×

ภาพฝันและความเป็นจริง น้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop ตอนที่ 1

26.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins read
  • SM Entertainment จัดการออดิชันประจำปีในหลายๆ ประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบเอเชีย ไปจนถึงคาซัคสถาน โดยจะมีเด็กที่ได้รับเลือกเพียงหยิบมือเดียวจากผู้เข้าออดิชันทั้งหมดมากกว่า 300,000 คน
  • ตัวอย่างของสาววัยรุ่นที่ใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะได้เดบิวต์ เธอคือ จีฮโย สมาชิกวง TWICE ที่เพิ่งได้เดบิวต์เมื่อปี 2015 นี่เอง
  • พ่อแม่ของสเตลลาตัดสินใจว่าจะไม่ให้ลูกสาวเซ็นสัญญาเดบิวต์กับวง Girls’ Generation ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้ต้องกลับอเมริกาตามความต้องการของพ่อแม่ และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอพบกับช่วงดำมืดของชีวิต

ทุกสิ่งอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ แม้แต่อุตสาหกรรมป๊อปคัลเจอร์ในเกาหลีใต้ก็หนีความจริงข้อนี้ไม่พ้น

 

ตัวเลขล่าสุด เพลง Gangnam Style ของ Psy ขึ้นอันดับเพลงที่มียอดวิวสูงสุดของยูทูบอยู่ที่ราว 2,879 ล้านวิว, วงบอยแบนด์ BTS ไปคว้ารางวัล Top Social Artist ชนะผู้เข้าชิงอย่างจัสติน บีเบอร์ ในงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards 2017 รวมถึงการที่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SM Entertainment, YG Entertainment และ JYP Entertainment ธุรกิจเติบโตจนแตะระดับพันล้านไปแล้ว*

 

วัฒนธรรมดนตรีป๊อปเกาหลีเริ่มมาแรงในช่วงปี 2000 ก่อนจะขยายฐานความนิยมจากเกาหลีใต้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และลุกลามไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อดูตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ยืนยันอานุภาพของ K-Pop ที่แข็งแกร่งในระดับสากล ทั้งคุณภาพดนตรี และแผนการตลาด ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างต้องแลกมาด้วยการเคี่ยวกรำอย่างหนักในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความสมบูรณ์แบบของตัวศิลปินที่จะเป็นไอดอลในสุดท้ายปลายทาง

 

เมื่อความสำเร็จมีราคาที่ต้องจ่าย เรากำลังจะพาคุณไปตรวจสอบทุกหยดน้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop เกาหลีที่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

การออดิชัน ศิลปินฝึกหัด ไปสู่การเดบิวต์

ในขณะที่เราเห็นศิลปิน K-Pop มากมายประสบความสำเร็จ ระหว่างทางก็มีผู้ผิดหวังที่ต้องเสียน้ำตาให้กับความฝันอันหอมหวานนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเด็กและผู้ปกครองจำนวนมากยังทุ่มเทเวลากับการเรียนเต้น ร้องเพลง และตระเวนไปออดิชันตามค่ายต่างๆ เพื่อให้ได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นศิลปินฝึกหัด ตัวอย่างเช่น SM Entertainment ที่จัดการออดิชันประจำปีในหลายๆ ประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบเอเชีย ไปจนถึงคาซัคสถาน โดยจะมีเด็กที่ได้รับเลือกเพียงหยิบมือเดียวจากผู้เข้าออดิชันทั้งหมดมากกว่า 300,000 คน!

 

การออดิชันมีหลายรอบ จากประเทศต้นทางไปจนถึงการออดิชันรอบลึกๆ ที่เกาหลีใต้ และถึงจะผ่านด่านอรหันต์ในการออดิชันไปได้ บางคนก็ยังได้เป็นเพียง pre -trainee ก่อนจะได้เป็น trainee ก็มี ความซับซ้อนนี้แล้วแต่ค่ายเป็นผู้จัดลำดับและคัดเลือก เช่นเดียวกับระยะเวลาในการเป็นเทรนนีเพื่อเตรียมตัวเดบิวต์เป็นศิลปินเต็มตัว ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 5 ปี หรือบางคนอาจจะลากยาวไปจนถึง 10 ปีแล้วยังไม่สามารถอัพเลเวลไปเดบิวต์ได้ก็มี

 

เพลง Palette – IU (Feat. G-DRAGON)

 

ไอยู (IU)

Photo: www.iloen.com

 

กรณีศึกษาอย่างเช่น ไอยู (IU) นักร้อง-นักแสดงที่กำลังมาแรง เธอเปิดเผยผ่านรายการ Seung Seung Jang Gu (ช่อง KBS 2TV) ว่าเคยออดิชันกับ JYP Entertainment แต่ตกรอบ และยังคงไปออดิชันอีกหลายรอบแล้วก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี อาจจะเพราะตอนนั้นเธอดูอวบๆ แบบ baby fat แต่สุดท้ายไอยูผู้ไม่ยอมแพ้ก็ได้เป็นศิลปินฝึกหัดและมีผลงานเพลงกับค่าย LOEN Entertainment แน่นอนว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

 

คยูฮยอน หนึ่งในสมาชิกวง Super Junior

Photo: now.smtown.com

 

คยูฮยอน (Kyuhyun) น้องเล็กของวง Super Junior เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Strong Heart (ช่อง SBS) ไว้ว่า เขาเป็นเด็กฝึกหัดเพียง 2 เดือน ก่อนเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 13 ของวง Super Junior ที่เพิ่งเดบิวต์ได้ 6 เดือน คยูฮยอนต้องย้ายเข้าไปอยู่หอเดียวกับสมาชิกในวง ขณะที่ทุกคนมีเตียงนอนกันหมดแล้ว แต่เขากลับต้องนอนในถุงนอนข้างเตียงของพี่ๆ อยู่ถึง 9 เดือน พร้อมกับอีกหลายเหตุการณ์ระหว่างการปรับตัวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จนวันที่ Super Junior ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก ทุกคนกอดกัน ดีใจจนน้ำตาไหล อีทึกพี่ใหญ่ของวงเดินเข้าไปหาเขาแล้วพูดว่า “นายเองก็ทำงานหนักเหมือนกันนะ” จากนั้นคยูฮยอนก็ร้องไห้ออกมา เพราะรู้ว่าได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกจากทุกคนแล้ว

 

จีฮโย หนึ่งในสมาชิกวง TWICE

Photo: twice.jype.com

 

อีกตัวอย่างกรณีของเทรนนีที่ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะได้เดบิวต์ เธอคือ จีฮโย (Jihyo) สมาชิกวง TWICE ที่เพิ่งได้เดบิวต์เมื่อปี 2015 นี่เอง เธอเข้าค่าย JYP Entertainment ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่ผ่านมาจีฮโยก็เกือบจะมีผลงานอยู่หลายครั้งแต่ก็ต้องฝันสลายไปก่อน อย่างไรก็ตาม เธอยังคงฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้เข้าร่วมรายการ Sixteen รายการเซอร์ไววัลเรียลลิตี้โชว์ เพื่อคัดเลือกศิลปินหน้าใหม่จากเทรนนีของ JYP Entertainment ซึ่งผู้ชนะทั้ง 9 ได้ร่วมกันออกผลงานในชื่อวง TWICE และกลายเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มาแรงสุดๆ ในปีนั้น

 

ระหว่างเรียนรู้สู่การเป็นศิลปิน

หลังจากค้นหา ‘ว่าที่ศิลปิน’ ไปทั่วโลก ด้วยการออดิชันหรือผ่านแมวมองจนจบกระบวนการ เหล่าศิลปินฝึกหัดที่อายุราว 10-18 ปี จะเก็บกระเป๋าเข้าสู่ระบบ ซึ่งการคัดเลือกศิลปินฝึกหัดที่อายุน้อยก็เพื่อให้ง่ายต่อการฝึก สอดคล้องกับการวางแผนออกอัลบั้มที่วางยาวกันเป็นปีๆ รวมทั้งร่นเวลาไม่ให้ชนกับการเข้ากรมเป็นทหารเมื่ออายุ 20 ปี

 

วง NCT DREAM คือวงที่มีสมาชิกอายุระหว่าง 14-17 ปี

โดยมีค่าเฉลี่ยอายุของทั้งวงตอนเดบิวต์อยู่ที่ 15.6 ปี

Photo: SMTOWN/Facebook

 

อุตสาหกรรม K-Pop แตกต่างและมีจุดแข็งไม่เหมือนใครตรงที่ระบบการฝึกฝน แต่ละสังกัดจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะให้กินนอนกับทางต้นสังกัด ซึ่งก็มีบางค่ายที่ปล่อยให้ศิลปินฝึกหัดได้ไปโรงเรียนตามปกติ ก่อนจะมาฝึกซ้อมในช่วงเย็น

 

การฝึกซ้อมจะมีตารางสอนออกมาเหมือนโรงเรียน แต่วิชาที่เรียนจะเน้นเรื่องความสามารถในการเป็นศิลปิน เช่น ร้องเพลง เต้น การแสดง นอกจากนี้การฝึกหัดยังรวมถึงการจัดแต่งรูปร่าง บุคลิก ลักษณะนิสัย การตอบคำถามสื่อ มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ ส่วนศิลปินที่มาจากนานาชาติและพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ ก็จะต้องลงเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติมนอกเวลา และแน่นอนว่าเกือบทุกสังกัดห้ามมีความรักระหว่างฝึก

 

บรรยากาศในรายการ PRODUCE 101 Season 2

Photo: produce101/Facebook

 

รายการที่ทำให้เราเห็นชีวิตจริงของศิลปินฝึกหัดได้ดีที่สุด คือ PRODUCE 101 รายการเซอร์ไววัลเรียลลิตี้ของเกาหลีที่เพิ่งจบซีซัน 2 ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเป็นการรวบรวมศิลปินฝึกหัดจากหลายค่ายมาฝึกร่วมกันเพื่อค้นหาผู้ชนะ และได้รับการเดบิวต์เป็นศิลปินจริง ซึ่งภายในรายการจะมีการเทรนทักษะในด้านต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่ในวงการและเพื่อนร่วมทีม นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการออกกำลังกายและสุขภาพที่ดี โดยจะมีการตรวจเช็กร่างกาย รวมไปถึงเปอร์เซ็นต์ของไขมันเพื่อให้รูปร่างเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา

 

รายการนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาค่ายเล็กต่างๆ ในเกาหลีได้มีโอกาสแนะนำและโชว์ศักยภาพของศิลปินฝึกหัดในสังกัดของตัวเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันการแข่งขันในวงการ K-Pop นั้นดุเดือดกว่ายุคแรกๆ เป็นอย่างมาก โดยแต่ละปีจะมีไอดอลกรุ๊ปพากันตบเท้าเดบิวต์กันกว่า 100 วง ทำให้การเป็นศิลปินค่ายเล็กนั้นมีโอกาสเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังในระยะเวลาอันสั้นน้อยมาก แต่การส่งเด็กฝึกหัดเข้าร่วมรายการ PRODUCE 101 นอกจากจะเป็นการแนะนำตัวให้กับผู้ชมแล้ว เด็กฝึกหัดที่เข้าร่วมรายการก็จะเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับติดตามผลงานของพวกเขามากขึ้นไปด้วย

 

สเตลลา คิม ที่เกือบได้เป็นหนึ่งในสมาชิกวง Girls’ Generation

Photo: sundayswithstella/Instagram

 

เมื่อมีความฝัน ย่อมมีสิ่งที่ต้องแลก

ระหว่างการเป็นศิลปินฝึกหัด แน่นอนว่ามีเด็กๆ ถอดใจไปไม่น้อย และถึงแม้มันจะเจ็บปวดแค่ไหน แต่การได้ลิ้มรสหอมหวานของความสำเร็จ การเป็นที่รัก และได้ยืนบนจุดสูงสุดของวงการป๊อปคัลเจอร์เกาหลี ก็ยังคงเย้ายวนเด็กหนุ่มสาวไม่ว่าใครให้อยากลิ้มลอง

 

กรณีของ สเตลลา คิม (Stella Kim) สาวลูกครึ่งอเมริกา-เกาหลีที่เกือบได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวง Girls’ Generation น่าจะเป็นภาพสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดนี้ได้เป็นอย่างดี เธอได้รับการทาบทามจาก SM Entertainment ให้บินจากอเมริกาไปออดิชันที่โซล เมื่อผ่านออดิชันเธอก็กระโดดเข้าใส่โอกาสนี้แบบไม่ลังเล

 

ด่านแรกเรื่องน้ำหนัก เธอเล่าว่าศิลปินฝึกหัดจะเข้าแถวชั่งน้ำหนักทีละคน และประกาศให้ได้ยินไปทั่ว ใครที่น้ำหนักไม่ลดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะโดนคาดโทษ เธอเองได้รับคำแนะนำให้ลดปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไปมากกว่าจะให้ไปออกกำลังกาย และโดนนำรูปร่างไปเปรียบเทียบกับคนนั้นคนนี้เสมอ ขณะเดียวกันทุกๆ วันเธอต้องเข้าฝึกโดยเริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้า และไปจบช่วงดึกๆ หรือใช้เวลาในการฝึกราวๆ 13 ชั่วโมงต่อวัน แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องที่เธอทำได้และสนุกกับมัน

 

สเตลลาเป็นเทรนนีอยู่ 4 ปี จนกระทั่งปี 2007 พ่อแม่ของสเตลลาตัดสินใจไม่ให้ลูกสาวเซ็นสัญญาเดบิวต์กับวง Girls’ Generation ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้ต้องกลับอเมริกาตามความต้องการของพ่อแม่ และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอพบกับช่วงดำมืดของชีวิต “ฉันเศร้ามากและไม่เข้าใจว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ยิ่งพอ Girls’ Generation เดบิวต์แล้วดังสุดๆ ฉันได้แต่เสียใจ”

 

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการที่เธอไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก นักเรียนเกาหลีบางคนจำเธอได้แล้วจับกลุ่มกันเมาท์ “นี่ไง คนที่อดเดบิวต์วง Girls’ Generation ก็เธอน่าเกลียดแล้วก็อ้วนแบบนี้” สเตลลารับมือกับเรื่องนี้ได้ไม่ดีพอ เธอพ่ายแพ้และเป็นโรคการกินอาหารผิดปกติ น้ำหนักตัวลดเหลือ 40 กิโลกรัม ที่ความสูง 170 เซนติเมตร เธอหยุดพักการเรียน 1 ปีเต็ม ต้องบินกลับเกาหลีใต้ ใช้เวลารักษาทั้งร่างกายและจิตใจอยู่พักใหญ่จนกลับมาเป็นปกติ พอกลับอเมริกา สเตลลาจึงย้ายสาขาจากที่เรียน Music Business ไปเรียนด้านโภชนาการอาหาร สุดท้ายเธอเติบโตและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังขอบคุณพ่อแม่ที่ห้ามไม่ให้เธอเดบิวต์และทำงานในวงการบันเทิง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอค้นพบความสุขในชีวิต และค้นพบตัวตนที่แท้จริง

 

ทุกวันนี้สเตลลาทำงานที่นิวยอร์กในตำแหน่ง Global Marketing ให้กับแบรนด์ Clinique ทั้งยังเป็นนักเขียนอิสระด้านความงาม นอกเวลางานเธอใช้ชีวิตเหมือนผู้หญิงธรรมดา นั่งมองผู้คนตามคาเฟ่ อ่านหนังสือ และขี่จักรยานเล่นเลียบแม่น้ำฮัดสัน เท่าที่ติดตามผ่านอินสตาแกรมและไดอารีในเว็บไซต์ของเธอ www.sundayswithstella.com/diary/ เราพบว่าสเตลลามีชีวิตที่ดี และมีความสุข แม้จะไม่ได้เป็นศิลปินชื่อดังท่ามกลางแสงไฟอย่างที่เธอเคยฝันไว้

 

 

อ้างอิง:

FYI

 

3 บริษัทบันเทิงเกาหลีผู้ยิ่งใหญ่ เบื้องหลังธุรกิจระดับพันล้าน

 

  1. SM Entertainment

     ครองอันดับหนึ่งมายาวนาน ทั้งยังเป็นเจ้าแรกที่ข้ามไปบุกตลาดจีน จนบริษัท Alibaba ขอมาร่วมลงทุนกับ SM ในการช่วยพัฒนาธุรกิจดนตรีดิจิทัลของจีน ศิลปินตัวท็อปของค่าย เช่น TVXQ!, Super Junior, Girls’ Generation, SHINee, EXO

     รายได้ในปี 2016 อยู่ที่ 357 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 16.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

  1. YG Entertainment

     ลำพังศิลปินในมืออย่าง BIGBANG, 2NE1, Psy ก็ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย และจริงๆ มีสิทธิล้มแชมป์ SM Entertainment เพราะตัวเลขกำไรสูงกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ YG ยังได้ตกลงจับมือกับบริษัทสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Tencent รวมถึงบริษัทจำหน่ายตั๋วออนไลน์ Weiying โดยทั้งสองบริษัทมีหุ้นใน YG ด้วย

     รายได้ในปี 2016 อยู่ที่ราว 295 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

  1. JYP Entertainment

     แม้จะเป็นรุ่นเล็กลงมาจากสองบริษัทแรก แต่ JYP ก็มีความโดดเด่นที่สร้างความแตกต่างได้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดออดิชันทั่วโลกเพื่อค้นหาศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งทำให้ฐานแฟนคลับขยายไปทั่วเอเชีย รวมทั้งในอเมริกา อีกความแตกต่างคือกลยุทธ์ในการให้อิสระศิลปินในการติดต่อสื่อสารกับแฟนๆ สังเกตได้จากโซเชียลมีเดียของศิลปินอย่าง GOT7, TWICE, DAY6, 2PM

     รายได้ในปี 2016 อยู่ที่ราว 69 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

  • เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นเทรนนี SM Entertainment จึงเปิดโรงเรียนนานาชาติของตัวเองเสียเลย โดยรับนักศึกษาจากทั่วโลกเข้าเรียนไฮสคูล ในเทอมแรกราว 50-100 คน เปิดสอนทุกวิชาตามระบบการศึกษา และเน้นวิชาที่จำเป็นสำหรับศิลปิน อย่างการร้องเพลง ดนตรี เต้นบัลเลต์ ฯลฯ ซึ่งจะเริ่มเปิดเทอมแรกในเดือนกันยายนนี้แล้ว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X