×

ปูเสฉวน สำคัญกับระบบนิเวศอย่างไร ทำไมการเลี้ยงถึงเป็นการฆ่าเผ่าพันธุ์ปูเสฉวนทางอ้อม?

27.04.2022
  • LOADING...
ปูเสฉวน

ไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีข่าวหรือมีกรณีจับปูเสฉวนไปเลี้ยงเพราะความน่ารักน่าชัง ก่อนหน้าที่จะมีดราม่าของบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งจับปูเสฉวนมาเลี้ยง ประเทศไทยเคยมีการโพสต์ขายปูเสฉวนกันเป็นว่าเล่น กลายเป็นวงจรซื้อ-ขาย นำมาเลี้ยง ตาย แล้วหาซื้อใหม่วนไป พานปูเสฉวนกลายเป็นสัตว์หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 

 

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า การเลี้ยงปูเสฉวนก็เหมือนการฆ่าปูเสฉวน และทำลายชายหาดไทย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นี่คือคำตอบ

 

🦀🌊รู้จัก ‘ปูเสฉวน’ 🌊🦀

‘ปูเสฉวน’ มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า ‘Hermit crab’ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในไฟลัมอาร์โทรพอด (Arthropod) ไฟลัมย่อยครัสเตเชียน (Crustacean) ในอันดับฐานปูปลอม (Anomura) มีขนาดเล็ก ประมาณ 1-6 เซนติเมตร และมีขาทั้งหมด 10 ขา ไม่มีเปลือกแข็งแบบปูหรือกุ้ง ต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเปล่าฝาเดียว โดยใช้ส่วนขาหลัง 2 ขายึดกับเปลือกหอยไว้ และใช้ขาหน้าในการคุ้ยเขี่ยหาอาหารดำรงชีพด้วยการกินซากพืช ซากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ซากหอย ซากปู ซากปลา ซากปะการังบนชายหาด เรียกได้ว่ากินทุกชนิด ขอแค่เปื่อยยุ่ยและตายแล้วเท่านั้น บางชนิดอาศัยอยู่บนบกเท่านั้น และบางชนิดอาศัยอยู่ในท้องทะเล ส่วนมากมักอาศัยใกล้ชายฝั่ง เพราะต้องกินน้ำเค็มเพื่อเพิ่มแคลเซียมและเกลือแร่ให้แก่ร่างกาย

 

🦀🌊ปูเสฉวนสำคัญกับระบบนิเวศอย่างไร🌊🦀

ด้วยความที่กินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร ปูเสฉวนจึงทำหน้าที่เป็นหน่วยกำจัดขยะชั้นดี เพิ่มปุ๋ยให้ชายหาดบริเวณนั้น รวมถึงยังเป็นตัวแพร่กระจายเมล็ดพืช ฯลฯ เมื่อไม่มีปูเสฉวนก็เหมือนขาดหน่วยทำความสะอาด และไม่ใช่แค่บนบกเท่านั้น แต่ปูเสฉวนบางชนิดยังอาศัยอยู่ตามปะการัง และทำหน้าที่คล้ายกันด้วย นอกจากทำหน้าที่เป็นหน่วยทำความสะอาดแล้ว ปูเสฉวนยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำบางชนิดด้วย

 

🦀🌊 ทำไมการเลี้ยงปูเสฉวนถึงเป็นการฆ่าเผ่าพันธุ์ปูทางอ้อม🌊🦀

เป็นความจริงที่น่ากลัวว่า ปูเสฉวนที่ขายตามตลาดนัดจตุจักร หรือทางออนไลน์นั้น ล้วนเคยเป็นปูเสฉวนธรรมชาติมาก่อน ในประเทศไทยยังไม่มีใครเพาะเลี้ยงปูเสฉวนเชิงพาณิชย์ได้ และการจับปูเสฉวนมาใส่ในตู้กระจกหรือขวดแก้ว ล้วนแต่ตัดวงจรการขยายพันธุ์ปูเสฉวนโดยสิ้นเชิง 

 

เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปูเสฉวนเพศผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย ใครที่แข็งแกร่งที่จะได้ตัวเมียไปครอง เมื่อปฏิสนธิและวางไข่ ตัวเมียจะปล่อยไข่ในทะเล ถ้าเป็นปูเสฉวนน้ำเมื่อฟักไข่แล้วจะลอกคราบอีกหลายครั้งในน้ำ ก่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย แต่ถ้าเป็นเสฉวนบกก็กลับมาเติบโตอยู่บนบก 

 

ปูเสฉวนที่นำไปเลี้ยงทุกตัว แม้จะไม่ตายแต่ไม่อาจแพร่พันธุ์ได้ เพราะปูเสฉวนต้องใช้น้ำทะเลเพื่อการแพร่พันธุ์และวางไข่ ฉะนั้นการตายของปูเสฉวนแต่ละครั้ง หากต้องการนำมาเลี้ยงใหม่ จึงเข้าสู่วงจรซื้อ-ขาย นำมาเลี้ยง ตาย แล้วหาซื้อใหม่วนไป เมื่อจำนวนธรรมชาติไม่เพิ่มขึ้น แต่การจับไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นตลอดก็ทำให้ปูเสฉวนอาจสูญพันธ์ุได้ในอนาคตอันใกล้

 

นอกจากการนำปูไปเลี้ยงจะเสี่ยงให้ปูสูญพันธุ์แล้ว การเก็บเปลือกหอยที่บ้านของปูเสฉวน และสารพิษจากขยะพลาสติกก็ทำให้ปูลดจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว มีผลการศึกษาพบว่าปูเสฉวนมากกว่า 500,000 ตัวตายเนื่องจากมลพิษพลาสติก โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน ระบุว่า ปูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลสัตว์จำพวกครัสเตเชียนนั้นตายหลังจากการถูกขังอยู่ในขยะพลาสติกบนเกาะเขตร้อนสองแห่ง เมื่อปูเสฉวนตายลงจะปล่อยกลิ่นสารเคมีออกมา ซึ่งจะดึงดูดปูเสฉวนตัวอื่นเข้ามาติดในขยะพลาสติก ทำให้เกิดการตายเป็นลูกโซ่

 

🦀🌊เลี้ยงปูเสฉวนผิดกฎหมายหรือไม่🌊🦀

ถ้าถามหาความผิดถูกตามกฎหมาย การเลี้ยงปูเสฉวนนั้นไม่ผิดแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันปูเสฉวนยังไม่อยู่ในรายชื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย แต่การจับปูเสฉวนจากพื้นที่อุทยานฯ มีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (2) ห้ามเก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย แก่ทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

แต่ไม่ว่าจะถูกหรือผิดทางด้านกฎหมาย การนำปูเสฉวนมาเลี้ยงย่อมไม่ใช่สิ่งที่สมควร เพราะแค่การเลี้ยงหนึ่งครั้งอาจหมายถึงการตัดโอกาสการมีปูเสฉวนนับพันนับหมื่นตัวเกิดขึ้นในธรรมชาติ และอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางท้องทะเลอย่างมหาศาล จงรักษ์ธรรมชาติ ถ้าอยากมีธรรมชาติไว้ชื่นชม

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising