×

รอมฎอนเสียดายแพทองธารพบผู้นำมาเลเซีย แต่ขาดท่าทีแข็งขันตอบรับกระบวนการสันติภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
16.12.2024
  • LOADING...
criticizes-paetongtarn-peace-process

วันนี้ (16 ธันวาคม) รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อกรณีการเยือนและพบปะกับผู้นำมาเลเซียของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2567

 

รอมฎอนระบุว่า การเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเป็นกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ แม้ว่าวาระหลักจะเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการหลังเข้ารับตำแหน่ง และการสานต่อความร่วมมือในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ แต่ความร่วมมือในมิติด้านความมั่นคงและสันติภาพ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่อาจเป็นที่ละเลยได้

 

แม้ข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีการแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนไทยจะเน้นหนักไปที่ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจ แต่ในการแถลงข่าวและในคำแถลงที่เป็นทางการนั้นก็ปรากฏว่ามีประเด็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในฐานะที่เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงสำคัญของทั้งสองประเทศด้วย และยังเห็นได้ชัดจากภาพที่ปรากฏระหว่างการแถลงข่าวว่า อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ไล่ลำดับความสำคัญของประเด็นความร่วมมืออย่างน่าสนใจ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการพูดคุยสันติภาพ เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งสนับสนุนการแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับแผนสันติภาพ หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP)

 

อีกทั้งยังระบุในการแถลงข่าวร่วมกันว่าตัวเขาเองได้เน้นย้ำกับผู้นำของประเทศไทยหลายคนก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่าสันติภาพและการพัฒนานั้นจะนำพาทั้งชายแดนใต้ของไทยและรัฐทางเหนือของมาเลเซียให้พัฒนาไปร่วมกันได้

 

“จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในระหว่างการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรีไทยกลับไม่ได้กล่าวตอบรับถึงประเด็นนี้เท่าไร ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเจ้าของปัญหาและความท้าทายนี้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงภาวะผู้นำให้รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านมั่นใจได้ว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะได้รับความใส่ใจที่มากพอ เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน อันถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ” รอมฎอนกล่าว

 

รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนของทางการมาเลเซียยังได้ระบุสาระสำคัญข้างต้นเอาไว้ พร้อมทั้งให้รายละเอียดด้วยว่า ผู้นำของทั้งสองประเทศหารือกันถึงพัฒนาการในเชิงบวกของกระบวนการสันติภาพ และร่วมแสดงความยินดีในการเข้าทำหน้าที่ของ ดาโต๊ะ ฮัจญี มูฮัมหมัดรอบิน บิน บาชีร ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพคนใหม่ ซึ่งเริ่มงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 

 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของทางการไทยเองกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่สานต่องานพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทำให้การเยือนในครั้งนี้รัฐบาลไทยไม่อาจส่งสัญญาณที่เป็นบวกให้กับความร่วมมือในมิตินี้ได้

 

รอมฎอนกล่าวอีกว่า การเดินทางเยือนเพื่อแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไทยอย่างน้อยสองคนก่อนหน้านี้ เป็นการเดินทางไปพร้อมกับการยืนยันหนักแน่นต่อมาเลเซียว่า รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยด้วยแนวทางสันติวิธี และเน้นไปที่การพูดคุยและเจรจา 

 

ในรัฐบาลหลังการรัฐประหาร การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ก็มาพร้อมกับการแนะนำหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ในขณะนั้นคือ พล.อ. อักษรา เกิดผล ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในขณะที่การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 แม้จะไม่มีความคืบหน้าในการสานต่อการพูดคุย แต่อดีตนายกรัฐมนตรีก็ได้ลงนามแต่งตั้งคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ในวันเดียวกันกับการพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่ด่านชายแดนสะเดา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

 

“ทั้งสองกรณีถือเป็นตัวอย่างของผู้นำประเทศที่จะส่งสัญญาณทางการเมืองสำคัญให้กับทางการมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลไทยใส่ใจและทรงอำนาจในการริเริ่มแก้ไขปัญหาของตัวเอง แต่ท่าทีและท่วงทำนองที่เกิดขึ้นในวันนี้กลับกลายเป็นว่า บทบาทในการผลักดันสำคัญกลับอยู่ที่ผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่าเสียดาย”

 

รอมฎอนชี้ว่า นายกรัฐมนตรีปล่อยให้โอกาสในการแสดงภาวะผู้นำและแสดงความมั่นใจต่อความร่วมมือของทั้งสองประเทศในประเด็นสำคัญต้องหายไป ทั้งที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกนั้น ถือเป็นมรดกทางการเมืองสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน และผู้ที่ทำให้ช่องทางการพูดคุยด้วยแนวทางสันตินี้เป็นไปได้ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

อย่างไรก็ตาม การประกาศแต่งตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของประธานอาเซียนในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของมาเลเซียว่า ในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า รัฐบาลมาเลเซียอยากเห็นความร่วมมือและการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านในการบรรลุถึงปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอนาคตของเมียนมา วิกฤตการณ์ในทะเลจีนใต้ การเข้าเป็นสมาชิกของติมอร์-เลสเต และสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย 

 

รอมฎอนชี้ว่า ประเทศไทยก็ควรที่จะได้ใช้โอกาสที่อดีตนายกรัฐมนตรีกำลังจะมีบทบาทสำคัญนี้ ในการผลักดันวาระสันติภาพร่วมกับประเทศอาเซียนในประเด็นต่างๆ ต่อไปในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม การที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนมาเลเซียครั้งนี้ กลับไม่ได้แสดงท่าทีอย่างหนักแน่นในการตอบรับหรือสานต่อความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ปล่อยให้เป็นเวทีการแสดงท่าทีของผู้นำมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่นั้น นับเป็นการสูญเสียโอกาสที่สวนทางกับโอกาสที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้รับในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

“การเงียบเสียงและไม่ใส่ใจในประเด็นของตัวเองเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างสำคัญของผู้นำประเทศ แต่ภายในเวลาที่พอจะมีอยู่นี้ รัฐบาลแพทองธารควรแสดงความใส่ใจต่อปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ การปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายหลากหลายนั้นเกิดขึ้นแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศไทยควรมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้” รอมฎอนกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising