ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) จิตรกรผิวสีชาวอเมริกันชื่อดังในยุค 80s อาจเป็นที่นิยมสำหรับป๊อปคัลเจอร์ แต่ทว่าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ กลับไม่ได้ให้ความสนใจต่อเขามากนัก
ศิลปะของบาสเกียส่วนใหญ่มีความนามธรรมพร้อมกับการอุปมาอุปไมยเพื่อจิกกัดการเมืองและปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การแบ่งแยก การเหยียดเผ่าพันธ์ุและชนชั้น
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลงานชิ้นหนึ่งของเขาเพิ่งถูกประมูลไปด้วยเงิน 110.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.67 พันล้านบาท) ทำลายสถิติราคางานศิลปะของจิตรกรอเมริกันจากการประมูล
จากผลงานราว 2,000 ชิ้นที่ศิลปินรายนี้สรรสร้าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ในนิวยอร์กมีเก็บไว้เพียง 10 ชิ้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกัน เดอะ วิตนีย์ (Whitney) ได้ไป 6 ชิ้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันอีก 2 ชิ้น ขณะที่บรูกลินมี 2 ชิ้น แล้วก็พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์อีก 1 ชิ้น
ภายในเมืองที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมาอย่างนิวยอร์กเองก็ยังไร้ซึ่งอนุสาวรีย์หรือสถาบันที่ตั้งชื่อให้เกียรติแก่บาสเกีย แม้แต่การเก็บรักษากราฟฟิตีลายเซ็นเซมโอ (SAMO) ของเขาก็ไม่มี โดยนอกเหนือจากหมุดที่ปักอยู่ใกล้สตูดิโอเก่าของเขาแล้ว อาจมีเพียงหลุมศพของเขาในสุสานกรีนวู้ดที่ผู้คนสามารถแวะเวียนไปแสดงความชื่นชมได้
ในปี 1988 จิตรกรผิวสีแนวนีโอ-เอกเพรสชันนิสม์ รายนี้เสียชีวิตลงด้วยวัย 27 ปี หลังเสพสารเสพติดเกิดขนาด
ศิลปินและเพื่อนของบาสเกียอย่างไมเคิล ฮอลแมน (Michael Holman) เล่าว่า นักสะสมอย่างเลอนอร์ และเฮอเบิร์ท ชอร์ (Lenore & Herbert Schorr) เคยบริจาคงานของบาสเกียให้ MoMA และ Whitney ในยุค 1980 แต่พิพิธภัณฑ์ทั้งสองกลับปฏิเสธ ไม่คิดจะรับไว้แม้แต่ในคลังเก็บผลงาน
“มันมีเรื่องเหยียดเชื้อชาติเยอะมาก หนำซ้ำยังเรื่องเอกสิทธิ์คนขาวอีก อย่างการคิดว่าคนขาวเท่านั้นที่เป็นศิลปินคนสำคัญ” ฮอลแมนกล่าว
ขณะเดียวกัน จอร์ดานา มัวร์ แซกกีส (Jordana Moore Saggese) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลป์แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “บนหน้าประวัติศาสตร์แล้ว มันไม่ค่อยจะมีการแสดงผลงานของศิลปินที่ไม่ใช่คนขาวในสถาบันกระแสหลักสักเท่าไร”
มีพิพิธภัณฑ์เพียงหยิบมือที่มีเงินพอจะจ่ายค่าผลงานของบาสเกียได้ จนทำให้เขาต้องรอรับบริจาคจากบรรดานักสะสมต่างๆ โดยคนดังที่ครอบครองงานเอาไว้ รวมถึงลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, โบโน่, เจย์ ซี และจอห์นนี เดปป์
ที่รักของป๊อปคัลเจอร์
แม้บาสเกียดูจะไม่ได้รับการยอมรับในสถาบันศิลปะนัก แต่เขาได้รับการกล่าวถึงในป๊อปคัลเจอร์อย่างมาก
ยี่ห้อเสื้อผ้าชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น Uniqlo ได้ร่วมงานกับ MoMA เพื่อนำเอาศิลปะของเขามาใช้บนเสื้อ รองเท้า นาฬิกา และกระเป๋าผ้า พร้อมกันนี้ Urban Decay ได้ปล่อยชุดเครื่องสำอางและเครื่องประดับที่มีภาพวาดของบาสเกีย นอกจากนี้ เจย์ ซี และคานเย เวสต์ เองก็แรปถึงเขาด้วย
จาวากา สเตปโท (Javaka Steptoe) นักเขียนหนังสือสำหรับเด็กเองก็ได้เล่าเรื่องของบาสเกียด้วย โดยให้เหตุผลว่า “เด็กๆ รักเขามาก เพราะงานของบาสเกียคล้ายคลึงกับภาพวาดของพวกเขา”
ผศ. แซกกีส กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “อาจถกเถียงกันได้ว่า แม้เขาจะตายไปนานหลายปีแล้ว บาสเกียก็ได้รับความชื่นชอบในกลุ่มป๊อปคัลเจอร์และสื่อมวลชนมากกว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ”
Photo: AFP
อ้างอิง: