×

ศาลอาญาเพิกถอนประกันตัว ‘ทานตะวัน’ นักเคลื่อนไหวอิสระ หลังโพสต์ภาพหมายกำหนดการรับเสด็จ

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2022
  • LOADING...
ศาลอาญา

วันนี้ (20 เมษายน) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว คดีดำฝากขัง ฝ.252/2565 ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ‘ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ นักเคลื่อนไหวอิสระ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

 

จากกรณีวันที่ 5 มีนาคม 2565 ผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊ก มีเจตนาพิเศษด้อยค่าสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 138 วรรค (2) ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, มาตรา 368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

 

คดีนี้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ให้ใส่กำไล EM และห้ามกระทำการอันเป็นการเสื่อมพระเกียรติ

 

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เรื่องนี้ศาลได้มีการนัดไต่สวนไป ทั้งพนักงานสอบสวนและสายสืบของสันติบาล ในความเห็นของตนเนื้อหาที่ทางพนักงานสอบสวนร้องมาไม่มีเรื่องใดที่เป็นการผิดเงื่อนไขของศาล เนื่องจากทานตะวันได้โพสต์เฟซบุ๊ก เช่น มีตำรวจคอยติดตามดู มีการกักรถไว้ตอนที่กำลังจะไปเรียนหนังสือเนื่องจากมีขบวนเสด็จผ่านตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง แต่เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นการรายงานจากสายสืบ ไม่ได้เกี่ยวพันกับการหมิ่นสถาบันฯ แต่ประเด็นหลักที่ทางพนักงานสอบสวนนำเสนอคือ ทานตะวันได้โพสต์เวลาขบวนเสด็จของในหลวงและพระราชินีที่จะเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นประกาศของทางราชการอยู่แล้ว มีการโยงไปถึงเรื่องเก่าอย่างการที่เคยทำโพลว่าขบวนเสด็จทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นคดีความอยู่แล้วที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 

 

กฤษฎางค์กล่าวว่า ตนยังได้ขอศาลว่าทานตะวันยังเป็นผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังอยู่ในอำนาจของศาล แต่มีการตามติดชีวิตในภายหลังนั้นอาจผิดกฎหมายได้ ตนจึงแถลงขอให้ศาลให้ความคุ้มครอง อย่างเช่นตักเตือนพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอให้ศาลมีคำสั่งด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจเองก็ได้ยอมรับว่า ทานตะวันจะต้องเดินทางไปเรียนภาษาในย่านราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีขบวนเสด็จผ่านไปบ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่เหตุที่ต้องมาจำกัดสิทธิ์ เพราะศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้เดินทางเข้าไปในเขตพระนคร สำหรับการฟังคำสั่งวันนี้ตนไม่มีความหนักใจ

 

ด้านทานตะวันเปิดเผยว่า มีการคุกคามโดยจะมีชายหัวเกรียนมาคอยเฝ้าหน้าบ้าน จอดรถตามซอกซอย และขับรถติดตามเวลาเดินทางออกนอกบ้าน พบแบบนี้หลายครั้ง อย่างล่าสุดมีกรณีที่ทางคนติดตามได้ขับรถและปาดหน้ารถยนต์ของตนที่นั่งอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนรู้สึกว่าอันตรายมากๆ ส่วนที่แน่ใจได้ว่าเป็นทางตำรวจจริง เนื่องจากมีตำรวจสันติบาลโทรมาระบุว่าผู้ที่ติดตามเป็นรุ่นน้องของเขาเอง ที่ผ่านมาตนได้พยายามจะขอเจรจาพูดคุยกับคนที่ติดตามว่าทำไปเพื่ออะไร แต่เขาไม่ยอมลงมาตอบคำถามหรือคุยกับเราเลย เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง 

 

ทานตะวันกล่าวต่อไปว่า การใส่กำไล EM นั้นทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ อย่างเช่นกรณีแบตเตอรี่ที่หมดเร็วมาก บางครั้งต้องตื่นมากลางดึกเพื่อชาร์จแบต และเวลาอาบน้ำทำความสะอาดก็ไม่สะดวก เช็ดล้างยาก จึงได้ปรึกษากับทนายแล้วว่าเมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ อาจมีการขอถอดกำไล EM ออก เนื่องจากศาลมีเงื่อนไขกำหนดหลายข้ออยู่แล้วและไม่คิดหลบหนีไปไหนแน่นอน เพราะกำลังวางแผนจะศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

 

ในเวลาต่อมา ศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า ตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ปรากฏภาพของผู้ต้องหาโพสต์หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นหมายกำหนดการของวันที่ 17 มีนาคม 2565 แสดงว่าผู้ต้องหาทราบหมายกำหนดการเสด็จแล้ว แต่ผู้ต้องหายังคงเดินทางไปบริเวณที่มีการเสด็จตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. และอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. 

 

ตลอดระยะเวลาที่ผู้ต้องหาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความบรรยายถึงพื้นที่โดยรอบโดยมิได้มุ่งหมายเข้าร่วมรับเสด็จอย่างแท้จริง แม้ผู้ต้องหาจะระบุข้อความว่า “จะไปกินแมคก็ไม่ยอมให้ไปเพราะขบวนเสด็จพ่อหลวงจะผ่านตรงนั้น ทรงพระเจริญ” ตามเอกสารท้ายคำร้อง แต่หากผู้ต้องหาต้องการไปรับประทานอาหารจริง ผู้ต้องหาสามารถระบุสถานที่รับประทานอาหารได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวได้ แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้น ผู้ต้องหามุ่งที่จะเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

 

อีกทั้งการที่ผู้ต้องหาโพสต์ภาพตามเอกสารท้ายคำร้องพร้อมบรรยายข้อความว่า “ขบวนเสด็จเดือดร้อน?” แม้จะเป็นภาพที่ผู้ต้องหาเคยโพสต์มาก่อน แต่ผู้ต้องหาก็เลือกที่จะโพสต์ภาพดังกล่าวได้อีกหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้ต้องหาเลือกโพสต์ข้อความดังกล่าวอีกครั้งถือว่าผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ อีกทั้งผู้ต้องหารับข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 และวันที่ 15 เมษายน 2565 ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการรับเสด็จตามเอกสารที่ศาลให้ตรวจดู ถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา

 

ด้านกฤษฎางค์เปิดเผยว่า ตนได้นั่งฟังคำสั่งเพิกถอนของศาลแล้วตั้งข้อสังเกตเรื่องการที่ศาลนำเรื่องนอกสำนวนมาพิจารณา ได้แก่ เหตุการณ์ที่ระบุในคำสั่งของวันที่ 6 เมษายน 2565 ซึ่งทานตะวันจะเดินทางไปรับเสด็จบริเวณศาลหลักเมือง หรือ วันที่ 15 เมษายน 2565 ที่ผู้ต้องหาเดินทางไปกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรณีมีเด็กอายุ 13 ปีถูกจับกุม ตนยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการไต่สวนคำร้องเรื่องนี้ จึงเท่ากับว่าไม่ใช่เหตุการณ์ที่อยู่ในสำนวนตอนต้นที่ตำรวจยื่นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565

 

ด้านทานตะวันเองก็ได้มีการเตรียมใจไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ทำใจได้ แต่มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตและการเรียนอย่างแน่นอน 

 

สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จะขอคัดถ่ายคำสั่งแล้วมาปรึกษากับตัวทานตะวันก่อน อาจจะไม่ได้ยื่นในวันนี้แต่จะรีบดำเนินการโดยเร็วอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X