×

เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานจากโรคซึมเศร้า เปลี่ยนบทเพลงให้กลายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ

21.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • มีศิลปินและนักแสดงชื่อดังหลายคนที่มีอาการของโรคนี้ และจะว่าไป บุคคลเหล่านี้ก็เป็นอีกเสียงสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักและตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคซึมเศร้า ผ่านทั้งผลงานเพลง ตลอดจนพฤติกรรมส่วนตัว
  • เคิร์ต โคเบน ฟรอนต์แมนผู้ล่วงลับแห่งวง Nirvana ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งความซึมเศร้า ประโยคประจำตัวของเขาที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในบทความและงานศิลปะของเคิร์ตคือ “I hate myself, I want to die.” ซึ่งประโยคนี้เกือบจะถูกตั้งเป็นชื่ออัลบั้มสุดท้ายของวง
  • เอียน เคอร์ติส ทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี ประกอบกับอาการของโรคลมบ้าหมูที่บั่นทอนสุขภาพ ทำให้เขากังวลว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการแสดงของวง เขาแต่งเพลง Atmosphere ขึ้นมาในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งเนื้อหาแสดงถึงสภาพจิตใจที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อย่างชัดเจน

 

     ข่าวการเสียชีวิตของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park ช็อกวงการเพลงทั่วโลก หลังจากผ่านปัญหารุมเร้าชีวิตและอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า สร้างความหดหู่ไปทั่วโลกดนตรี

     เชสเตอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวันคล้ายวันเกิดคริส คอร์เนลล์ เพื่อนรักของเขา (20 กรกฎาคม)

     คริส คอร์เนลล์ นักร้องนำวง Soundgarden และ Audioslave เป็นศิลปินอีกคนที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า และมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่คือสาเหตุการตัดสินใจจบชีวิตของเขา

     โรคซึมเศร้า เป็นอาการเจ็บป่วยที่ถูกค้นพบมานานแล้ว มีบันทึกที่กล่าวอ้างอิงตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักและได้ยินแพร่หลายขึ้นในวงกว้างช่วงหลายสิบปีหลังมานี้ มีศิลปินและนักแสดงชื่อดังหลายคนที่มีอาการของโรคนี้ และจะว่าไป บุคคลเหล่านี้ก็เป็นอีกเสียงสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักและตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคซึมเศร้า ผ่านทั้งผลงานเพลง ตลอดจนพฤติกรรมส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินที่เลือกจบชีวิตตัวเองก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมจนนำไปสู่การตื่นตัว และการพยายามทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับโรคนี้ในวงที่กว้างขึ้น

     ในอีกมุมหนึ่ง สภาวะบางอย่างของโรคนี้ก็เป็นเหมือนตั๋วทองคำจากวิลลี่ วองกา เป็นบัตรอภิสิทธิ์ให้ผ่านเข้าสู่ดินแดนหวงห้ามแห่งสภาวะจิตที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง และศิลปินที่ได้รับสิทธินี้ก็ได้ใช้สัญชาตญาณความเป็นศิลปินในการบันทึกและถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นจากดินแดนแห่งนั้นผ่านบทเพลงให้พวกเราได้ฟัง

     และนี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงที่มีความข้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า บางเพลงถูกถ่ายทอดโดยตรงจากสภาวะจิตของศิลปินที่เป็นโรคนี้ บางเพลงได้มาจากมุมมองของศิลปินที่มีต่อคนใกล้ชิดที่เป็นโรคซึมเศร้า และบางเพลงเกิดขึ้นมาจากเจตนาของตัวศิลปินเองที่ต้องการให้บทเพลงเป็นเครื่องเยียวยาและให้กำลังใจ

 

 

     1. Nirvana: Lithium (1992)

     เคิร์ต โคเบน ฟรอนต์แมนผู้ล่วงลับแห่งวง Nirvana ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งความซึมเศร้า ประโยคประจำตัวของเขาที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในบทความและงานศิลปะของเคิร์ตคือ “I hate myself, I want to die.” ซึ่งประโยคนี้เกือบจะถูกตั้งเป็นชื่ออัลบั้มสุดท้ายของวง แต่ในที่สุดชื่ออัลบั้มนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็น In Utero งานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นที่เรารู้จักนั่นเอง

     เคิร์ตป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดไบโพลาร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้เขามีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งก็กระตือรือร้นสุดขั้ว และในบางคราวก็เซื่องซึมสุดขีด และตัวยาที่ใช้ควบคุมอาการไบโพลาร์นี้ก็มีชื่อว่า Lithium นั่นเอง ซึ่งเคิร์ตคุ้นเคยกับการใช้ Lithium ตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับไมค์ ไทสัน นักมวยเฮฟวี่เวตผู้โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการเดียวกัน

     เนื้อหาของเพลงนี้แสดงถึงความสับสนวุ่นวายในอารมณ์อย่างเต็มขั้น บวกกับไดนามิกสุดเขย่งของดนตรีที่มีตั้งแต่เบาๆ ลอยๆ และกระชากขึ้นไปถึงขั้นสำรอกอย่างหนักหน่วง ราวกับว่าเคิร์ตเข้าใจและยอมรับในอาการเจ็บป่วยนี้อย่างดี หรือเขาอาจตั้งใจจะผูกมิตรกับมันก็เป็นได้ ประเมินจากเนื้อเพลงในท่อนที่ว่า “I’m so happy because today I’ve found my friends, they’re in my head.” ไม่เคยมีใครได้พบเจอเพื่อนฝูงที่อาศัยอยู่ในหัวของเคิร์ตนอกจากตัวเขาเอง และไม่มีใครรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเคิร์ตกับเพื่อนกลุ่มนี้เป็นไปอย่างราบรื่นเพียงใด แม้กระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตที่เคิร์ตตัดสินใจระเบิดหัวตัวเองด้วยปืนพก

 

 

     2. Green Day: Basket Case (1994)

     อีกหนึ่งตัวแสบแห่งวงการพังก์ร็อก ที่นักร้องนำของวงอย่างบิลลี่ โจ อาร์มสตรอง เลือกที่จะอธิบายอาการของโรคซึมเศร้าที่ตัวเองประสบอยู่ด้วยการถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง Basket Case (คำว่า Basket Case เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ แปลว่า คนสติแตก) เขาให้เหตุผลว่า การเขียนเพลงออกมาเป็นทางเดียวที่จะอธิบายสภาวะจิตที่เขากำลังประสบอยู่ได้

     พลังลบแห่งโรคซึมเศร้าไม่ได้มีอำนาจในการทำลายล้างเสมอไป เมื่อบิลลี่ โจ เลือกที่จะรีดพิษของมันออกมาสกัดเป็นเซรุ่มที่ใช้ในการเยียวยารักษา และมันยังแผ่อานุภาพความมันไปทั่วโลก เมื่อเพลงนี้ตัดเป็นซิงเกิลและกลายเป็นเพลงฮิตตลอดกาลของวง Green Day จนถึงทุกวันนี้ในทุกคอนเสิร์ตของวง เพลง Basket Case ยังคงส่งพลังให้คนดูทั้งฮอลล์โยกหัวอย่างลืมแก่ลืมตายได้เสมอ

     โรคซึมเศร้าอาจเป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้นของบิลลี่ โจ ที่คอยผลักดันให้เขาสร้างผลงานสุดแสบมาได้ตลอด 3 ทศวรรษในวงการดนตรี จน Green Day ขึ้นหิ้งเป็นหนึ่งในตำนานวงร็อกที่ยังมีลมหายใจไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือลมหายใจยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดลงง่ายๆ หรือแม้แต่จะแผ่วลงสักนิด ในวัยสี่สิบกลางๆ Green Day ยังคงสร้างผลงานเพลงและวิ่งพล่านอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตชั้นนำทั่วโลก โรคซึมเศร้าไม่สามารถฉุดรั้งพลังของบิลลี่ โจ ได้เลย มันอาจจะพยายามแล้ว แต่เจ้าหมอนี่มันบ้าดีเดือดกว่านั้น

 

 

     3. R.E.M.: Everybody Hurts (1992)

     เพลงที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องตีความหลายตลบนี้เคยได้รับการโหวตจากชาวอังกฤษผ่านหนังสือพิมพ์ The Telegraph ให้เป็นเพลงที่หดหู่ที่สุดตลอดกาล แต่ทว่าเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจผู้คน R.E.M. เคยกล่าวว่า พวกเขาเลือกใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อให้คนหมู่มากเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเหตุนี้ เพลงจึงทะลุทะลวงเข้าไปถึงใจคนได้อย่างง่ายดายด้วยประโยคที่ว่า “Everybody hurts, everybody cries. Hold on, you are not alone.” (ใครๆ ก็ต้องเจ็บปวด ใครๆ ก็ต้องร้องไห้ ไม่ใช่แค่เธอเพียงแค่คนเดียวหรอก เข้มแข็งเอาไว้)

     เพลงที่เขียนจากความปรารถนาดีย่อมส่งผลดีในการช่วยปลอบประโลมโลกอันบูดเบี้ยวใบนี้ ด้วยคุณูปการของบทเพลงนี้เอง ทำให้มีการก่อตั้งโครงการฮอตไลน์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางจิตใจโดยองค์กร Samaritans ในประเทศอังกฤษ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายมีตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง แต่กลับยังไม่มีบริการสาธารณะที่คอยให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และแน่นอน เพลง Everybody Hurts ไม่เพียงแค่เป็นเพลงประกอบแคมเปญนี้เท่านั้น แต่มันยังนำไปใช้เป็นชื่อของโครงการด้วย และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ดนตรีได้ช่วยชีวิตผู้คน

 

 

     4. Joy Division: Atmosphere (1980)

     สุดยอดความปรารถนาของเอียน เคอร์ติส นักร้องนำของ Joy Division คือการประสบความสำเร็จในวงการเพลงอังกฤษ แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ความสำเร็จนั้นจะเดินทางมาถึง เขาก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยการผูกคอตายภายในบ้านพักของตัวเอง

     Atmosphere เป็นซิงเกิลที่ปล่อยออกมาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังการจากไปของเคอร์ติสในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 และกลายเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งของวง Joy Division และในปี 2000 เพลงนี้ได้รับการโหวตให้เป็นเพลงยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษ โดยผู้ฟังรายการวิทยุ BBC Radio One ซึ่งจัดโดย จอห์น พีล ดีเจชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ

     เอียน เคอร์ติส ทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี ประกอบกับอาการของโรคลมบ้าหมูที่บั่นทอนสุขภาพ ทำให้เขากังวลว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการแสดงของวง เขาแต่งเพลง Atmosphere ขึ้นมาในช่วงท้ายของชีวิต โดยเนื้อหาแสดงถึงสภาพจิตใจที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อย่างชัดเจน โทนของเพลงนี้หมองหม่นราวกับเป็นเพลงสวดศพ และสุดท้ายในปี 2007 เพลงนี้ก็ได้ใช้ในพิธีศพของโทนี่ วิลสัน ผู้ก่อตั้ง Factory Records ต้นสังกัดของ Joy Division นั่นเอง

 

 

     5. Ed Sheeran: The A Team (2011)

     ศิลปินดาวรุ่งแห่งยุคอย่างเอ็ด ชีแรน ก็เคยเขียนเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวอันดำมืดเช่นกัน เพลงนี้เขียนขึ้นหลังจากที่เอ็ดได้ไปแสดงที่สถานสงเคราะห์คนไร้บ้าน และได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ทุกข์ทรมานจากการติดยาเสพติด เธอยอมเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด และแน่นอน ยาเสพติดได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับอาการซึมเศร้าของเธอ โดยผู้หญิงคนนี้มีอาการหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเอง

     เอ็ดใช้ภาษาในเชิงอุปมาอุปไมยตลอดทั้งเพลงเพื่อลดระดับความดำมืดขั้นสุดของเนื้อหา ทั้งยังมีการส่งสาส์นลับให้กับคนฟัง เช่น The A Team หมายถึง ยาเสพติดคลาส A (โคเคน) เป็นต้น

 

https://www.youtube.com/watch?v=7ALnh3w32VE&feature=youtu.be

 

     6. James Taylor: Fire And Rain (1970)

     เจมส์ เทย์เลอร์ เขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อระบายความหดหู่ในจิตใจกับหลายๆ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ตั้งแต่การสูญเสียเพื่อนสนิทที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ไปจนถึงการผจญกับสภาวะโรคซึมเศร้าของตัวเอง

     ในวิชาวิทยาศาสตร์ เราได้เรียนรู้ว่าพลังงานหลากหลายรูปแบบสามารถแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในวาระโอกาสต่างๆ กันได้ และในวิชาศิลปะ เจมส์ได้แสดงให้เห็นว่าพลังงานลบแห่งความซึมเศร้าก็สามารถแปรรูปเป็นบทเพลงที่สวยงามและทรงคุณค่าได้เช่นกัน มันคือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสดีๆ นี่เอง และแล้วเพลงนี้ก็ถูกขึ้นแท่นเป็นบทเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่งของเขา

 

 

     7. Amy Winehouse: Rehab (2006)

     การใช้สารเสพติดเป็นเหมือนการขอยืมความสุขในอนาคตมาใช้ชั่วคราว และเมื่อมันหมดฤทธิ์ ความสุขที่ขอยืมมาก็ต้องถูกทดเวลาแทนที่ด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่มีใครรู้ว่าสำหรับเอมี ไวน์เฮาส์ เธอต้องทดเวลาไปมากมายเท่าไร จนถึงวาระสุดท้ายที่ร่างกายเธออ่อนแอเกินจะทานทน จนต้องยอมจำนนให้กับพิษแอลกอฮอล์ เมื่อร่างไร้วิญญาณของเธอถูกพบที่บ้านพักส่วนตัวในเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม 2011

     เอมีใช้ยาเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเพื่อระงับอาการซึมเศร้าชนิดไบโพลาร์ เธอปฏิเสธที่จะเข้าบำบัดอาการติดสุรา เพราะเธอเชื่อว่าไม่ได้ดื่มเพราะติดมัน แต่เป็นการดื่มเพื่อบรรเทาอาการอกหักต่างหาก ซึ่งพ่อของเธอก็เห็นด้วยว่าไม่ต้องไปบำบัดหรอก สุดท้ายเธอจึงแวะไปที่สถานบำบัดเพียง 15 นาทีเพื่ออธิบายว่า “ฉันดื่มเพราะฉันเคยมีความรัก แต่ก็ได้ทำมันพังไปแล้ว เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่ได้เป็น alcoholic นะ แค่นี้แหละ”

     และนี่ก็เป็นที่มาของเพลงฮิตที่ได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ด อย่าง Rehab

 

 

     8. Twenty One Pilots: Holding On To You (2012)

     นี่คือบทเพลงแห่งการต่อสู้กับตัวเองอย่างหนักหน่วงของไทเลอร์ โจเซฟ จากดูโอสุดแสบอย่างวง Twenty One Pilots โจเซฟใช้บทเพลงนี้เป็นสื่อในการประกาศสงครามกับโรคซึมเศร้าที่รุมเร้าเข้ามา ถึงเวลาแล้วที่เขาจะลุกขึ้นมาทวงร่างกายและจิตใจของตนคืน หลังจากโดนรุกหนักด้วยความฟุ้งซ่านในจิตใจทุกๆ คืน จนเขาต้องประกาศกร้าวกับความรู้สึกของตัวเองว่า “You belong to me. This ain’t a noose, this is a leash. And I have news for you, you must obey me!” (เขาเอาเชือกผูกมัดความรู้สึกของเขาไว้แล้วบอกกับมันว่า เอ็งเป็นของข้า เชือกนี้ไม่ใช่บ่วงพันธนาการ แต่มันคือบังเหียนที่ข้าจะใช้ควบคุมเอ็ง และเอ็งต้องเชื่อฟังข้าจากนี้ไป)

     และคำว่า ‘You’ ในชื่อเพลงนี้ก็หมายถึง ‘ความเชื่อ’ นั่นเอง เขาบอกกับตัวเองว่า จงยึดมั่นในความเชื่อเพื่อนำพาตัวเองออกจากสภาวะซึมเศร้านี้ให้ได้ นายเจ๋งมากไทเลอร์!

 

 

 

 

     9. Garbage: Medication (1998)

     เพลงช้าจากวงซินธ์ร็อกสุดเปรี้ยวนี้เขียนขึ้นมาจากความรู้สึกของเชอร์ลีย์ แมนสัน นักร้องนำของวง ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม สืบเนื่องมาจากการถูกอันธพาลในโรงเรียนกลั่นแกล้ง เธอมักจะทำร้ายตัวเองด้วยของมีคมเมื่อรู้สึกเครียดและวิตกกังวล แต่พวกเด็กอันธพาลเหล่านั้นคงไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วเชอร์ลีย์จะก้าวข้ามผ่านบาดแผลห่วยๆ ที่ถูกกระทำโดยคนห่วยๆ จนกลายมาเป็นนักร้องนำของหนึ่งในวงดนตรีที่เจ๋งที่สุดในโลก และตัวเธอเองยังกลายเป็นไอคอนของแนวคิดแบบเฟมินิสต์ (การสนับสนุนสิทธิสตรี) แห่งยุค 90s อีกด้วย และในช่วงที่วง Garbage กำลังฮอตสุดๆ เชอร์ลีย์ยังได้รับเลือกให้เป็นนางแบบของแบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein อีกต่างหาก

     ในวัย 50 ทุกวันนี้เชอร์ลีย์ยังคงมีสไตล์ที่เก๋ไก๋ตามวัย และเป็นหนึ่งในเซเลบริตี้ไม่กี่คนที่ปฏิเสธการศัลยกรรมเพื่อชะลอริ้วรอยของวัย โดยเธอให้เหตุผลว่า “มันเหมือนเป็นการขี้โกงต่อตัวเอง”

 

 

     10. U2 : Stuck In A Moment You Can’t Get Out Of (2001)

     นี่เป็นอีกบทเพลงที่กระแทกถึงจิตใจ และถูกเขียนขึ้นมาอย่างคมคายเช่นเคยจากลายมือของโบโน่ นักร้องนำของวงในตำนานอย่าง U2 เขาตั้งใจแต่งเพลงนี้เพื่ออุทิศให้กับเพื่อนรัก ไมเคิล ฮัตเชนซ์ อดีตนักร้องนำวง INXS และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เสียชีวิตด้วยอัตวินิบาตกรรม

     โบโน่ได้เขียนถึงสิ่งที่เขาอยากบอกกับไมเคิลในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ คล้ายเป็นข้อความเตือนสติจากเพื่อนถึงเพื่อนในการดึงรั้งเพื่อนคนนี้ให้หลุดพ้นขึ้นมาจากหลุมดำ แต่น่าเสียดายที่ไมเคิลไม่มีโอกาสได้รับข้อความนี้ อย่างไรก็ตาม พลังแห่งถ้อยคำอันทรงปัญญาบทนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องเตือนสติและให้กำลังใจเราได้อย่างดี เมื่อเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาสู่สาธารณชน ถ้อยคำทุกบรรทัดถูกเขียนขึ้นมาอย่างแยบยลจนตัดสินใจได้ยากว่าจะหยิบยกท่อนไหนขึ้นมานำเสนอเป็นตัวอย่าง

 

     “And if the night runs over,  And if the day won’t last.

     And if your way should falter, Along the stony path.

     It’s just a moment. This time will pass.”

     (หากแม้ความมืดมิดจะยาวนาน หากแม้แสงสว่างไม่ยืนยง

     หากแม้ทางขรุขระไม่มั่นคง ต้องย่ำลงบนโขดหินที่ทิ่มแทง

     มันเป็นเพียงภาวะอันชั่วคราว สั้นหรือยาวมันก็ต้องผ่านพ้นไป)

 

     หากเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาก่อนที่ไมเคิล ฮัตเชนซ์ จะตัดสินใจจบชีวิตตนเอง และถ้าเขาได้ฟังมันสักครั้ง เขาอาจจะเปลี่ยนการตัดสินใจในวันนั้นก็ได้ ไม่มีใครรู้

     นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นจากอีกหลายร้อยบทเพลงที่สืบเนื่องมาจากโรคซึมเศร้า และทำให้เราตระหนักได้ว่าโรคนี้วนเวียนอยู่รอบตัวเรานี่เอง มันอาจจะอาศัยอยู่ในตัวผู้คนรอบข้าง หรือบางทีมันก็อาจจะอยู่ในตัวเราเองนี่แหละ

     ขนาดว่าในหมู่ศิลปิน ยังมีจำนวนคนที่เป็นหรือได้รับผลกระทบจากโรคนี้จำนวนมากจนสามารถนำมาแต่งเป็นเพลงได้อีกมากมาย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ถ้าผู้คนในสังคมทั่วไปอย่างเราๆ จะต้องพานพบหรือต้องเผชิญกับมันในวาระใดวาระหนึ่งของชีวิต จะผ่านผู้คนรอบข้าง หรือตัวเราเองโดยตรงก็ตามแต่

     ชื่อเสียงเงินทองไม่ใช่เครื่องรับประกันความสุขเสมอไป เราเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากศิลปินหลายๆ คนตามที่กล่าวมา ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนความซึมเศร้าเป็นงานศิลปะ และสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ในที่สุด

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising