×

จาก Super Bowl ถึง Red Bull Racing อะไรที่ทำให้ ‘ยักษ์ใหญ่คริปโต’ ต้องกระโจนเข้าสู่ ‘วงการกีฬา’?

10.03.2022
  • LOADING...
จาก Super Bowl ถึง Red Bull Racing อะไรที่ทำให้ ‘ยักษ์ใหญ่คริปโต’ ต้องกระโจนเข้าสู่ ‘วงการกีฬา’?

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • การแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 56 ระหว่างแอลเอ แรมส์ กับซินซินเนติ เบงกอลส์ (ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรก ในสนามของตัวเองที่เป็นคริปโตเหมือนกันคือ SoFi) ได้ถูกจดจำในชื่อของ ‘Crypto Bowl’ ไปแล้ว
  • Bybit ยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์อีกเจ้าตัดสินใจที่จะทุ่มข้อเสนอมหาศาลเฉลี่ยปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัญญา 3 ปี แลกกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนทีมรถแข่งชื่อดังอย่าง เรดบูลล์ เรซซิง ทีมของแชมป์โลก แม็กซ์ แวร์สเตปเพิน และถือเป็น ‘ดีลใหญ่ที่สุด’ ที่บริษัทคริปโตเข้ามาสนับสนุนทีมกีฬา
  • ในประเทศไทยเองก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจับตามองสุดๆอย่าง Bitkub ที่กระโจนลงสนามฟุตบอลด้วยการเป็นผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลทีมชาติไทยและการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกอย่างเป็นทางการ
  • สิ่งที่บริษัทคริปโตเหล่านี้ได้เปรียบไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเม็ดเงินมหาศาลในลิ้นชัก แต่ยังมีเรื่องของภาพลักษณ์ที่เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ เป็นโลกแห่งอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่พยายามทำ Sport Marketing อย่างหนักในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอย่างกลุ่ม Betting หรือบริษัทรับพนันถูกกฎหมายแล้วดีกว่ามาก

ช่วงเดือนก่อนเกิดข่าวใหญ่ในวงการแข่งรถฟอร์มูลาวัน ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องของการขับเคี่ยวในสนาม (ซึ่งปีนี้การันตีความมันสุดๆ เหมือนเดิมแน่นอน) แต่เป็นข่าวดีของทีมเรดบูลล์ เรสซิง (Red Bull Racing) ที่บรรลุข้อตกลงกับ Bybit ยักษ์ใหญ่คริปโตสัญชาติสิงคโปร์ที่จะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายใหม่

 

ตัวเลขมูลค่าการสนับสนุนนั้นสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.9 พันล้านบาทในสัญญาระยะเวลา 3 ปี โดย Bybit จะจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวด้วยวิธีล้ำสมัย คือไม่ใช่จ่ายแค่เงินสดอย่างเดียวแต่จะจ่ายเป็นสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrencies) ด้วย

 

เรื่องนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ เพราะนี่คือการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทยักษ์ใหญ่คริปโตในวงการกีฬา ซึ่งเวลานี้กำลังเนื้อหอมอย่างมาก เพราะหากย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้ในการแข่งขัน ‘ซูเปอร์โบวล์’ (Super Bowl) ก็มีบริษัทคริปโตมากมายที่ทุ่มเงินมหาศาลในการซื้อโฆษณา 30 วินาที จนได้รับสมญาว่าเป็น ‘คริปโตโบวล์’ (Crypto Bowl)

 

อะไรที่ทำให้วงการกีฬากลายเป็นที่ต้องการของบริษัทเหล่านี้?

 

Crypto Bowl ภาคต่อของ Dotcom Bowl 

ตามรายงานจาก Vox.com และ Fortune.com การแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 56 ระหว่างแอลเอ แรมส์ กับซินซินเนติ เบงกอลส์ (ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรก ในสนามของตัวเองที่เป็นคริปโตเหมือนกันคือ SoFi) ได้ถูกจดจำในชื่อของ ‘Crypto Bowl’ ไปแล้ว

 

ภาพ: Allen J. Schaben / Los Angeles Times via Getty Images

 

ที่เป็นแบบนั้นเพราะในการแข่งขันครั้งนี้มีจำนวนบริษัทคริปโตได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อโฆษณาในซูเปอร์โบวล์ ซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นโฆษณาที่แพงที่สุดในโลกที่จะต้องใช้เงินถึง 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 213 ล้านบาท เพื่อแลกกับการโฆษณาเป็นระยะเวลา 30 วินาที

 

สำหรับการโฆษณาในซูเปอร์โบวล์นั้นถือเป็นสุดยอดของวงการโฆษณา เพราะว่าเป็นรายการกีฬาที่มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดในโลก แม้ว่าตัวเลขยอดผู้ชมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มลดลงก็ตาม โดยในปีกลาย (2021) มีจำนวนผู้ชม 96.4 ล้านคน ซึ่งลดลงจากเมื่อปี 2015 ที่มีจำนวนผู้ชมสูงถึง 114 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้ชมในปี 2022 ยังไม่มีการเปิดเผยจาก NBC ผู้ถ่ายทอดสดแต่อย่างใด

 

แต่อย่างที่บอกว่าถึงตัวเลขผู้ชมจะมีแนวโน้มลดลงแต่นั่นไม่ได้ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่แย่งกันเข้ามาซื้อโฆษณา 15 วินาที หรือ 30 วินาที โดยเฉพาะบริษัทคริปโตที่เบียดมากับบริษัทรับพนันถูกกฎหมายในปีนี้ และดูเหมือนจะดึงความสนใจได้มากกว่า

 

ตัวอย่างยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาซื้อโฆษณาในซูเปอร์โบวล์ ได้แก่ Crypto.com จากสิงคโปร์ที่มาพร้อมกับ เลอบรอน เจมส์ สุดยอดนักบาสเกตบอล หรือ Coinbase บริษัทสัญชาติอเมริกัน ขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้ไอเดียเดียวกันในการสื่อสารคือ ‘ห้ามพลาด’ (Don’t Miss Out) ซึ่ง Coinbase ถึงกับจ้าง แมตต์ เดมอน ดาราฮอลลีวูดชื่อดังที่มาพร้อมกับประโยคเด็ด ‘Fortune favors the brave’

 

ผลจากการลงโฆษณา? คือการที่มีจำนวนผู้เข้าชม Coinbase มากถึง 20 ล้านครั้งในเวลาแค่ 1 นาที และมีเอ็นเกจเมนต์สูงกว่าสถิติเดิมถึง 6 เท่า  

 

เรียกได้ว่านี่อาจเป็นสัญญาณที่เด่นชัดว่านับจากนี้บริษัทคริปโตเหล่านี้พร้อมจะอัดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นฐานใหญ่อย่างตลาดกีฬาอย่างเต็มตัว เพราะกลุ่มผู้ชมหลักนั้นจะมีอายุตั้งแต่ 18-49 ปีที่จะชมซูเปอร์โบวล์ทุกปี

 

อย่างไรก็ดีทางด้าน The Verge สำนักข่าวไอทีชื่อดังมองว่ากระแสการมาโฆษณาของบริษัทยักษ์ใหญ่คริปโตนั้นเป็นแค่ FOMO ที่ทุกคนต้องทำเพราะกลัวจะตกกระแสไม่ใช่สิ่งที่จะยั่งยืนในอนาคต คล้ายๆกับซูเปอร์ โบวล์เมื่อปี 2000 ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘Dotcom Bowl’ เพราะมีโฆษณาจากบริษัท .com ถึง 14 บริษัทที่ซื้อโฆษณาในสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลัง Dotcom bowl คือกระแสนั้นได้ซาลงไปอย่างมาก เกิดการฟองสบู่แตก และสุดท้ายเหลือแค่ 4 บริษัทที่ยังดำเนินกิจการถึงปัจจุบัน

 

เพียงแต่ก็อย่างที่ แมตต์ เดมอน บอกไว้ว่าโชคชะตานั้นถูกใจผู้กล้า การตัดสินใจลงทุนของยักษ์ใหญ่คริปโตในครั้งนี้คือการลงทุนของพวกเขาที่บางครั้งอาจจะวัดผลด้วยตัวเลขหรือกระแสนิยมอย่างเดียวไม่ได้

 

เพราะการรับรู้ในวงกว้างและการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์อาจจะมีค่ามากกว่านั้นมากมายนัก

 

ภาพ: Tim Clayton / Corbis via Getty Images

 

Red Bull x Bybit ดีลยักษ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

มาถึงดีลของ Red Bull กับ Bybit กันบ้าง

 

สำหรับดีลนี้ Bybit ยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์อีกเจ้าตัดสินใจที่จะทุ่มข้อเสนอมหาศาลเฉลี่ยปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัญญา 3 ปี แลกกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนทีมรถแข่งชื่อดังอย่าง เรดบูลล์ เรสซิง ทีมของแชมป์โลก แม็กซ์ แวร์สเตปเพิน และถือเป็น ‘ดีลใหญ่ที่สุด’ ที่บริษัทคริปโตเข้ามาสนับสนุนทีมกีฬา

 

สถานะของ Bybit กับเรดบูลล์คือ ‘Principal Team Partner’ ซึ่งจะได้สิทธิ์ในการเป็นผู้จำหน่ายผลงานดิจิทัล (NFT) รวมถึงแฟนโทเคน (Fan Token) ของเรดบูลล์ในปีหน้า โดยโทเคนของเรดบูลล์ที่ Bybit จะเป็นผู้ดูแลให้นั้นจะดึงดูดแฟนๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับทีม เช่น ชุดแข่ง หรือหมวกของนักขับ

Bybit ยังจะทำงานร่วมกับเรดบูลล์ในอีกหลายโครงการที่จะริเริ่มไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต, ความรู้เกี่ยวกับคริปโต, เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน, ความหลากหลายทางเพศ และรวมถึงการสนับสนุนผู้หญิงในวงการบล็อกเชน

 

เรดบูลล์เชื่อว่าการจับมือครั้งนี้ (แน่นอนว่านอกจากได้เงินแล้ว) จะเป็นการเชื่อมโยงถึงแฟนๆ ทั่วโลกได้มากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นกว่าเคย

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ Bybit ไม่ได้เพิ่งเข้ามาสนับสนุนวงการกีฬาเคยสนับสนุนทีมฟุตบอลและทีมอีสปอร์ตมาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้คือครั้งที่พวกเขายอมจ่ายหนักที่สุด ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงแนวโน้มในอนาคตที่เราจะได้เห็นยักษ์ใหญ่เหล่านี้กระโจนเข้ามาในวงการกีฬามากขึ้นและมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาพ: Jose Breton/Pics Action/NurPhoto via Getty Images)

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่แล้ว Coinbase ได้เข้ามาเป็นบริษัทคริปโตแห่งแรกที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน NBA ซึ่งจะสนับสนุน WNBA (บาสเกตบอลหญิง), NBA G League, NBA 2K League และทีมชาติสหรัฐอเมริกา

 

ขณะที่ เลอบรอน เจมส์ ก็จับมือกับ Crypto.com เซ็นสัญญาร่วมกันในการสร้าง Web3 หรือเว็บไซต์ที่จะอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน และ Crypto.com เองก็เซ็นสัญญากับทีมลอสแอนเจลิส เลเกอร์สไปก่อนแล้วในการซื้อสิทธิ์การใช้ชื่อสนาม (Naming Rights) จากสนามสเตเปิลส์ เซ็นเตอร์ เป็นสนาม Crypto.com 

 

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการที่บริษัทคริปโตเข้ามาสนับสนุนวงการกีฬา ซึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 คือ Bitpay ที่เข้ามาสนับสนุนการแข่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโบวล์ (St.Petersburg Bowl)

 

ตอนนี้ถือว่าพวกเขารุกคืบมาได้ไกลมากแล้ว และกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักของเหล่าทีมกีฬา หรือรายการแข่งขันกีฬาในอนาคต

 

Bitkub ลงสนามจริงนะครับ

ในประเทศไทยเองก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจับตามองสุดๆ อย่าง Bitkub ที่กระโจนลงสนามฟุตบอลด้วยการเป็นผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลทีมชาติไทยและการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกอย่างเป็นทางการ

 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ขยายความเพิ่มเติมถึงการเข้ามาสนับสนุนในครั้งนี้ว่า “หลายคนที่เคยติดตามผมมาอาจเคยทราบว่าผมเองก็เป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนมาก่อน รวมทั้งเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง เอาง่ายๆ เลยครับ ความฝันตอนเด็กสิ่งเดียวที่ผมอยากเป็นคือนักฟุตบอล เรียกได้ว่าไม่มีความฝันอื่นเลย ไม่คิดว่าตัวเองจะมาเป็นนักธุรกิจอย่างทุกวันนี้ได้ด้วยซ้ำ”

 

สำหรับการสนับสนุนในครั้งนี้นอกจากเรื่องของเงินทุนแล้ว Bitkub Blockchain Technology ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการดูฟุตบอลทีมชาติให้สนุกมากขึ้นและมีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลมากขึ้น เช่น นอกจากตั๋วเข้าชมหรือสินค้า Merchandising ของทีมแล้ว โมเมนต์ต่างๆ ก็สามารถนำมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มได้ในรูปแบบของการ์ด NFT ซึ่งหากเรานำ Gamification เข้ามาใส่ ก็จะสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างทีมและผู้ชม เช่น การออก NFT คอลเล็กชันพิเศษที่ต้องมาดูที่สนามเท่านั้นถึงจะได้ 

 

เรียกว่าเป็น Bitkub เปลี่ยนเสื้อผ้าสวมสตั๊ดลงสนามก่อนใคร และน่าจับตามองว่าจะมีผู้เล่นคนไหนที่จะขอโอกาสในการลงสนามกีฬาไทยบ้างในอนาคต

 

 

อนาคตของยักษ์ใหญ่คริปโตกับ Sport Marketing

จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะพอทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ว่านับจากนี้บริษัทคริปโตยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะกระโจนเข้ามาสู่วงการกีฬามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทีมกีฬา รายการแข่งขันกีฬา หรือแม้แต่ตัวนักกีฬาเองก็ตาม

 

เรียกว่ามีช่องว่างให้เติมเต็มจินตนาการมากมาย โดยสิ่งที่จะเติมเต็มจินตนาการนั้นนอกจากการอัดฉีดด้วยเม็ดเงินยังมีเรื่องของ ‘โอกาส’ ที่บริษัทเหล่านี้จะต่อยอดได้มากมายจากการใช้เกมกีฬามาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยดึงดูดแฟนๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ด้วย

 

ทั้งนี้สิ่งที่บริษัทคริปโตเหล่านี้ได้เปรียบไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเม็ดเงินมหาศาลในลิ้นชัก แต่ยังมีเรื่องของภาพลักษณ์ที่เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ เป็นโลกแห่งอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่พยายามทำ Sport Marketing อย่างหนักในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอย่างกลุ่ม Betting หรือบริษัทรับพนันถูกกฎหมายแล้วดีกว่ามาก

 

กลุ่ม Betting นี้แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ถูกกฎหมาย แต่ระยะหลังคือบริษัทข้ามชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ และอะไรที่มันมากเกินไปก็ไม่ดี ซึ่งทำให้ในหลายๆ ประเทศเริ่มคุมเข้มกับการให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในทีมกีฬา เพราะกังวลเกี่ยวกับการมอมเมาเยาวชน

 

เมื่อขาดเม็ดเงินจากกลุ่มนี้ไปทำให้ทีมกีฬาเองก็ต้องการเม็ดเงินมหาศาลจากกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างยักษ์ใหญ่คริปโตทั้งหลายที่จะกระโจนเข้าสู่สนามด้วย

 

แต่จะอยู่ยั้งยืนยงแค่ไหน เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบแก่พวกเราได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising