วันนี้ (18 มิถุนายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด เดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 10 ล้านโดส เป้าหมายจัดสรรวัคซีนระบบหมอพร้อม (ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) กลุ่มที่ 2 กรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และกลุ่มที่ 3 ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อย 70% ภายในกรกฎาคม 2564
โดยมีเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ดังนี้
- จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุด เข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว 5 จังหวัด คิดเป็น 30% ได้แก่ กทม. (รวมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และประกันสังคม) 2.5 ล้านโดส, นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ 6 แสนโดส, ภูเก็ต 2 แสนโดส
- จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด จำนวน 23 จังหวัด (เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส) จำนวน 2.5 ล้านโดส คิดเป็น 25% ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, หนองคาย, สระแก้ว, ระนอง, นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี, สงขลา, ตรัง, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, นครปฐม, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, บุรีรัมย์, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), พังงา และกระบี่
- จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส) จำนวน 3.5 ล้านโดส คิดเป็น 35%
- อื่นๆ ได้แก่ หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด 1 ล้านโดส คิดเป็น 10%
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 เพิ่ม โดยเสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจากเดิม 100 ล้านโดสภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดหาหรือดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส (AstraZeneca 61 ล้านโดส, Sinovac 19.5 ล้านโดส, Pfizer 20 ล้านโดส, Johnson & Johnson 5 ล้านโดส) ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณการจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดสโดยภาครัฐ ได้แก่ Sinovac 28 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ 22 ล้านโดส
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
สำหรับหลักเกณฑ์การเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยว มีดังนี้
- เป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง กรณีมาจากประเทศอื่นต้องอยู่ในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน
- การได้รับวัคซีนตามที่กำหนดของประเทศไทยครบกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทของวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) ตามกำหนด หรือผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดไว้ คือ AstraZeneca, Sinovac, Johnson & Johnson, Sinopharm, Moderna กรณีเด็กมากับผู้รับวัคซีนให้เดินทางพร้อมผู้ปกครองได้
- กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทของวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
- มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ (COVID-19 Free) ภายใน 72 ชั่วโมง
และเมื่อเดินทางมาถึงต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ และเดินทางเข้าที่พักด้วยพาหนะที่กำหนด เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ณ โรงพยาบาลที่พัก หรือจุดตรวจ หากไม่พบเชื้อสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการบริเวณที่พักได้
ระหว่างนี้ต้องพำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกไปยังจังหวัดอื่นได้ กรณีอยู่น้อยกว่า 14 คืนต้องเป็นการกลับประเทศต้นทางเท่านั้น
กรณีเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า วันที่ 1-3 สามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการในบริเวณที่พักได้ วันที่ 4-7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในระบบติดตามที่กำหนดในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย วันที่ 8-14 สามารถเดินทางท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไม่ต้องกักตัวแบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ต้องมีการตรวจหาโควิด-19 (RT-PCR) อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 6-7 และ 12-13
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเพิ่ม ดังนี้
- ภูเก็ต จัดตั้ง (ศูนย์บริหารจัดการ) คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ องค์ประกอบเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีระบบกำกับควบคุมในที่พัก (COVID Manager อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงแรม) กำกับควบคุม มีระบบกำกับควบคุมในการเดินทาง Sealed Route โดยที่พักและบริษัทนำเที่ยวจัดระบบควบคุมคัดกรองด่านเข้า-ออกทางอากาศและทางเรือทั้ง 3 เกาะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อตรวจสอบ
- การเตรียมความพร้อมประชาชน โดยจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีแผนการสื่อสารทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- การเตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ภูเก็ตใช้ระบบ EOC และ อสม. รายตำบล แอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)
เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีคณะทำงานคัดกรองและเฝ้าระวัง สถานประกอบการมีใบรับรองแสดงภูมิคุ้มกันหมู่ ผู้ให้บริการที่ต้องสัมผัสตรงกับนักท่องเที่ยวจะต้องใส่ชุดป้องกันและรับการฉีดวัคซีนครบโดส
อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนรับมือและแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการในส่วนภูเก็ต คือ
1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์
2. ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
- เกิดการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้
4. ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ 80% ของศักยภาพ
5. มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ในวงกว้าง ควบคุมไม่ได้
โดยมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ ดังนี้
- ปรับลดกิจกรรม
- Sealed Route
- Hotel Quarantine
- ทบทวนยุติ Phuket Sandbox
เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า หากเกิดการระบาดจนเกินศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลสมุยจะดำเนินตามแผนบริหารความเสี่ยงที่วางไว้
ทั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของภูเก็ตเท่านั้น ระยะต่อไปคือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า โดย พล.อ. ประยุทธ์จะติดตามในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อคิกอ็อฟการเปิด Phuket Sandbox