“ตั้งแต่วันนี้ความฝันของฉันคือเธอ”
ประโยคแสนโรแมนติกชวนจิกหมอนสำหรับซีรีส์เรื่องอื่น แต่ไม่ใช่สำหรับ The Glory นี่คือจุดเริ่มต้นการแก้แค้นของ มุนดงอึน เหยื่อจากการถูกกลั่นแกล้งและความรุนแรงในรั้วโรงเรียนที่เป็นปัญหาฝังลึก และถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์และซีรีส์มากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา
ถ้านับเฉพาะปี 2022 ก็มีซีรีส์อย่าง Revenge of Others ที่ตีแผ่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ภายใต้รั้วโรงเรียน ผ่านตัวละครหลักที่เดินทางหาความจริงเรื่องการตายของพี่ชาย และการช่วยแก้แค้นให้กับเหยื่อของความรุนแรง
หรือ All of Us Are Dead ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ก็มีตัวละครที่เคยถูกกลั่นแกล้ง เก็บความแค้นจนมาเป็นซอมบี้เผาโรงเรียนที่ไม่เคยปกป้องเธอเลย
ใน The Glory ซงฮเยคโย พลิกบทบาทรับบทเป็นนางล้างแค้นบรรดาแก๊ง ‘เพื่อนเก่า’ ในโรงเรียน ปีศาจร้ายที่สวมเครื่องแบบนักเรียนอำพราง สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เธออดทนรอเวลาและใช้ชีวิตอยู่กับความแค้นกว่า 18 ปี เพื่อกลับมา ‘ล้างแค้น’ คนที่สร้างแผลเป็นในใจเธออย่างสาสม ด้วยแผนการอันแยบยลที่ค่อยๆ วางหมากทีละตัวอย่างช้าๆ เล่นกับความกลัวภายในจิตใจของคน เหมือนที่มุนดงอึนเปรียบเทียบกับเกมหมากล้อมเอาไว้ว่า เป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดภายใต้ความเงียบสงบ
ระหว่างรอบทสรุปของ ‘ความแค้น’ ในพาร์ต 2 ที่จะออกมาให้ดูในช่วงเดือนมีนาคม THE STANDARD POP ขอไปสำรวจโลกของ ‘การกลั่นแกล้ง’ และ ‘ความรุนแรง’ ในรั้วโรงเรียนที่ไม่ได้มีแค่ในซีรีส์ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว และต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหนของโลกใบนี้ก็ตาม
เมื่อโรงเรียนไม่ใช่ ‘เซฟโซน’
โดยเฉลี่ยแล้วเวลาใน 1 วันของนักเรียน พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘บ้าน’ หลังที่สอง แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อ ‘บ้าน’ หลังนี้ไม่ใช่ที่ที่สร้างความปลอดภัยได้อย่างที่ควรจะเป็น
จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมปลายทั่วประเทศ (ยกเว้นในชอลลาเหนือ) โดยกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ พบว่าในปี 2013 มีการบูลลี่หรือใช้ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้น 11,749 กรณี ในปี 2019 เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า เป็น 31,130 กรณี และยังไม่มีรายตัวเลขของปี 2022 อย่างแน่ชัด แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ยังมีอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากเว็บเก็บสถิติ statista.com พบว่าในบรรดาคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง จะมี 15.1% ที่เป็นเหยื่อ และเป็นทั้ง ‘เหยื่อและผู้กระทำ’ สูงถึง 8.3% ซึ่งตัวเลขนี้เองที่แสดงให้เห็นผ่านซีรีส์หลายๆ เรื่อง รวมทั้ง The Glory
อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงตัวเลขส่วนหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลไว้เท่านั้น ยังไม่นับความรุนแรงอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกเปิดเผย หรือถูก ‘อำนาจ’ บางอย่าง และความหวาดกลัวซุกซ่อนเอาไว้
และยังมีผลสำรวจในปี 2019 เก็บข้อมูลจากนักเรียน 130,000 คน โดยกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ พบว่า นักเรียน 29.4% มองว่าการกลั่นแกล้งผู้อื่นเป็นเรื่องสนุก, 19.2% มองว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องธรรมดาที่ปล่อยให้เกิดขึ้นได้ และ 14.7% มองว่าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเพราะเหยื่อมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ ‘แตกต่าง’ หรือ ‘ด้อยกว่า’ สังคม
ประเภทของความรุนแรงที่ไม่ควรมองข้าม
การกลั่นแกล้งรังแกของนักเรียน ความรุนแรงที่เห็นได้บ่อยที่สุดเป็นความรุนแรงที่หลายคนมักมองข้าม ด้วยคำพูดทำนองว่า “แค่ล้อเล่นกันเฉยๆ จะไปคิดอะไร” แต่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่อง ‘ล้อเล่น’ ในมุมของผู้ถูกกระทำ
การกลั่นแกล้งมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่หยอกล้อ บูลลี่ กีดกันออกจากกลุ่ม กดขี่ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ อย่างใน The Glory ที่แก๊งของพัคยอนจินรุมทำร้ายร่างกายมุนดงอึน ทั้งการด่าทอ บุกไปกดดันถึงบ้าน ขู่จะยึดเงินเก็บ ชกต่อย ทำร้ายร่างกาย ไปถึงขั้นโหดร้ายที่สุดคือ การนำที่หนีบผมมาจี้ไปตามตัวจนเกิดรอยแผลพุพอง ที่กลายเป็นบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งถึงแม้เวลาผ่านไป แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของเนื้อหมูที่โดนย่างบนกระทะร้อนๆ จะทำให้เธอนึกย้อนถึงอดีตอันเจ็บปวดเสมอ
ซึ่งความโหดร้ายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในซีรีส์ ในปี 2006 มีเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมซองจูถูกเพื่อนในห้องรุมกลั่นแกล้ง และเมื่อถูกนำส่งโรงพยาบาล ทำให้ญาติของเธอรู้ว่าตามเนื้อตัวนั้นเต็มไปด้วยรอยไหม้ที่เกิดจากที่หนีบผม เมื่อเวลาผ่านไปคดีนี้ก็หายไป โดยไม่มีใครรู้ว่าคนผิดนั้นได้รับโทษอะไรบ้าง และคดีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาเสนอใน The Glory เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ‘ปีศาจในคราบชุดนักเรียน’ มีอยู่จริง
การล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงที่ยิ่งกว่าการกลั่นแกล้งกันทั่วไป เพราะถึงแม้ไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลบนร่างกาย แต่สร้างบาดแผลภายในจิตใจที่ผู้ถูกกระทำไม่มีวันลืม ตัวอย่างในซีรีส์เรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดคือ การกระทำของพัคยอนจินที่สั่งซนมยองโอใช้ปากเพื่อปิดปากไม่ให้มุนดงอึนส่งเสียง หรือการที่จอนแจจุนสั่งให้มุนดงอึนที่ใส่ชุดนักเรียนสีขาวไปยืนตากฝนโดยที่ไม่มีสิทธิ์ขัดขืน
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่เนื้อเรื่อง EP.8 เปิดเผยมาถึงเท่านั้น ยังไม่มีใครทราบว่ามุนดงอึน ยุนโซฮี และเหยื่อคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ถูกล่วงละเมิดสิ่งใดไปอีกบ้าง และในขณะที่เหล่าผู้กระทำลอยนวลใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทุกสิ่งที่ ‘เหยื่อ’ สูญเสียไปล้วนไม่มีวันหวนคืนได้อีกแล้ว
การลงโทษด้วยความรุนแรง อีกหนึ่งความรุนแรงที่มักถูกมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำอยู่ที่ในสถานะคุณครูหรืออาจารย์ที่ควรจะน่านับถือ แต่หลายครั้งที่เราพบคำพูดทำนองที่ว่า “ที่ตีเพราะอยากให้ได้ดี” ถูกนำมาเป็นข้ออ้างของความรุนแรงอยู่เสมอ
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ หลายครั้งฝ่ายอาจารย์ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่มีแม้แต่ความหวังดีเป็นข้ออ้าง แต่ใช้ความรุนแรงเพื่อระบายอารมณ์หรือความเกรี้ยวกราดเมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างใจ
เหมือนฉากหนึ่งใน The Glory ที่ครูประจำชั้นตบมุนดงอึนอย่างแรงหลายครั้ง เพราะมุนดงอึนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงสาเหตุการลาออก บวกกับความโกรธที่ถูกอ้างถึงลูกชาย ทั้งที่ภายในห้องพักครูมีครูหลายคนอยู่ และครูเหล่านั้นก็ไม่ได้มีท่าทีพยายามปกป้องลูกศิษย์ที่ถูกทำร้ายแต่อย่างใด ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความรุนแรงในข้อต่อไป
การเพิกเฉยต่อความรุนแรง ข้อนี้ไม่ใช่ความรุนแรงโดยตรง แต่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางอ้อม น้อยครั้งที่เราจะมีโอกาสได้เห็นใครสักคนลุกขึ้นมาส่งเสียงหรือต่อต้านความรุนแรงในโรงเรียน และสุดท้ายผลที่ออกมาก็มักมีแต่ความผิดหวัง เพราะเสียงคนกลั่นแกล้งที่มีเงินและอำนาจมักจะดังกว่าจะเสมอ
โดยอย่าง The Glory ที่เราจะเห็นว่าอาจารย์ได้แต่หลับตาหนึ่งข้างให้กับอำนาจของพัคยอนจินและจอนแจจุน เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็หวาดกลัวเกินกว่าจะกล้ามีปากเสียง หรือแม้แต่ตัวมุนดงอึนก็ยอมรับว่าเธอเองก็เคยเป็นหนึ่งในผู้เพิกเฉยในวันที่เหยื่อคือยุนโซฮี ก่อนที่สุดท้ายเธอจะต้องกลายมาเป็นเหยื่อแทน
เครื่องมือกำจัดปีศาจร้าย ที่ชื่อ ‘บทลงโทษทางสังคม’
เมื่อตัวเลขสถิติการกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียนของประเทศเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะถูกจัดการได้ง่ายๆ ถึงแม้จะมีการรณรงค์และนำเสนอปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้นก็ตาม
ในช่วงหลังเราเลยเริ่มเห็นกระบวนการอย่างหนึ่งเริ่มเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะกรณีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมหลายคนเริ่มถูกขุดคุ้ยและเปิดเผยเรื่องราวในอดีต เพื่อบอกให้ผู้คนรู้ว่า ภายใต้รอยยิ้มที่แสนสดใส อาจเคยมีปีศาจร้ายในชุดนักเรียนซ่อนตัวอยู่ในนั้น
ในเมื่อกระบวนการยุติธรรม หรือมาตรการในโรงเรียนไม่อาจจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลยเกิดกระบวนการ ‘ลงโทษทางสังคม’ ที่ผู้คนในสังคมไปจนถึงต้นสังกัดของคนมีชื่อเสียงจะออกมาแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมสนับสนุนคนที่เคยมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล่วงละเมิด หรือใช้ความรุนแรงรูปแบบใดๆ ก็ตามอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการขีดเส้นบรรทัดฐานใหญ่ขึ้นมาว่า การกลั่นแกล้งและความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกยอมรับอีกต่อไป
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงเกิดการขุดคุ้ยเรื่องราวอันดำมืดของเหล่าศิลปิน นักแสดงในเกาหลีใต้มากมาย อย่างนักแสดงหนุ่มดาวรุ่ง ‘คิมจีซู’ ที่ถูกแฉว่าเคยใช้ความรุนแรงกลั่นแกล้งเพื่อนสมัยมัธยม จนมีคนรวมตัวร้องเรียนให้ถอดนักแสดงหนุ่มออกจากซีรีส์ที่กำลังมาแรงในขณะนั้นอย่าง River Where the Moon Rises
หรือหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันจากรายการ Idol School ทางช่อง Mnet ‘ซมฮเยอิน’ ที่ถูกแฉพฤติกรรมการกลั่นแกล้งเพื่อนด้วยความรุนแรง ทั้งตีด้วยไมโครโฟน บังคับให้คุกเข่าและพ่นน้ำลาย กลั่นแกล้งเรื่องรูปร่างหน้าตา หลังประกาศถอนตัวจากรายการด้วยปัญหาสุขภาพ จากนั้นเธอจึงออกมาขอโทษต่อพฤติกรรมในอดีต
อีกเคสใหญ่ซึ่งเป็นที่พูดถึงเกี่ยวกับความรุนแรง แม้จะไม่ได้อยู่ในรั้วโรงเรียน อย่างสองฝาแฝดนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติ ‘อีแจยอง-อีดายอง’ ที่มีข่าวผ่านทางโซเชียลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งเพื่อนนักกีฬาด้วยกัน ทั้งการทำร้ายร่างกายและจิตใจ จนทำให้เหยื่อบางคนถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ภายหลังทั้งสองก็ได้ออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อเหยื่อในฐานะผู้กระทำผิด แต่สุดท้ายทั้งกระแสกดดันจากสังคม ไปจนถึงสโมสรและทีมชาติเกาหลีใต้ก็ตัดสินใจแบนสองฝาแฝดอย่างไม่มีกำหนด แสดงให้เห็นว่าต่อให้คนคนนั้นจะมีความสามารถ ประสบความสำเร็จ หรือสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้มากแค่ไหน แต่ถ้าเคยมีพฤติกรรมความรุนแรงมาก่อน ก็สามารถหมดอนาคตได้ทันที เพราะตอนนี้สังคมเกาหลีใต้หลายภาคส่วนกำลังช่วยกันผลักดันเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง
ซึ่งไม่แน่เหมือนกันว่าถ้าเหตุการณ์ของมุนดงอึนเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ หรือขยับให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในวงการบันเทิงประเทศไทย
การล้างแค้นของมุนดงอึนอาจไม่ต้องวางแผนให้ยากลำบาก แค่โพสต์ทวิตเตอร์ถึงเรื่องราวที่เคยถูกคนที่มีชื่อเสียงกลั่นแกล้งในอดีต แล้วที่เหลือปล่อยให้กระบวนทางสังคมเริ่มดำเนินการ
ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่า ไม่ควรมีใครถูกกลั่นแกล้งหรือใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบอีกต่อไป
อย่ารอให้ต้องมีใครถูกล้างแค้น อย่าให้ต้องมีคนอย่างมุนดงอึนเกิดขึ้นมา
และอย่าปล่อยให้ ‘ชุดนักเรียน’ เป็นเครื่องอำพรางความชั่วร้ายของปีศาจได้อีกต่อไป!
อ้างอิง:
- https://www.statista.com/statistics/1225553/south-korea-pupils-share-experiencing-cyber-violence/
- https://www.creatrip.com/en/news/3119?fbclid=IwAR3er20pW4Ppnu_htaUoIl0E5peQADOfmgpVK5yF_dycbQ8-byPIz4qBMr4
- https://english.news.cn/20220906/ca5ac35e51ec4f1d9748f0ea20ad8f93/c.html#:~:text=The%20highest%20type%20of%20violence,with%209.6%20percent%20in%202022.
- https://thailandunicef.blogspot.com/2016/09/violence-against-children-at-school.html