×

ถอดมุมมอง Credit Suisse ดอกเบี้ยจะยังไม่ลงในปีนี้ ขณะที่ ‘โลหะเพื่อพลังงานสะอาด’ คือหนึ่งในซูเปอร์เทรนด์การลงทุน

11.05.2023
  • LOADING...
Credit Suisse

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • การลงทุนทั่วโลกถูกกระทบจากหลากหลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อ, เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น, ความกลัวต่อ Recession และวิกฤตพลังงาน 
  • Credit Suisse เชื่อว่าปัจจัยสำคัญอย่างเรื่องของนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก จะยังไม่เห็นการปรับลดในปีนี้ 
  • สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะลดลงหลังจากนี้ สะท้อนจากความอ่อนแอของดัชนี PMI 
  • อย่างไรก็ตาม Credit Suisse เชื่อมั่นว่าจะยังมีโอกาสลงทุนซ่อนอยู่ โดยเฉพาะใน 6 เทรนด์การลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ 1. สังคมที่น่ากังวล (Anxious Societies) 2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 3. เทคโนโลยี (Technology) 4. สังคมสูงวัย (Silver Economy) 5. คุณค่าของยุคมิลเลนเนียล (Millennials’ Values) และ 6. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
  • นอกจากนี้ธีมการลงทุนใหม่ที่ Credit Suisse เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในช่วงต่อจากนี้คือ แร่โลหะที่มีความต้องการสูงขึ้นมาก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของโลก

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจนับแต่ปี 2022 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ตามมาด้วยการเข้าสู่วงจรขาขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราดอกเบี้ย นำมาสู่ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกทั้งยังมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศและวิกฤตพลังงาน 

 

Nannette Hechler-Fayd’herbe หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจโลกและวิจัยของ Credit Suisse กล่าวว่า บรรยากาศการลงทุนที่ท้าทายต่อเนื่องจากปีก่อนมาจนถึงปีนี้ ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดมากขึ้น อย่างการลงทุนในหุ้นต้องโฟกัสไปยังบริษัทที่ยังคงมีกำไรมาหล่อเลี้ยงบริษัทได้ต่อเนื่อง 

 

ในภาพรวมของบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมองว่าธนาคารกลางสำคัญของโลกจะกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง 

 

“แม้เงินเฟ้อจะเริ่มลดลง แต่คาดว่าธนาคารกลางที่สำคัญแต่ละแห่งจะยังไม่ลดดอกเบี้ยจนถึงอย่างน้อยปีหน้า อย่างกรณีของ Fed ที่ยังเผชิญกับเงินเฟ้อในระดับสูง รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่ง” 

 

ขณะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ประมาณการการเติบโตของ GDP ถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.5% มาเป็น 5.1% ในปีนี้ เติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 3% หนุนจากการกลับมาเปิดประเทศและการปลดล็อกนโยบาย Zero COVID 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ แรงกดดันด้านการทำกำไรต่อบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก หลังจากที่มีสัญญาณการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) 

 

แม้ปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความท้าทายที่มากขึ้นต่อการลงทุนในปัจจุบัน แต่สำหรับภาพการลงทุนระยะยาว ในมุมมองของ Credit Suisse ยังคงเชื่อว่าจะมีโอกาสรออยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ 6 เทรนด์สำคัญ 

 

Burkhard Varnholt ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนทั่วโลกของ Credit Suisse กล่าวว่า “แม้ซูเปอร์เทรนด์เหล่านี้จะไม่สามารถหนีจากตลาดขาลงในปี 2022 ได้ แต่เรายังคงเชื่อมั่นต่อซูเปอร์เทรนด์และธีมการลงทุนย่อยทั้งหมดของเรา เราเชื่อว่าซูเปอร์เทรนด์จะมอบคุณค่าให้อย่างต่อเนื่อง ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงและโอกาสเติบโตจากการโฟกัสในธีมที่จะก้าวข้ามวัฏจักรธุรกิจและเปลี่ยนอนาคต” 

 

Credit Suisse

 

6 ซูเปอร์เทรนด์ในมุมมองของ Credit Suisse

 

1. สังคมที่น่ากังวล (Anxious Societies) โดยเฉพาะจากวิกฤตค่าครองชีพและเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้คนส่วนใหญ่ ทำให้ธุรกิจที่สามารถนำเสนอแนวทางในการช่วยลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ พลังงาน และการศึกษา จะมีโอกาสเติบโตสูง 

 

เช่นเดียวกับบริษัทที่สามารถบริหารความสัมพันธ์กับมนุษย์ อย่างการพัฒนาแรงงานและสนับสนุนความหลากหลาย และมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานแบบผสมผสานระหว่างที่บ้านและออฟฟิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีในด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งในความต้องการที่มากขึ้น

 

2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และได้แรงกระตุ้นสำคัญจากเรื่องของห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานที่เปลี่ยนไปเมื่อปี 2022 นำไปสู่กรอบความคิดใหม่ว่า แต่ละประเทศจะตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของตัวเองได้อย่างไร รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและขนส่งเช่นกัน

 

หนึ่งในพลังงานที่สำคัญคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด รวมทั้งธุรกิจที่พัฒนาการสื่อสารอัจฉริยะ รวมทั้งการลงทุนทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งสถานีชาร์จ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นโอกาสของการลงทุน

 

3. เทคโนโลยี (Technology) เมื่อปี 2022 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แต่ในแง่ความต้องการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digitization and Business Transformation) ของแต่ละธุรกิจโดยใช้เครื่องมือด้านไอที ยังคงเติบโตต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกันกระแสของ AI ตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยยกระดับการทำงาน สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคตหลังจากนี้คือ บริษัทที่มุ่งพัฒนาควอนตัม คอมพิวติ้ง เพื่อแก้ปัญหาด้านการลดการใช้พลังงาน 

 

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์คลาวด์ บริการด้านไอที แพลตฟอร์มที่ใช้ AI เทคโนโลยี AR/VR รวมไปถึงธุรกิจที่นำระบบทำงานอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาช่วย นอกจากนี้ธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในโอกาสเช่นกัน 

 

4. สังคมสูงวัย (Silver Economy) หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงสัย เช่น จีน, ญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมนี และสเปน รวมทั้งไทยด้วย โดยจำนวนผู้สูงวัยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2.5 พันล้านคนในปี 2050 ส่งผลให้ความต้องการในด้านสุขภาพและเทคโนโลยีในการรักษาเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจประกันสุขภาพและประกันชีวิต ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ และผู้บริหารสินทรัพย์ลงทุน

 

นอกจากนี้ไม่เพียงแค่ธุรกิจที่โฟกัสในสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้สูงวัยในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งท่องเที่ยว ความงาม และสินค้าหรู แต่ยังรวมถึงสินค้าที่ช่วยในเรื่องของสุขภาพด้วย

 

5. คุณค่าของยุคมิลเลนเนียล (Millennials’ Values) การเติบโตของคน Gen Y และ Gen Z โดย 56% ของประชากรโลกเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี พร้อมกับการให้คุณค่าของคนกลุ่มนี้ต่อสิ่งต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทและรัฐบาลทั่วโลก เทรนด์ธุรกิจที่เราเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาคือ การเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเข้ามาดิสรัปต์วงการช้อปปิ้ง โฆษณา สื่อ และการเงิน 

 

บริษัทต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับความสนุก สุขภาพ และการพักผ่อน รวมทั้งการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของการผลิตอาหาร พลังงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการผลิตและบริโภค 

 

6. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เราจะเห็นการเติบโตของบริษัทที่มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานสะอาด พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและลดการใช้พลังงาน รวมทั้งการพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น กรีนและบลูไฮโดรเจน 

 

รวมทั้งธุรกิจด้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ และที่สำคัญคือบริษัทที่โฟกัสในด้านของเหมืองโลหะที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด 

 

แร่โลหะเพื่อพลังงานสะอาดคืออนาคต

 

Credit Suisse Credit Suisse

 

ปัจจุบันแต่ละประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากการที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น แต่ปัจจุบัน 40% ของการปล่อยคาร์บอนมาจากโรงไฟฟ้า และอีก 2 ส่วนที่สำคัญคือ โรงงานอุตสาหกรรม 25% และยานพาหนะ 21% 

 

เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ทำให้การลงทุนด้านพลังงานรูปแบบใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยมีการประมาณการว่า ทั่วโลกต้องลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอีก 30 ล้านล้านดอลลาร์ ลงทุนเครือข่ายไฟฟ้า 21 ล้านล้านดอลลาร์ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอีก 20 ล้านล้านดอลลาร์ 

 

หนึ่งในวัตถุสำคัญที่ต้องใช้สำหรับการลงทุนเหล่านี้คือ แร่โลหะต่างๆ ที่จำเป็นและเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก เช่น ลิเธียม กราไฟต์ โคบอลต์ นิกเกิล แมงกานีส แร่หายากอื่นๆ และทองแดง 

 

ความต้องการในด้านแร่ธาตุเหล่านี้ทำให้บางประเทศจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น จากการที่สามารถควบคุมทรัพยากรเหล่านี้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก เช่น คองโกเป็นผู้ผลิตโคบอลต์คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของทั้งโลก ขณะที่จีนเป็นผู้ผลิตแร่หายาก (Rare Earth) ราว 70% จากข้อมูลของ IEA ณ ปี 2019


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising