×

ธปท. ชี้แจงกรณีปรับปรุง 3 เกณฑ์การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เริ่มใช้ในปี 63

25.01.2020
  • LOADING...

แบงก์ชาติย้ำ การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมล่าสุด มีผลบังคับใช้แล้ว ยกเว้นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ประชาชนได้รับสิทธิต่างๆ โดยไม่ต้องขอแก้สัญญา

 

(25 มกราคม) ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงิน (สง.) ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ย และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนนั้น

 

มีคำถามเข้ามาต่อเนื่องว่า เรื่องนี้เริ่มมีผลบังคับใช้หรือยัง จึงขอชี้แจงว่า ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด และค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563

 

ในขณะที่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เนื่องจากการปรับปรุงครั้งนี้ถือเป็นการปรับใหญ่ ตั้งแต่หลักคิดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากเดิม ที่คำนวณจากฐานของยอดหนี้คงเหลือทั้งหมด มาคิดเฉพาะเงินต้นของงวดที่ค้างชำระ และผิดนัดแล้วจริงๆ (ไม่รวมงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง) อีกทั้งการปรับในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับหลายระบบงานของ สง. จึงต้องใช้เวลาในการปรับระบบงานให้รองรับ

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ก่อนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้ สง. สามารถพิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ โทร. 1213

 

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ประชาชนถามเข้ามามากคือ ต้องไปแก้สัญญาหรือไม่เพื่อให้ได้รับสิทธิ จึงขอย้ำว่า ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปที่ สง. เพื่อทำการแก้ไขสัญญาใดๆ เนื่องจากจะได้รับสิทธิต่างๆ โดยอัตโนมัติ เมื่อหลักเกณฑ์ในแต่ละเรื่องเริ่มมีผลบังคับใช้ และ สง. จะมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้าทราบด้วย

 

การปรับปรุงครั้งนี้นอกจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยว่าระบบการธนาคารของไทยมีแนวปฏิบัติที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจของ สง. จะมั่นคงขึ้นในระยะยาว

 

ในระยะต่อไป ธปท. จะยกระดับงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง สง. จะต้องนำหลักคิดใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับการกำหนดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมสำหรับเรื่องอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ

  1. ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ
  2. ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร และคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 
  3. ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน
  4. ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ สง. แต่ละราย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้น ตามลิงก์นี้ www.1213.or.th/th/aboutfcc/Pages/productdisclosure.aspx 

 

อนึ่ง การปรับปรุงดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ที่ ธปท. ได้สั่งการไป มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

 

1. Prepayment Charge สำหรับสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ซึ่งเดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน (รูปที่ 1)

 

เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้งให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาด Refinancing เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ (รูปที่ 2)

 

เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (Installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น

 

นอกจากนี้ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (Grace Period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

 

การปรับปรุงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (Affordability Risk)

 

3. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิม ไม่มีการคืนส่วนต่าง หรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น (รูปที่ 3)

 

เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X