เกิดอะไรขึ้น:
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ทิศทางราคาน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลง 70.13%YTD สู่ระดับ 18.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ BRENT ปรับลง 57.73%YTD สู่ระดับ 27.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ข้อมูล ณ 17 เมษายน 2563 เวลา 16.40 น.)
โดยเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงเริ่มจากช่วงสิ้นเดือนมกราคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนเริ่มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ทางการจีนประกาศปิดเมือง พร้อมสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม รวมถึงขยายระยะเวลาวันหยุดตรุษจีนเพิ่มออกไป ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ตลาดเริ่มกังวลต่อทิศทางอุปสงค์ของน้ำมันที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจจีนที่หยุดชะงักลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI เริ่มปรับตัวลงสู่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 2562 และราคาน้ำมันดิบ BRENT ปรับลงสู่ระดับ 56 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 2562
ต่อมาช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มลุกลามไปยังนอกประเทศจีนมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ส่งผลให้ตลาดเริ่มกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งสร้างความกังวลมากขึ้นต่อทิศทางอุปสงค์ของน้ำมันที่อ่อนแอลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงสู่ระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ BRENT ปรับลงสู่ระดับ 49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (28 กุมภาพันธ์ 2563)
ในเดือนมีนาคมถือว่าเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งที่กระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันอย่างมาก หลังจากการประชุมกลุ่ม OPEC (5-6 มีนาคม) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันได้ โดยรัสเซียไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่ซาอุดีอาระเบียได้ตอบโต้รัสเซียด้วยการประกาศเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกินส่งผลให้ราคาน้ำดิบ WTI ร่วงลงสู่ระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำดิบ BRENT ร่วงลงสู่ระดับ 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (9 มีนาคม 2563)
เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นวันที่ 11 มีนาคม องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เข้าสู่ภาวะการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการเดินทางจากยุโรป และต่อมาหลายๆ ประเทศก็เริ่มออกมาตรการปิดประเทศเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อทิศทางอุปสงค์ที่จะอ่อนแอมากขึ้น เป็นเหตุให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงสู่ระดับ 19 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ BRENT ปรับลงสู่ระดับ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (31 มีนาคม 2563)
กระทบอย่างไร:
จากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นโรงกลั่นอย่าง บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ปรับตัวลง 45.52%YTD จาก 36.50 บาท สู่ 69.75 บาท ซึ่งปรับตัวลงแรงกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับตัวลง 21.56%YTD จากระดับ 1,579.84 จุด สู่ระดับ 1,205.77 จุด (ข้อมูล ณ 17 เมษายน 2563 เวลา 16.40 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่า TOP จะมีปริมาณการกลั่นน้ำมันลดลงสู่ระดับ 3.1 แสนล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 3.16 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4/63 เนื่องจากอุปสงค์ของน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซินที่อ่อนแอ ตามจำนวนการเดินทางที่ลดลงสืบเนื่องมาจากมาตรการปิดประเทศ
ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin: GIM) จะลดลงสู่ระดับ 2.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 46%YoY และลดลง 36%QoQ เนื่องจากค่าการกลั่น (Gross Refining Margin: GRM) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก Crack Spread ของราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันอากาศยานที่ลดลง
นอกจากนี้ SCBS คาดว่า TOP จะรับรู้ผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมาก จากทิศทางราคามันดิบที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง และยังมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องด้วยเงินบาทอ่อนค่า
ด้วยปัจจัยกดดันเหล่านี้ทำให้ SCBS คาดว่า TOP จะรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 1.39 หมื่นล้านบาท จากมีกำไรสุทธิ 4.4 พันล้านบาทในไตรมาส 1/62 และ 1.98 พันล้านบาทในไตรมาส 4/62 ขณะที่ Bloomberg Consensus คาดว่า TOP จะมีผลขาดทุนสุทธิ 8.6 พันล้านบาท เบื้องต้นคาดว่า TOP จะรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 วันที่ 11 พฤษภาคม 2563
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนแอเช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อในไตรมาส 2/63 เนื่องจากค่าการกลั่น (GRM) ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจะลดน้อยลง นอกจากนี้ TOP ยังได้วางแผนลดต้นทุนการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 เพื่อรับมือกับอัตรากำไรผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอ รวมถึงลดผลผลิตน้ำมันอากาศยานลงในช่วงที่ปริมาณการเดินซบเซา
ข้อมูลเพิ่มเติม:
%YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
%YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
%QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า