ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่อยู่ทุกวันนี้ เป็นด่านแรกหรือ first impression ที่ส่งผลให้คนอื่นๆ ตัดสินว่าเราเป็นคนอย่างไร ก่อนที่พวกเขาจะได้พูดคุยและทำความรู้จักกับเราเสียอีก
ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียเคยกล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์ เราจะใช้เพศสภาพชายหรือหญิงในการวิเคราะห์ตัดสินใจว่ามนุษย์อีกคนเป็นแบบใด ซึ่งเครื่องแต่งกายนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกใบ้ถึงอุปนิสัยของบุคคล แต่นอกจากการบ่งบอกถึงเทรนด์แฟชั่น เช่น preppy, punk หรือแนว minimal แล้ว แฟชั่นยังเป็นส่วนหนึ่งของการบ่งบอกจุดยืนทางการเมืองของผู้สวมใส่อีกด้วย คำว่า เอเจนเดอร์ (Agender) นั้นจึงเป็นมากกว่าการแต่งตัวแบบทอมบอย หรือการเลือกที่จะสวมใส่กระโปรงและเดรสเท่านั้น
จากซ้ายไปขวา: เซตแฟชั่นของ โยจิ ยามาโมโตะ ในหนังสือ Vogue อเมริกาฉบับเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 1983 และแฟชั่นโชว์ของ COMME des GARÇONS ประจำปีฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1982
หากลองมองย้อนไปในประวัติศาสตร์สังคมของชนชาติต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าในหลายๆ วัฒนธรรมนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าที่เจาะจงเพศตายตัว นับตั้งแต่ยุคกรีกจนถึงยุคเรเนสซองส์ในประเทศอิตาลี รวมไปถึงการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นเช่นชุดกิโมโน ซึ่งมีการสวมใส่อย่างกว้างขวางทั้งหญิงและชาย แม้กระทั่งในสมัยปัจจุบัน อีกทั้งงานออกแบบที่ไม่ได้เน้นการแสดงเพศสภาพอย่างชัดเจนของดีไซเนอร์ญี่ปุ่นหลากหลายคนเช่น โยจิ ยามาโมโตะ (Yohji Yamamoto) หรือ เรย์ คาวาคูโบ (Rei Kuwakubo) ซึ่งเน้นการสร้างรูปทรงต่างๆ บนร่างกายของมนุษย์ และไม่เน้นสัดส่วนที่แสดงความเป็นชายหรือหญิง
ดีไซเนอร์อย่าง มาร์ค จาค็อบส์ ซึ่งเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของ COMME des GARÇONS เคยกล่าวว่า “เสื้อผ้าที่คาวาคูโบออกแบบนั้นไม่ได้มีประเด็นหลักอยู่ที่การแต่งตัวเพื่อให้คนอื่น เสื้อผ้าของ COMME des GARÇONS นั้นไม่ได้มุ่งหวังที่จะเรียกร้องความสนใจหรือเชิญชวนให้คนอื่นๆ มาหลงใหล การได้ใส่เสื้อผ้าของคาวาคูโบนั้นคือการให้ของขวัญเพื่อตัวเองอย่างแท้จริง”
จากซ้ายไปขวา: กาเบรียล แชลแนล ในลุคกางเกงกับเสื้อลายทาง, มาร์ลีน ดีทริช นักแสดงชาวเยอรมัน และ แคทารีน เฮปเบิร์น นักแสดงชาวอเมริกัน
อาจจะพูดได้ว่า การแต่งตัวนั้นเป็นเครื่องมือแสดงความขบถในอีกแบบหนึ่ง โดยเสื้อผ้าแบบเอเจนเดอร์ไม่ได้สื่อถึงเพศสภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการแสดงจุดยืนและการแต่งตัวเพื่อตนเอง
แน่นอนว่าไม่มีใครเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงได้มากไปกว่า กาเบรียล หรือ โคโค แชลแนล ผู้ริเริ่มออกแบบกางเกงขี่ม้าสำหรับผู้หญิงในยุค ซึ่งกระโปรงยาวและคอร์เซ็ตยังเป็นที่นิยม หรือจะเป็นนักแสดงชาวเยอรมันอย่าง มาร์ลีน ดีทริช ซึ่งลุคสวมสูทในภาพยนตร์เรื่อง Morroco ในปี ค.ศ. 1930 ได้นำชัยชนะรางวัลออสการ์มาให้เธอ ดีทริชมีรสนิยมซึ่งเป็น Bisexual อย่างเปิดเผย และนอกจากลุคบนจอภาพยนตร์แล้ว เธอยังแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่แหกข้อจำกัดทางเพศเสมอ เช่น บางครั้งใส่ชุดสูทและทักซิโด้ แต่บางครั้งก็เลือกที่จะใส่เดรสกลางคืนพร้อมขนสัตว์หรูหรา
นักแสดงอีกคนหนึ่งที่ได้ฉีกภาพลักษณ์เหมารวมของฮอลลีวูดในสมัยนั้น แคทารีน เฮปเบิร์น ถึงแม้ว่าความเป็นคนตรงๆ ของเธอจะทำให้สตูติโอต่างๆ ส่ายหัวไปตามๆ กัน สไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองนั้น ได้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในฮอลลีวูดมีความคิดเป็นของตนเองได้เท่ากับผู้ชาย ย้อนแย้งกับเพศสภาพซึ่งเป็นที่นิยมในยุค 50s ซึ่งนิยมให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เรียบร้อย ไม่มีปากมีเสียงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
จากซ้ายไปขวา: พรินซ์นักร้องชาวอเมริกันในยุคอัลบั้ม Purple Rain นักร้องชาวอังกฤษ เดวิด โบวี่ ในยุค Ziggy Stardust และ เคิร์ต โคเบน แสดงสดในเดรสลายดอกไม้
อย่างที่กล่าวไปว่าอันที่จริงแล้วเอเจนเดอร์นั้นไม่ได้หมายถึงเพียงการแต่งตัวอย่างเดียว แต่เป็นจุดยืนในความคิดสังคมสมัยใหม่ซึ่งทุกๆ คนมีอิสรภาพที่จะแต่งกายแบบใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องให้สังคมมาตีกรอบ
ในสมัยก่อน ผู้ชายถูกจำกัดบทบาททางสังคมไม่แพ้ผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งได้รับความกดดันมาจากความคิดเชิงชาตินิยมว่า ผู้ชายไม่ควรแสดงอุปนิสัยหรือการแต่งตัวที่ดูเหมือนผู้หญิง ซึ่งถูกตีกรอบว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ
บุคคลสำคัญอย่างเดวิด โบวี่ นักร้องและนักแสดงสัญชาติอังกฤษในตำนานเป็นตัวแทนของความเอเจนเดอร์ ได้เป็นอย่างดี ด้วยคาแรกเตอร์ ซิกกี้ สตาร์ดัสต์ คอนเซปต์ของร่างมนุษย์ต่างดาวไร้เพศที่เขาคิดขึ้นมา ประกอบกับอัลบั้มเพลงในชื่อเดียวกัน รวมไปถึงนักร้องชาวอเมริกันอย่าง พรินซ์ ผู้ไม่เกรงกลัวการแต่งตัวด้วยลูกไม้ สีสันและกากเพชรต่างๆ หรือจะเป็น เคิร์ต โคเบน นักร้องนำและมือกีตาร์แห่งวง Nirvana ชายผู้เปลี่ยนแปลงความคิดนี้ทั้งหมดในยุค 90s ด้วยผมที่ยาว เสื้อตัวโคร่งและการหยิบชุดเดรสลายดอกไม้มาสวมใส่ในบางโอกาส สิ่งนี้ทำให้โคเบนกลายเป็นไอคอนให้กับทั้งหญิงและชายในเวลานั้นเป็นอย่างมาก เพราะเขาแสดงให้เห็นว่าการแต่งตัวไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่กำหนดตัวตนของคนคนนั้น
จากซ้ายไปขวา: นางแบบในแคมเปญ Seen By ของ Helmut Lang, Gucci Fall/Winter 2015 และ Thom Browne Spring 2018
ทุกวันนี้บทบาทของแฟชั่นเอเจนเดอร์มีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัจจัยที่ดีไซเนอร์ผู้ขับเคลื่อนวงการเอามาบอกเล่าผ่านผลงานอยู่เป็นประจำ เช่น โจนาธาน แอนเดอร์สัน จาก J.W. Anderson และ Loewe, เดมนา กวาซาเลีย แห่ง Balenciaga และ Vetements และ อเลสซานโดร มิเคเล จากแบรนด์ Gucci ที่สร้างความฮือฮากับคอลเล็กชันแรก Fall 2015 ที่เปิดโชว์ด้วยนายแบบผมยาวสีบลอนด์ พร้อมใส่เสื้อเบลาส์สีแดงประดับด้วยโบทรง Pussy Bow
แม้ดีไซเนอร์อย่างอเลสซานโดรจะไม่ใช่ดีไซเนอร์คนแรกที่เล่นคอนเซปต์นี้ แต่มันเป็นจุดที่บ่งบอกว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Gucci ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มากกว่าแค่สร้างสรรค์ไอเท็มเชิงพาณิชย์อย่างเดียว
ส่วนอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญคือห้างดัง Selfridges ที่ลอนดอน ได้เปลี่ยนแผนผังของห้างใหม่ และมีโซนชื่อ Agender พร้อมสโลแกน ‘He, She, Me’ ที่หมวดสินค้าจะถูกแบ่งแยกตามสี ไซส์ และประเภทสินค้า แต่ไม่ใช่ตามเพศต่อไป หากคุณเป็นผู้ชาย แต่อยากใส่สินค้าผู้หญิงก็ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดที่จะไปชั้นผู้หญิง และมีคนมองตลอดเวลา
ล่าสุดคอลเล็กชัน Spring/Summer 2018 ของ Thom Browne ก็มีนายแบบที่ใส่รองเท้าส้นสูงในทุกลุค และมีไอเท็ม อาทิ กระโปรงพลีต และชุดเดรสสำหรับผู้ชาย ซึ่งดีไซเนอร์ทอม บราวน์ บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากการแต่งตัวของเด็กทารกในวัยแรกเกิด ที่ทุกคนจะใส่ชุดทรงเดียวกันเกือบหมดไม่ว่าเพศใด แต่เพราะบริบทของสังคมที่พอโตขึ้น เราก็ต้องแต่งตัวตามเพศ ซึ่งบราวน์อยากทำลายความกดขี่นี้ และสัญญาว่าทุกไอเท็มจะมีขาย ไม่ใช่แค่ทำมาเพื่อสร้างกระแสสำหรับรันเวย์
https://www.youtube.com/watch?v=_9rPiexwJJA
สิ่งที่เราหวังว่าจะเกิดขึ้นกับกระแสเอเจนเดอร์ต่อไป คือประเด็นนี้จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในการแต่งตัว และทำให้เห็นว่าคนเราควรมีสิทธิที่จะใส่อะไรก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วไอเท็มอย่างกระโปรงหรือชุดสูทก็ไม่เคยถูกบัญญัติว่าเป็นไอเท็มของเพศไหนตามกฎหมาย แต่ถ้าประเด็นเอเจนเดอร์กลับกลายเป็นแค่เทรนด์แฟชั่นอีกครั้ง เราก็คงไม่อาจหลุดพ้นจากเสรีภาพการแต่งตัวไปได้สักที
Cover Photo: Art School Spring/Summer 2018
อ้างอิง:
- www.nytimes.com/2015/08/20/fashion/in-fashion-gender-lines-are-blurring.html?_r=0
- www.theatlantic.com/entertainment/archive/2015/04/when-unisex-was-the-new-black/390168/
- www.theguardian.com/fashion/shortcuts/2015/mar/18/one-style-suits-all-as-unisex-fashion-gets-on-the-agender
- www.vogue.com/fashion-shows/spring-2018-menswear/thom-browne