AI จะช่วยคนหรือแทนที่คน คำถามในโลกปัญญาประดิษฐ์
ในยุค Disruption ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต หากบุคคลหรือองค์กรไม่เร่งปรับตัวอาจจะตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวมเร็วไม่ทันการณ์ หลายๆ องค์กรจึงเริ่มให้ความสำคัญและเร่งปรับตัว นำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และในภาคการศึกษาเองถือเป็นวงการสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมารองรับการพัฒนาในโลกอนาคต ด้าน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ได้มองเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ จึงร่วมมือกับพันธมิตรจนทำให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนอย่าง ‘Creative AI Camp’ (CAIC) ที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนแน่วแน่ที่ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาและสร้างสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจในการสร้างสรรค์กิจกรรมนี้จากแนวคิดหรือความกลัวที่หลายคนกังวลว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ บางคนกลัวว่า AI จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรธุรกิจ แต่สำหรับซีพี ออลล์ นั้นมองว่า AI คือเครื่องมือสำคัญที่มา ‘ช่วยคน’ ไม่ใช่ ‘แทนที่คน’ โดย AI จะส่งผลดีหรือผลเสียนั้นขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์ได้วางโปรแกรมให้ AI ไว้อย่างไร
“องค์กรต้องไม่ล้าสมัย แต่ไม่ล้ำสมัย ต้องผสมผสานเทคโนโลยีอย่างพอดี หากจะให้ AI เป็น AI ที่ดี เราต้องปลูกฝังให้คนทำ AI เป็นคนที่ดี เรากับพันธมิตร 8 รายที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันในเรื่องบทบาทของ AI จึงได้ร่วมมือกันจัด ‘Creative AI Camp หรือ CAIC เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรมควบคู่กับมีความรู้ในการสร้างสรรค์ AI เพื่อให้เกิดพลเมือง AI สร้างสรรค์ หรือ Creative AI Citizen”
เราสามารถเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากประเทศสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้าน AI มากขึ้น โดยในปี 2560 มูลนิธิวิจัยแห่งชาติโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ได้จัดตั้งโครงการ AI Singapore ภายใต้โรดแมป 5 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 150 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) โดยงบประมาณดังกล่าวครอบคลุมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีแห่งจินตนาการอย่าง AI ด้วย เพราะ AI เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสิงคโปร์ ทั้งในการช่วยมนุษย์จดจำและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยเรียนรู้และปรับปรุงระบบการคมนาคม ช่วยสร้างสรรค์บริการที่ดีขึ้น ช่วยปรับปรุงบริการและเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech)
สร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนต่อยอดการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน
สำหรับโครงการ Creative AI Camp (CAIC) มีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายจำนวน 40 คน โดยเยาวชนสามารถนำองค์ความรู้ด้านทักษะเฉพาะทาง (Hard Skills) อย่างความรู้เรื่อง AI และทักษะที่ยืดหยุ่น (Soft Skills) ที่ได้จากรับจากกิจกรรมภายในค่ายตลอด 4 วันเต็มไปพัฒนาต่อยอดช่วยเหลือสังคมได้จริง
โดยกิจกรรมได้ผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติมาให้ความรู้และแนะนำแนวคิดสำหรับการพัฒนาศักยาภาพด้านเทคโนโลยีให้เยาวชนอย่าง Dr. Marcelo H. ANG Jr Associate Professor, Department of Mechanical Engineering, Ag Director, Advanced Robotics Centre, National University of Singapore (NUS) หรือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
“เรื่องสำคัญที่พยายามปลูกฝังให้เด็กๆ คือเรื่องของแพสชันและความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เมื่อเด็กๆ จบจากค่ายนี้ไปแล้ว พวกเขาจะได้เรียนรู้เชิงกระบวนการและได้รับแรงบันดาลใจว่าพวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยอาจจะเริ่มต้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชันง่ายๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น”
ด้าน Associate Director William LEE Wai Leong Strategic Innovation Advanced Robotics Centre (ARC) Faculty of Engineering National University of Singapore (NUS) หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่าเนื้อหาที่นำมาช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ในค่ายนั้นเกี่ยวกับ ‘การศึกษาด้าน AI’ เพราะวันนี้ภาคการศึกษาได้รับอิทธิพลจาก AI มากขึ้น ทุกอย่างที่เคยทำในอดีตแล้วไม่สมบูรณ์สามารถนำกลับมาทำใหม่และทำให้สำเร็จได้อีกครั้งโดยมี AI คอยช่วย อยากให้เด็กๆ ได้รู้ว่าการศึกษาด้าน AI กำลังจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของพวกเขาและโลก
“AI ไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาช่วยให้คนสามารถทำเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้หุ่นยนต์และแอปพลิเคชันฉลาดขึ้น ช่วยเรียนรู้บริบทต่างๆ ของมนุษย์ แม้กระทั่งในสิงคโปร์เอง AI ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่หากเด็กๆ ได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับการศึกษาด้าน AI ที่ดี เขาจะเข้าใจว่า AI สามารถช่วยพวกเขาเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดียิ่งขึ้นได้”
และจากการเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้เกิดเป็น 8 ผลงานไอเดียสร้างสรรค์จากเยาวชน 8 กลุ่มที่มีแนวคิดมุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคมและมีไอเดียที่โดดเด่น 4 ผลงานจาก 4 กลุ่มได้รับรางวัล Creative AI Awards จะได้รับโอกาสไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) เรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
เริ่มจาก กลุ่ม AI มีเรา กับไอเดียให้ AI เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน ดึง AI เข้ามามีส่วนช่วยในการวิจัยพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ทั้งหาสถานที่ตั้งที่เหมาะสม หาแนวทางพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ถูกลง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาค่าใช้จ่ายพลังงานทดแทนที่มีทิศทางสูงขึ้น
กลุ่มต่อมา Sigma X equal MA มีการออกแบบแอปฯ ‘KAIKONG’ หรือ ‘ขายของ’ โดยมีฟังก์ชันแนะนำสินค้าที่ร้านค้าใกล้ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ให้ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพิ่มโอกาสผู้ค้าและเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค
กลุ่มไก่ มาพร้อมไอเดียสุดเจ๋งที่โชว์แนวคิดพัฒนาถังขยะอัจฉริยะ หรือ Smart Bin โดยใช้ AI เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการทิ้งขยะ แก้ปัญหาการคัดแยกขยะ
และสุดท้าย กลุ่ม Hextreme กับโปรเจกต์ Zero hunger ออกแบบ AI ให้เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยพยายามคำนวณปริมาณอาหารเหลือก่อนที่จะหมดอายุ และนำเอาอาหารเหล่านั้นไปแจกจ่ายให้กับโรงเรียนหรือชุมชนที่ขาดแคลน
นี่คืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ จากความมุ่งหวังที่มอบโอกาสและเสริมสร้างความรู้ตามปณิธานองค์กรของซีพี ออลล์ ในการ ‘ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- กลุ่มพันธมิตรสำหรับโครงการนี้ประกอบด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), Advanced Robotic Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยพะเยา, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, AceRevo, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (พีเอที) และเครือข่ายโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาที่มีศักยภาพ มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี