×

กลุ่มศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ และทีมงานด้านภาพยนตร์ ออกแถลงการณ์ให้ทบทวนนิยาม ‘สื่อมวลชน’ ในกรณีคำตัดสินของศาลฯ ต่ออดีต ส.ส. กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

30.10.2020
  • LOADING...
อดีต ส.ส. กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ทบทวนนิยาม ‘สื่อมวลชน’ ในกรณีคำตัดสินของศาลฯ

กลุ่มศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ ทีมงานด้านภาพยนตร์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากกรณีถือหุ้นสื่อมวลชน และแถลงการณ์นี้เรียกร้องให้มีการทบทวนและปรับปรุงการนิยามคำว่า ‘สื่อมวลชน’ ที่ใช้พิจารณา เนื่องจากบางส่วนของข้อกฎหมายนั้นยังขาดความเท่าทันกับยุคสมัยในปัจจุบัน 

 

จากกรณีของอดีต ส.ส. กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่เพิ่งถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ทั้ง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ที่ตัดสินใจลาออกจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแล้ว ในวันนี้เองทางเพจ Free Thai Cinema ปลดแอกหนังไทย ได้มีการออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าวออกมาด้วย ซึ่งเป็นในนามกลุ่มศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ ทีมงานด้านภาพยนตร์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

แถลงการณ์ดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการทบทวนและปรับปรุงนิยามคำว่า ‘สื่อมวลชน’ เนื่องจากการตัดสินคดีความของอดีต ส.ส. ธัญญ์วารินนั้นใช้เหตุผลว่ามีการถือหุ้นสื่อมวลชน 2 บริษัทคือ บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งแถลงการณ์ของกลุ่มฯ นั้นมีความห่วงใยและเล็งเห็นถึงประเด็นบางประการ ซึ่งควรมีการทบทวนและปรับปรุงในเรื่องนิยามของคำว่า ‘สื่อมวลชน’ รวมไปถึงในรัฐธรรมนูญมิได้แยกแยะสาระสำคัญของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างชัดเจน

 

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการทำสื่อมีความรุดหน้า และมีสถานะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในบางส่วนอาจรับหน้าที่เป็นผู้ผลิต ผู้รับจ้างผลิต ผู้เผยแพร่ หรือผู้จัดจำหน่าย และอาจจะมีกลไกอื่นประกอบอีก อันจะทำให้สื่อนั้นมีความสำเร็จในการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยสมบูรณ์ แถลงการณ์ได้มีข้อเรียกร้องให้ทบทวนพิจารณาจำแนกประเภทของนิติบุคคลหรือบุคคลผู้ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ให้มีความชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ ทีมงานด้านภาพยนตร์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสื่อมวลชนได้รับสิทธิอันชอบธรรมในการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในมาตรา 98 (3) บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และส่วนนี้เองคือจุดที่แถลงการณ์ต้องการเรียกร้องให้มีความชัดเจน เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นกติกาของสังคมประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมสืบเนื่องไป

 

โดยรายชื่อของผู้เข้าร่วมแถลงการณ์นี้ ณ ปัจจุบันมีอยู่ราว 200 กว่ารายชื่อ โดยมีรายชื่อจากทุกๆ ภาคส่วนในอุตสาหกรรมรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย ทั้ง ทราย-อินทิรา เจริญปุระ, อดิเรก วัฏลีลา, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ณฐพล บุญประกอบ, ตุล ไวฑูรเกียรติ, นนทรีย์ นิมิบุตร, นนทวัฒน์ นำเบญจพล, เป็นเอก รัตนเรือง, บุญส่ง นาคภู่, วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์, อนุชา บุญยวรรธนะ เป็นต้น

 

ปัจจุบันในพระราชบัญญัติของประเทศไทยมีการนิยามคำว่า ‘สื่อ’ ไว้หลากหลายในพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 

 

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://forms.gle/FzowN5bQUvUFWBQ26  

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising