หลังจบการแถลงเปิดรายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ในช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน) เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายนี้ก็ดังต่อเนื่องขึ้นทันที โดยเฉพาะต่อประเด็นการกู้เงิน
ศิริกัญญาห่วงกู้เงินขัดรัฐธรรมนูญ-วินัยการคลัง ยืมมือนักร้องหาทางลงให้นโยบาย
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแถลงเป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหนในการดำเนินนโยบาย สุดท้ายต้องกู้มาแจก และเทคโนโลยีจากซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ย้อนกลับมาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง
ซ้ำร้ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยสักคนเดียว เพราะทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยย่อมทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยปัดตก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อจะทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเมื่อปี 2556
“หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคตหากมีบรรดานักร้องหรือผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญในการปัดตกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล”
ศิริกัญญากล่าวว่า ขอยืนยันว่าช่องทางในการร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้นพรรคก้าวไกลจะไม่ไปร้องแน่นอน และขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ควรให้จบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง
สว. คำนูณ มอง ออกกฎหมายกู้เงินอาจไม่เข้าเงื่อนไขวินัยการคลัง
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘กู้มาแจกขัดกฎหมายหรือไม่’ โดยเขาระบุว่า การตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจกคนละ 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 หากพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53
ประเด็นคือ การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น
“เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”
สว. คำนูณ ได้แบ่งแยกประเด็นพร้อมข้อสังเกต 4 ข้อ ดังนี้
- เร่งด่วน: ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญอีก
- ต่อเนื่อง: โครงการนี้ไม่ได้ต้องการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาทแจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน
- แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ: วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤต อย่างน้อยหากเปรียบเทียบกับยุคโควิด
- ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน: ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย โดยเงื่อนเวลาสามารถปรับยอดการใช้จ่ายโครงการนี้เข้าไปได้ ซึ่งก็จะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566
“ต้องบอกด้วยความเคารพว่าแทบจะไม่เข้าสักประการ” คำนูณระบุ
ทั้ง 4 ประการนี้มีเพียงประการที่ 3 ว่าด้วยวิกฤตเท่านั้นที่พอเถียงกันได้ โดยรัฐบาลอาจมองได้ว่า การที่ GDP ของประเทศโตในระดับต่ำถือเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน
“เจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน โดยประการสุดท้ายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้กำหนดว่าต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังคาอยู่ ปรับแก้ได้ทัน จะมาออกพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ดูอย่างเอาใจช่วยอย่างไรก็ไม่น่าชอบด้วยมาตรา 53”
คำนูณระบุด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นโดยสุจริตของคนคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติมาหลายปี
อดีต รมว.คลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตีความกู้เงินมาแจก ‘ทำไม่ได้’
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเขาระบุว่า การออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้ ‘กระทำไม่ได้’
ธีระชัยระบุว่า เศรษฐามองเห็นช่องทางในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 206 ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
1. ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
1.1 บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง
- พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
- ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
- ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ
- พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตามข้อ 2. ถึง 5. ให้นำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
“ผมมีความเห็นว่า ช่องทางเดียวที่โครงการเงินดิจิทัลจะใช้ได้ก็คือข้อ 2. พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่วนช่องทางอื่นนั้นเป็นปัญหาเฉพาะเรื่องที่ไม่สามารถดัดแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัลได้”
ธีระชัยระบุว่า ช่องทางกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีปัญหาอยู่ในกฎหมายมาตรา 22 การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ และไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ จึงไม่เข้าเงื่อนไขในส่วนแรกของมาตรา 22
ส่วนเงื่อนไขส่วนหลังของมาตรา 22 ซึ่งเปิดช่องให้กรณีจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศนั้น การกู้เงินเพื่อแจกเงินดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชนนั้น ย่อมไม่สามารถตีความได้ว่าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
“ผมจึงขอให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานกฤษฎีกาและแก่รัฐมนตรีที่จะร่วมพิจารณาเรื่องนี้” ธีระชัยระบุทิ้งท้าย
เส้นทางวิบาก ทางลงของนโยบายแจกเงินหมื่น
ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า พ.ร.บ.เงินกู้ คือทางลงของเศรษฐา
สมชัยระบุว่า การใช้แหล่งเงินดิจิทัล 10,000 บาทจากการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ อาจไม่ใช่การหาทางออก แต่เป็นการหาทางลงให้คุณเศรษฐา รัฐบาลไม่กล้าออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ทำได้โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยปิดสภา ทั้งๆ ที่ปากพร่ำบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน เพราะรู้ว่าการออก พ.ร.ก. คือ คุก และการออกเป็น พ.ร.บ. มีข้อแก้ตัวได้ว่าถ้าไม่สำเร็จเป็นเพราะคนอื่นแทน
“แต่ตอนที่คุณเศรษฐายิ้มแย้มตอนบอกว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. นั้นอาจไม่รู้และไม่เข้าใจกลไกการออก พ.ร.บ. ทั้งในด้านขั้นตอนทางกฎหมายและความเขี้ยวของฝ่ายการเมือง
“วันแรกที่ พ.ร.บ. เข้าสภา อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยจะเป็นศูนย์ การยกมือแต่ละมือของพรรคร่วมรัฐบาลคือการคงอยู่หรือล้มหายของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา เพราะหาก พ.ร.บ. ไม่ผ่านสภา นายกรัฐมนตรีมี 2 ทางเลือก คือ ยุบสภาหรือลาออก”
หากดันจนผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็ยังมีด่านของวุฒิสภา หากวุฒิสภายับยั้งก็ต้องรออีก 180 วันจึงจะเสนอกลับมาใหม่ได้ ยังไม่คิดถึงกรณีที่ถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ดูเส้นทาง พ.ร.บ.เงินกู้ ที่มีเส้นทางวิบากเช่นนี้ จึงบอกก่อนได้เลยว่า เดือนพฤษภาคม 2567 นั้นคืออีกหนึ่งขายฝันของรัฐบาลเพื่อไทย พอถึงเดือนพฤษภาคมอาจบอกว่าใจเย็นๆ อีกครั้ง เพราะกระบวนการทั้งหมดทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรืออาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะไม่น้อยกว่า 8 เดือน
“และโอกาสแจกได้จริงมีเพียง 50/50 หรือครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น ไม่แน่นัก การรู้ว่าการออก พ.ร.บ. มันยากเย็นขนาดนี้ อาจเป็นการหาทางลงที่ไม่ใช่ทางออกของคนยิ้มซื่อๆ ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน อาจเป็นทางลงจากตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ทางออกของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
ศรีสุวรรณเตรียมร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน
ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า จะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบ มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่
“การใช้ช่องทางในการกู้เงินมาแจกดังกล่าวน่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 140 ประกอบมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพราะมิได้เป็นเหตุเร่งด่วนใดๆ ที่จะต้องกู้เงินมาแจก ไม่เหมือนสมัยที่มีวิกฤตการณ์การติดโควิดที่รัฐจำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”
แต่การที่รัฐบาลของเศรษฐาจะกู้เงินมาแจกโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินนั้น เป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อต้องการสร้างภาพในการตอบสนองต่อนโยบายที่พรรคของตนเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น แต่คนไทยทั้ง 70 ล้านคนจะต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ เพื่อร่วมกันใช้หนี้ดังกล่าวในอนาคต บนความสุขสบายจนน้ำลายหกของกลุ่มทุนเจ้าของสินค้าและบริการที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มนายกรัฐมนตรีและพรรคพวกเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงไม่อาจปล่อยให้รัฐบาลใช้อำนาจไปตามอำเภอใจดังกล่าวได้” ศรีสุวรรณระบุ