×

โปรฯ ผ่อนบัตร 0% กระตุ้นคนไทยสร้างหนี้จริงหรือ

23.09.2019
  • LOADING...
หนี้บัตรเครดิต

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เมื่อสมาคมธนาคารไทย (TBA) ออกข่าวจะยกเลิกโปรโมชันการผ่อน 0% ในบัตรเครดิตทั้งหลาย เพราะกลัวว่าโปรโมชันนี้จะกระตุ้นให้คนไทยใช้เงินเกินตัว ทำให้หลายแบงก์ตื่นตัวและน่าจะออกมาตรการตอบรับเร็วๆ นี้
  • KTC ชี้ โปรฯ ผ่อน 0% ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้ธนาคาร เพราะโปรฯ นี้ยังมีสัดส่วนน้อยและไม่ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม แต่การยกเลิกโปรฯ นี้อาจกระทบร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งต้องออกการตลาดแบบอื่นๆ มาทดแทน 
  • กสิกรไทยพร้อมงดโปรฯ ผ่อน 0% ในกลุ่มเปราะบางคือ กลุ่มรายได้ต่ำ 30,000 บาท/เดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่อนหมวดการท่องเที่ยวและซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 

หลายวันมานี้มีข่าวว่า ธนาคารพาณิชย์จะยกเลิกโปรโมชันการผ่อน 0% ด้วยบัตรเครดิต สาเหตุเพราะหลายคนมองว่า เป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยสร้างหนี้มากขึ้น ว่าแต่โปรโมชัน 0% ส่งผลลบต่อไทยจริงหรือ

 

KTC เผย ยกเลิกโปรฯ ผ่อน 0% กระทบร้านค้าขนาดใหญ่และคนอยากผ่อน 

 

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ. บัตรกรุงไทย หรือ KTC กล่าวว่า หากทางสมาคมธนาคารไทยขอความร่วมมือยกเลิกโปรโมชันการผ่อนชำระ 0% ในบางหมวด เพื่อลดการกระตุ้นการสร้างหนี้ของคนไทย ทาง KTC พร้อมตอบรับให้ความร่วมมือ แต่มองว่า โปรโมชัน 0% เป็นส่วนหนึ่งของโปรโมชันการตลาด ดังนั้น ถึงไม่มีโปรโมชัน 0% ย่อมมีโปรโมชันการตลาดอื่นๆ ออกมาทดแทน

 

“การผ่อน 0% เป็นกิมมิกหนึ่งของการตลาดเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้น เพราะวงเงินที่ลูกค้าใช้ยังคงเป็นวงเงินที่เราอนุมัติให้ลูกค้าตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในยุค Cashless Society ลูกค้าใช้บัตรจ่ายค่าสินค้าที่ก้อนใหญ่ขึ้น การผ่อน 0% เป็นอีกทางหนึ่งของลูกค้าในการบริหารการเงินของตนเอง”

 

ทั้งนี้ การผ่อน 0% ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นงบประมาณสนับสนุนจากทางร้านค้าที่ทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย และทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากยกเลิกการผ่อน 0% อาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และกระทบต่อร้านค้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามคาดว่า ร้านค้าจะหาโปรโมชันและการตลาดแบบอื่นๆ มาทดแทนได้ 

 

ปัจจุบันหมวดที่ทำการตลาดแบบผ่อน 0% เช่น การท่องเที่ยว อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ประกันภัย ร้านหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ณ เดือนสิงหาคม 2562 มูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนเพียง 10% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น

 

“จากการสำรวจต้องยอมรับว่า ลูกค้าชอบการตลาดที่ได้ส่วนลดแบบฟรีๆ ได้ Cashback เครดิตเงินคืนมากกว่า ส่วนการผ่อน 0% ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อต้องการซื้อของชิ้นใหญ่หรือมูลค่าสูงๆ ดังนั้น การตลาดที่ผ่อน 0% ไม่ใช่เรื่องเซกเมนต์ แต่เป็นกลุ่มสินค้าราคาสูง และหากร้านค้าอยากทำ KTC เป็นตัวกลางให้ ซึ่ง KTC เน้นการใช้คะแนนมาแลกสิทธิประโยชน์เป็นหลัก” 

 

ยกเลิกโปรฯ ผ่อน 0% กระทบธุรกิจบัตรเครดิต-ช่วยลดความเสี่ยงจริงไหม

 

การผ่อนชำระสินค้าและบริการ 0% เป็นรูปแบบการตลาดแบบหนึ่ง ซึ่งลูกค้าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องและการเงินส่วนตัว เพราะสามารถผ่อนชำระในแต่ละเดือนได้ เช่น หมวดโรงพยาบาล ทั้งค่ารักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ต้องตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้เสีย ขึ้นอยู่กับวินัยการเงินของลูกค้า แม้ว่าจะมีลูกค้าบางส่วนผ่อนขั้นต่ำสัดส่วนราว 10% ของลูกค้าทั้งหมด ก็ถือเป็นเรื่องที่ตัวลูกค้าบริหารการเงินส่วนตัวเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งคนที่ไม่มีวินัยคือ คนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ตามระยะเวลา 

 

ในด้านความเสี่ยง การผ่อน 0% ไม่สร้างความเสี่ยงให้ธนาคารมากขึ้น เพราะลูกค้ายังสามารถใช้วงเงินสินเชื่อตามความระดับความเสี่ยงปกติ ทั้งนี้ KTC มี NPL ณ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.12 % ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 1.19% ปัจจุบันมีผู้ผ่อนชำระขั้นต่ำราว 30% จากฐานลูกค้าทั้งหมด ซึ่งการบริการความเสี่ยง ทางบริษัทกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด 

 

อย่างไรก็ตาม KTC มองว่า การงดการตลาดผ่อน 0% จะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ที่ปีนี้ที่อยู่ระดับ 2.1-2.2 แสนล้านบาท เติบโต 9-10% จากปีก่อน โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็น High Season ของทุกปี

 

กสิกรไทยพร้อมงดโปรฯ ผ่อน 0% โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน

 

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ทางธนาคารเตรียมลดโปรโมชันการผ่อนชำระ 0% ของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในบางหมวดสินค้า เช่น การผ่อนสินค้า การซื้อทริปท่องเที่ยวที่อาจกระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคาดว่า จะเริ่มใช้มาตรการในกลุ่มที่เปราะบางหรือรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

 

ผลกระทบหลักจะส่งผลให้ Demand การใช้จ่ายของตลาดลดลง เพราะกลุ่มที่มีความเปราะบาง แม้ยอดการใช้จ่ายจะน้อยกว่ากลุ่มบน แต่มีจำนวนมากกว่า อย่างไรก็ตาม การผ่อน 0% ในหมวดสำคัญยังมีอยู่ เช่น หมวดโรงพยาบาล รวมถึงการแบ่งจ่าย 0%

 

สุดท้ายแล้วการยกเลิกโปรโมชันการผ่อน 0% จะลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของคนไทยในกลุ่มเปราะบางได้ตามที่สมาคมธนาคารไทยตั้งใจไว้หรือไม่ ผลกระทบต่อคนกลุ่มรายได้ต่ำ 30,000 บาทต่อเดือนจะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising