×

CRG ส่ง ‘นักล่าหมูกระทะ’ ชิมลางตลาดปิ้งย่าง! เน้นขยายในห้าง เคาะขายเป็นชุดเริ่มที่ 279 บาท ปีนี้วางแผนขยายอีก 4 สาขา

20.03.2023
  • LOADING...
นักล่าหมูกระทะ

‘CRG’ เปิดเกมรุก ทุ่มลงทุน 1,000 ล้านบาท นำทัพแบรนด์ดัง KFC, Shinkanzen Sushi พร้อมส่งแบรนด์น้องใหม่ นักล่าหมูกระทะ ชิมลางตลาด แย้มปีนี้ขยายสาขาเพิ่ม 150 แห่ง พร้อมเล็งหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต ก่อนเดินหน้าบุกตลาดเวียดนาม ตั้งเป้ายอดขายโต 20% 

 

ถึงเวลาที่ธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง หลังเจอมรสุมโควิดไปกว่า 3 ปีเต็ม แต่การทำตลาดนั้นไม่ง่าย เพราะต้องเจอกับสภาพตลาดที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง รวมไปถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวและพลิกกลยุทธ์ครั้งใหญ่

 

เช่นเดียวกับ ‘CRG’ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ที่มีแบรนด์ต่างๆ อยู่ในพอร์ตโฟลิโอกว่า 17 แบรนด์ อาทิ Mister Donut, KFC, Auntie Anne’s, Pepper Lunc, Chabuton, Cold Stone Creamery, The Terrace, Yoshinoya, Ootoya, Tenya, Katsuya และ Aroi Dee ในปี 2566 เป็นอีกครั้งที่ต้องหาแนวทางสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตต่อเนื่อง 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า ในช่วงจังหวะที่ตลาดเริ่มฟื้นตัว แต่อีกด้านเรายังต้องเผชิญกับวิกฤตจากต่างประเทศ ทั้งภาวะสงครามที่ยังไม่จบ อาจมีผลต่อความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ตลอดจนวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จริง แต่ก็ยังไม่เต็มที่ และเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมยังต้องจับตามอง 

 

ฉะนั้นต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่แน่นอน รวมถึงในประเทศเอง นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแต่ยังไม่ 100% และภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวมยังต้องจับตามองอยู่เป็นระยะๆ 

 

การลงทุนต่างๆ ยังอยู่ในโหมดที่ค่อนข้างระวัง

“สิ่งสำคัญต้องควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารต้นทุน และรักษากระแสเงินสด CRG ไม่ประมาทเรื่องนี้ แต่ก็ยังเชื่อว่าท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส”

 

สำหรับ CRG ได้วางแนวทางการเติบโตภายใต้กลยุทธ์ The Next Chapter of Growth บริษัทเตรียมงบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหาร ประกอบด้วย KFC, Katsuya, Auntie Anne’s ตามด้วย ส้มตำนัว, Salad Factory รวมถึงแบรนด์ที่เพิ่งเติมเข้ามาในพอร์ตเมื่อปีที่ผ่านมา ได้แก่ Ramen Kagetsu Arashi แบรนด์ดังระดับท็อป 3 ในกลุ่มราเมนจากประเทศญี่ปุ่น 

 

รวมถึงการเข้าร่วมทุนในแบรนด์ Shinkanzen Sushi ก่อนที่จะจับมือกันรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านปิ้งย่างภายใต้แบรนด์ ‘นักล่าหมูกระทะ’ ซึ่งเป็นการนำร้านหมูกระทะที่คนไทยคุ้นเคยกันดีขึ้นสู่ห้าง โดยขายเป็นชุดเริ่มต้นที่ 279 บาท 

 

เบื้องต้นเปิดสาขาแรกไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่ศูนย์การค้า MBK ซึ่งมียอดขายที่ต่อเฉลี่ย 180 บาทต่อหัว โดย CRG บอกว่า นี่ถือเป็นแบรนด์ดาวรุ่งที่เตรียมเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา ในขณะที่ภาพรวมการขยายสาขาทั้งหมดวางไว้ไม่น้อยกว่า 150 สาขา โดยโฟกัสทั้งพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ  

 

“เรียกได้ว่าเราค่อนข้างโฟกัสแบรนด์ที่มีการเติบโตดี ส่วนบางแบรนด์ที่ไม่มีการเติบโตอาจต้องพิจารณาปิดให้บริการ รวมถึงเดินหน้าเร่งสร้างการเติบโตของสาขาเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 1,500 แห่ง ด้วยการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้สอดรับกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค ควบคู่กับการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน อย่างผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง รองรับช่องทางการซื้อกลับบ้าน”

 

ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหาร เช่น การสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด ตามด้วยนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน ปัจจุบันเริ่มนำร่องในบางสาขา และอนาคตเตรียมวางแผนพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เพื่อเสริมการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

เล็งหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต 1-2 แบรนด์ต่อปี 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือการ Diversify ขยายพอร์ตโฟลิโอ สร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการมองหาแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ต โดยเรามีระบบ Ecosystem และแพลตฟอร์มที่เป็นจุดแข็งเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับแบรนด์ Salad Factory, Brown ชานมไข่มุก, ส้มตำนัว และ Shinkanzen Sushi ร้านซูชิที่กำลังมาแรง ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 

จากนี้ในทุกๆ ปี บริษัทจะมีการจับมือกับแบรนด์ใหม่ๆ ราว 1-2 แบรนด์ต่อปี โดยเราให้ความสนใจกับแบรนด์ที่มีศักยภาพ ซึ่งเราไม่อยากได้แบรนด์ที่เป็นแฟชั่นเทรนด์ เราสนใจแบรนด์ที่สามารถขยายธุรกิจให้โตระยะยาวได้  

 

สยายปีกร้านอาหารไทย-ญี่ปุ่น บุกตลาดเวียดนาม 

ขณะเดียวกันยังเตรียมขยายธุรกิจร้านอาหารไปบุกประเทศเวียดนามอีกครั้ง หลังจากต้องชะลอไปในช่วงโควิด ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินว่าจะเลือกแบรนด์ไหนเข้าไปเปิด แต่พุ่งเป้าไปที่อาหารไทยและอาหารญี่ปุ่น เข้าไปในรูปแบบการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในเวียดนาม และอาจเป็นไปได้ว่าจะเปิดสาขาในพื้นที่ศูนย์การค้าของ CRG บริษัทในเครือเดียวกัน และร้านสแตนด์อโลน เบื้องต้นจะทดลองตลาดที่โฮจิมินห์ก่อน 

 

โดยมองว่าตลาดเวียดนามมีโอกาสเติบโตทั้งเศรษฐกิจและรายได้ต่อครัวเรือนที่สูงกว่าไทย ยิ่งไปกว่านั้นชาวเวียดนามค่อนข้างนิยมอาหารไทย เชื่อว่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวเวียดนามได้ 

 

‘ยักษ์ร้านอาหาร’ ตบเท้าลงสนามสู้ศึกการแข่งขัน 

แม่ทัพใหญ่ CRG ยังได้ฉายภาพถึงเทรนด์ในตลาดร้านอาหารว่า วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้ช่องทางหน้าร้านจะกลับมา แต่การสั่งเดลิเวอรีก็ยังอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เติบโตเหมือนช่วงโควิด 

 

ปัจจุบันจะเห็นว่ามีผู้เล่นทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ เริ่มหากลยุทธ์ใหม่ๆ และขยายสาขาไปในทุกโมเดล ซึ่งในอนาคตจะเริ่มเห็นเทรนด์การขยายธุรกิจผ่านเวนดิ้งแมชชีน ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติที่กำลังมาแรง ไม่เว้นแม้แต่การพัฒนาสินค้าพรีเมียมออกมารองรับกำลังซื้อ 

 

ขณะที่ตลาดร้านอาหารในไทย ในปี 2565 มีมูลค่า 410,000 ล้านบาท เติบโต 14%  โดยแบ่งสัดส่วนเป็น 

 

  • ร้านอาหารและคาเฟ่ 30,000 ล้านบาท 
  • ร้านอาหารญี่ปุ่น 25,000 ล้านบาท 
  • QSR 25,000 ล้านบาท 
  • ฮอตพอต 20,000 ล้านบาท 
  • ร้านส้มตำ 16,000 ล้านบาท  
  • เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท 
  • เบเกอรี 10,000 ล้านบาท 
  • พิซซ่า 8,500 ล้านบาท  
  • ไอศกรีม 7,500 ล้านบาท 
  • โดนัท 4,100 ล้านบาท
  • เกาหลี 3,000 ล้านบาท  

 

ประเมินว่าปี 2566 จะมีการเติบโต 3-5% แน่นอนว่าการแข่งขันยิ่งจะดุเดือดมากขึ้น

 

ตั้งเป้าปี 2566 สร้างรายได้โต 20%

ขณะที่ทิศทางราคาต้นทุนวัตถุดิบก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการ วันนี้จะทำสัญญาซื้อขายระยะยาวไม่ได้เช่นเดิม เพราะราคามีปรับขึ้นและปรับลง พยายามตรึงให้ได้มากที่สุด และท้ายที่สุดหากจะขึ้นราคาก็ต้องทำ 

 

“มั่นใจว่าด้วยยุทธศาสตร์การขยายสาขาและการทำตลาดต่อเนื่องตลอดปี รวมถึงสัญญาณบวกจากไตรมาสแรกปีนี้ จะทำให้ปี 2566 สามารถไปถึงเป้ายอดขาย 15,000 ล้าน เติบโต 20% ตามที่วางไว้ได้แน่นอน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X