×

เบื้องหลังแฟชั่นของ ‘เทเรซา เมย์ – ฮิลลารี คลินตัน’ บนเวทีการเมืองโลก และตัวละครลับชื่อแอนนา วินทัวร์

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เทเรซามักจะเลือกเสื้อผ้าแบรนด์อังกฤษ เช่น L.K. Bennett, Amanda Wakeley และเจ้าแม่พังก์อย่าง Vivienne Westwood
  • กลไกสำคัญในการดูแลภาพลักษณ์ของฮิลลารีคือ คริสตินา เชก ที่เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของมิเชลล์ โอบามา
  • แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อเมริกา เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในช่วงหาเสียงของทั้งเทเรซาและฮิลลารี

    ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้แฟชั่นยังคงเป็นอาวุธสำคัญบนเวทีการเมือง เพราะเป็นส่วนสำคัญของภาพลักษณ์ที่เผยแพร่ต่อสังคม ใครใส่ชุดอะไร ซิลูเอตทรงไหน เฉดสีเข้มหรือสว่าง ดีไซเนอร์จากปารีสหรือโลกที่สาม ทุกประเด็นถูกจับตามองหมด

    ถ้ามองและเปรียบเทียบกลยุทธ์การแต่งตัวของเทเรซา เมย์ (Theresa May) และฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เราจะเห็นลุคที่คล้ายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งสะท้อนหลายปัจจัยและสร้างนิยามใหม่ต่อคอนเซปต์ Power Dressing หรือการแต่งตัวของเหล่าผู้นำ

 

เสรีภาพในการแต่งตัวของเทเรซา เมย์

    เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และผู้ลงแข่งขันเลือกตั้งครั้งล่าสุด ตัวแทนพรรคอนุรักษนิยม เธอมีสไตล์ที่คาดเดาไม่ได้ โดยความกล้าหาญในการเลือกไอเท็มเสื้อผ้าและแอ็กเซสซอรีของเธอจะเห็นได้จากชุดสูทลายทาง รองเท้าบู๊ตหนังจระเข้ โค้ตหนัง โค้ตสีแดงสด ไปจนถึงรองเท้าส้นเตี้ยทรง kitten heels ลายเสือดาว

    เทเรซามักจะเลือกแบรนด์อังกฤษ เช่น L.K. Bennett, Amanda Wakeley  และเจ้าแม่พังก์อย่าง Vivienne Westwood เพื่อเป็นการสนับสนุนแบรนด์บ้านเกิดและดีไซเนอร์ที่เป็นผู้หญิง

    เทเรซาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันเชื่ออยู่เสมอว่าหากคุณเป็นผู้หญิงที่ทำงานในวงการการเมืองหรือธุรกิจอะไรก็ตามแต่ ก็ควรทำงานในรูปแบบที่ไม่ต้องตามหลังผู้ชาย” ประโยคนี้สะท้อนถึงความหลากหลายของเสื้อผ้าที่เทเรซาสวมใส่ได้อย่างชัดเจน เธอยังเคยกล่าวในการประชุม The Women in the World Summit ไว้ว่า “ฉันชอบเสื้อผ้า ฉันชอบรองเท้า… หนึ่งในความท้าทายของการทำงานที่ไหนก็ตามแต่ คือการยังคงเป็นตัวของตัวเองได้ ฉันคิดว่าผู้หญิงฉลาดที่มีหน้าที่การงานก็ชอบเสื้อผ้าและแฟชั่นได้เหมือนกัน”

 

 

Photo: Stefan ROUSSEAU, AFP/Photo

Photo: Justin TALLIS, AFP/Photo 

วิวัฒนาการในการแต่งตัวของฮิลลารี คลินตัน

    แฟชั่นของฮิลลารี คลินตัน ถือว่ามีข้อมูลมากกว่าถ้าเทียบกับเทเรซา เพราะสื่อได้ทำการศึกษาเธอตั้งแต่ยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยมีชุดที่สร้างการจดจำอย่างเดรสปักเลื่อมลายลูกไม้สุดไอคอนิก ออกแบบโดยซาร่าห์ ฟิลลิปส์ (Sarah Phillips) ในงานสาบานตนของสามี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ปี 1993 จนกระทั่งเธอมาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับชุดแพนต์สูทของ Ralph Lauren

    ชุดของฮิลลารีช่วงหาเสียง ถ้าเทียบกับเทเรซาจะดูทางการและมัสคูลีนกว่า โดยจะไม่โชว์เนื้อหนังเหมือนเทเรซาที่ยังเลือกใส่เดรสเปิดไหล่หรือเกาะอกในงานกลางคืน ไอเท็มที่ฮิลลารีใส่มักจะเน้นความเรียบง่ายและเรียบหรู เช่น สร้อยมุก Mikimoto และแจ็กเก็ตผ้าทวีตของ Giorgio Armani ที่มีราคาสูงถึง 12,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่ดูแลภาพลักษณ์ของเธอคือคริสติน่า เชก (Kristina Schake) ทีมสื่อสารของฮิลลารี ก่อนหน้านี้คริสติน่าเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของมิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) ที่คอยวางกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งรายการทีวีที่มิเชลไปออกจนถึงชุดที่จะใส่ ซึ่งพอเธอมาทำงานกับฮิลลารี คริสติน่าก็ช่วยไกด์ให้ฮิลลารีดูเข้าถึงง่าย และลดทอนความจัดจ้านของเสื้อผ้าให้ดูเรียบขึ้น เพื่อให้คนสนใจภาพลักษณ์นักการเมืองมากกว่าการจะเป็นสไตล์ไอคอน

 

 

Facebook.com/HillaryClinton

 

เมื่อแอนนา วินทัวร์ เข้ามามีบทบาท

    แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อเมริกา เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในช่วงหาเสียงของทั้งเทเรซาและฮิลลารี ตลอดระยะเวลา 29 ปีที่ทำงานที่นี่ เธอได้เชิญนักการเมืองหลายคนมาถ่ายภาพลงในนิตยสาร โดยตัวฮิลลารีเองก็เคยลง Vogue อเมริกา หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการขึ้นปกฉบับเดือนธันวาคม ปี 1998 ในชุดของ Oscar De La Renta ซึ่งเป็นครั้งแรกของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร

    จากนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม ปี 2016 Vogue ก็สร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเองกับการออกมาสนับสนุนฮิลลารีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นิตยสารกล้าเลือกข้าง โดยแอนนาได้สวมเสื้อยืดสกรีนลายหน้าฮิลลารีที่ออกแบบโดย Marc Jacobs ในช่วงนิวยอร์กแฟชั่นวีกอีกด้วย

    อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างแอนนากับฮิลลารีก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะย้อนไปในปี 2008 เกิดเหตุการณ์ที่ฮิลลารีไม่อยากขึ้นปก Vogue ทั้งที่มีการจัดเตรียมวันถ่ายไว้เรียบร้อย เพราะกลัวว่าภาพลักษณ์ตัวเองจะดูซอฟต์ลง ซึ่งแอนนาก็ได้โต้กลับด้วยการเขียนในบทบรรณาธิการนิตยสารไว้ว่า “จินตนาการดูว่าฉันอึ้งขนาดไหน ตอนที่ฮิลลารี คลินตัน ประธานาธิบดีหญิงความหวังเดียวของเราตัดสินใจไม่ลงหนังสือของเรา เพราะกลัวจะดูเฟมินีนเกินไป ความคิดที่ว่าผู้หญิงที่มีอำนาจควรจะดูมีความเป็นชายมันช่างน่าผิดหวัง นี่คืออเมริกา ไม่ใช่ประเทศซาอุดีอาระเบีย”

vogue ฉบับเดือนธันวาคม ปี 1998 ถ่ายโดยแอนนี่ เลโบวิตซ์ (annie leibovitz)

    ส่วนใน Vogue ฉบับเมษายนที่ผ่านมา แอนนาได้ตัดสินใจทำสกู๊ปเกี่ยวกับเทเรซาที่มีการถ่ายแบบพร้อมสัมภาษณ์ที่ประเทศอังกฤษ โดยเทเรซาใส่ชุดเดรสราคา 395 เหรียญสหรัฐ พร้อมโอเวอร์โค้ตสีน้ำเงินราคา 795 เหรียญสหรัฐ ของแบรนด์ L.K. Bennett หนึ่งในแบรนด์โปรดของสาวทำงานในอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจคือเทเรซาไม่ได้เลือกใส่แบรนด์อังกฤษที่มีราคาสูงกว่า เช่น Victoria Beckham หรือเลือกชิ้นอู้ฟู่ แต่กลับเลือกแบรนด์ที่เน้นความเรียบง่าย

    หลายคนได้แต่สงสัยว่าทำไมแอนนาจึงเลือกเทเรซามาลง Vogue ทั้งที่เป็นนิตยสารเวอร์ชันของอเมริกา แอนนาได้ให้เหตุผลกับ Business of Fashion ไว้ว่า “หน้าที่ของ Vogue คือการสะท้อนสังคมปัจจุบัน ตอนนี้เราได้ผู้หญิงมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษอีกครั้งหลังจากมาร์กาเร็ต แทตเชอร์… เรารู้ว่าคนอ่านของเราสนใจเรื่องการเมือง สนใจเรื่องผู้หญิง และสนใจเรื่องของโลก ซึ่งแน่นอน เธอเหมาะกับการอยู่ในนิตยสารฉบับนี้”

 

VOGUE ฉบับเดือนเมษายน ปี 2017 ถ่ายโดยแอนนี่ เลโบวิตซ์

คุณค่าของแฟชั่นอยู่ที่ไหน

    พูดได้ว่าในโลกปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาล้อมรอบทุกองศาของชีวิต บทบาทของผู้หญิงก็ไม่ใช่แค่การเป็นแม่ศรีเรือนอีกต่อไป ผู้หญิงเป็นได้แม้กระทั่งผู้นำระดับประเทศ และแฟชั่นได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของผู้หญิง มันจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ

    ถึงแม้เทเรซาหรือฮิลลารีจะมาจากต่างถิ่น ต่างพรรค ต่างความคิด แต่พูดได้ว่าสิ่งที่พวกเธอทั้งคู่จะจับมือและมองเห็นไปในทางเดียวกันคือความสำคัญของแฟชั่นที่ไม่ใช่จะมาแข่งกันว่าใครดูปังกว่า แต่คือการที่แฟชั่นจะมาเชิดชูและทำให้คนคนหนึ่งดูมีพลัง น่าเชื่อถือ และขับเคลื่อนโลกของเราไปข้างหน้า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories