เมื่อวานนี้ (19 กุมภาพันธ์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 โดยระบุรายละเอียดว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อาศัยมาตรา 32 มาตรา 77 และมาตรา 86 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 15 วรรคสาม แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 และข้อ 10 วรรคสอง แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาสัย ว่าด้วยการลาของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการดังนี้
- ไม่อนุมัติหรืออนุญาตให้นักเรียน นิสิต หรือบุคลากร ลาเพื่อเดินทางไปยังหรือแวะผ่าน (Transit) ประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่มหาวิทยาลัยประกาศกำหนด ซึ่งมีกำหนดการเดินทางระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 19 เมษายน 2563
- กรณีที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้ลาเพื่อเดินทางไปยังประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงดังกล่าวอยู่ก่อนวันประกาศนี้ ให้นักเรียน นิสิต หรือบุคลากรงดหรือเลื่อนการเดินทางออกไปให้พ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และถ้ามีค่าใช้จ่ายที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วเกิดขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ ให้สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ตามจริง
กรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างยิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ ให้นักเรียน นิสิต หรือบุคลากรแจ้งเหตุผลหรือความจำเป็นดังกล่วต่อหัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงาน/กำกับดูแลแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณา และเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้วให้ดำเนินการตามข้อ 3
- นักเรียน นิสิต หรือบุคลากรที่เดินทางไปยังหรือแวะผ่าน (Transit) ประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 กลับมาถึงประเทศไทยภายในวันที่ 19 เมษายน 2563 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้เดินทางหรือเดินทางด้วยภารกิจส่วนตัว ให้ผู้นั้นมีหน้าที่ไปรับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชื้อโรคโควิด-19 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือสถานพยาบาลอื่นที่มีมาตรฐานในการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังเทียบเท่ากับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวาระแรกที่สามารถกระทำได้
แล้วรายงานผลการตรวจดังกล่าวต่อหัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงาน/กำกับดูแล แล้วแต่กรณี ถ้าหากตรวจพบหรือมีภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานกำกับดูแล แล้วแต่กรณี พิจารณาสั่งให้ผู้นั้นงดเข้าชั้นเรียนหรือหยุดมาปฏิบัติงาน เพื่อรับการรักษาจนหายเป็นปกติ หรือเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วันนับจากวันที่กลับมาถึงประเทศไทย โดยไม่ถือเป็นการขาดเรียน หรือขาดการปฏิบัติงาน และไม่นับเป็นวันลา
หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงาน/กำกับดูแล แล้วแต่กรณี ที่สั่งให้นักเรียน นิสิต บุคลากรคนใดงดเข้าชั้นเรียนหรือหยุดมาปฏิบัติงานเพื่อเฝ้าดูอาการตามวรรคหนึ่ง อาจมอบหมายงานให้ผู้นั้นปฏิบัติในระหว่างที่หยุดเฝ้าดูอาการนั้นก็ได้
- ให้งดหรือเลื่อนการเชิญบุคคลจากต่างประเทศมาร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน การประชุม การสัมมนาหรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 19 เมษายน 2563 ออกไปก่อน และถ้าหากมีค่าใช้จ่ายที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วเกิดขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ ให้สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ตามจริง
- ให้นักเรียน นิสิต และบุคลากร ถือปฏิบัติตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นตันไป
นอกจากนี้ ยังอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 1 ของประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ประเทศที่มีรายชื่อดังต่อไปนี้ เป็นประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19
- สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
- สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
- สาธารณรัฐประชาชนจีน
- เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
- เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
- ญี่ปุ่น
- มาเลเซีย
- สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
- สาธารณรัฐสิงคโปร์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: