยเพลงที่เขียนเนื้อร้องโดย บอย โกสิยพงษ์ ถึง 7 เพลง, บอย-ตรัย ภูมิรัตน 2 เพลง, แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข 2 เพลง และ ต๋อง-อภิชา สุขแสงเพ็ชร (วง The Begins) อีก 1 เพลง
  • นอกจากโลกของธุรกิจโรงแรม โลกของดนตรี และโลกของงานแสดง น้อยยังมีอีกโลกหนึ่งที่เขาสนุกสนานกับมันมากเช่นกัน นั่นคือโลกของเก่า ที่น้อยเล่าให้ฟังว่าเวลาเขาไปเดินดูของ คนมักจะเรียกเขาว่า ‘เสี่ยน้อย’ แต่ในอนาคต ดูเหมือนคงจะต้องเปลี่ยนไปเรียกเขาว่า ‘เถ้าแก่น้อย’ แล้ว เพราะเร็วๆ นี้น้อยตั้งใจว่าจะเปิดร้านขายของเก่าที่บ้านของตัวเองบริเวณชั้นหนึ่ง ซึ่งอยู่แถวๆ ย่านภูเขาทอง
  • ถ้าอยากเจอ ‘เสี่ยน้อย’ อาจจะสามารถพบเขาได้ที่ตลาดขายของเก่า จังหวัดราชบุรีในวันพุธ ส่วนวันพฤหัสบดี เจอเขาได้ที่แหล่งขายของเก่าย่านตลาดไท และอาจจะไล่เลยไปถึงแหล่งของเก่าจังหวัดชลบุรีในวันศุกร์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising