×

‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’ ภารกิจท้าทายในรั้วจุฬาฯ สู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย

28.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษาไทย ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 ภายใต้คอนเซปต์ ‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’
  • ‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’ คือแนวคิดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้อันหลากหลายที่จะกลายเป็นจุดเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในปี 2040
  • แนวคิดนี้จะเน้นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ ภายใต้ยุทธวิธี ‘การฝังเข็ม’

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก หลายอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับระบบการศึกษาของไทยที่ล่าสุดเปลี่ยนวิธีการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบใหม่ๆ อย่าง TCAS ที่กำลังจะเปิดให้ว่าที่นิสิตนักศึกษาได้ใช้กันในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่บริบทที่เปลี่ยนไปในวงการการศึกษา หากแต่รูปแบบเนื้อหาการศึกษาหรือวิธีการใช้ชีวิตของนักศึกษายังคงเหมือนเดิม

 

แต่ตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานศึกษาที่ได้ขึ้นชื่อว่าเบอร์หนึ่งของไทยคืออีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่เริ่มไหวตัว พร้อมเล็งเห็นจุดอ่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยจนเกิดเป็นผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 ภายใต้คอนเซปต์ ‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’ และโครงการนี้เองที่กำลังจะกลายเป็นค้อนอันใหญ่ซึ่งจะทุบกำแพงที่มหาวิทยาลัยต่างๆ อยากจะข้ามมาโดยตลอด

 

 

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่รับหน้าที่ในฐานะหัวหน้าโครงการและคณะทำงาน เผยถึงความสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าวว่าตอนนี้โลกของเราได้เคลื่อนออกจากยุคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว และทำให้สังคมเกิดความต้องการให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีทักษะอันหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งในสัญญาณที่บีบให้มหาวิทยาลัยต้องเริ่มปรับตัว

 

‘แข็ง’ ในแต่ ‘อ่อน’ นอก ข้อจำกัดสั้นๆ ที่ต้องรีบแก้ไข

เดิมทีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่บุคคลภายนอกรู้อยู่แล้วว่ามีความหลากหลายและความพร้อมในหลายด้านเมื่อเทียบกับที่อื่น และนับว่าเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของเมืองไทยจากการมีครบทุกศาสตร์ และสั่งสมชื่อเสียงในการผลิตบัณฑิตให้ขึ้นไปอยู่ในระดับชั้นนำขององค์กรภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

 

แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนจะยังไม่ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากนัก และยังโยงไปถึงการเกิดจุดอ่อนภายในสถาบัน นั่นคือการที่สถานศึกษาอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกรายล้อมไปด้วยสังคมที่มีสภาพเศรษฐกิจเฟื่องฟู ซึ่งเป็นโอกาสที่ตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดออกเพื่อร่วมมือกันระหว่างคนข้างนอกที่มีศักยภาพให้เกิดพลวัตในเชิงความรู้ที่จะไหลเวียนสู่ตัวนิสิตของมหาวิทยาลัยมากกว่าที่เป็นอยู่

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรั้วมหาวิทยาลัยที่มีการปิด-เปิดค่อนข้างจะตรงตามเวลาราชการ เมื่อเลยเวลาราชการคือ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยก็มีอันต้องหยุดชะงัก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าพื้นที่ส่วนกลางของสถาบันที่ควรจะมีเหลือเฟือ แต่กลับไม่พอต่อความต้องการในการใช้งานของนิสิต ซึ่งทำให้เกิดข้อเสียตรงที่โอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างอาจารย์กับนิสิตนักศึกษาลดลง รวมถึงนวัตกรรมทางความคิดบางอย่างที่ควรจะเกิด แต่ไม่เกิด เพียงเพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่กั้นขวางความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

“การปรับพื้นที่ทางกายภาพส่งผลโดยตรงต่อการปรับพฤติกรรมและเปลี่ยนระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ หากมหาวิทยาลัย ‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’ ตามการศึกษาออกแบบผังแม่บทดังกล่าว จะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของเอเชีย มีปริมาณงานวิจัยและสิทธิบัตรเพิ่มสูงขึ้น” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

 

 

ปรับ เปลี่ยน เปิด?

ถามว่า ‘ปรับ เปลี่ยน เปิด’ คืออะไร ผศ.ดร.นิรมล ขยายความว่า

 

ปรับ คือการปรับพื้นที่ที่มีศักยภาพให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่หลากหลายที่จะดึงดูดให้ผู้คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาใช้งานสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น

 

เปลี่ยน คือการเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการที่ตอบสนองกับผู้ใช้

 

และสุดท้ายคือการ เปิด ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้คนภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลุ่มคนภายนอกได้มีส่วนร่วมกัน เพื่อเป็นการให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้การสร้างมนุษยสัมพันธ์ก่อนการทำงานจริงในอนาคต

 

โดยปกติในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีพื้นที่หลักซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ชมรม พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่พักอาศัย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเดิมทีจะไม่มีการเชื่อมถึงกัน หรือเรียกได้ว่าทางใครทางมัน

 

แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาและค้นพบว่าพื้นที่เหล่านี้หากได้มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนให้เข้าถึงกันได้ง่ายจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่หลากหลายขึ้น

 

 

สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ด้วยยุทธวิธี ‘การฝังเข็ม’

การเลือกใช้วิธีฝังเข็มคือการทำให้เจ็บน้อย แต่ได้ผลเยอะ อีกหนึ่งแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ให้เกิดขึ้นในปี 2040

 

โดยพื้นที่ที่จะนำมาใช้งานตามผังแม่บทนี้คือการฝังคำว่าการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กระจายอยู่ทุกๆ ที่ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ Co-working Space, Maker Space, Research Center, Co-lab, Digital Libraly และ Art & Culture Space เป็นต้น

 

ซึ่งทั้งหมดจะถูกสร้างภายใต้แนวคิดการวางแผนทั้งหมด 6 ด้านคือ

1. Zoning คือการแบ่งเขตพื้นที่ต่างๆ ให้เหมาะสม โดยมีเกณฑ์การวางพื้นที่ต่างๆ เพื่อกระจายและเชื่อมโยงความหนาแน่นในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมจากผัง 100 ปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉบับที่แล้ว เพื่อให้ทุกที่ของมหาวิทยาลัยเดินถึงกันได้ นอกจากนี้ที่มีการเพิ่มเข้าไปในผังนี้คือการสร้างความชัดเจนของ Place Identity ให้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด เพื่อทำให้ผู้คนไม่รู้สึกว่าจะเดินไปรัฐศาสตร์หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็เหมือนๆ กัน

 

2. Learning Commons คือทำให้พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันเป็นดังแม่เหล็กที่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับกลุ่มมหาวิทยาลัย ระดับกลุ่มคณะ และระดับชุมชน ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มองเห็นง่าย เข้าถึงง่าย และมีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัย

 

3. Connectivity คือการเชื่อมต่อทุกเส้นทางลัดจากอาคารสู่อีกอาคารเข้าด้วยกัน รวมถึงสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการเชื่อมจากจุดเปลี่ยนถ่ายเส้นทางสัญจรที่สำคัญคือ BTS, MRT และสยามสแควร์ ให้เข้าสู่พื้นที่ด้านในมหาวิทยาลัยผ่านพื้นที่อย่างสะพานลอยและพื้นที่เส้นของรถป๊อปที่จอดอยู่ตามจุดต่างๆ และอีกสิ่งที่จะเสริมเข้าไปคือการสร้างทางเดินสู่อาคารในรูปแบบที่กันแดดกันฝน


4. Active Ground Floor คือการสร้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ ทำให้จุฬาฯ วิชาการสามารถมีได้ทุกวัน ไม่ใช่ 2 ปีต่อครั้ง ซึ่งจะทำได้โดยการเปิดบางส่วนของคณะออกเพื่อให้คนภายนอกหรือภายในก็ตามได้เห็นวิธีการเรียนการสอนอันเป็นเอกลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการเชื่อมต่อกับพื้นที่ด้านนอกอาคารเพื่อเป็นการโชว์ผลงานโปรเจกต์ของนิสิตต่างๆ จะทำให้บรรยากาศของมหาวิทยาลัยมีความหลากหลายขึ้น

 

5. Security คือการสร้างความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะการเปิดกว้างของสถานที่จะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ซึ่งแผนนี้จะรวมถึงการควบคุมพื้นที่โดยเฉพาะช่วงกลางคืน โดยออกเป็นจุดๆ ซึ่งจะทำการเพิ่มแสงไฟให้ตามพื้นที่ที่เปิดเป็นสาธารณะ และพื้นที่หลักที่ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้

 

6. Green Infrastructure & Facilities ถูกแยกเป็น 3 ระบบคือ 1. พื้นที่สีฟ้าและสีเขียวที่จะครอบคลุมเรื่องของธรรมชาติ 2. พื้นที่สีเทา คือเรื่องของอาคารงานถนนต่างๆ 3. เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน คลังข้อมูลที่มีความจำเป็นต่อมหาวิทยาลัยในเรื่องการเก็บข้อมูล โดยบริบทเหล่านี้ที่เกี่ยวกับเรื่องของทรัพยากรจะต้องมีเพื่อรองรับประชากรที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะถูกสร้างเพื่อเป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

จากแนวคิดเหล่านี้จะทำให้ ‘ความรู้’ ที่มีการไหลออกไปอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่รอบนอกเมื่อหมดเวลาราชการจะกลับมาไหลเวียนและหมุนวนอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นการดึงประสิทธิภาพจากผู้คนภายนอกมาทำให้เกิดเป็นความรู้ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย แทนที่จะเกิดจากข้างนอก

 

และจากแผนการสร้างผังดังกล่าวทำให้เห็นว่าโครงการ CU 2040 จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามความต้องการของนิสิตและรูปแบบการศึกษาที่หมุนไปตามเวลาอย่างไม่หยุดหย่อน

 

โดยจะมีพื้นที่ปรับปรุงเพียง 121,000 ตารางเมตร (8.32% ของพื้นที่เดิมที่มีอยู่ประมาณ 1.4 ล้านตารางเมตร) และพื้นที่สร้างใหม่อีก 60,240 ตารางเมตร (4.14%) แบ่งเป็นพื้นที่การเรียนแบบใหม่และสวนสาธารณะต่างๆ

 

และจากโปรเจกต์นี้ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2040 ตามชื่อผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 หรือ CU 2040 ในฐานะคนภายนอกอย่างเราเองก็เริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิดประตูศศินทร์ (ซอยจุฬาฯ 12) ไว้ที่เงื่อนไขดังนี้ ประตูสำหรับรถยนต์ เปิดเวลา 05.00-24.00 น. ทุกวันจันทร์-เสาร์ เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนประตูทางเท้า เปิด 05.00-24.00 น. ของทุกวัน

 

 

ขณะที่ ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงการเกิดขึ้นของผังแม่บทนี้ว่างานนี้เป็นงานที่ไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่ทุกคนจะต้องร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดขึ้นได้

 

“ผมเชื่อว่าผังนี้คือผังที่ดีมากๆ แล้วถ้ามองไปข้างหน้าในปี 2040 ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะเรามีทีมที่ศึกษาไว้แล้วว่าเรามีทรัพยากรโดยรอบที่สมบูรณ์ เรามีเงินที่ถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม เรามีคนที่มีศักยภาพค่อนข้างมาก ตรงนี้ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพพอที่จะนำแผนแม่บทนี้ไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง”

 

แม้ตอนนี้เหมือนจะยังเร็วไปที่จะบอกว่าผังแม่บทดังกล่าวจะผลักดันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปในทิศทางไหน เพราะในอนาคตยังมีสิ่งที่ต้องพิสูจน์อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่จะขึ้นมาแทนในทุกวาระ หรือเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ หากลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าสิ่งที่เหล่านี้กำลังจะเกิดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในเมืองไทยจะลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองบ้าง ซึ่งเชื่อได้เลยว่าถ้าวันนั้นมาถึงก็น่าจะทำให้การแข่งขันนี้มีผลต่อการศึกษาไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

 

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X