×

คำสารภาพจาก ฐิติพันธ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘Driver คนขับรถ’

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ถ้าตัวเองต้องไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น คุณจะเลือกวิ่งชนหรือถอยออกมา ทั้งเต้ (ภูริ หิรัญพฤกษ์) ที่เป็นเกย์ แต่ต้องแต่งงานกับผู้หญิง, เกด (ศิตา ชุติภาวรกานต์) ผู้หญิงที่มีสามีเป็นเกย์ และแมค (ปรมะ อิ่มอโนทัย) ที่เป็นทั้งคนขับรถ เป็นทั้งเกย์ และเป็นยังเมียน้อยในเวลาเดียวกัน
  • มันมีการอนุมานเป็นสมการไปแล้วว่า ‘การแต่งงาน = ความสุข’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้ามองไปรอบตัว เราจะเห็นคนเลิกกันเยอะมาก ถึงจะยังไม่เลิก แต่มีปัญหา ทะเลาะกัน มีความทุกข์มากกว่าความสุขก็เยอะเข้าไปอีก ตกลงแล้วมันคืออะไรกันแน่
  • ‘ความเท่าเทียม’ ที่ทุกคนพยายามเรียกร้องมันแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะการ ‘เหยียด’ คือสิ่งพื้นฐานที่ถูกฝังมาพร้อมกับสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ในการกดข่มคนอื่นให้ต่ำเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น สิ่งที่ทำได้คือการทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นเท่านั้น

     เราเชื่อว่าทุกคนเคยหลงทาง

     และสิ่งที่รายล้อมตลอดเส้นทางที่เราหลงเดินไปหลายๆ ครั้งนั่นแหละที่เป็นสิ่งหล่อหลอมให้ตัวเรากลายเป็นเราได้อย่างทุกวันนี้

     เหมือนอย่างทุกตัวละครในเรื่อง Driver คนขับรถ ที่ถูกปัญหาต่างๆ ในความสัมพันธ์รุมล้อม ทั้งความรัก เซ็กซ์ และการไม่ยอมรับตนเอง เป็นตัวดึงให้พวกเขาหลงทางและถลำลึกเข้าไปในเส้นทางที่หาทางออกได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

     และการหลงทางนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างสับสน ทับซ้อน ไม่รู้ว่าควรจะตามใคร ใครผิด ใครถูก หรือใครคือตัวเอกของเรื่องกันแน่ แม้กระทั่งว่าคนดูจะได้อะไรออกมาจากโรงนั้น ต้องปล่อยให้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน

     แต่ก็ยังมีอยู่หลายประเด็น (ทั้งในหนังและนอกเหนือจากนั้น) ที่เราอยากแบ่งปันและชวนพูดคุยในฐานะคนที่ผูกพันกับ ‘การหลงทาง’ มาเกือบทั้งชีวิต

     อย่างแรกคือ เรารักที่สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความอยากรู้ (ใกล้เคียงกับสังคมแห่งการเรียนรู้นะ แต่ยังไม่ใช่) อยากเห็นเรื่องชาวบ้าน จุดนี้ทำให้ตอนเขียนบทเป็นช่วงที่สนุกมาก เราอยากให้ผลงานนี้มีการหยอดคำถามเพื่อหาคำตอบตลอดเวลาว่ามันไปไหน มันทำอะไร มันเกิดอะไรขึ้น จะมีประโยคพวกนี้วนซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเร้าให้ทั้งตัวละครและคนดูไปหาคำตอบกันว่า ‘ไอ้ที่อยากรู้’ กันหนักหนา จริงๆ แล้วมันมีอะไรซ่อนอยู่กันแน่

 

 

     สรุปแล้วเรื่องนี้ให้อะไรกับคนดูกันแน่ เราเองก็ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องราวและประเด็นต่างๆ เกิดขึ้นเยอะไปหมด แต่อย่างน้อยอยากให้ลองเข้าไปดูสถานะและบริบทของตัวละครต่างๆ แล้วคิดว่าถ้าตัวเองต้องไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น คุณจะเลือกวิ่งชนหรือถอยออกมา ทั้งเต้ (ภูริ หิรัญพฤกษ์) ที่เป็นเกย์ แต่ต้องแต่งงานกับผู้หญิง, เกด (ศิตา ชุติภาวรกานต์) ผู้หญิงที่มีสามีเป็นเกย์ และแมค (ปรมะ อิ่มอโนทัย) ที่เป็นทั้งคนขับรถ เป็นทั้งเกย์ และเป็นยังเมียน้อยในเวลาเดียวกัน

     สิ่งที่หนังอยากถามทุกคนก็คือ ชีวิตของคนเราต้องการ ‘ความสุข’ ใช่ไหม แล้วที่หลายๆ คนบอกว่าถ้าอยากมีความสุขต้องแต่งงาน มันมีการอนุมานเป็นสมการไปแล้วว่า ‘การแต่งงาน = ความสุข’ ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้ามองไปรอบตัว เราจะเห็นคนเลิกกันเยอะมาก ถึงจะยังไม่เลิก แต่มีปัญหา ทะเลาะกัน มีความทุกข์มากกว่าความสุขก็เยอะเข้าไปอีก ตกลงแล้วความสุขมันคืออะไรกันแน่ เราพยายามเอาการแต่งงานมาเป็นเครื่องเดิมพันความสุขและผูกมัดไว้ด้วยคำว่า ‘ฉันจะรักเธอไปจนตาย’ เหล่านี้มันอาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่จอมปลอมสำหรับชีวิตหรือเปล่า และเราต้องการอะไรจากความรักในครั้งนี้กันแน่

 

 

     รวมทั้งการไม่ยอมรับตัวตนและการโกหกตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความวิบัติทั้งหลายทั้งหมด เราจะเห็นเรื่องนี้ได้เป็นปกติจากชีวิตของเกย์ทั่วไป อย่างในเรื่อง ถ้าเต้ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ ไม่ต้องหลอกผู้หญิง หรือทำเพื่อหน้าตาในสังคมชีวิตเขาอาจจะง่ายขึ้นหรือเปล่า ซึ่งมันไม่มีอะไรการันตีว่าดีจริงหรือเปล่านะ อาจจะแล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละคน ตอนจบของเรื่องก็พยายามบอกอยู่แล้วว่าไม่มีใครหรอกที่จะชนะและได้ทุกอย่างในเกมแบบนี้ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มันจะกลายเป็นความทุกข์ที่สุดในชีวิตของผู้หญิงคนนั้นได้เลย

     อีกเรื่องหนึ่งที่มองเห็นหลังจากทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิเท่าเทียมและภาพลักษณ์ของเกย์ในแง่บวกมาตลอด อาจจะฟังแล้วน่าเศร้า แต่ก็ต้องรับว่าในความเป็นจริงแล้ว ‘ความเท่าเทียม’ ที่ทุกคนพยายามเรียกร้องมันแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะการ ‘เหยียด’ มันคือสิ่งพื้นฐานที่ถูกฝังมาพร้อมกับสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ในการกดข่มคนอื่นให้ต่ำเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้แล้วเราจะไม่ทำ เพียงแต่เราคงไม่ตั้งเป้าไว้สูงถึงขนาดว่าการเหยียดจะต้องหมดไป ทุกคนต้องเท่าเทียมกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย ขอให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้นก็พอแล้ว

     ถือว่าโชคดีที่เรามีหนังเป็นสื่อช่วยทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้อย่างมีพลัง ถึงแม้หนังของเราจะเป็นหนังเล็กๆ ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในระดับใหญ่โต แต่อย่างน้อย แค่ความรู้สึกตอนทำหนังเรื่อง Love Next Door 2 แล้วเพื่อนที่ครอบครัวกำลังมีปัญหาเพราะลูกเป็นเลสเบี้ยนเขาขอบคุณที่เราพูดถึงเรื่องนี้ เมื่อก่อนที่เขาไม่อยากให้ลูกเป็นเลสเบี้ยนก็เพราะคิดถึงแต่มุมตัวเอง ไม่เคยคิดถึงความทุกข์ของลูกเลย เขารู้สึกได้ปลดปล่อยตัวเอง และปล่อยให้ลูกได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น แค่นั้นมันก็เป็นพลังที่ดีมากที่ได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำไปไม่สูญเปล่า และช่วยยืนยันได้ว่าเราควรจะทำสิ่งนี้ต่อไป

 

 

     รวมทั้งตัวเราเองที่ผ่านการหลงทางมานับครั้งไม่ถ้วน เรียกว่ามักจะมีเซนส์ในการเลือกทางที่ผิดมากกว่าทางที่ถูกอยู่เสมอ ตั้งแต่เด็กจนมาอยู่ในวัยที่ทำทุกอย่างตามหัวใจ ยังไม่ทันได้ใช้ส่วนสมองมาช่วยตัดสินใจมากนัก พร้อมที่จะวิ่งชนและลุ่มหลงไปกับทุกอย่างที่เร้าเข้ามา และกลายเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอมากๆ ไม่สามารถแฮนเดิลอะไรในชีวิตได้เลย จนมาช่วงหลังๆ ที่นิ่งขึ้น เริ่มเลือกทางที่ถูกต้องได้บ้าง ซึ่งเราอาจจะต้องขอบคุณทางที่เลือกผิดทั้งหมดที่ผ่านมาด้วยนะ เราอาจจะเคยเสียใจในช่วงเวลานั้น แต่พอเวลาผ่านไป เราไม่เคยเสียดายกับทุกๆ อย่างที่ทำลงไป เพราะสุดท้ายทุกเส้นทางก็ได้หล่อหลอมให้เรากลายเป็นเรา ได้มาพูด มานำเสนอในสิ่งที่เราคิด ผ่านสื่อภาพยนตร์ที่เรารักได้อย่างทุกวันนี้

     ฉะนั้นเชื่อเถอะว่าการหลงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เช่นเดียวกับที่คุณอาจจะลองเปิดใจมาทำความรู้จักกับการหลงทางของตัวละครทั้ง 3 ว่าพวกเขาจะนำพาความคิดไปสู่เส้นทางสายไหนต่อไปได้บ้าง

     ถ้าใครสนใจก็คงต้องรีบหน่อย เพราะ ‘ไอ้แมงมุม’ กำลังเข้ามายึดโรงฉายของพวกเราไปเกือบหมดแล้ว

 

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising