×

ศบค. เลื่อนพิจารณาเปิดผับ บาร์ ไม่มีกำหนด แนะเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร คาดต้น ก.พ. ปีนี้ ผู้ติดเชื้ออาจอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน

โดย THE STANDARD TEAM
07.01.2022
  • LOADING...
ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

วันนี้ (7 มกราคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด ประจำวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565 ประเทศไทยพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายใหม่ 7,526 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในประเทศ 7,139 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 348 ราย และติดเชื้อจากเรือนจำหรือสถานที่ต้องขัง 39 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,252,776 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 2,895 ราย รวมยอดรักษาหายสะสม 2,188,397 ราย รักษาตัวอยู่ 42,580 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวในโรงพยาบาล 23,214 ราย และโรงพยาบาลสนามและสถานที่อื่นๆ 19,366 ราย อาการหนัก 547 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 140 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 21,799 ราย

 

ด้านรายงานการฉีดวัคซีนสะสม 105,419,287 โดส วัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 51,408,711 ราย วัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 46,526,520 ราย และวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม 7,483 056 ราย 

 

โดยจากการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาด หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของการติดเชื้อ ในปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ การติดเชื้อจะอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน จึงเป็นข้อห่วงใยที่เกิดขึ้น ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงใช้เวลาในการประชุมช่วงเช้าที่ผ่านมาเพื่อเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่ทำให้ชื้นใจได้อีกนิดหนึ่งคือ อัตราการเสียชีวิตนั้นยังคงต่ำกว่าภาพฉากทัศน์ที่เคยประมาณการเอาไว้ จึงทำให้ทราบว่าความรุนแรงของเชื้อโอมิครอนไม่เท่ากับความรุนแรงของเชื้อเดลตา

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเตือนภัยโรคโควิดสำหรับประชาชน จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือ ให้ปิดสถานที่เสี่ยง, ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด, เน้น Work from Home, จำกัดการรวมกลุ่ม และเข้มมาตรการ VUCA คือวัคซีน Universal Prevention / COVID-FREE Setting และ ATK

 

ขณะที่การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร เพื่อปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยเป็นการยกระดับพื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด ซึ่งจากเดิมมีเพียง 39 จังหวัด และมีพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.), กาญจนบุรี, กระบี่, ชลบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา, ภูเก็ต และจังหวัดอื่นที่ดำเนินการบางพื้นที่อีก 18 จังหวัด

 

โดยการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด มีข้อเสนอมาตรการอีก 3 ข้อย่อย คือ การขยาย Work from Home อีก 14 วัน ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 แต่จะต้องไม่กระทบต่อการบริการประชาชนและการดำเนินการขององค์กร

 

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่าสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนเกิดจากการดื่ม จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในที่ประชุม ศบค. เพื่อผ่อนคลายกิจกรรมกิจการ แต่ต้องเข้มมาตรการให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตัดช่องทางการแพร่ระบาดของเชื้อโรคลงได้

 

ขณะที่การปรับมาตรการสถานบันเทิง ด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่าหลายสถานบันเทิงได้เปิดบริการโดยปรับเป็นร้านอาหารแต่จำหน่ายสุรา ซึ่งไม่ถูกต้องเท่าไร ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วประเทศ จึงทำให้ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ในวันที่ 16 มกราคม 2565 โดยขอเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน แต่สิ่งที่สามารถปรับรูปแบบไปได้ คือ ขอปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นร้านอาหารได้ โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. 

 

ส่วนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่ก่อนหน้านี้อนุญาตให้บริโภคสุราในร้านอาหารได้ ขอจำกัดเวลาให้ไม่เกิน 21.00 น. โดยร้านอาหารดังกล่าวจะต้องผ่านมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า การมีส่วนร่วมในการเห็นชอบเป็นเรื่องที่สำคัญ ร้านอาหารต้องการให้โอกาสในการเปิด ศบค. จึงได้มีมาตรการที่ผ่อนปรนเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ แต่ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเพียงประมาณหนึ่ง สำหรับการตรวสอบความเข้มข้นของมาตรการ ได้มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้าควบคุม โดยหากทำไม่ถูกต้องตามมาตรการจะต้องถูกดำเนินคดี รวมไปถึงสั่งปิด พักใบอนุญาตในการเปิดอย่างจริงจัง

 

ขณะที่การดำเนินกิจกรรมกิจการในพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม ยังไม่มีการห้ามออกนอกเคหสถาน ส่วนการทำงานแบบ Work from Home ขอให้หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม เว้นพื้นที่ กทม. และปริมณฑล สามารถจัดกิจกรรมการรวมกลุ่ม โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา แต่ห้ามจัดเกินกว่า 500 คน ส่วนการบริโภคในร้านอาหาร เปิดได้ตามปกติ แต่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ซึ่งกิจกรรมภาพรวมส่วนใหญ่ในพื้นที่สีส้มสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

 

“ส่วนการเดินทางเข้าราชอาณาจักร จากการเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางในระบบดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงชะลอไม่ให้มีการลงทะเบียนเพิ่มเติม ซึ่งมีผู้ที่จะเดินทางจริงเข้ามาไทยประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่ได้รับอนุมัติ Thailand Pass หรือประมาณ 10,000 คน โดยมีการยกเลิกการกำหนดกลุ่มประเทศเสี่ยงที่เข้ามาในราชอาณาจักร 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนไม่ได้มาจากเพียงแค่ 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาเพียงอย่างเดียว” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค. ยังระงับการขอเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go สำหรับผู้ที่ได้รับการอนุมัติแล้วแต่เดินทางเข้าประเทศภายหลังวันที่ 15 มกราคม 2565

 

ส่วนโครงการ Sandbox เดิมอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียว ซึ่งอาจทำให้ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอ จึงต้องบริหารจัดการไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น โดยเห็นชอบให้เพิ่มอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดพังงาทั้งจังหวัด จังหวัดกระบี่ทั้งจังหวัด โดยผู้ที่เดินทางทั้งที่มีและไม่มีสัญชาติไทยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยเป็นค่าที่พัก 7 วัน และค่าตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง

 

ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อห่วงใย การเดินทางเข้าประเทศมาลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องมีการซีล ประกบติดไปยังปลายทาง หรือสามารถใช้เครื่องบินลงไปยังสนามบินนานาชาติเกาะสมุยได้เลย

 

ขณะที่พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 26 จังหวัด คือ 8 จังหวัดนำร่อง และอีกพื้นที่บางส่วนใน 18 จังหวัดที่มีการปล่อยให้เป็นพื้นที่พิเศษ ให้ดื่มสุราในร้านอาหารได้ แต่ให้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ส่วนการขอเพิ่มพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 3 อีก 5 จังหวัดนั้น จะต้องเลื่อนการเปิดดำเนินการออกไปก่อน และขอประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง

 

“สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ ศบค. ออกมาวันนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมนี้เป็นต้นไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising