×

Crypto, Fan Token และ NFT นวัตกรรมใหม่ที่จะพลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลอีกครั้ง

30.04.2021
  • LOADING...
Crypto, Fan Tokens และ NFT นวัตกรรมใหม่ที่จะพลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลอีกครั้ง

HIGHLIGHTS

  • สโมสรค้นพบวิธีการใหม่ที่จะหารายได้จากแฟนบอล สิ่งมีชีวิตผู้พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีเหตุผล เพราะใช้ ‘ความรู้สึก’ ล้วนๆ ผ่าน Blockchain และ Cryptocurrency ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงสโมสรเข้ากับแฟนๆ ได้โดยตรง
  • Fan Token จำอย่างง่ายที่สุดคือ Token เท่ากับเหรียญ (เหมือนเวลาเราไปหยอดตู้กาชาปองหรือเกมตู้ก็เรียกว่า Token เหมือนกัน) ดังนั้น Fan Token ก็คือเหรียญของแฟนๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้สารพัดวิธีนั่นเอง
  • สิ่งที่เราจะสามารถ ‘ซื้อ’ จากสโมสรได้ด้วย Fan Token เป็นสิ่งที่บางทีเราไม่สามารถใช้เงินจริงๆ ในการซื้อได้ เช่น ประสบการณ์, รางวัลพิเศษ หรือคอนเทนต์พิเศษ (Exclusive Content)
  • ปัจจุบันมีการซื้อขายนักฟุตบอลผ่าน Cryptocurrency และในอนาคตอาจได้ซื้อตั๋วเข้าชมเกมด้วย Fan Token ซึ่งสามารถตรวจสอบและป้องกันตั๋วผีได้
  • NFT ก็มีในเกมฟุตบอล เช่น การซื้อขาย ‘การ์ดนักฟุตบอล’ ผ่านเกม ‘แฟนตาซีฟุตบอล’ Sorare (sorare.com) ซึ่งการ์ดแบบนี้ปกติจะอยู่ในรูปแบบกระดาษ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่าง NFT แทน

ในขณะที่เกมฟุตบอลในชีวิตจริงยังคงฟาดแข้งในสนามหญ้ากันอย่างเมามัน แต่ในอีกมิติหนึ่ง การแข่งขันก็เริ่มทวีความดุเดือดขึ้นไม่แพ้กันเลยครับ

 

ต่างกันตรงที่การแข่งขันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนสนามหญ้า แต่เป็นบนหน้ากระดานดิจิทัลที่เป็นอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ (ชัดเจนกว่า VAR แน่นอน!) กับสิ่งที่เรียกกันว่าคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)

 

ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บาร์เซโลนาเปิดเทรด Fan Token ของตัวเองบน Binance หนึ่งในกระดานเทรดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และย้อนหลังไปอีกหน่อยในเดือนที่แล้ว แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นอีกหนึ่งในสโมสรที่มี Fan Token ของตัวเองตามหลังบาร์ซา, โรมา, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, แอตเลติโก มาดริด, เอซี มิลาน, ยูเวนตุส

 

ความจริงแล้วเรื่องพวกนี้มันไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกับฟุตบอลได้เลยสักนิด เพราะมันเป็นเหมือนเรื่องคนละเรื่อง โลกคนละใบ จักรวาลคนละแห่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฟุตบอลกับคริปโตเคอร์เรนซีนั้นมีความเข้ากันได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์

 

ดีถึงขั้นที่นักวิเคราะห์เชื่อว่านี่คืออนาคตของวงการกีฬา (ไม่ใช่แค่เฉพาะฟุตบอล) และมันมีศักยภาพถึงขั้นที่สามารถจะพลิกโฉมของธุรกิจในอุตสาหกรรมเกมลูกหนังได้เลยทีเดียว

 

ถ้าคิ้วยังขมวดอยู่ ลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ประสาคอบอลที่ยังเชื่อว่า VAR คือสิ่งที่ทำลายเสน่ห์ของเกมฟุตบอล และเราควรจะย้อนกลับไปตัดสินการล้ำหน้าและแฮนด์บอลแบบเดิมกัน

 

 

 

วิชา Blockchain, Cryptocurrency กับฟุตบอล 101

หากจะให้อธิบายเรื่องยากๆ นี้ให้คอบอลเข้าใจได้ภายในสองบรรทัดอาจจะเป็น

 

บล็อกเชนคือเทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ มีอิสระ ปลอดภัย ตรวจสอบได้

 

และคริปโตเคอร์เรนซีคือชื่อสกุลเงินดิจิทัล (สินทรัพย์ดิจิทัล) ที่เกิดจากเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง ที่ดังที่สุดหนีไม่พ้น Bitcoin แต่จริงๆ แล้วมีอีกหลายสกุล (เหมือนเงินที่มีบาท, เยน, ดอลลาร์ ฯลฯ)

 

จบ!

 

แล้วสองสิ่งนี้เข้ามาเชื่อมโยงกับเกมฟุตบอลได้อย่างไร? ขออนุญาตอธิบายแบบง่ายๆ แบบนี้ครับ

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สโมสรฟุตบอลมีวิธีในการหารายได้เข้าธุรกิจด้วยวิธีเหล่านี้

 

จำหน่ายค่าตั๋วเข้าชม (Tickets), ขายชุดแข่งขัน (Kits), ทำสินค้าของที่ระลึก (Merchandising), การหาสปอนเซอร์ (Sponsorship) และส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด (TV Rights) เป็นต้น

 

วิธีพื้นฐานข้างต้นเหล่านี้ (จริงๆ ยังมีอีกมากมายครับ เช่น การจัดทัวร์, การทำกิจกรรมทางการตลาด, การหารายได้จากช่องทางโซเชียลมีเดีย ฯลฯ สุดแล้วแต่ความสามารถของฝ่ายการตลาดสโมสร) 

 

อย่างไรก็ดี วิธีเหล่านี้อาจจะกลายเป็นของโบราณไปในอนาคตอันใกล้ เมื่อสโมสรค้นพบวิธีการใหม่ที่จะหารายได้จากแฟนบอล สิ่งมีชีวิตผู้พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีเหตุผล เพราะใช้ ‘ความรู้สึก’ ล้วนๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงสโมสรเข้ากับแฟนๆ ได้โดยตรง

 

โดยตัวกลางที่จะเชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างกันถูกเรียกว่า Fan Token ครับ

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Socios (@sociosdotcom)

 

 

Fan Token คืออะไร และมันทำอะไรได้บ้าง?

คำศัพท์คำต่อไปที่คอบอลจะเรียนรู้คือคำว่า Fan Token

 

จำอย่างง่ายที่สุดคือ Token เท่ากับเหรียญ (เหมือนเวลาเราไปหยอดตู้กาชาปองหรือเกมตู้ก็เรียกว่า Token เหมือนกัน) ดังนั้น Fan Token ก็คือเหรียญของแฟนๆ นั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นทางการก็จะเรียกว่าเหรียญสกุลดิจิทัล

 

ทีนี้เราจะได้ Fan Token มาอย่างไร? วิธีการมีมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนหรือการแจกผ่านการทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง (เช่น Bitkub ของบ้านเราจะมีวิธี รอสแกน QR Code ในวิดีโอที่ระบุไว้, ตอบคำถามร่วมสนุก หรือร่วมกิจกรรม Meet & Greet ฯลฯ) 

 

แต่วิธีพื้นฐานที่ง่ายที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอลเมืองนอกคือการเอาเงินจริงไปแลก Fan Token ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง ก็จะได้ Token มาเป็นสมบัติของตัวเอง

 

สิ่งที่ควรตระหนักคือราคาของ Token นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (เหมือนค่าเงิน) และสโมสรกับพาร์ตเนอร์ (ที่เป็นคนกลาง) ก็สามารถเพิ่มจำนวน Token เข้ามาในตลาดได้ในจำนวนและราคาที่เหมาะสม (เหมือนการระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจะเรียกกระบวนการนี้ว่า Fan Token Offering) 

 

ทีนี้สำหรับแฟนๆ อย่างเรา Token ในมือ (แอปฯ) สามารถทำอะไรได้บ้าง

 

พื้นฐานที่สุดคือเราสามารถซื้อขาย Fan Token ที่มีให้กับคนอื่นได้ ก็เรียกว่าเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง เพียงแต่มันจับต้องไม่ได้ ได้เพียงแค่ลูบๆ คลำๆ บนหน้าจอเท่านั้น

 

แต่ในฐานะแฟนบอลแล้ว เราไม่ควรจะคำถึงเรื่องกำไรขาดทุนสิ เพราะเราใช้หัวใจนำทาง ดังนั้น Token ของเราควรจะถูกจับจ่ายเพื่อสโมสรที่เรารักเท่านั้น!

 

ล้อเล่นนะครับข้างบน ยามนี้จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องสมเหตุสมผลกันหน่อย เพียงแต่หากเรามี Fan Token อยู่ สิ่งที่เราจะสามารถ ‘ซื้อ’ จากสโมสรได้นั้นเป็นสิ่งที่บางทีเราไม่สามารถใช้เงินจริงๆ ในการซื้อได้

 

มีอะไรบ้าง?

 

เช่น ประสบการณ์ (สมมติได้แชตคุยกับ ลิโอเนล เมสซี เป็นการส่วนตัว 2 นาที เหมือนบัตรจับมือของไอดอล), รางวัล (เสื้อ Match-Worn ของ เนย์มาร์) หรือคอนเทนต์พิเศษ (Exclusive Content) ที่จะมีเพียงเราเท่านั้นที่ได้ดู เช่น คลิปการซ้อมทำประตูของ คริสเตียโน โรนัลโด)

 

นอกจากนี้ Fan Token ยังสามารถทำให้เรามี ‘สิทธิ์’ ในการโหวตเกี่ยวกับการตัดสินใจของสโมสรได้ด้วยครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้ากับกระแสพอดี เพราะเรื่องการพยายามแยกตัวออกไปตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีกของ 12 สโมสรใหญ่ ทำให้แฟนบอลในอังกฤษเรียกร้องสิทธิ์ที่พวกเขาจะสื่อสารโดยตรงกับเจ้าของสโมสรได้ด้วย

 

เรื่องที่โหวตเป็นได้ทุกเรื่องครับ เพียงแต่มันอาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน เช่น โหวตลายบนรถโค้ชประจำสโมสร (ยูเวนตุสมีให้โหวตแล้ว) เป็นต้น

 

สำหรับแฟนบอลมันคือความรักและความภักดีที่ถูกแปรรูปจากความรู้สึกและข้าวของจับต้องได้เป็นแบบดิจิทัลเท่านั้น โดยที่เรายังมีความภาคภูมิใจกับมัน มีความรู้สึกกับมัน และสามารถใช้มันในการ ‘ขิง’ กับคนอื่นได้เหมือนเดิม (เช่น เรามีคลิป คีเลียน เอ็มบัปเป้ ที่ซ้อมเต้นท่าฉลองดีใจแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ก่อนที่จะใช้จริงในสนาม)

 

ในอนาคตหากแฟนบอลกลับเข้าสนามได้แล้ว ต่อไปแทนที่จะต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเข้าสนามด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต ก็อาจจะจ่ายด้วย Token ซึ่งนอกจากค่าตั๋วแล้ว อาจจะจ่ายได้ยันค่าน้ำดื่ม เบียร์ ฮอตด็อก หรือของที่ระลึกต่างๆ ด้วย

 

สำหรับสโมสรแล้วนี่คือการเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ระหว่างพวกเขากับแฟนบอลของตัวเอง โดยเฉพาะในยามที่ต้องห่างกันเพราะโควิด-19 เป็นระยะเวลาปีกว่า

 

Fan Token ยังเป็นโอกาสสำหรับพวกเขาในการขยายฐานแฟนบอลด้วย โดยเฉพาะในเอเชียที่สกุลเงินดิจิทัลเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และฐานแฟนฟุตบอลนั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ตามการประเมินล่าสุดคาดว่าสกุลเงิน ChiliZ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีพาร์ตเนอร์เป็นสโมสรระดับชั้นนำอย่าง บาร์เซโลนา, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ยูเวนตุส และเอซี มิลาน โดยผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองที่ชื่อว่า socios.com (มีทั้งแอปฯ และเว็บไซต์) ปัจจุบันมีมูลค่าในตลาดสูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หรืออย่างบาร์ซาที่บอกไปข้างต้นว่าขึ้นกระดานเทรดไปแล้ว ซึ่ง Fan Token ของบาร์ซา (BAR) ก็เหมือนหุ้นตัวหนึ่งที่สามารถลงทุนได้ด้วย

 

โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึง NFT (Non-Fungible Token) ที่กำลังมาแรงด้วยซ้ำไป

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Sorare (@sorare_official)

 

การ์ดซูเปอร์แรร์ คริสเตียโน โรนัลโด บนเว็บไซต์ sorare.com ถูกซื้อไปด้วยราคา 289,920 ดอลลาร์สหรัฐ!

 

ฟุตบอลกับ Cryptocurrency และ Blockchain ไปถึงไหนได้อีก?

ไปได้อีกเยอะมาก

 

คริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชนสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับฟุตบอลได้อย่างหลากหลายสุดแล้วแต่จินตนาการ โดยที่ปัจจุบันเรามี

 

  • การซื้อขายนักฟุตบอลผ่านสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin แล้ว และมีมาตั้งแต่ปี 2018 ด้วย โดยนักฟุตบอลคนแรกที่ถูกซื้อด้วย Bitcoin คือ โอมาร์ ฟารุค คิโรกลู 0.0525 Bitcoin (ซึ่งมีราคา ณ ขณะนั้น 355 ปอนด์)  ในการย้ายมาร่วมทีมฮารูนูสตาสปอร์

 

  • ในฟุตบอลโลก 2018 แฟนฟุตบอลสามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลซื้อตั๋วชมเกมได้ผ่านบริษัทผู้ให้บริการอย่าง Wirex, Epayments โดยใช้สกุลเงินดังที่ได้รับความนิยมอย่าง Bitcoin, Litecoin และ Ethereum 

 

  • ในปี 2018 อีกเหมือนกัน สโมสรฟุตบอลในยิบรอลตาร์จ่ายเงินค่าเหนื่อยนักฟุตบอลเป็นสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) 

 

  • ในอนาคตอาจจะมีการขายตั๋วชมฟุตบอลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเหมือนที่ TIXnGo บริษัทจำหน่ายตั๋วในอังกฤษ จำหน่ายตั๋วแข่งขันกีฬาคริกเก็ตรายการ Lancashire Cricket โดยร่วมมือกับ SecuTix (ผู้ให้บริการระบบจำหน่ายตั๋ว) ซึ่งจะมีการเข้ารหัสแบบเฉพาะที่จะสามารถติดตามได้ และลดความเสี่ยงของการจำหน่ายตั๋วผีได้ทันที

 

NFT กับฟุตบอล (และกีฬาอื่นๆ)

อีกหนึ่งกระแสที่กำลังมาแรงอย่างมากในเวลานี้คือ NFT ที่จะเปรียบภาพให้เห็นง่ายๆ คือ Token รูปแบบหนึ่งที่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้ มีเพียงหนึ่งเดียว และไม่สามารถเอาอะไรมาทดแทนได้

 

ให้เห็นภาพง่ายๆ คือ Token ธรรมดาเหมือนเหรียญ แต่ NFT คือเหรียญที่ทำออกมาเพื่อสะสม และปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในวงการกีฬา เช่น ในบาสเกตบอล NBA ก็จะมี Top Shot ซึ่งเป็น NFT แบบถูกลิขสิทธิ์ที่ซื้อขายกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน

 

Top Shot คือช็อตทีเด็ดที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน เช่น เลอบรอน เจมส์ ทำสแลมดังก์ ซึ่งเป็น NFT ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเวลานี้ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อให้เราดูไฮไลต์ช็อตนี้จากไหนก็ได้ แต่คนที่เป็นเจ้าของ ‘ช่วงเวลานี้’ จริงๆ คือเจ้าของ NFT 

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแค่อันเดียวในโลกเสมอไปนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะมีการทำขึ้นจำนวนหนึ่ง เช่น ช็อตทีเด็ดนี้ทำมา 20,000 ชิ้น แต่ก็จะมีบางกรณีที่เป็นพิเศษจริงๆ มีอันเดียวในโลกจริงๆ แบบนั้นก็จะราคาสูงมาก

 

ทีนี้ในเกมฟุตบอลก็เริ่มมีแล้ว โดย NFT ที่เกิดขึ้นคือการซื้อขาย ‘การ์ดนักฟุตบอล’ ผ่านเกม ‘แฟนตาซีฟุตบอล’ Sorare (sorare.com) ที่จะมีการ์ดนักฟุตบอลให้เปิดสุ่มกัน ซึ่งการ์ดแบบนี้ปกติจะอยู่ในรูปแบบกระดาษ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่าง NFT แทน

 

ความสนุกนั้นอยู่ที่จะมีการ์ดหายากที่สุด เช่น สีดำมีแค่ใบเดียวเท่านั้นในโลก ถ้าสีฟ้าก็มี 10 ใบ สีแดงเยอะหน่อยก็ 100 ใบ แต่แน่นอนครับว่าการ์ดแต่ละใบเป็น NFT คือเป็นของแท้ มีแค่นี้ และจะไม่เกิดการผลิตซ้ำอีก

 

หรือถ้าให้คิดไวๆ อีก ในหมู่ศิลปะฟุตบอลซึ่งปัจจุบันมีศิลปินที่ผลิตผลงานสวยๆ มากมายออกมาขายในรูปแบบภาพวาด, โปสเตอร์ หรือบทความเองก็ตาม ก็สามารถจะขายเป็น NFT ให้เราออกล่ามาสะสมได้เหมือนกัน

 

ดังนั้นแวดวงนักสะสมมีโอกาสที่จะเป็นตลาดใหญ่ของ NFT สำหรับคอบอล (และคอกีฬา) ในอนาคตอันใกล้ (สมมติ เสื้อฟุตบอลดิจิทัลของเปเลในฟุตบอลโลก 1958 หรือรองเท้าเสมือนของ ดีเอโก มาราโดนา ที่โซโล่เดี่ยวจากกลางสนามเข้าไปยิงทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลก 1986) 

 

ทั้งหมดคือเรื่องราวของคริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชน รวมถึง Fan Token และ NFT ที่วันนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ คน (ผมเองก็ด้วยครับ สารภาพบาปเลย)

 

แต่ในอนาคตเชื่อได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนกับชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรจากที่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน พนักงานธนาคารต้องอธิบายว่าบัตรเดบิตต่างจากบัตรเอทีเอ็มอย่างไร และไม่กี่ปีก่อนหน้าเรายังไม่รู้จักการจ่ายเงินผ่าน QR Code เลย

 

เกมฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน

 

วิธีการแสดงความรักและความหลงใหลของแฟนฟุตบอลเองก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตามยุคสมัยเช่นกันครับ 🙂

 

ป.ล. เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง คิดหน้าคิดหลังให้ดีนะครับ…

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising