×

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คืออะไร ชาวโรฮีนจาที่รัฐยะไข่กำลังถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จากข่าวสถานการณ์ในรัฐยะไข่มีคำอยู่สองสามคำที่ได้ยินบ่อยๆ จากผู้แทนสหประชาชาติ ผู้นำประเทศต่างๆ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คำที่ว่าก็คือ ‘การล้างชาติพันธุ์’ (ethnic cleansing) ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ (crimes against humanity) และ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide)
  • องค์การสหประชาชาติและชุมชนนานาชาติเห็นพ้องต้องกันในขณะนี้ว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity)
  • ยังคงเหลือคำสำคัญอีกคำที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าถึงเวลาหรือยังที่คำนี้จะถูกนำมาใช้ นั่นคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)

     ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในรัฐยะไข่ที่นำไปสู่การอพยพหนีตายของประชากรเกินครึ่งล้านคน อาจสงสัยว่าทำไมนานาชาติถึงให้ความสนใจ และพยายามหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

     จากพื้นที่ข่าวในประเด็นนี้มีคำอยู่สองสามคำที่ได้ยินบ่อยๆ จากผู้แทนสหประชาชาติ ผู้นำประเทศต่างๆ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คำที่ว่าก็คือ ‘การล้างชาติพันธุ์’ (ethnic cleansing) ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ (crimes against humanity) และ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide)

     ในภาษาไทยคำทั้งสามนี้ไม่มีนิยามศัพท์ที่ชัดเจน และเราอาจใช้ปะปนกัน แต่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งสามคำนี้มีความหมายและนัยทางกฎหมายที่สำคัญแตกต่างกันไป

 

 

     คำว่า การล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจน คำนี้เป็นคำกว้างๆ ที่อธิบายถึงการกวาดล้างกลุ่มประชากรจากพื้นที่เฉพาะพื้นที่หนึ่งๆ โดยการใช้กำลังหรือการข่มขู่ โดยหลักคือเป็นการทำให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของคนที่มีอัตลักษณ์เดียวกันเท่านั้น (homogeneous) การล้างชาติพันธุ์นั้นจึงสามารถหมายความถึง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ได้

 

Photo: K M ASAD/AFP

 

     อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) เป็นคำที่มีนิยามอยู่ในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ปี พ.ศ. 2541 (1998 Rome Statute of the International Criminal Court) ว่าเป็นการกระทำต้องห้ามหนึ่งหรือหลายๆ การกระทำดังต่อไปนี้ เช่น การสังหาร ข่มขืน การนำคนมาเป็นทาส การทรมาน การบังคับสูญหาย ฯลฯ ซึ่งระบุว่า “กระทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปะทะอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบโดยตรงต่อพลเรือนด้วยการรับรู้ถึงการปะทะนั้น”

     องค์การสหประชาชาติและชุมชนนานาชาติเห็นพ้องต้องกันในขณะนี้ว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity)

     นั่นหมายความว่ายังคงเหลือคำสำคัญอีกคำที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าถึงเวลาหรือยังที่คำนี้จะถูกนำมาใช้ นั่นคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ซึ่งเป็นคำที่ชินหูคนไทยพอสมควร ไม่ใช่เพราะความเข้าใจในนิยาม แต่น่าจะเป็นเพราะได้ยินได้ฟังมาจากข่าวสารหรือดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่สะท้อนภาพของอาชญากรรมชนิดนี้

 

Photo: WAI MOE/AFP

 

     การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) มีการให้นิยามในธรรมนูญกรุงโรม และยังมีอนุสัญญาในการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide, 1948) โดยระบุว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นการกระทำที่มีความตั้งใจที่จะทำลาย ทั้งหมดหรือบางส่วน ของกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติหรือศาสนา โดยการกระทำที่กล่าวถึงได้แก่ (ก) การสังหารสมาชิกของกลุ่ม (ข) การก่อให้เกิดภัยต่อร่างกายและจิตใจต่อสมาชิกของกลุ่ม (ค) มีความตั้งใจที่จะทำให้สภาพการดำรงชีวิตทางกายภาพของกลุ่มต้องถดถอยลงทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน (ง) ออกมาตรการที่ตั้งใจให้เกิดการป้องกันการเกิดภายในกลุ่ม (จ) บังคับให้เด็กของกลุ่มหนึ่งย้ายไปเป็นสมาชิกของอีกกลุ่ม

     กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โด่งดังก็คือ การสังหารหมู่ของนาซีในเยอรมนีช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2476-2488 การสังหารที่สเรเบรนีตซาที่บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา ในปี พ.ศ. 2538 การฆ่าสังหารชนเผ่าทุตซีในรวันดาระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยที่สุดก็เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กระทำโดยเขมรแดงในกัมพูชาระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522

     สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮีนจาและพลเมืองอื่นๆ ในรัฐยะไข่ขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือยัง เพราะยังมีส่วนต้องพิสูจน์ว่ารัฐบาลหรือกองทัพพม่ามีความ ตั้งใจ (intent) ที่จะทำลายล้างชาติพันธุ์โรฮีนจาออกจากสังคมพม่าหรือไม่ ผู้นำรัฐบาลบางประเทศระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่องค์การสหประชาชาติเองยังไม่มีมติที่จะใช้คำนี้

     ในปี 2015 โรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยเยล (Yale Law School) ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) ได้ทำการศึกษาความรุนแรงที่เกิดในรัฐยะไข่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบหลักฐานที่หนักแน่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

Photo: WAI MOE/AFP

 

     คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Security Council) สามารถมีมติที่จะคว่ำบาตรหรือพิจาณาส่งกองกำลังเข้าไปเพื่อระงับการทำลายล้างพลเมือง และจัดตั้งกระบวนการและขั้นตอนเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ ขณะนี้ชุมชนนานาชาติได้มีการเรียกร้องให้คว่ำบาตรการค้าอาวุธกับรัฐบาลพม่าและให้พิจารณาคว่ำบาตรรายบุคคลต่อผู้นำระดับสูงอีกด้วย

     นิยามความหมายเหล่านี้มีความสำคัญในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านิยามเหล่านี้คือการหยุดการเข่นฆ่าทำลายล้างพลเรือน หยุดการส่งออกประชากร และเปิดทางให้คณะผู้สืบค้นความจริงที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (U.N. Fact-Finding Mission) เข้าพื้นที่สืบค้นความจริง รัฐบาลพม่าและนางออง ซาน ซูจี ต้องให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising