×

ทำไมใครๆ ก็หลงรัก ‘มินเนียน’ วิธีการสร้างมาสคอตในแบบยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • มินเนียน คือคาแรกเตอร์ลูกสมุนวายร้ายจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์แอนิเมชัน Despicable Me เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2010 โดยเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ Illumination Entertainment ภายใต้ต้นสังกัดยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ (Universal Studios)
  • เป็นคาแรกเตอร์ที่ผู้กำกับตั้งใจออกแบบมาให้เป็น ‘สมุนวายร้ายจอมขโมยซีน’ ขณะที่ลักษณะทางกายภาพและบุคลิกนิสัยเป็นสาเหตุจากความบังเอิญที่ผู้กำกับอยากสร้างมินเนียนให้เป็นวายร้ายที่คนดูตกหลุมรัก และอยากเอาใจช่วย
  • ว่ากันว่าหาก Walt Disney มี มิกกี้เมาส์ เป็นมาสคอตประจำบริษัท ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอก็มี มินเนียน เป็นมาสคอตของพวกเขาไม่ต่างกัน เนื่องจากการต่อยอดมูลค่าทางการตลาดที่มหาศาล และทำเงินให้บริษัทแบบไม่รู้จบ

     เคยสงสัยไหมว่าเหตุใด ‘มินเนียน (Minion)’ คาเเรกเตอร์ตัวการ์ตูนผิวสีเหลืองที่มีความสูงเฉลี่ยแค่ 105 เซนติเมตร สวมเเว่นตาเลนส์หนาเทอะทะ แถมยังพูดจาไม่รู้เรื่องถึงเข้าไปครองใจใครต่อใครได้สำเร็จ? ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ลามไปจนถึงการต่อยอดมูลค่าทางการตลาดผ่านสินค้าต่างๆ ได้อย่างมากมาย

     จุดกำเนิดความป๊อปของมินเนียนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2010 หลังภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘Despicable Me’ ออกฉาย โดยเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ Illumination Entertainment ภายใต้ต้นสังกัดยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ (Universal Studios)

     เดิมทีใจความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจจะบอกเล่าเรื่องราวของวายร้าย ‘กรู​ (Gru)’ กับภารกิจสร้างความปั่นป่วนให้โลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวทั้ง 3 คน แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าลูกสมุนของจอมวายร้ายอย่าง ‘มินเนียน’ กลับขโมยคะแนนความนิยมจากคนดูจนใครๆ ก็พากันหลงรักแทนซะอย่างนั้น! (แม้ผู้สร้างจะตั้งใจให้มันเป็นคาแรกเตอร์ขโมยซีนอยู่แล้วก็ตามเถอะ) ก่อนที่ในที่สุดพวกมันจะมีภาพยนตร์เป็นของตัวเอง Minions (2015)

     ยูนิเวอร์เเซล สตูดิโอทำอย่างไร เหตุใดมินเนียนจึงกลายเป็นมาสคอตประจำบริษัทของพวกเขาที่ผู้คนทั่วโลกต่างพากันตกหลุมรักแบบหัวปักหัวปำ?

 

 

แหกขนบวายร้าย ด้วยภาพลักษณ์ไร้พิษสง

     เราต่างรู้ว่าเจ้ามินเนียนคือตัวละครลูกสมุนวายร้าย แต่สิ่งที่ทำให้พวกมันแตกต่างและขัดแย้งจากขนบธรรมเนียมตัวละครวายร้ายในสื่อทั่วไปคือลักษณะรูปร่างและบุคลิกที่น่ารัก ดูไม่มีพิษมีภัย

     ปิแอร์ คอฟฟิน (Pierre Coffin) หนึ่งในสองผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน Despicable Me และผู้มอบชีวิตให้กับเหล่ามินเนียน เคยให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ข่าว The Guardian ว่า ในความเป็นจริงนั้น พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้พวกมันออกมามีลักษณะทางกายภาพแบบที่เราเห็นด้วยซ้ำ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของความบังเอิญ!

     “เดิมทีพวกมันถูกจินตนาการภาพออกมาเป็นกองทัพลูกสมุนที่ร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้ามหนาถึก แต่เรามาเข้าใจภายหลังว่ามันเป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่ดึงดูดเอาซะเลย แถมยังทำให้กรูกลายเป็นแอนตี้ฮีโร่ที่เลวร้ายลงกว่าเดิม

     “เพื่อทำให้กรูดึงดูดคนดู เราได้ไอเดียว่าเขาจะต้องรู้ชื่อเรียกผู้ช่วยตัวน้อยๆ ทุกตัว แม้จะมีจำนวนหลายร้อยตัว เราสวมเเว่นกันลมให้มัน จับสวมชุดเหมือนคนงาน ทำให้ดูคล้ายพวกตัวตุ่นเพศผู้ มีผิวโทนสีเหลืองจัดๆ กระทั่งออกมาเป็นมินเนียนแบบที่เราเห็น ซึ่งตั้งแต่ซีนแรกที่ปรากฏตัว เราก็รู้แทบจะทันทีว่าพวกมันได้สร้างความสมดุลให้กับตัวละครตัวอื่นๆ รวมถึงมีศักยภาพที่จะเป็นตัวตลกแสนน่ารักได้”

 

via GIPHY

 

แอนตี้ฮีโร่เวอร์ชัน ‘Looser’ ที่ใครเห็นก็อดเอาใจช่วยไม่ได้

     ทั้งๆ ที่เรารู้ว่ามินเนียนและกรูตั้งตัวเป็นจอมวายร้ายที่เพียบพร้อมไปด้วยแผนการและยุทโธปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อหวังครอบครองโลก แต่เหตุใดเราถึงยังคอยเชียร์และเอาใจช่วยพวกเขา?

     เหตุผลส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะแอนิเมชันแฟรนไชส์ Despicable Me หรือ Minions นำเสนอเรื่องราวของ ‘แอนตี้ฮีโร่’ ที่ตัวละครหลักไม่ได้มีลักษณะนิสัยเป็น ‘วายร้ายนิสัยเลว’ ไปเสียทั้งหมด ทั้งกรูและมินเนียนต่างก็มีมุมความเป็น looser ที่เอาดีด้านการสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับโลกไม่ได้ จนบ่อยครั้งทุกภารกิจของพวกเขากลับลงเอยด้วยการกอบกู้โลกเสียเอง

     โดยเฉพาะเหล่ามินเนียนที่พะยี่ห้อ ‘เข้าแก๊งไหนหัวหน้าตายหมด’ มาแต่ไหนแต่ไร (เหตุการณ์ในภาพยนตร์เดี่ยว) ซึ่งพฤติกรรมและการกระทำแสนบ๊อง เซ่อซ่าของพวกมันแต่ละตัวก็เรียกรอยยิ้มจากคนดู และชวนให้ใครๆ ตกหลุมรักจนถอนตัวไม่ขึ้นได้เสมอ

 

 

ปั้นคาแรกเตอร์ให้ครองใจคนทั่วโลกด้วยการเข้าถึงทุกเชื้อชาติ

     ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงก่อนที่ภาพยนตร์แอนิเมชันภาคต่ออย่าง Despicable Me 2 จะออกฉายเมื่อปี 2013 ทาง Illumination Entertainment และยูนิเวอร์แซล สตูดิโอได้ปล่อยวิดีโอโปรโมต เป็นคลิปเหล่ามินเนียนยืนเรียงแถวหน้ากระดานร้องเพลง ‘Banana’ โดยผลที่ได้รับในเวลานั้นคือ ยอดวิวและยอดแชร์คลิปที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่เราเองก็แทบจะไม่เข้าใจความหมายของเพลงด้วยซ้ำ

 

 

     ในความเป็นจริงนั้น ภาษากล้วย (Banana Language) หรือภาษามินเนียน (Minionese) ที่ดูไม่น่าจะมีความหมายได้ มีที่มาจากคำหลายๆ คำของภาษาที่ใช้ได้จริงจากแต่ละประเทศทั่วโลก อาทิ ภาษาอังกฤษ​ (Potato และ Banana), ภาษาสเปน (Para tú และ La boda ที่หมายความว่า เพื่อคุณ และงานแต่งงาน ตามลำดับ), ภาษาอิตาลี (Gelato ไอศกรีม), ภาษาฝรั่งเศส ​(Poulet Tikka Masala แกงกะหรี่ไก่อินเดีย), ภาษาเกาหลี (Hana (하나), Dul (둘), Sae (셋) นับเลข 1 2 3), ภาษาญี่ปุ่น (Yakitori ไก่ย่าง), ภาษารัสเซีย (Da (да) ใช่) ฯลฯ โดยคำส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หมวดหมู่อาหารเป็นหลัก รวมถึงมีคำอื่นๆ ที่เป็นภาษาที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ เช่น Papoy ที่เเปลว่า ของเล่น

     ซึ่งการทำให้มินเนียนสามารถพูดได้หลายภาษานี่เองที่ทำให้คนในแต่ละประเทศรู้สึกว่าพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ขณะที่น้ำเสียงของพวกมันที่ตัวผู้กำกับอย่างปิแอร์ คอฟฟิน บังเอิญจับพลัดจับผลูต้องมาพากย์เสียงเอง หลังตั้งใจจะอัดเป็นตัวอย่างไกด์เสียงพากย์ ก็กลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ประจำตัวที่ใครๆ ก็จดจำได้

     ปิแอร์เล่าถึงสาเหตุการให้มินเนียนพูดได้หลายภาษาไว้ว่า

     “มันเป็นการพูดพล่อยๆ ของมินเนียนที่เราต้องหาคำ ซึ่งเมื่อพูดรวมๆ กันแล้วจะได้ประโยคที่มีจังหวะจะโคนแสนวิเศษ ทำให้เรื่องที่ไม่มีสาระดูมีสาระขึ้นมาได้”

 

via GIPHY

 

มินเนียน = มิกกี้เมาส์ แห่งยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ การต่อยอดมูลค่าทางการตลาดที่ไม่รู้จบ

     ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้อย่าง Box Office Mojo ระบุว่า แอนิเมชัน Minions (2015) มีรายรับรวมสุทธิจากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกอยู่ที่ 1,159 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองเพียงแค่ Frozen (2013) ที่มีรายรับรวม 1,276  ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (นับเฉพาะภาพยนตร์แอนิเมชัน)

     และหากนับรายรับรวมทั่วโลกของทั้ง Despicable Me (ภาค 1-2) และ Minions ก็จะพบว่าภาพยนตร์แอนิเมชันทั้ง 3 เรื่องมีรายรับสุทธิรวมทั่วโลกอยู่ที่ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าแฟรนไชส์แอนิเมชัน Toy Story (ภาค 1-3) ที่มีรายรับรวมทั่วโลกอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

     ถึงแม้ภาพยนตร์แอนิเมชันแฟรนไชส์ Despicable Me และ Minions จะไม่ได้รับผลตอบรับและคำวิจารณ์ในแง่บวกมากนักเมื่อเทียบกับแอนิเมชันจากค่ายอื่นๆ อย่าง Walt Disney หรือ Studio Ghibli แต่เหตุผลเดียวที่ใครๆ ก็อยากจะติดตามดูแอนิเมชันในตระกูลดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาล้วนแล้วแต่เป็นเพราะ ‘มินเนียน’

     ความป๊อปของสมุนตัวจ้อยผิวสีเหลืองนี่เองที่ขยายอาณาเขตในวงกว้าง จนทำให้ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดผ่านสินค้าต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ เช่นการขายลิขสิทธิ์ผลิตของเล่น สินค้าอุปโภค-บริโภคให้แก่บริษัทต่างๆ การร่วมเป็นพาร์ตเนอร์หลักกับฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ (ของเล่นแฮปปี้มีล) และบริษัทจำหน่ายผลไม้ Chiquita (กล้วยยี่ห้อที่เหล่ามินเนียนโปรดปราน) จนในปี 2013 ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอได้คาดการณ์ว่า พวกเขาจะมีรายรับจากช่องทางนี้ถึงปีละประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ​ ซึ่งแน่นอนว่ามูลค่าทางการตลาดของมันต้องเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอยู่แล้ว (ในปี 2015 brandchannel เชื่อว่ามูลค่าทางการตลาดของมินเนียนอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ)

     นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ยังได้นำมินเนียนไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสวนสนุกประจำยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ในหลายๆ ประเทศอีกด้วย

     ความสำเร็จนี้เองที่ทำให้ Ronald Meyer รองประธานกรรมการบริษัท NBCUniversal ถึงกับเอ่ยปากว่า มินเนียนเปรียบเสมือนมิกกี้เมาส์ประจำบริษัทของพวกเขา

     “พวกมันเติมเต็มได้ทุกองค์ประกอบที่คาเเรกเตอร์ยอดนิยมพึงมี ต่อจากนี้ไปอีก 50 ปี ผู้คนจะจดจำเหล่ามินเนียนกันได้อีกนาน เพราะพวกมันยิ่งใหญ่มากๆ ในทุกวิถีทาง”
     คงจะจริงอย่างที่ Ronald ว่าไว้ เพราะก่อนหน้านี้ ถึงแม้ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ จะผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันออกมามากแค่ไหนก็ตาม (Shrek, Kung Fu Panda, How to Train Your Dragon) แต่ก็ไม่เคยมีคาแรกเตอร์ตัวละครจากแอนิเมชันเรื่องใดจะได้รับความนิยม และครองใจคนดูได้เท่ากับมินเนียนเลย

     ตัวประหลาดผิวสีเหลืองสวมแว่นกันลมในชุดเอี๊ยมสีน้ำเงินอย่างมินเนียนจึงเปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติล้ำค่า และมาสคอตประจำบริษัทที่ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอหวงแหน สามารถต่อยอดทางการตลาด รวมถึงเป็นที่รักของคนทั่วโลกได้ตราบนานเท่านาน

 

via GIPHY

 

อ้างอิง

FYI
  • ปิแอร์ คอฟฟิน ให้เหตุผลถึงการกำหนดให้มินเนียนทุกตัวเป็นเพศชาย ว่ามีที่มาจากพฤติกรรมการแสดงออกที่เซ่อซ่าและบ๊อง
  • ชื่อของมินเนียนแต่ละตัวก็มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น เควิน ที่มาจากภาษากรีกโบราณ​ (Kevinos) ซึ่งหมายถึงผู้นำ, สจ๊วต มาจากภาษาละติน (Stuartalumni) ที่หมายถึงพฤติกรรมเนิบนาบ เฉื่อยช้า
  • จากความสำเร็จของภาพยนตร์แอนิเมชัน Despicable Me (2010) ทำให้บริษัทจำหน่ายผลไม้ Chiquita ต้องปั๊มสติกเกอร์ที่ใช้แปะบนกล้วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 พันล้านชิ้น
  • David O’Connor รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดแบรนด์ประจำยูนิเวอร์แซล สตูดิโอมองว่า คาแรกเตอร์มินเนียนสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบ จนถึงผู้สูงวัยอายุ 84 ปี
  • ในปี 2015 บริษัทสีอย่าง Pantone ได้เปิดตัวสีเหลืองมินเนียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คาแรกเตอร์ได้รับโทนสีเป็นของตัวเอง (https://www.pantone.com/pantone-color-institute-announces-minion-yellow )
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising