นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘คัลแลนกับพี่จอง’ หนุ่มยูทูบเบอร์เกาหลีแห่งช่อง Cullen HateBerry ที่เริ่มโด่งดังจากจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดการใช้ชีวิตตามจังหวัดต่างๆ ในไทย จนกลายเป็นไวรัลดังที่หลายๆ รายการและแบรนด์ดังเริ่มสนใจคว้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ ว่ากันว่าค่าตัวสูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับช่องยูทูบ ‘Cullen HateBerry’ ออกอากาศเทปแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2022 ผ่านการดำเนินรายการของคัลแลนและพี่จอง ที่เน้นสร้างคอนเทนต์ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ไทย ในมุมของการท่องเที่ยวธรรมชาติและศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เรียกได้ว่ามีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ทั้งความเรียล ความสนุก และการตัดต่อที่เป็นเอกลักษณ์ โดยใช้เวลาปีกว่าๆ ในช่องมีคลิปทั้งหมด 93 คลิป และสามารถสร้างยอดผู้ติดตามสูงถึง 1.51 ล้านบัญชี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 เทรนด์ธุรกิจอนาคตสำหรับปี 2024 ธุรกิจไหนน่าลงทุนบ้างในห้วงความท้าทายใหม่ๆ
- วิเคราะห์ ‘ดราม่าปังชา’ ลูกไก่ทอง ที่ยอดขายอาจกระทบระยะสั้น แต่ความรู้สึกของลูกค้าต่อแบรนด์อาจกู่ไม่กลับ
- เปิดมุมมองผู้บริหารธุรกิจรายใหญ่ ปี 2024 กังวลเศรษฐกิจ-คนไม่มีกำลังซื้อ จับตาเงินดิจิทัล 10,000 บาท…
เปิดสูตรสำเร็จช่อง ‘Cullen HateBerry’
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา คัลแลนกับพี่จองเริ่มทำคลิปขึ้นมา สมัยแรกเริ่มรายการยูทูบจะมีทีมงานเป็นคนถ่ายให้ ในช่วงนั้นยังไม่โด่งดังมากนัก
ถ้ามองในมุมการตลาดจุดเปลี่ยนที่เราวิเคราะห์กันเองใน MI จุดเด่นที่คัลแลนกับพี่จองมี คือเรื่องของความเรียล ความเป็นธรรมชาติ แม้ที่ผ่านมาจะเห็นครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ทำคลิปออกมาแล้วมีความเรียล ความธรรมชาติเต็มไปหมดเลย
แต่สิ่งที่ช่อง Cullen HateBerry ของคัลแลนกับพี่จอง ได้รับความสนใจและดังมาถึงจุดนี้ หนีไม่พ้นความเรียล ความเป็นธรรมชาติของทั้งคู่ในการดำเนินคอนเทนต์ ถ่ายทำรายการ และมีทักษะตัดต่อกันเอง ทำให้ผู้ชมรู้สึกสบายตา สนุกกับคอนเทนต์
ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วเพื่อนถ่ายคลิปท่องเที่ยวมาให้เราดู เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้คัลแลนกับพี่จองดังกว่ายูทูเบอร์หลายๆ คน คือเรื่องของความแตกต่าง ถ้าเทียบกับคอนเทนต์ของครีเอเตอร์คนอื่น อาจจะมีไม่เหมือนเขา ด้วยพื้นฐานคือทั้งสองคนเป็นคนเกาหลีที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ใช้ชีวิตและแต่งตัวเรียบง่าย เดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และพยายามพูดภาษาไทย ที่อาจจะยังไม่คล่องมากนัก ยกตัวอย่างวลีที่ว่า ดีจริงๆ ทั้งสองคนพูดภาษาไทยแบบผิดๆ ถูกๆ จึงเกิดความแตกต่าง
รวมถึงการกินอาหารตามร้านท้องถิ่น ทั้งลาบ ส้มตำ และการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน ซึ่งปกติยูทูเบอร์สายท่องเที่ยวในไทยไม่ค่อยมีใครนำเสนอแบบนี้ และถึงแม้จะเสนอก็อาจจะไม่ได้ดูน่าสนใจเท่าต่างชาติมาทำ กลายเป็นว่าผู้ชมที่เสพคอนเทนต์บนโซเชียลชอบดูมุมมองของต่างชาติที่มีกับประเทศของตัวเอง และก็ไม่สามารถหาดูจากช่องอื่นได้
กระแสเกาหลี + หน้าตาและอารมณ์ดี ดึงกลุ่มคนดูได้อยู่หมัด
ซีอีโอของมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ เล่าต่อไปว่า สิ่งที่คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน คือคลิปที่เดินทางไปเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ แล้วไปเดินถ้ำนาคาไหว้พญานาค ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่จะชอบอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องความเชื่อ และทั้งสองคนไม่ทิ้งความเป็นตัวตน จนเกิดไวรัลที่คัลแลนกับพี่จองพูดตามไกด์ คนก็ชอบและสนุกกับตรงนี้ ทั้งนี้ก็บอกไม่ได้ว่าคลิปดังกล่าวแค่คลิปเดียวจะเป็นจุดเปลี่ยนของเขาเลยทั้งหมด
อยู่ดีๆ ทั้งสองคนก็โด่งดังขึ้นมา เหมือนคลื่นพายุ เวลาติดปุ๊บก็ทวีคูณ ซึ่งเราพยายามไปหาดูว่ามีคลิปไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เขากลายเป็นที่นิยมขึ้นมา เพราะหากยกตัวอย่าง ฟาโรส ที่โด่งดังจากการบินไปสัมภาษณ์ ทักษิณ ชินวัตร ถึงประเทศดูไบ จากนั้นฟาโรสก็มีจุดเปลี่ยนทำให้มีแฟนคลับอีกกลุ่มหนึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ถ้าเทียบคัลแลนกับพี่จอง ไม่ได้โด่งดังจากคลิปใดคลิปหนึ่ง แต่มีอีกมุมที่น้องๆ ในทีม MI สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยชอบดูคนหน้าตาดี ซึ่งคัลแลนกับพี่จองถือเป็นกลุ่มผู้ชายหน้าตาดี บางคนดูตั้งแต่สมัยยังไม่ดัง และสนใจว่าเป็นลุคเกาหลี และนอกจากความหน้าตาดี เวลาชายกับชายอยู่ด้วยกันก็มีการจิ้นตามกระแสวาย ถึงแม้จะไม่ได้มีจิ้นกันจริงก็ตาม ทั้งหมดถือเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น โดยปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายถึงแม้จะดูเรื่องเดียวกัน แต่มีความชอบที่แตกต่างกัน
แบรนด์ดังเริ่มเปิดศึกชิงตัว ‘คัลแลนกับพี่จอง’
เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองคนได้ร่วมงานกับ Samsung เป็นพรีเซนเตอร์กับ มาริโอ้ เมาเร่อ โดยเชื่อว่าใช้งบสูงพอสมควร และต้องยอมรับว่า ตอนนี้ความดังของคัลแลนกับพี่จองเป็นที่น่าสนใจของหลายๆ แบรนด์ ในฐานะนักการตลาด ต้องหาจุดสมดุลให้ได้ คอนซูเมอร์ทุกวันนี้แยกออกระหว่างโฆษณากับตัวตน เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง
“สำหรับ Samsung เราเชื่อว่าอาจมาถูกทาง เพราะตัวโฆษณามีไอเดียเล่นกับท่าทาง ผสมผสานกับ AI ประกอบกับตัวทั้งสองคนเป็นคนเกาหลี ทุกอย่างมีอิมแพ็กต์ทั้งหมด”
ถึงกระนั้นในส่วนของกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ ยกตัวอย่างเครื่องดื่ม หากสนใจจ้างให้ดื่มเครื่องดื่มเพื่อโปรโมตแบรนด์ในมุมเรา เชื่อว่าจะได้แค่สร้างการรับรู้ คือคนก็รู้ว่าแบรนด์นี้จ้างไปดื่ม แต่อย่าลืมว่าความรักความชอบมันคนละเรื่องกัน สะท้อนได้ว่าการดึงตัวคัลแลนกับพี่จองมาเป็นพรีเซนเตอร์ก็สามารถสร้างอิมแพ็กต์ได้เป็นบางแบรนด์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการครีเอตคอนเทนต์ให้น่าสนใจร่วมด้วย
ความบกพร่องแบบเท่ๆ ทำให้ฐานคนดูไม่เบื่อ
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลี โดยคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็ชอบวัฒนธรรมเกาหลีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ประกอบกับประเทศไทยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวและทรัพยากรต่างๆ จำนวนมาก
จึงเป็นที่มาว่าทำไม ‘คัลแลนกับพี่จอง’ ยูทูเบอร์เกาหลีแห่งช่อง Cullen Hateberry ถึงได้รับความนิยม อย่างแรกคือ รูปลักษณ์ที่ดูดี ดูเพลิน และรูปแบบภาษาที่ใช้ ไม่เป็นทางการมากนัก
ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของคนในปัจจุบัน ไม่ได้เน้นความถูกต้อง แต่เน้นความสนุกสนาน น่ารัก เหมือนเราดูคลิปเด็ก ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกถึงความน่าเอ็นดู โดยทั้งสองคนมีบุคลิกของความน่าเอ็นดูแบบเด็กๆ ยกตัวอย่างเนื้อหาคอนเทนต์ของการพูดคำว่ารถพยาบาลที่พูดไม่คล่องมาก คนดูก็เกิดความเอ็นดู ซึ่งทำให้คลิปดูไม่น่าเบื่อ ก็เลยทำให้เป็นที่น่าสนใจ
ในมุมการตลาดเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เป็นความบกพร่องแบบเท่ๆ’ ที่เป็นการคิดอะไรที่ตลกๆ บวกกับใช้ภาษาผิด คนก็ไม่ซีเรียส ถ้าเทียบกับสมัยก่อนการทำรายการจะต้องเน้นความถูกต้องเป็นหลัก และมาพร้อมเนื้อหาที่เป็นทางการ ก็เกิดความน่าเบื่อ ไม่น่าดู สะท้อนให้เห็นว่าคนที่สมบูรณ์แบบเกินไป คนก็จะมองว่าน่าเบื่อ แต่พอใส่กิมมิกเนื้อหาไม่เป็นทางการเข้าไปคนก็จะมองว่าน่ารัก
ค่าตัวหลักล้านไม่สูง! เพราะแบรนด์จะได้ทั้ง Prosperity และ Engagement
เมื่อกระแสความน่าสนใจเริ่มมา แน่นอนว่าหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มต้องการ จริงๆ แล้วคัลแลนกับพี่จองมีมากกว่าแค่ว่ามีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ที่มากไปกว่านั้นคือมีเรื่องของความน่าเอ็นดูเข้ามาเสริม โดยแบรนด์จำนวนมากก็อยากได้ภาพลักษณ์นี้ไปติดแบรนด์ตัวเองเพื่อให้แบรนด์เป็นที่น่าเอ็นดูแบบสองคนนี้บ้าง
หากมองในมุมของราคาค่าตัวของทั้งคู่ ที่มีข่าวแว่วๆ ว่าตัวเลขสูงถึง 1 ล้านบาท มองว่าสมเหตุสมผล โดยปกติแล้วอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับนี้ราคาดังกล่าวไม่สูงเกินไป ถือเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ถ้าหากได้คัลแลนและพี่จองไปเป็นพรีเซนเตอร์ แบรนด์ก็ได้ Prosperity และ Engagement ด้วย แบบนี้ถือว่าคุ้มค่าโดยเฉพาะในช่วงที่กระแสกำลังมาแรงแบบนี้ และจะเห็นว่าคลิปของช่อง Cullen HateBerry คนไม่ได้แค่ดู แต่เข้ามามีส่วนร่วม มีการสื่อสาร มีบทสนทนากัน และส่วนใหญ่ฐานคนดูเป็นกลุ่มผู้หญิง
ประวัติคัลแลนกับพี่จอง ยูทูเบอร์ชาวเกาหลี
สำหรับ คัลแลน มีชื่อจริงว่า PARK KIDEUK อายุ 33 ปี มีอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์เพลง EDM ภายใต้ชื่อวงHateberry จากนั้นคัลแลนได้ย้ายมาทำงานที่เมืองไทย ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดช่องยูทูบภายใต้ชื่อ Cullen HateBerry ร่วมกับ พี่จอง นักธุรกิจชาวเกาหลี อายุ 34 ปี ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของคัลแลน ที่เดินทางมาเพื่อทำงานและเรียนภาษาไทยกว่า 2 ปี ได้เข้ามาเปิดตัวในคลิปตอนอปป้าว่าไง เมื่อลองย่างเนย ครั้งแรกพร้อมโชว์การพูดภาษาไทย
อีกทั้งในบางคลิปที่มี น้องแดน นักศึกษาหนุ่มชาวเกาหลี อายุ 25 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ที่ ABAC เข้ามาร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในคลิปด้วยเช่นกัน