×

ไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลล้มตาย แต่น้ำมันดิบรั่วทางทะเลมีผลต่อธรรมชาติและกระทบต่อมนุษย์มากกว่าที่เราคิด

30.01.2022
  • LOADING...
ไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลล้มตาย แต่น้ำมันดิบรั่วทางทะเลมีผลต่อธรรมชาติและกระทบต่อมนุษย์มากกว่าที่เราคิด

แม้เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลก แต่ก็เป็นเรื่องที่นักชีววิทยาและคนรักธรรมชาติไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่แค่เพียงคราบน้ำมันที่กระจายตัวบนผิวน้ำและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนต่อการท่องเที่ยว แต่สัตว์น้ำทางทะเลและระบบนิเวศใต้น้ำกลับได้รับผลกระทบในระยะยาวทั้งห่วงโซ่อาหาร

 

ผู้เขียนเห็นคำถามหนึ่งบนโลกโซเชียลที่น่าสนใจมาก และเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเช่นกัน “ทำไมสัตว์ทะเลถึงตาย ทั้งๆ ที่คราบน้ำมันอยู่บนผิวน้ำ แต่พวกเขาอาศัยอยู่ใต้น้ำ”

 

ไม่ใช่แค่คราบน้ำมัน แต่คือสารพิษ

อ้างอิงจากความคิดเห็นของ ดร.คอรินา ซิโอกัน ผู้บรรยายอาวุโสด้านชีววิทยาทางทะเล University of Brighton ที่เคยเผยแพร่ทาง BBC ในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ทะเลมอริเชียส กล่าวว่า

 

“ไม่ใช่แค่เรื่องคราบน้ำมันบางๆ ที่คุณเห็นบนผิวน้ำที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมัน แต่ยังมีสารประกอบหลายอย่างในน้ำมันที่จะละลายลงน้ำ มีชั้นที่มีลักษณะเป็นฟองอยู่ใต้ผิวน้ำ และยังมีสารตกค้างที่จะลงไปนอนก้นบริเวณท้องน้ำ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ”

 

การที่น้ำมันดิบรั่วครั้งหนึ่งไม่เพียงแต่คราบความสกปรกและส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะบดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้พืชและแพลงตอนสามารถสังเคราะห์แสงได้ และยังทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำบริเวณนั้นลดลง เมื่อสังเคราะห์แสงไม่ได้ ออกซิเจนก็น้อยลงไปอีก สัตว์ทะเลเล็กๆ เหล่านั้นจึงเริ่มขาดอากาศหายใจ บางตัวสามารถปรับตัวได้และแหวกว่ายไปยังจุดอื่น แต่บางตัวไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรืออาจตายได้จากการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน

 

นอกจากนี้ก้อนน้ำมันดิบจำนวนหนึ่งจะถูกปลาและสัตว์ทะเลบางชนิดกินไป ซึ่งสารพิษเหล่านั้นจะสะสมอยู่ในตับและอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดโรคและภาวะเป็นหมัน เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารเริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ซึ่งก็คือมนุษย์ สุดท้ายเมื่อมนุษย์กินอาหารทะเลเหล่านั้น สารพิษทั้งหมดก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย

 

ปะการังฟอกขาว ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้

อ้างอิงจากบทความของ BBC ศ.ริชาร์ด สไตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำมันรั่วไหล และนักชีววิทยาทางทะเลในอะแลสกาของสหรัฐฯ กล่าวว่า 

 

“สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นพิษซึ่งมาจากน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจะฟอกขาวแนวปะการัง และท้ายที่สุดพวกมันจะตาย”

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า แนวปะการังเปรียบเสมือนป่าและบ้านของสัตว์ทะเล เหมือนไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ทะเลบริเวณนั้นก็เปรียบได้ดั่งทะเลทราย อย่าลืมว่าออกซิเจนหลักของโลกถูกผลิตขึ้นจากแพลงตอนและสิ่งมีชีวิตในทะเล ฉะนั้นเมื่อหน่วยผลิตเหล่านี้เกิดความเสียหาย ย่อมกระทบต่อโลกเรามากกว่าที่ประเมินค่าได้

 

นั่นยังไม่รวมกับความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นยามคราบน้ำมันเกยขึ้นฝั่ง ต่อให้เราพยายามซับและขจัดอย่างไร น้ำมันดิบก็จะเคลือบเม็ดทรายและค่อยๆ จมทิ้งตัวหายลงไปด้านล่าง สัตว์น้ำเล็กๆ หนีตาย ชายหาดหมดความสวยงาม นักท่องเที่ยวหดหาย ชุมชนร้านค้าต่างได้รับผลกระทบ ชาวประมงต้องขาดรายได้ ฯลฯ

 

เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุการณ์ใหญ่มากกว่าที่เราคิด เพราะกระทบทั้งเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม แม้ดูเหมือนไม่เสียหายเท่าไรเมื่อเทียบกับครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นกับธรรมชาติบนโลกที่เราอาศัยอยู่ และเรายังคงต้องพึ่งพาธรรมชาติเหล่านั้นเพื่อดำรงชีพต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising