×

ศบค.-กทม.-สธ. ตั้งโต๊ะแถลง ยันมีแผนกระจายวัคซีน แต่เกิดความคลาดเคลื่อน ต้องปรับแผนตามสถานการณ์

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2021
  • LOADING...
ศบค.-กทม.-สธ.

วันนี้ (14 มิถุนายน) พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พร้อมด้วย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน ยืนยันการบริหารจัดการวัคซีนเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุดภายในปี 2564

 

พล.อ. ณัฐพล เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ห่วงใยประชาชน ได้มีนโยบายให้มีการเร่งฉีดวัคซีนแก่ทุกคนในประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย 2.6 ล้านคน รวมแล้วกว่า 70 ล้านคน จึงต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 แบ่งเป็น Sinovac 8,000,000 โดส AstraZeneca 61,000,000 โดส Pfizer 20,000,000 โดส และ Johnson & Johnson 5,000,000 โดส ซึ่ง Johnson & Johnson ต่อ 1 โดสจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นเป็นสองเท่า รวมแล้วกว่า 99,000,000 โดส นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอแก่ประชาชน 50 ล้านคน  

 

พล.อ. ณัฐพล ยืนยันการฉีดวัคซีนยังคงเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยภายในเดือนมิถุนายน มีเป้าหมายการฉีดวัคซีน 6,000,000 โดส และในเดือนต่อๆ ไปอย่างน้อยเดือนละ 10,000,000 โดส เพื่อให้ประชาชน 50 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในเดือนตุลาคม 2564

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการนำเข้าวัคซีนแล้วจำนวน 8.1 ล้านโดส มีจำนวนฉีดสะสมนับถึงวันที่ 13 มิถุนายน จำนวน 6,188,124 โดส พื้นที่ฉีดสูงสุดคือกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,716,394 โดส คิดเป็นร้อยละ 27.7 จากวัคซีนที่มีทั้งหมด แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เป็นร้อยละ 17.5

 

นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุคลากรทางการศึกษา ผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะ กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 งวดคือ งวดแรกฉีดตั้งแต่ 7 มิถุนายน ถึง 20 มิถุนายน มีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3,000,000 โดส ประกอบด้วยวัคซีน Sinovac 1,000,000 โดส และวัคซีน AstraZeneca 2,000,000 โดส

 

ในส่วนของ กทม. 500,000 โดส แบ่งเป็น AstraZeneca 350,000 โดส Sinovac 150,000 โดส สำนักงานประกันสังคมอีก 300,000 โดส กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง จำนวน 150,000 โดส สำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อม 76 จังหวัดมีการส่งวัคซีนไป 1,100,000 โดส จุดบริการฉีดสำหรับองค์กรภาครัฐ 100,000 โดส รวมทั้งจัดเตรียมไว้สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาดที่มีอยู่หลายพื้นที่  

 

สำหรับงวดที่ 2 การกระจายอย่างช้าที่สุดในวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม จำนวน 3,500,000 โดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 2,000,000 โดส และ AstraZeneca 1,500,000 โดส ทั้งนี้การจัดสรรวัคซีนคำนึงถึงข้อมูลวิชาการในพื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด เพื่อจัดสรรตามสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมทั้งคำนึงถึงนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลมาเป็นตัวกำหนด โดยเน้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และผู้ดำเนินการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ 100% แล้ว 

 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. ที่ทำงานในพื้นที่กักกันโรค จะได้รับการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไป อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นการใช้สภาวะฉุกเฉินอยู่ ไม่ได้เป็นสินค้าที่มีในท้องตลาด การสั่งซื้อ จะต้องมีการผลิตและจัดส่งทันทีเพื่อให้ถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้บริษัทวัคซีนที่ได้กำหนดทำสัญญาก็จะทยอยส่งให้เป็นงวดตามสัญญาที่กำหนด

 

ด้าน พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7-14 มิถุนายนนี้ กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขรวมกว่า 500,000 โดส และได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca 350,000 โดส ได้มีการกระจายไปยังตามจุดบริการฉีดวัคซีนต่างๆ เพื่อฉีดให้แก่ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 7-14 มิถุนายน จำนวน 182,000 โดส

 

สำหรับฉีดเข็มที่สอง จำนวน 52,000 โดส สำหรับผู้ป่วยติดเตียง คนชรา จำนวน 8,000 โดส และกระจายไปยังจุดบริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน ไทยร่วมใจ จำนวน 100,000 โดส

 

ที่ผ่านมา กทม. ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขในการจัดสรรวัคซีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ณ สถานีกลางบางซื่อ กระทรวงแรงงานที่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้วกว่า 210,000 ราย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 11 มหาวิทยาลัยในสังกัด 

 

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการชะลอการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนวันที่ 15-20 มิถุนายนนี้ เนื่องจากความขัดข้องในการจัดส่งวัคซีน เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้วจะเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด สำหรับผู้ที่ถูกเลื่อนนัดจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะแจ้งผ่าน SMS เพื่อให้ประชาชนได้เลือกวัน/เวลา ที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ต้องต่อคิวใหม่อีกครั้ง หากประชาชนท่านใดที่ไม่ได้รับ SMS หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถโทร. 1516 

 

พล.อ. ณัฐพล ยังกล่าวด้วยว่า ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางแผนการกระจายวัคซีนล่วงหน้าแล้ว แต่เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนในการจัดส่งวัคซีนตามแผน ก็ต้องมีการปรับแผนตามสถานการณ์ ซึ่งต้องขออภัยแก่พี่น้องประชาชนทุกคน เมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะเร่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วโดยเร็วที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising